OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

มนุษย์และสถาปัตยกรรม ความเชื่อมโยงต่างมิติ ของ ประกิจ กัณหา แห่ง StudioMiti

“ผมพยายามที่จะเชื่อมโยงสถาปัตยกรรม สิ่งก่อสร้าง และการรับรู้ของมนุษย์ผ่านทุกผลงานออกแบบ เพราะผมเชื่อว่าการเชื่อมโยงแต่ละบุคคล แต่ละมิติให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน คือหน้าที่สถาปัตยกรรมที่ดี” 

2 มิติ  3 มิติ และ 4 มิติ คือคำที่เราคุ้นเคยมาตลอด แต่จริงๆแล้ว ความหมายของคำว่ามิตินั้น เป็นได้ทั้งรูปธรรมและนามธรรม คุณบั๊ม ประกิจ กัณหา จาก StudioMiti จะมาบอกเล่าเรื่องราวในมิติที่หลากหลายของสถาปัตยกรรมและการรับรู้ของมนุษย์ ว่าทั้งสองอย่างนี้มีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันได้อย่างไร

Dsign Something: ความหมายของมิติ และสตูดิโอมิติในมุมมองของคุณบั๊มเป็นอย่างไร ?

คุณบั๊ม: ความหมายของมิติสำหรับผมคือการรับรู้ของมนุษย์ เราทำงานด้านสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ การใช้งานของมนุษย์ เพราะฉะนั้นเราจึงควรเข้าใจธรรมชาติความเป็นมนุษย์ ภายใต้การรับรู้ด้านนามธรรมและรูปธรรม รวมทั้งการสัมผัส และกระบวนการรับรู้ทางจิต ผมเลยนำเรื่องเหล่านี้มาใช้กับวิธีการออกแบบทางสถาปัตยกรรม โดยเป็นวิธีการแบบตะวันออก ซึ่งจะสื่อสารออกมาผ่านกายภาพหรือตัวอาคาร เช่น ถ้าอยากให้มนุษย์รักธรรมชาติ เราควรจะดีไซน์สถาปัตยกรรมยังไง เพื่อสื่อเรื่องราวให้คนรู้สึกถึง ซึ่งนี่ก็ยังเป็นเรื่องที่ผมกำลังศึกษาและทดลองอยู่ตลอดเวลา

StudioMiti Office, Photo: Xaroj Phrawong

สตูดิโอมิติ(StudioMiti)ก่อตั้งขึ้นในปี 2554 โดยมีผมกับคุณเติ้ล เผดิมเกียรติ สุขกันต์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง สตูดิโอนี้เริ่มต้นจากความต้องการที่จะสร้างสรรค์สถาปัตยกรรม ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ เพราะฉะนั้นเราจึงเริ่มศึกษาและออกแบบสถาปัตยกรรมที่คำนึงถึงบริบทรอบข้าง ธรรมชาติ สังคม วัฒนธรรม และที่สำคัญที่สุดคือการรับรู้ของมนุษย์ เพื่อการเกิดสถาปัตยกรรมที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตและมีความเหมาะสมกับมนุษย์

ผมตั้งใจให้สตูดิโอมิติเหมือนค่ายเพลงเล็กๆ ที่ผลิตศิลปินซึ่งมีความแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์

หากจะถามถึงคำนิยามและสไตล์งานของออฟฟิศคงจะเป็นเรื่องยาก เพราะที่สตูดิโอมิติจะมีความหลากหลาย ต่างคน ก็ต่างความคิด ต่างแนวทางการใช้ชีวิต เราจึงนิยมความหลากหลายเพื่อที่จะได้คำตอบที่ต่างออกไปด้วยเช่นกัน รวมทั้งสไตล์งานแต่ละโปรเจคก็จะมีสไตล์ต่างกัน เพราะเราอยากให้สถาปนิกดึงศักยภาพของตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องตามใคร ถึงแม้อาจจะเป็นไปได้ยากแต่ผมก็จะพยายามทำต่อไป เพราะสตูดิโอมิติจะเป็นทั้งที่ทำงานและที่เรียนรู้ไปพร้อมกัน

Dsign Something: แนวทางในการออกแบบของคุณบั๊มเป็นอย่างไร ?

คุณบั๊ม: ในทุกโปรเจคผมจะเริ่มจากการเข้าใจการรับรู้ของมนุษย์ โดยอาจจะหยิบประเด็นมาเพียงหนึ่งประเด็น หรือหลายๆประเด็นมาแตกเป็นแนวคิด และนำมนุษย์ไปสู่จุดหมายและวัตถุประสงค์ตามความต้องการ จากนั้นจึงหาคอนเซปและเริ่มดีไซน์ โดยผลที่เกิดขึ้นจากงานสถาปัตยกรรมแต่ละชิ้น นอกจากเจ้าของจะได้รับผลประโยชน์แล้ว บุคคลอื่น หรือแม้แต่บุคคลทั่วไปก็จะได้ผลประโยชน์ด้วยเช่นกัน เช่นในการดีไซน์บ้านพักอาศัยส่วนตัว บุคคลอื่นก็จะรับรู้ผ่านการมองเห็น การสัมผัส

ในการออกแบบ การปรับทัศนคติระหว่างดีไซน์เนอร์และเจ้าของเข้าหากันคือเรื่องสำคัญ เพื่อหาเครื่องมือสำหรับแปรคอนเซปนั้นให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น นั่นคือการจัดการสเปซ การเชื่อมต่อ การใช้วัสดุ และที่ตามมาอย่างสุดท้ายคือส่วนรูปทรงภายนอกของอาคาร

Say Cafe Ayuttaya, Photo: Boonyachet Jamklang

Dsign Something: สถาปัตยกรรมที่ดีคืออะไร ?

“สถาปัตยกรรมที่ดีต้องคิดบวก ต้องเป็นงานสร้างสรรค์ที่ดี มีวิสัยทัศน์ และตอบโจทย์การใช้งาน ทุกอย่างจะมีความต่อเนื่องกัน เพื่อให้เกิดการตอบสนอง การรับรู้ และมนุษย์สามารถสัมผัสได้ นอกจากนั้นการออกแบบก็ต้องมีความยืดหยุ่นด้วยแนวคิด จึงจะเกิดประสิทธิภาพที่เหมาะสมที่สุด”

คุณบั๊ม: ผมว่าสถาปนิกควรเป็นคนช่างสงสัย มีความอยากรู้อยากเห็น เพราะการตั้งคำถามในสิ่งต่างๆที่เราพบเห็นในแต่ละวัน จะนำไปสู่การเรียนรู้สิ่งใหม่และนำไปสู่การพัฒนา ฝึกฝนตัวเราให้ดีมากขึ้น เก่งมากขึ้นในทุกๆวัน

เช่น ที่อาคารออฟฟิศของเราออกแบบโดยใช้โครงสร้างเหล็ก ปิดผิวด้วยอิฐ เราจึงศึกษาความเป็นอิฐ เหล็ก ว่าอยู่และใช้งานอย่างไร ผมว่าเรื่องเทคนิค รายละเอียดหรือแม้แต่เครื่องมือ เราสามารถเรียนรู้และเก็บสะสมไว้ในความคิดเรา เหมือนเป็นวัตถุดิบอย่างหนึ่งได้ เมื่อต้องการจะใช้ก็แค่หยิบเรื่องราวในความคิดมาตีความใหม่นั่นเอง

Dsign Something: ทำไมงานออกแบบของคุณบั๊มส่วนใหญ่ถึงเลือกที่จะใช้ไม้ ?

คุณบั๊ม: ผมเป็นคนธรรมดาที่เห็นการก่อสร้างด้วยไม้ตั้งแต่เด็ก ผมรู้สึกว่าไม้เป็นวัสดุทั่วไปที่เค้าใช้กันและทำไม่ยาก โดยเฉพาะช่างสมัยก่อนก็จะมีแต่ช่างไม้ การสร้างบ้านด้วยไม้จึงเป็นพื้นฐานของมนุษย์ ที่ไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไรมากมาย โดยอาจจะใช้แค่ เลื่อย ค้อน ตะปู ก็สามารถสร้างบ้านขึ้นมาหลังนึงได้แล้ว เป็นสิ่งธรรมดาพื้นฐานของมนุษย์ และไม้ยังเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายและสามารถหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ได้

ยิ่งผมเติบโตมากับบ้านไม้เลยเข้าใจและรักในสิ่งนี้ ผมรู้สึกว่าในยุคนี้กว่าแต่ละคนจะมีบ้านได้ต้องใช้เงินเยอะ ผมก็เลยออกแบบและทำบ้านของผมด้วยตนเองเอง โดยให้บ้านมีความร่วมสมัยแต่ใช้เทคนิคดั้งเดิมในการก่อสร้าง โดยใช้ไม้เก่าและมีงบในการก่อสร้างไม่แพงจนเกินไปนัก เพื่อเป็นการจุดประกายให้บุคคลอื่นหันมาใช้ไม้กันมากขึ้น แต่ไม้ที่ใช้ควรเป็นไม้เก่า ไม้รียูส หรือเป็นไม้ในระบบป่าปลูก เพราะจะได้ไม่เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ แต่ทั้งนี้เราก็ต้องอนุรักษ์ช่างไม้ด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างมิติในงานไม้ได้อย่างหลากหลายเป็นต้น

ผมเริ่มต้นจากการศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น และนำมาพัฒนาให้ความเกิดร่วมสมัย เพื่อให้มนุษย์สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ และคำว่าร่วมสมัยของผมไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ในปัจจุบัน แต่ยังหมายถึงการร่วมสมัยหน้าหรืออนาคตด้วย ผมศึกษาเรื่องการใช้ไม้และบ้านไม้แบบดั้งเดิมผ่านการทำงานแต่ละโปรเจค เช่นออกแบบบ้าน โรงแรมเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ที่นำเทคนิคดั้งเดิมมาใช้ให้ดูดีและมีความสวยงาม จนคนรุ่นใหม่ก็ร่วมรู้สึกถึงความพิเศษนี้ และสามารถนำไปต่อยอดจากบ้านไม้แบบเดิมๆได้

บ้านมะขามบางน้ำผึ้งคืออีกหนึ่งโปรเจค ที่บอกเล่าเรื่องราวการออกแบบของคุณบั๊มได้เป็นอย่างดี อ่านบทความเต็มๆได้ที่  ไม้/ระบบนิเวศ/ชุมชน…บ้านมะขาม บางน้ำผึ้ง 

“สถาปัตยกรรมสำหรับผมคือศิลปะแบบ Pure Art”

“ผมว่าสถาปัตยกรรมคืองานศิลปะที่จรรโลงใจ สถาปนิกจึงเปรียบได้กับศิลปิน ที่งานสถาปัตยกรรมคือสิ่งที่หล่อหลอมตัวตนเราขึ้นมา ดั่งคำสอนของอาจารย์ศิลป์ พีระศรีที่กล่าวไว้ว่า ชีวิตสั้น แต่ศิลปะยืนยาว ตอนแรกผมคิดว่าเมื่อชีวิตศิลปินหายไป งานศิลปะยังคงอยู่ แต่ตอนนี้ผมได้ลองคิดและมองเข้าไปลึกกว่านั้นจนเกิดความเข้าใจว่า ศิลปะคือวิธีการคิด วิธีการรับรู้ที่ส่งต่อรุ่นต่อรุ่น ตราบใดที่มีมนุษย์ ศิลปะก็จะสืบทอดต่อไป แม้ว่าชิ้นงานศิลปะจะถูกทำลาย แต่ความรับรู้และความรู้สึกในขณะที่ได้เสพงานก็จะฝังลึกอยู่ในจิตมนุษย์และสืบทอดรุ่นต่อรุ่น ศิลปะไม่ใช่แค่วัตถุสิ่งของแต่เป็นสิ่งที่อยู่ในจิต และถ้าจิตถูกจรรโลงด้วยศิลปะ ความจรรโลงนี้ก็จะถูกสืบทอดต่อไปด้วย” คุณบั๊มฝากทิ้งท้ายไว้กับเรา

ขอขอบคุณ คุณบั๊ม ประกิจ กัณหา จากสตูดิโอมิติ

Website: Studiomiti.com 

Facebook: Studiomiti  

Tel: 0875067441