OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

พักใจที่บ้านแห่งความสมดุล…บ้านอิงกาย

บ้านอิงกาย บ้านที่คำนึงถึงความสมดุลและการผสานรวม เป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างความเชื่อและการวิเคราะห์โดยใช้เหตุผล

Location: อ.เมือง จ.อ่างทอง

Owner: คุณชำนาญ ชัชวาลยางกูร

Architecture: ธีรชัย ลี้สุรพลานนท์

Grossing Area: 420 ตร.ม.

Photograph: รุ่งกิจ เจริญวัฒน์

 – บ้านอิงกาย –

บ้านอิงกาย บ้านที่ใช้เส้นสายเรียบง่ายแต่ทรงพลังหลังนี้ ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง มีบริบทรอบข้างเป็นทุ่งนา และมีดงต้นยางซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่วัดเป็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงามที่สุด โดยบริเวณบ้านจะแยกออกมาจากบ้านหลังอื่น ทำให้มีบรรยากาศที่เงียบสงบและเป็นส่วนตัว

ตัวบ้านชั้นเดียวนี้มีพื้นที่ประมาณ 420 ตารางเมตร คุณธีรชัย ลี้สุรพลานนท์ อาจารย์สถาปนิก จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบังเป็นผู้ออกแบบ โดยความตั้งใจไว้ว่าบ้านหลังนี้จะกลายส่วนเติมเต็มความสุขและความต้องการอย่างที่เจ้าของบ้านใฝ่ฝัน และสามารถเป็นตัวอย่างให้นักเรียนเข้ามาเรียนรู้ได้เพิ่มเติม

– การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ –

เจ้าของบ้าน คุณชำนาญ ชัชวาลยางกูร ชาวไทยเชื้อสายจีน ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น มาตลอดชีวิต และในปัจจุบันคุณชำนาญในวัย 73 ปี แม้จะอายุมากแล้วแต่ยังต้องขึ้นลงบันได 3 ชั้น เพื่อขึ้นไปยังห้องนอนอยู่เป็นประจำทุกวัน ถือเป็นความลำบากในยามแก่ชราไม่น้อย

จากสภาพร่างกายที่เริ่มไม่แข็งแรงเหมือนสมัยก่อน คุณชำนาญจึงวางแผนการใช้ชีวิตในอนาคต ซึ่งแผนครั้งนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ด้วยการมีบ้านหลังใหม่ ซึ่งจะกลายเป็นสถานที่ ที่สามารถ “พักพิง อิงกาย” ในช่วงบั้นปลายชีวิตได้อย่างมีความสุข และการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงที่พักอาศัยเท่านั้น หากเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและความรู้สึกของบ้านที่เคยอยู่มาทั้งชีวิตอีกด้วย

– ทำไมถึงต้องบ้านอิงกาย ? –

เพราะการเปลี่ยนแปลงของชีวิตในช่วงอายุ 73 ปี นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย บ้านอิงกายจึงต้องสามารถตอบโจทย์ความต้องการของเจ้าของได้อย่างเต็มที่ ทั้งการออกแบบบ้านชั้นเดียว ที่ผู้สูงวัยสามารถใช้งานได้โดยง่าย การออกแบบบ้านที่สร้างความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ปิดกั้นผู้ใช้งานจากภายนอก เพราะฉะนั้นบ้านอิงกายจึงมีความหมายที่ค่อนข้างตรงตัว นั่นคือเป็นบ้านที่สามารถ พักพิง อิงกาย ในช่วงบั้นปลายชีวิต และยังเป็นบ้านที่อยู่แล้วสบายใจ มีความสุขในการใช้ชีวิตได้ในทุกๆวัน

– ความสมดุลและการผสานรวม –

“การออกแบบบ้านอิงกายจะคำนึงถึงการถ่วงสมดุลและผสานรวม โดยเป็นการเชื่อมโยงกันระหว่าง ความเชื่อกับเหตุผล ความรู้สึกปลอดภัยแบบเดิมกับการใช้ชีวิตแบบใหม่ในบริบทที่แตกต่าง และการผสมลักษณะทางสถาปัตยกรรมไทยกับจีน ณ บ้านหลังนี้ ซึ่งจริงๆแล้ว การถ่วงสมดุลและผสมผสาน ไม่ใช่แค่แนวความคิดในการออกแบบบ้านหลังนี้เท่านั้น หากเป็นหลักในการออกแบบที่ผมยึดถือเป็นเรื่องสำคัญมาโดยตลอด” คุณธีรชัย สถาปนิกกล่าว

– จุด เส้น ระนาบ –

รูปทรงและลักษณะของบ้านอิงกายมีการใช้รูปแบบที่เรียบง่าย เพื่อสร้างความกลมกลืนกับบริบทรอบข้างและชีวิตในชนบท โดยในการออกแบบจะเริ่มจากการใช้เส้นสายขั้นพื้นฐานทางสถาปัตยกรรมอย่าง จุด เส้น ระนาบ มาจัดองค์ประกอบเป็น พื้น ผนัง หน้าต่าง และเมื่อนำองค์ประกอบทั้งหมดมารวมกัน ก็จะกลายเป็นบ้านหลังนี้ที่มีความเรียบง่ายและมีความสมดุลเป็นองค์ประกอบหลักของบ้าน

การเปลี่ยนแปลงที่คงความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยในการพักอาศัย

จากความรู้สึกปลอดภัยที่เจ้าของบ้านเคยพักอาศัยอยู่ในอาคารพาณิชย์มาตลอดชีวิต และต้องเปลี่ยนเป็นการพักอาศัยบ้านเดี่ยวท่ามกลางบริบทที่เป็นพื้นที่โปร่งโล่ง จึงอาจจะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการปรับตัว ทั้งในด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว สถาปนิกจึงต้องแก้โจทย์ปัญหาเหล่านี้ เพื่อสร้างสรรค์สภาวะน่าสบายให้กับเจ้าของบ้าน สำหรับการออกแบบทั่วไปกับพื้นที่โล่งเช่นนี้ อาจจะออกแบบให้มีช่องเปิดขนาดใหญ่และมีพื้นที่โล่ง แต่บ้านอิงกายเลือกที่จะปิดและเปิดอย่างเหมาะสม เพราะคิดถึงผู้ใช้งานที่ต้องการความปลอดภัยเป็นหลัก

มีการเว้นพื้นที่สนามหญ้าข้างหน้าบ้านไว้เพื่อเปิดมุมมองให้กับตัวบ้าน และออกแบบผนังโปร่งทั้งด้านหน้าและด้านหลังบ้านให้มีขนาดใหญ่ เพื่อพรางสายตาจากผู้คนภายนอก สร้างความรู้สึกปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวให้กับผู้พักอาศัย มากไปกว่านั้นสถาปนิกยังออกแบบพื้นที่ว่างภายนอกโดยนำกรวดแม่น้ำมาโรยรอบบ้าน เมื่อมีคนเดินเข้ามาในพื้นที่บ้านจะเกิดเสียงดังขึ้น โดยแนวคิดนี้ได้มาจากเรือนไทยในสมัยก่อน ที่จะเว้นพื้นที่โล่งเป็นลานดินรอบเรือนไทยนั่นเอง

บริเวณผนังด้านหน้าอาคารมีการก่ออิฐดินเผาจากในจังหวัดอ่างทอง โดยใช้ประโยชน์จากอิฐสร้างช่องโปร่งระหว่างอิฐแต่ละก้อน และซ้อนกระจกข้างในอีกชั้น เป็น Double Skin ผู้ใช้งานในบ้านสามารถมองออกไปเห็นข้างนอกบ้านได้อย่างชัดเจน และการที่มีผนัง 2 ชั้น นอกจากจะเป็นการช่วยลดความทึบของกำแพงแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้ภายในบ้านได้อีกด้วย

– สถาปัตยกรรมไทยผสมจีน –

ด้วยความที่เจ้าของบ้านเป็นคนไทยที่มีเชื้อสายจีน การออกแบบบ้านหลังนี้จึงมีการผสมผสานสถาปัตยกรรมจีนเข้ามาในบ้านด้วย เช่น มีการใช้โครงสร้างไม้แบบจีน หรือที่เรียกกันว่า “เต้าฮุง” เข้ามาใช้บริเวณคานส่วนหลังคา

– ฟังก์ชัน..บ้านอิงกาย –

แปลนอาคาร

แผนผังของบ้านเป็นชั้นเดียวและมีลักษณะที่แผ่ราบเหมาะกับผู้สูงอายุ โดยมีระเบียงเปิดโล่งกระจายอยู่อย่างหลากหลายตำแหน่ง เพื่อเปิดพื้นที่ รับแสงแดด รับลม รับวิวทิวทัศน์ที่อยู่รายล้อมรอบบ้าน และเป็นที่นั่งพักผ่อนอีกด้วย

มีทางลาดหน้าบ้านที่เชื่อมต่อกับโรงจอดรถโดยตรง เพื่อการเข้าอาคารที่ง่ายและสะดวกสบาย ยามใช้รถเข็น

เมื่อเดินเข้ามาภายในพื้นที่ต้อนรับจะเจอกับโถงโปร่ง ยื่นออกมาจากผนังก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงเชื่อมต่อไปยังโถงกึ่งโปร่งภายในบ้านอีกชั้น โดยเจ้าของบ้านตั้งใจให้ ภายในบ้านมีพื้นที่รับแขกหลายระดับ ตั้งแต่แขกไม่สนิทจนถึงแขกที่สนิทมาก โดยสามารถเข้าไปใช้งานในบริเวณหัวใจบ้านหรือโถงกลางบ้านได้

หัวใจบ้านเป็นโถงภายในขนาดใหญ่ แต่ยังมีความโล่ง โปร่ง เชื่อมสเปซไปยังระเบียงด้านนอกได้โดยตรง และยังสามารถเปิดรับมุมมองที่ดีที่สุดของบ้านนี้ นั่นคือดงต้นยางใหญ่ซึ่งอยู่ในวัดท้ายย่าน อีกทั้งสามารถเปิดให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก จากการเปิดกระจกบานเฟี๊ยมขนาดใหญ่ทั้งสองด้าน จนเกิดภาวะน่าสบาย ซึ่งเจ้าของไม่เคยสัมผัสมาก่อนเมื่ออาศัยอยู่ในในอาคารพาณิชย์แบบเดิม

พื้นที่โถงกลางหรือหัวใจของบ้านนี้ จะเป็นส่วนพื้นที่นั่งเล่นและต้อนรับแขกที่สนิทของเจ้าของบ้าน นอกจากพื้นที่นี้ยังมีไว้เพื่อรองรับกิจกรรมของ “ชมรมคาราโอเกะ” ที่เจ้าของโปรดปรานอีกด้วย

– สัจจะวัสดุ –

วัสดุที่ใช้ในบ้านอิงกายจะเลือกใช้วัสดุในการก่อสร้างขั้นพื้นฐานและหาได้ง่าย เช่น ไม้ เหล็ก คอนกรีต และอิฐดินเผาอ่างทอง ซึ่งเป็นอิฐจากโรงงานท้องถิ่น และทุกวัสดุที่เลือกใช้นั้น จะมีการทาสีทับหรือแต่งเติมเพิ่มน้อยที่สุด เพื่อแสดงคุณค่าจากเนื้อแท้และพื้นผิวของวัสดุที่แท้จริง โดยวัสดุที่เลือกใช้ทั้งหมดนี้นั้นจะมีความกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมและบริบทรอบข้างทั้งสิ้นทั้งเรื่องสีและผิววัสดุ

ภายนอกอาคารจะหลีกเลี่ยงการใช้สีขาวกับตัวบ้าน เพราะสีขาวจะทำให้อาคารมีความโดดเด่นและขัดแย้งกับบริบทรอบข้างมากเกินไป สถาปนิกจึงเลือกใช้สีขาวมาตกแต่งผนังห้องน้ำแทนเพราะเป็นห้องที่ต้องการความสว่างในการใช้งาน โดยจะมีการเจาะช่องแสงเหนืออ่างล้างมือ เพื่อสร้างเงาที่จะตกกระทบกับผนังห้องน้ำ ทั้งสวยงามและยังทำให้ห้องน้ำไม่ขึ้นราอีกด้วย

– ทึบแต่โปร่ง โปร่งแต่ทึบ –

จากการเลือกใช้วัสดุที่กึ่งโปร่ง มีรูพรุน จึงเป็นการเปิดโอกาสให้แสงแดดส่องผ่านผนัง เกิดเป็นเส้นสายและลวดลายที่เกิดจากเงา กระทบกันพื้นและผนัง เช่น บริเวณหน้าบ้านมีการใช้อิฐดินเผาเรียงสลับกันเป็นผนัง และด้านหลังบ้านใช้ผนังคอนกรีตบล็อคโปร่ง เพื่อกรองแสงแดด แต่ไม่ปิดกั้นลม จึงทำให้บ้านไม่ทึบ มีลมพัดตลอดทั้งวัน

“ช่องอินดี้” ช่องที่ผนังบริเวณระเบียงห้องนอน โดยวางแกนตรงกับประตูทางเข้าหน้าบ้านและต้นลั่นทมที่อยู่ตรงกลางระหว่างช่อง เมื่อใดก็ตามที่มีแขกมาเยี่ยมเยียนบ้าน เจ้าของบ้านจะสามารถออกมาทักทายได้จากบริเวณนี้

ผนังก่ออิฐที่มีรูปแบบการวางแบบซ้อนทับกันไปมา และเว้นช่องว่างจากอิฐแต่ละช่องเพื่อสร้างความโปร่ง ช่องเหล่านี้จะมีมิติขึ้นมาเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม โดยมีแสงแดดเป็นปัจจัยสำคัญ

จากการเลือกใช้วัสดุบ้านที่ดูหนักแน่น และดุดัน แต่จริงๆแล้วนั้นในความหนักนั้นกลับก็มีความเบาโดยการออกแบบบ้านให้ยกลอยจากพื้นดินดูเบาลอย เพิ่มความสมดุลให้กับบ้านได้เป็นอย่างดี

บ้านอิงกาย บ้านที่มีความสมดุลและผสมสานด้วยศาสตร์และศิลป์เข้าไว้ด้วยกัน และเป็นบ้านที่นำวิถีของธรรมชาติมาประยุกต์ให้เข้ากับการใช้งานของผู้คนในบ้านได้อย่างสมบูรณ์และเปี่ยมสุขในช่วงบั้นปลายชีวิต…

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading