บรรยากาศตามตรอกซอกซอยพื้นที่สาธารณะในไต้หวัน นอกจากเราจะได้สัมผัสศิลปะจำพวกประติมากรรมและจิตรกรรมฝาผนังแล้ว หากได้ลองก้มหน้าทอดสายตาตามพื้นถนนแล้วล่ะก็ จะพบกับงานศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่น่ารักไม่แพ้กัน…
นั่นคือ ฝาท่อระบายน้ำและกระเบื้อง ซึ่งออกแบบให้มีลวดลายและสีสันที่มีความหมายซ่อนอยู่ทั่วทั้งเมือง และบทความนี้จะเป็นเหมือนแกลลอรี่ รวมรวมภาพงานศิลปะตามพื้นถนนของไต้หวัน ที่ทำให้เราได้สัมผัสกับความใส่ใจในงานออกแบบเล็กๆน้อยๆเอาไว้นั่นเอง
โดยฝาท่อระบายน้ำที่พบเจอมากที่สุดในเมืองไทเปคือ “รูปต้นสนและปลา” สื่อความหมายถึงการมีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์อย่างป่าสน และน้ำปะปาที่มีความสะอาดจนปลาสามารถแหวกว่ายได้ อีกทั้งยังนำมาบำบัดมาใช้ในการรดน้ำต้นไม้เพื่อให้ต้นไม้เติบโตอย่างสวยงามร่มรื่นอีกด้วย ซึ่งแต่ละฝานั้นจะมีความแตกต่างกันไปในเรื่องของขนาดและจำนวนของปลาด้านใน
ซึ่งเราสามารถเจอฝาท่อระบายน้ำรูปต้นสนและปลานี้ได้ ตามทางเดินใจกลางเมืองไทเปอย่างย่าน Ximending
ฝาท่อระบายน้ำรูป “ตึกไทเป 101” ที่นับว่าเป็นตึกแลนด์มาร์คของไทเป และเป็นตึกที่สูงที่สุดในไต้หวัน ในปัจจุบันมีจุดชมวิวที่เปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปสัมผัสกับบรรยากาศรอบเมืองไทเป และด้านล่างยังเป็นห้างสรรพสินค้าอีกด้วย ซึ่งเราสามารถพบเจอฝาท่อระบายน้ำนี้ได้บริเวณรอบๆตึก ไทเป 101 โดยเดินทางจาก MRT สายสีฟ้ามาลงที่สถานี Taipei City hall ได้เลย
นอกจากนี้ยังมีฝาท่อระบายน้ำ มีโลโก้ของเมืองไทเปอยู่ตรงกลางอีกด้วย
ฝาท่อระบายน้ำรูปอาคารเก่าแก่ใน 1914 huashan creative park แหล่งรวมความคิดสร้างสรรค์และงานออกแบบในไทเปในปัจจุบัน ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในโรงงานผลิตไวน์ที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน สร้างขึ้นในปี 1914 นั่นเอง
ฝาระบายน้ำรูปดอกไม้ แรไอเทมที่พบเจอได้น้อยครั้ง ตามแหล่งจับจ่ายซื้อของและ Street food อย่างตลาดปลาและตลาดกงกวน
รูปดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์บน flag of Taipei City ที่ใช้ตั้งแต่ปี 1981-2010
โลโก้ธงเมืองไทเปประจำปี 2010 บนกระเบื้องสี่เหลี่ยมจตุรัส สีสันสะดุดตาเพราะเป็นกระเบื้องที่แทรกอยู่ท่ามกลางกระเบื้องอื่นๆตามทางเดินหน้าตึกแถว ซึ่งมีหลากหลายสีและขนาดแตกต่างกันไป มีให้พบไม่บ่อยนัก ซึ่งที่เราเก็บภาพมาฝาก อยู่ด้านหน้าบ้านตึกแถวใกล้กับ Taipei Cinema Park
กระเบื้องก้อนหิน ที่Yehliu Geopark หรือที่คนไทยเรียกกันว่า “อุทยานเย่หลิว” ตั้งอยู่ในภาคเหนือของเกาะไต้หวัน ตำบลว่านหลี่ Wanli พื้นที่ยื่นเข้าไปในทะเลและมีผลงานศิลปะจากธรรมชาติอย่างหินปูนรูปร่างประหลาดๆมากมาย ซึ่งในรูปที่มีรูปร่างคล้ายเศียรของราชินี โดยเกิดจากหินปูนเจอกับน้ำทะเล แรงลม น้ำฝน มาเป็นเวลานับล้านปี จึงถูกกัดเซาะเป็นรูปทรงแปลกๆอย่างที่เห็น และถือว่าเป็นไฮไลท์ของอุทยานแห่งนี้นั่นเอง
สถาปัตยกรรมแลนด์มาร์คในไต้หวัน
ภาพสถาปัตยกรรมส่วนหนึ่ง ที่ถูกถ่ายทอดเป็นประติมากรรมนูนต่ำลงบนคอนกรีตวงกลมขนาดใหญ่ ริมฟุตบาทในย่าน ximending ย่านธุรกิจใหญ่ในเมืองไทเป ที่แฝงไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากมายของไต้หวัน สามารถพบเจอได้บริเวณรอบนอกของเมือง
โดยด้านข้างมีแผ่นป้ายอธิบายประวัติศาสตร์เกี่ยวกับภาพสถาปัตยกรรมนั้นๆอยู่ บ้างเป็นภาพสถาปัตยกรรมในอดีตที่ปัจจุบันถูกรื้อทิ้งไปแล้ว บ้างเป็นภาพสถาปปัตยกรรมเก่าแก่ที่ยังคงอนุรักษ์ไว้อยู่ ซึ่งเราสามารถเรียนรู้ความเป็นมาของสถาปัตยกรรมสำคัญในไต้หวันไปพร้อมๆกับการท่องเที่ยวได้อย่างเพลิดเพลิน
อย่างเช่น Beimen Post Office หรือ ไปรษณีย์เบ่ยเมน ที่ตั้งอยู่บนย่าน Zhongzheng ไม่ใกล้ไม่ไกลจากจุดแลนด์มาร์คมากนัก เป็นอาคารเก่าแก่ ตั้งแต่สมัยที่ไต้หวันยังอยู่ภายใต้การปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยถูกรีโนเวทให้เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์บาโรค ซุ้มทางเข้าจาก5 เป็น 3 แต่ยังคงฟังก์ชั่นเดิมเอาไว้ นั่นคือ ที่ทำการไปรษณีย์นั่นเอง
North Gate หรือประตูประวัติศาสตร์ทางเหนือ หนึ่งในห้าประตูของไทเป ที่ในอดีตเชื่อมต่อกับกำแพงเมือง ซึ่งต่อมาได้มีการวางผังเมืองใหม่ ทำให้กำแพงเมืองและประตูด้านอื่นๆถูกทำลายลงไป หลงเหลือแต่เพียงประตูทางเหนือที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ เป็นสถาปัตยกรรมสองชั้น โครงหลังคาไม้ตามแบบฉบับเดิมของจีน ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ที่ในลานประวัติศาสตร์ตรงข้ามกับ Beimen Post Office นั่นเอง
The red house โรงละครเก่าแก่ซีเหมิน หงโหลว ที่สร้างขึ้นปีค.ศ. 1908 ในสมัยที่ไต้หวันยังอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิญี่ปุ่น ศูนย์แสดงศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบัน ซึ่งด้านในอาคารจะมีการจัดนิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของอาคารแห่งนี้ จนถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในอดีต
ซึ่งงานศิลปะตามพื้นถนน ริมฟุตบาท ที่นำเสนอนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เราพบเจอและไม่อาจก้าวผ่านไปเฉยๆได้เลย ซึ่งคงมีอีกหลายความน่ารักที่แฝงไปด้วยความหมายสำคัญบางอย่างที่ทำให้ทุกคนมองว่าประเทศไต้หวันใส่ใจกับการออกแบบไม่เว้นแม้แต่รายละเอียดเล็กๆน้อยๆอย่างฝาท่อระบายน้ำ กระเบื้อง และภาพประติมากรรมนูนต่ำสถาปัตยกรรมผ่านคอนกรีต ที่ปรากฏอยู่ทั่วทั้งเมือง
ขอบคุณรูปภาพบางส่วนจาก Maprang และ Wikipedia