“ความสำเร็จสูงสุด ของวิชาชีพสถาปนิกคืออะไร…?”
เป็นคำถามที่ผมถูกถามมากที่สุดในช่วงระยะเวลานี้ หากเป็นเมื่อ 10 ปีก่อน คำตอบที่นึกได้นั้นมีมากมาย บางครั้งฝันไกลไปยังระดับโลก และการได้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง… ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน สถาปนิกวัย 34 ปี คิดไม่ออกว่าอยากได้อะไรในชีวิตสถาปนิก… เมื่อสิ้นเสียงจากผู้ถาม ผมนิ่งเงียบและคิดอยู่ครู่ใหญ่ ก่อนที่จะตอบว่า “อยากมีงานที่เป็นมาสเตอร์พีซสักชิ้น ก็น่าจะพอใจที่สุดแล้ว…”
ผมเคยคิดว่าอาชีพนี้ เป็นอาชีพที่เท่มากๆ ในสายตาของวัยรุ่นเตรียมสอบเอ็นทรานซ์คนหนึ่ง เห็นอะไรเพียงภาพภายนอก และตัดสินโดยที่ยังไม่รู้ว่าอะไรที่อยู่เบื้องหลังสิ่งที่เห็น
เวลาและความจริง ทำให้ผมเข้าใจอะไรมากขึ้น… ไม่แปลกเลยที่ความคิดของผมเกี่ยวกับวิชาชีพนี้จะค่อยๆเปลี่ยนไป ตามระยะเวลาการทำงานจริง การได้พบลูกค้าจริง ได้อยู่กับช่าง ได้โดนลูกค้าด่า การโดนโกงค่าแบบ การเกือบตายในไซต์ก่อสร้าง หรือแม้แต่การตั้งใจล้มแบบตัวเอง…
การออกแบบอาคารที่สวยงามหรือมีรูปทรงสุดแปลกตา ได้ลงนิตยสารหรือเว็บไซต์การออกแบบมากมาย รวมถึงการได้รับรางวัลจากสถาบันต่างๆ อาจเป็นจุดหมายสูงสุดของสถาปนิกหลายคน… แต่สำหรับผมแล้ว การได้ทำหน้าที่สถาปนิกที่ดีที่สุด ต้องรับรู้ได้จากผลลัพท์ที่เกิดขึ้น เมื่อสถาปัตยกรรมหรืออาคารนั้นได้ถูกใช้งานจริง ทั้งจากเจ้าของเอง และผู้คนที่ได้ใช้งานพื้นที่ที่เราออกแบบ
เมื่อประมาณ 5 ปีก่อน ผมได้มีโอกาสออกแบบอาคารห้องอาบน้ำรวม และอาคารเรียนรวม ของสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งหนึ่ง ที่จังหวัดตาก ร่วมกับทีมงานของนิตยสาร “บ้านและสวน” ช่วยกันระดมทุนจากผู้ใหญ่ใจดี ได้เงินก้อนหนึ่ง มาจ้างช่างในพื้นที่ช่วยกันก่อสร้างอาคารดังกล่าว
ด้วยข้อจำกัดหลายๆอย่าง แบบกับอาคารสร้างจริงมีหน้าตาที่แตกต่างกันพอสมควร แต่โดยรวมแล้วก็ยังถือว่าไม่ผิดไปจากแบบมากนัก ทั้งหมดยังสื่อสารแนวคิดที่ต้องการได้ทั้งหมด ในงบที่จำกัด เราหวังเพียงว่าอาคารนี้ จะเป็นอาคารที่ก่อเกิดประโยชน์สูงสุด ได้แก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่ที่พัก ให้เด็กๆและผู้คนที่ใช้งานได้มีความสุข ในสิ่งที่เป็น 1 ในปัจจัย 4 ขึ้นมาบ้าง ไม่มากก็น้อย
การออกแบบเริ่มต้นที่งบประมาณที่มี ตีเป็นพื้นที่ใช้สอยโดยทำการคูณราคาต่อตารางเมตรคร่าวๆ ส่วนเรื่องวัสดุนั้นมีการขอการสนับสนุนจากลูกค้าบ้าง ส่วนที่เหลือก็จะอยู่ในงบของการก่อสร้างนี้ …
หากจะพูดถึงแนวคิดของการออกแบบ คงไม่มีอะไรเล่ามากไปกว่าการคิดถึงเรื่องการระบายอากาศได้ดี และกันฝนได้พอควรตามเหมาะสม และอาคารอาบน้ำก็ไม่จำเป็นต้องปิดทึบทั้งหมด จึงออกแบบเป็นก้อนอาคารที่ทึบส่วนล่าง และมีการเจาะช่องช่วงบน (ระดับเหนือศีรษะ) เว้นว่างระหว่างหลังคา เพื่อระบายความชื้น หลังคาผืนใหญ่กันฝนได้ดี แต่ก็กลัวมืดจึงติดกระเบื้องลอนแบบโปร่งแสงเป็นระยะ
นอกจากการออกแบบ เราเดินทางไปดูหน้างาน 2 ครั้ง เพื่อให้การก่อสร้างเป็นไปอย่างถูกต้องตามแบบ ระยะทางจากกรุงเทพถึงจังหวัดตาก ไม่สามารถไปเช้าเย็นกลับได้ แต่ละครั้งเราจึงใช้เวลา 3 – 4 วัน ในการเดินไปและดูงานก่อสร้าง …ถามว่าเราได้อะไรกลับมาบ้าง… ด้านวัตถุ เราไม่ได้ค่าตอบแทนอะไร แต่สิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญเลยแม้แต่น้อย เพราะถ้าหากมองด้านจิตใจ เรากลับได้อะไรกลับมามากมาย การได้เห็นเด็กๆ ได้ใช้งานจริงๆ แล้วเกิดความตื่นเต้น มีความสุขที่ได้อาคารใหม่ ได้เห็นคนใช้งานในพื้นที่ที่เราตั้งใจออกแบบไว้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สถาปนิกทุกคนต้องการ
ไม่ว่าอาคารนั้นๆจะมีมูลค่าเท่าไร สถาปนิกมุ่งสนใจเพียงว่า อาคารนั้นๆ ก่อประโยชน์ให้กับผู้คนที่ใช้งานได้มากน้อยเพียงใด สูงสุดคือการทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ใช้งานดีขึ้น รองลงมาคือทำให้ผู้ใช้อาคารมีชีวิตที่ดี และส่งต่อความคิดดี ทำดีต่อไปให้ผู้อื่น และสุดท้ายถ้าสถาปัตยกรรมนั้นต้องส่งผลกระทบต่อผู้คนรอบข้าง ก็ต้องเป็นการส่งผลกระทบในแง่ดี ถ้าสถาปัตยกรรมใดมีทั้ง 3 ข้อนี้ ผมถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่ดี และสถาปนิกผู้นั้นควรได้รับการยกย่อง
ย้อนกลับไปที่คำถามว่า “ความสำเร็จสูงสุด ของวิชาชีพสถาปนิกคืออะไร…?” ของผมคงไม่ใช่การได้เป็นเกรทเต็คแบบ Tadao Ando หรือโด่งดังอย่าง MVRDV แต่ความสำเร็จของผม วัดที่ผู้ใช้งานอาคารเป็นหลัก ฉะนั้นงานมาสเตอร์พีซของผม สามารถเกิดขึ้นได้หลายชิ้นเท่าที่เราได้ออกแบบ หากเป็นอาคารที่จะสามารถเปลี่ยนความคิด หรือแม้กระทั่งชีวิต ของผู้ใช้งานอาคารได้
เพราะถ้าคุณพบเห็นคนหน้าตาง่วงๆ อดนอนๆ เดินเข้าไปในอาคารที่เพิ่งเปิดใช้งาน และมองผู้คนที่ใช้งานอาคารอย่างมีความสุข คุณสันนิษฐานได้ 2 อย่างว่า ไม่คนบ้า ก็ คนที่ออกแบบอาคารนั้นครับ…