สถาปัตยกรรมไม่ได้มีไว้สำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น เพราะลานและสถานที่แห่งการเรียนรู้ 5 แห่งนี้ จะพิสูจน์ว่าสถาปัตยกรรมก็ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเด็กไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
หากถามว่าสถานที่ไหนในวัยเด็กที่ชื่นชอบมากที่สุด? แน่นอนว่าสนามเด็กเล่นต้องเป็นคำตอบที่ใครหลายคนคิดเป็นอันดับแรก เพราะสนามเด็กเล่นเป็นสถานที่ ที่สามารถเล่นได้อย่างสนุกสนานไม่มีเบื่อ ได้เจอกับเพื่อนๆ และช่วงเวลาที่ได้วิ่งเล่นกับเพื่อนคือช่วงเวลาที่มีความสุขและมีคุณค่า เมื่อได้มองย้อนกลับไปในสมัยก่อนก็จะพบกับความสนุกสนานในทุกๆครั้ง
สนามเด็กเล่นนอกจากจะมอบความสุขและสนุกให้กับเด็กแล้ว ยังเป็นสถานที่ ที่เพิ่มพูนศักยภาพของเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจ จากการได้สัมผัสเครื่องเล่นและการใช้จินตนาการได้อย่างอิสระ การออกแบบพื้นที่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สามารถสร้างพัฒนาการและการเรียนรู้ให้กับเด็กๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Dsign Something จึงรวบรวม 5 ลานและสถานที่แห่งการเรียนรู้ ที่มีดีทั้งด้านการออกแบบและฟังก์ชันที่ตอบโจทย์การใช้งานของเด็กๆมาให้ติดตามกันค่ะ
“ลานวงกลมอเนกประสงค์ที่เป็นทั้งสนามเด็กเล่น เวที และร้านกาแฟ โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Cofun สุสานของชาวญี่ปุ่นโบราณ”
1 CoFuFun
Architect Firm: Nendo
Location: Tenri Station, Nara, Japan
CoFuFun ตั้งอยู่ที่สถานีรถไฟ Tenri เมืองนาราประเทศญี่ปุ่น มีพื้นที่กว่า 6,000 ตารางเมตร ภายใน CoFuFun ประกอบไปด้วยสนามเด็กเล่น เวทีกลางแจ้ง ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ที่เช่าจักรยาน และเป็นที่พบปะพูดคุยของผู้คนในเมือง วัตถุประสงค์ของโปรเจคนี้คือการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและสร้างพื้นที่สาธารณะให้ชุมชนท้องถิ่น จัดสรรพื้นที่สำหรับการจัดกิจกรรม และเผยแพร่ข้อมูลด้านการท่องเที่ยวให้กับผู้มาเยี่ยมเยือนที่เมืองนารา
แต่เดิมพื้นที่ในละแวกใกล้เคียงของสถานี Tenri จะมี “Cofun” หรือสุสานของชาวญี่ปุ่นในยุคโบราณเป็นจำนวนมาก Cofun เป็นสถานที่ที่มีทั้งความสวยงามและความเร้นลับ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถกลมกลืนกับการใช้ชีวิตในเมืองได้อย่างลงตัว CoFuFun จึงมีรูปทรงที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Cofun ซึ่งมีลักษณะคล้ายโดมคว่ำ
Fujinoki Cofun ที่เมืองนาราประเทศญี่ปุ่น
CoFuFun แบ่งพื้นที่การใช้งานเป็นหลายส่วน เพื่อสร้างความหลากหลายในการใช้งาน เช่นบันไดบางส่วนถูกออกแบบให้เป็นที่นั่งพัก ร้านกาแฟที่อยู่ใกล้กับเวทีบนดาดฟ้า การออกแบบการใช้งานที่มีอย่างหลากหลายช่วยให้ผู้คนสามารถสำรวจและใช้เวลาในแต่ละพื้นที่ มากกว่าการจำกัดพื้นที่การใช้งานอยู่เพียงที่เดียว ทำให้สามารถรองรับการใช้งานและผู้คนเป็นจำนวนมากที่เข้ามาใช้งาน
CoFuFun ได้ออกแบบพื้นที่สำหรับเด็กในส่วนของยอดโดม เช่นมีลานโล่งที่เด็กๆสามารถนั่งเล่น หรือเคลื่อนไหวไปมาได้อย่างอิสระบนยอดโดมแห่งหนึ่ง และอีกแห่งก็มีโต๊ะกับที่นั่งสาธารณะสำหรับเด็กและผู้ปกครองสามารถมานั่งพูดคุย ใช้เวลาร่วมกันได้เป็นอย่างดี โดยทั้งหมดนี้เป็นการเพิ่มความผูกพันให้กับคนในครอบครัว และสอนให้เด็กๆมีสังคม มีเพื่อน เพิ่มความกล้าแสดงออกมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ของเด็ก จากการได้เคลื่อนไหวร่างกายและเล่นสนุกอย่างเป็นไปตามวัย
ป้ายบอกทางถูกออกแบบให้เป็นรูปทรงโค้งคล้ายกับ Cofun
มีการใช้สีเทาเข้มเป็นสีหลักในอาคาร ซึ่งทำให้สีสันและความคมชัดในอาคารเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังกลมกลืนกับพื้นที่ใกล้เคียง สถาปนิกออกแบบพื้นที่โดยแบ่งเป็น 4 ส่วนโดยมีระดับความสูงแตกต่างกัน เช่นสเปซในการเล่นของเด็ก พื้นที่สำหรับอ่านหนังสือ เวทีส่วนกลางที่สามารถใช้จัดคอนเสิร์ตและจัดการประชุม และส่วนร้านค้าขายของฝากจากเมือง Tenri
ชื่อของ CoFuFun คือการผสมผสานระหว่าง Cofun สุสานโบราณของญี่ปุ่นและ Fufun สำนวนของญี่ปุ่น ซึ่งหมายถึงความสุขและความสนุกสนาน และยังเป็นเป้าหมายหลักในการออกแบบพื้นที่แห่งนี้อีกด้วยนอกจากนั้น Co ยังหมายถึง “Cooperation” (การร่วมมือ) และ “Community” (ชุมชน) และ Fun คือความสนุกสนานซึ่งผู้ที่เข้ามาใช้งานทั้งคนญี่ปุ่นและคนต่างชาติ จะสามารถเข้าใจและรับรู้ความหมายของสถานที่นี้ได้ตั้งแต่แรกเห็นนั่นเอง
“สนามเด็กเล่นแห่งความยั่งยืน”
2 The Elysium Playground
Architect Firm:Cox Rayner Architects
Location: Sunshine Coast, Queensland, Australia
Elysium Playground เป็นสนามเด็กเล่นและพื้นที่สาธารณะ สำหรับผู้คนในเมือง Noosa ประเทศออสเตรเลียโดย Elysium Playground คือหนึ่งในสองโปรเจคที่ได้รับเลือกจาก Placemakers-Contemporary Queensland Architecture โดยมีแนวคิดสำคัญ คือการออกแบบที่คำนึงถึงการใช้พื้นที่ร่วมกันระหว่างเด็กและผู้คนในเมือง อีกทั้งยังนำธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบ ด้วยการใช้ไม้และคอนกรีตเป็นวัสดุหลักในแต่ละเครื่องเล่น และมีการออกแบบทิศทางแสงและเงาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติให้ตกกระทบบนพื้นและเครื่องเล่น เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้และเล่นสนุกไปพร้อมกัน
เครื่องเล่นแต่ละชนิดเป็นงาน Hand-made ทั้งสิ้น ซึ่งออกแบบขึ้นเพื่อสร้างพัฒนาการของเด็กให้เป็นไปตามวัย และเป็นการกระตุ้นศักยภาพของเด็กทั้งในด้านความคิดและร่างกาย โดยมีการออกแบบสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรมช่วยดึงดูดความสนใจจากเด็ก เพิ่มความอยากรู้อยากเห็น พร้อมทั้งเป็นการเชิญชวนเด็กๆให้ลองเข้ามาสัมผัส เข้ามาเล่น และได้เรียนรู้สิ่งแวดล้อมธรรมชาติไปในเวลาเดียวกัน จากการใช้วัสดุธรรมชาติและการออกแบบช่องเปิดที่มีรูปแบบและระดับแตกต่างกัน
แนวคิดสำคัญของ Elysium Playground คือการสร้างพื้นที่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ เป็นสนามเด็กเล่นที่มีการใช้วัสดุและการออกแบบอย่างยั่งยืน โดยเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับทางชุมชนที่ต้องการอนุรักษ์พื้นที่ทางธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติและวัสดุรีไซเคิลเป็นวัสดุหลักในการออกแบบเครื่องเล่น และหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกหรือเหล็กเป็นส่วนประกอบ เช่นมีการใช้ไม้รีไซเคิลจากต้นสนเป็นโครงสร้างเครื่องเล่นที่ทำจากคอนกรีต และใช้ไม้เนื้อแข็งในเครื่องเล่นที่ทำจากไม้เป็นต้น
BBQ shelters เป็นส่วนเพิ่มเติมจากสนามเด็กเล่น เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กและผู้ปกครองโดยมีสถาปัตยกรรมเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์
“Pavilion ที่แปรเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา“
3 Flora Pavilion
Architect Firm: Student from Nanjing University of the Arts
Location: Nanjing University of the Arts, Nanjing, China
Pavilion ที่ออกแบบโดยโรงเรียนสอนศิลปะในเมืองหนานจิง ประเทศจีน โปรเจคนี้ได้รับแรงบันดาลใจจาก Flora ดอกไม้ในยุคโรมัน ซึ่งผู้ออกแบบนำลักษณะและรูปแบบของดอกไม้มาตีความใหม่ โดยใช้โครงสร้างและเครื่องมือพาราเมตริกซ์เป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบ ปรับเปลี่ยนดอกไม้และโครงสร้างให้เข้ากับยุคดิจิตอลมากขึ้น ด้วยรูปร่างและพื้นที่ใน Pavilion ที่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้คนได้ตั้งแต่แรกพบ
โครงสร้างของ Pavilion สร้างจากลูกเหล็กแสตนเลสกว่า 270 ชิ้นซึ่งจะเชื่อมต่อกับท่อนเหล็กทั้งหมด 703 ท่อนที่มีความยาวแตกต่างกัน เป็นการสร้างลูกเล่นให้กับรูปทรงของ Pavilion แห่งนี้ ส่วนตาข่ายรูปทรงสามเหลี่ยมสร้างจากแผ่นฟิล์มพีวีซีโปร่งแสง ซึ่งส่งผลให้สีสันใน Pavilion จะแปรเปลี่ยนไปตามสภาพอากาศและมุมมองในแต่ละวัน เด็กๆและผู้เข้าชมจะพบกับบรรยากาศที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดในการเข้าชมแต่ละครั้ง
บรรยากาศที่แตกต่างของ Pavilion ในแต่ละช่วงเวลา
“ตาข่ายนิตติ้ง Hand-made ในรังไม้”
4 Woods of Net
Architect Firm: Tezuka Architects
Location: Hakone Open-Air Museum, Hakone, Japan
สวนสนุกในร่มซึ่งสร้างจากนิตติ้งของศิลปินชาวญี่ปุ่น Toshiko Horiuchi Macadam ตั้งอยู่ที่ Hakone Open-Air Museum พิพิธภัณฑ์ที่เมืองHakone ประเทศญี่ปุ่นWoods of Net อยู่ในส่วนงานศิลปะที่ทางพิพิธภัณฑ์จัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 40 ปี และ Tezuka Architects คือสถาปนิกผู้ออกแบบสเปซภายในและรูปลักษณ์ภายนอกโดยร่วมมือกับ TIS & PARTNERS วิศวกรผู้เชี่ยวชาญเรื่องโครงสร้างไม้
“นี่คือ Pavillion ที่สร้างโดยศิลปิน Toshiko Horiuchi Macadam ผู้ถักตาข่ายนิตติ้งด้วยตัวของเขาเอง ซึ่งรูปทรงของนิตติ้งอันนี้ออกแบบมาเพื่อการพัฒนาการของเด็กโดยเฉพาะ เด็กๆสามารถคลานลอดเข้าไปใต้ตาข่าย หรือแม้แต่กระโดดบนตาข่ายได้ พวกเราออกแบบพื้นที่ภายในและภายนอกแบบที่ไม่มีขอบเขตชัดเจน ภายใน Pavilion สามารถรับแสงธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีสุขภาพที่ดีขึ้น” สถาปนิกผู้ออกแบบจาก Tezuka Architects กล่าว
โครงสร้างอาคารใช้ไม้เป็นวัสดุหลักซึ่งประกอบไปด้วยท่อนไม้ 320 ชิ้นและมีส่วนต่อทั้งหมด 589 ชิ้น โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์คำนวณโครงสร้างของอาคารทั้งหมด แต่วิธีการเชื่อมต่อไม้แต่ละชิ้นเป็นการนำเทคนิคของชาวญี่ปุ่น ในการสร้างวัดที่เมืองนาราและเกียวโตซึ่งมีอายุมากกว่า 1000 ปีมาใช้ และถ้ามีการดูแลที่เหมาะสมและถูกวิธีจะสามารถยืดอายุการใช้งานได้ถึง 300 ปีด้วยกัน ซึ่งจะทำให้ Woods of Net กลายเป็น Pavilion ที่มีโครงสร้างที่เก่าที่สุด
“แคมป์ปิ้งและเรียนรู้เกษตรกรรมอย่างยั่งยืนตามวิถีชาวจีน”
5 MICR-O
Architect Firm: Superimpose Architecture
Location: Hangzhou, China
ในเขตชนบทของหมู่บ้าน Tai Yang เมือง Hangzhou ประเทศจีนมีการริเริ่มโปรเจคทำฟาร์มออร์แกนิคแบบยั่งยืนและส่งเสริมให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้ชุมชนเมืองเกิดการขยายตัวมากขึ้น
MICR-O ออกแบบโดย Superimpose Architecture โดยวัตถุประสงค์ของโปรเจคในครั้งนี้คือการสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้สำหรับเด็กและคนเมือง โดยใช้ข้าวและไม้ไผ่ซึ่งเป็นผลผลิตทางเกษตรกรรมของหมู่บ้านมาเป็นส่วนประกอบในการเรียนรู้ ในทุกปีเด็กๆจากเมือง Hangzhou และ Shanghai จะมาเข้าค่ายที่ MICR-O แห่งนี้ เพื่อศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ ซึ่งเด็กๆจะได้เรียนรู้และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีของชุมชนเกษตรกรรม
MICR-O คือลานกลางแจ้งที่มีลักษณะคล้ายวงแหวนมีทางเข้าอาคารทั้งหมด 3 แห่งและมีลานซึ่งเป็นที่สำหรับการเรียนรู้และการจัดกิจกรรมเวิร์คช็อปให้เด็กๆและคนในชุมชน มีห้องพักสำหรับเด็กๆที่มาเข้าแคมป์นอกจากนั้นบริบทรอบข้างของ MICR-O ยังเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่มีป่าไผ่และธรรมชาติล้อมรอบอีกด้วย
โครงสร้างของ MICR-O ทำจากไม้ ซึ่งนำมาประกอกกันในลักษณะรูปตัว A เป็นรูปสามเหลี่ยมตั้งฉากเป็นมุม 90 องศาทำให้พื้นที่ตรงลานวงแหวนเปิดเข้าหาธรรมชาติและท้องฟ้าได้อย่างแท้จริง โดยโครงสร้างนี้จะเป็นตัวอย่างให้กับชุมชน ในการใช้เวลาและงบประมาณการก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการนำไม้สนซึ่งเป็นวัสดุพื้นถิ่นมาใช้เป็นวัสดุหลักของอาคาร เช่นพื้นระเบียงและโครงสร้างหลักเป็นต้น
MICR-O คือศูนย์กลางในการให้ความรู้กับผู้คนท้องถิ่น และในบางครั้งก็มีการจัดกิจกรรมเวิร์คช็อปสำหรับคนในหมู่บ้านและเด็กๆที่มาเยี่ยมเยือน เพื่อเป็นการสนับสนุนเพิ่มความรู้ให้กับประชากรและสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในชุมชน
จะเห็นได้ว่าลานและสถานที่แห่งการเรียนรู้ทั้ง 5 แห่งนี้ นอกจากจะส่งผลถึงการพัฒนาในตัวเด็กแล้ว ยังส่งผลถึงผู้ปกครอง จนไปถึงการพัฒนาในระดับชุมชนได้อีกด้วย เพราะสนามเด็กเล่นไม่ใช่การออกแบบที่เล่นๆ แต่ละโปรเจคล้วนส่งผลกับสุขภาพ จิตใจ จินตนาการ และการเรียนรู้ของเด็กได้โดยตรง…
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก CoFuFun , Flora Pavilion, Micr-O, Elysium Playground, Woods of net