OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

ชีวิตหลังความเต็ค : 5 ปีของการหัดวาดรูป คน รถ ต้นไม้ บอกว่าอีก 10 ปีคุณสามารถเป็นอะไรได้อีกมากมาย…

“ตอนแรกผมคิดว่าเรียนสถาปัตย์ จบมาก็จะเป็นนักวาดภาพ ภาพคน ภาพวิว หาเลี้ยงชีพด้วยการวาดรูป… ผมก็เลยเลือกสอบคณะนี้” สิ้นเสียงตอบกลับจากน้องสถาปัตย์ปี 2 คนหนึ่ง ที่กำลังจะขอดรอปเพื่อไปสอบเข้าคณะอื่นที่คิดว่าใช่มากกว่า ทำให้ผมชะงักไปชั่วขณะ พลันคิดต่อไปอีกว่า “เด็กสมัยนี้ ตัดสินใจเลือกเรียนคณะหนึ่ง โดยที่ยังไม่รู้ว่าจบไปทำอะไร แบบนี้ก็ได้หรอ…”

แต่เมื่อคิดดูอีกครั้ง ไม่สิ ที่โรงเรียนมัธยมจะมีวิชาหนึ่งว่า “วิชาแนะแนว” เป็นวิชาที่คุณครูจะมาให้คำปรึกษาแก้นักเรียนว่าจะสอบเข้าหรือเลือกเรียนคณะไหน ที่ไหนดี พิเศษหน่อยก็จะเชิญรุ่นพี่ที่จบไปแล้ว และกำลังศึกษาในคณะต่างๆกัน มาเล่าว่าเรียนอย่างไร จบไปทำอะไร บวกกับอินเทอร์เน็ตที่กว้างไกลเพียงปลายนิ้ว… เคสนี้จึงน่าจะเป็นเด็กที่ไม่สนใจโลก รวมถึงไม่สนใจตัวเองมากกว่า ที่ไม่รู้หรือรู้แบบผิดๆ ว่าคณะที่ตนเลือกนั้น จบมาแล้วทำอะไร

ผมถามน้องผู้ตั้งใจเปลี่ยนคณะอีกครั้ง “แล้วเราอยากเข้าคณะอะไร” – “ผมอยากเข้าคณะจิตรกรรมครับ”

ในโลกของความเป็นจริง ไม่มีอาชีพไหนที่น่ารังเกียจ ทุกอาชีพต้องการคนที่มีใจรักและคนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ไม่ว่าจิตรกร หรือ สถาปนิก ทั้ง 2 อาชีพต้องการคนที่รักในวิชาชีพไม่ต่างกัน

มีคนจำนวนไม่น้อย เสียเวลาเรียนในสิ่งที่ไม่ได้รักหลายปี โดยที่คิดว่าลองดูสัก 1 – 2 ปี เผื่อว่าจะ “ใช่” หากรู้ตัวก็หันเหไปยังสายที่ตนรักทัน แต่หากปล่อยผ่านปล่อยเลยไป เรียนไปเพราะสนุกกับเพื่อน แต่ก็ไม่ได้รักในสิ่งที่ได้เรียน เมื่อเข้าสู่การทำงานจริง เมื่อนั้น…ปัญหาจะเกิด

5 ปี ในรั้วมหาวิทยาลัย เป็นช่วงระยะเวลาที่บอกกับตัวของเราเองได้ว่า ในอีก 10 ปี ข้างหน้า เราจะยังคงรักและทำอาชีพสถาปนิกอยู่ไหม… มันอาจไม่ได้ตายตัวแน่นอน หรือใช้หลักการนี้ได้กับทุกคน แต่จากประสบการณ์คนรอบตัว เพื่อน พี่ น้อง ระยะเวลา 10 ปีหลังจากเรียนจบ คนที่ไม่ได้หลงรักวิชาชีพนี้มากพอ เขาเหล่านั้น จะเริ่มกลายพันธุ์


ปี 1 เรียนพื้นฐานในทุกๆวิชา ทั้งวิชาในคณะและนอกคณะ วิชา Drawing, Painting, เขียนแบบ, ต่อโมเดล รวมถึงวิชา Design สลับกับวิชา Sketch Design ที่จบในคาบ ฝึกความคิดและความทำเร็ว

ปี 2 วิชานอกคณะน้อยลง มีวิชาเกี่ยวกับวิศวกรรมมากขึ้น คำนวณ และวิชา Design ก็ออกแบบอาคารที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่นหอพัก ร้านค้า เป็นต้น

ปี 3 วิชามีความลึกมากขึ้น ออกแบบอาคารใหญ่ขึ้น ซับซ้อนขึ้น มีงานกลุ่มมากขึ้น ที่สำคัญ ต้องไป “ซ่อมน้อง” ที่กินเวลาและพลังอย่างมาก

ปี 4 งานกลุ่มเยอะเป็นพิเศษ มีการเรียนผังเมือง อาคารใหญ่มากอย่างโรงพยาบาล คอนโดฯ หรือ Office Building 

ปี 5 ชีวิตคุณ 1 ปีนี้ จะไม่มีคำอื่นนอกจาก THESIS ที่ทั้งละเอียด เยอะ และถึก…


“คน รถ ต้นไม้” ที่เคยหัดวาดตอนติว แปรเปลี่ยนเป็นการทำงานและเรียน ที่ต้องใช้ความสามารถอื่นๆประกอบเข้าด้วยกัน สิ่งสำคัญหนึ่งนั้นคือ “ความอดทน” และ “การจัดการ” ที่ดี

เพื่อนในคณะกว่า 80 คน ทุกวันนี้ (ผ่านมา 11 ปีหลังจากเรียนจบ) มีคนที่ยังประกอบวิชาชีพสถาปนิกอยู่ประมาณ 60% ซึ่งถือว่าค่อนข้างเยอะ เมื่อเทียบกับรุ่นอื่นๆในคณะ ซึ่งใน 60% นั้น เป็นคนที่มีแววตั้งแต่ตอนเรียนแล้วว่า เขาเกิดมาเพื่อเป็นสถาปนิกจริงๆ 

ส่วนอีก 40% เขาเหล่านั้นไม่ได้ไม่รักสถาปัตยกรรมแล้ว แต่เขาได้แปรเปลี่ยนความรู้ ทักษะต่างๆที่ได้จากการเรียนคณะนี้ ไปประกอบอาชีพอื่นๆ ที่เขาคิดว่าสามารถทำได้ดี และเหมาะกับเขามากกว่า บ้างไปทำกราฟฟิกดีไซน์ บ้างเป็นครีเอทีฟ บ้างเป็นเชฟ บ้างเป็นช่างภาพ บ้างเป็นผู้กำกับ บ้างเป็นนักข่าว และบ้างก็เป็นนักเขียน… และอีกมากมาย 

เพราะคณะนี้สอนให้คนมีความคิดสร้างสรรค์ การฝึกฝนสายตาที่ติดตัวมากับเด็กสถาปัตย์ ความคิดที่ยั่งยืน ความคิดที่สามารถปรับเปลี่ยนไปเป็นสิ่งอื่นได้อย่างไร้รูปแบบ คณะนี้สอนเราอย่างนั้น…

การเปลี่ยนสิ่งที่รักกลายเป็นงานสายอื่น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไร แต่การไม่รู้ว่าสิ่งที่เรียนอยู่นั้น คืออะไร น่าจะเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าหลายเท่าตัวนัก

……

ภาพประกอบจาก https://www.facebook.com/archcampkmutnb/