OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

8 พาวิเลี่ยนดีไซน์ไม่ธรรมดางานสถาปนิก ‘61

เริ่มกันแล้วกับ งานสถาปนิก ’61 สำหรับใครที่ยังไม่ทราบว่าไปที่งานแล้วจะได้อะไรกลับไป หรือภายในงานมีอะไรให้ดู วันนี้เราจะมาแนะนำ 8 พาวิเลียนดีไซน์ไม่ธรรมดา นอกจากจะสวยงามแล้ว ยังมีแนวคิดการออกแบบที่น่าสนใจ หรือใครที่กำลังหาสถานที่ถ่ายรูปสวยๆ  พาวิเลียนของงานก็ดูเหมือนจะป็นตัวเลือกที่ดีเลยทีเดียว

1. Introduction Pavilion

ออกแบบโดย สาวิตรี ไพศาลวัฒนา และ Jakub Gardolinski จาก PAGAA ร่วมกับเมธัส ศรีสุชาติ จาก MAGLA

เราเริ่มกันที่ Introduction Pavilion ที่นำเสนอทัศนคติและการวิพากษ์ความเข้าใจต่อสถาปัตยกรรมท้องถิ่นรวมไปถึงระบบการศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในปัจจุบันและอนาคต  วัสดุที่ใช้สร้างพาวิเลียนมาจากกระดาษรวงผึ้ง ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย ราคาถูก สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ตั้งอยู่บนลูกบอลพลาสติกขนาดยักษ์ ทำให้เหมือนลอยอยู่กลางอากาศ ซึ่งโครงสร้างที่ดูเรียบง่ายจะเป็นเสมือนฉากที่ส่งเสริมพาวิเลียนโดยรอบ

2. Meeting Pavilion

ออกแบบโดยสุริยะ อัมพันศิริรัตน์   จาก Walllasia

พาวิเลียนที่ต้องการนำเสนอการซ้อนทับพื้นที่บนโลกออนไลน์กับพื้นที่ในชีวิตจริงผ่าน AR Game  โครงสร้างของพาวิเลียนใช้ไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุพื้นถิ่นที่หาได้ง่าย   สร้างด้วยโครงสร้างที่เรียบง่าย จากการขัดกันของไม้ไผ่ และมัดปม  ใช้ข้อดีของวัสดุที่ยืดหยุ่นสามารถรับน้ำหนักได้

3. Living Space Pavilion

ออกแบบโดย บุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์ Boon Design และ อิสรชัย

พาวิเลียนนำเสนอความหลากหลายของรูปแบบและลักษณะการใช้สอยพื้นที่ที่สัมพันธ์กับแนวคิดด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น เพื่อขยายพรมแดนการรับรู้และมุมมองทางด้านสถาปัตยกรรมในอีกมิติหนึ่ง  วัสดุที่ใช้สร้างพาวิเลียนคือดิน  และลังผลไม้เป็นการใช้วัสดุประยุกต์ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น  ภายในยังจัดแสดงนิทรรศการรูปภาพของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นทั้งในบริบทวัฒนธรรมของไทยและในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้

4. Working Space Pavilion

ออกกแบบโดย จริยาวดี เลขะวัฒนา และ Luke Yeung  และ ก่อพงศ์  เสน่หาจาก ARCHITECTKIDD

พาวิเลียนให้ความสนใจกับพลวัตรของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเพื่อตอบสนองต่อสังคมร่วมสมัย  การปรับตัวของพื้นที่การทำงานในอดีตจากที่เคยเป็นพื้นที่เดียวกับพื้นที่ในการใช้ชีวิต เมือยุคสมัยเปลี่ยนผ่านทั้งสองพื้นที่กลับถูกแยกออกจากกันอย่างเป็นสัดส่วน  และเมื่อเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้า มาทำให้ทั้งสองพื้นที่กลับมารวมกันอีกครั้ง พาวิเลียนนำเทคโนโลยีมาพลิกโฉมหน้าเดิมๆ ของอิฐให้กลายเป็นวัสดุสำหรับโครงสร้างและการออกแบบภายในอีกด้วย

5. Moving Pavilion

ออกแบบโดย ศ.ดร.วีระ อินพันทัง และ พิช โปษยานนท์

พาวิเลียนพูดถึงความสำคัญของการเคลื่อนที่และการสัญจร ซึ่งเป็นปัจจัยก่อให้เกิดสังคม เนื่องจากการเคลื่อนที่เป็นไปเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ พาวิเลียนใช้ไม้และเทคนิคการก่อสร้างแบบประยุกต์ที่นำท่อนไม้มาสานขัดกันโดยใช้ข้อต่อเถรอดเพลเป็นกลไกในการยึดโยงก่อรูป เป็นศาลาโครงสร้างโปร่งคลุมพื้นที่อย่างหลวมๆ เปิดโอกาสให้การสัญจร เข้า –  ออกมีทางเลือกได้หลากหลาย ภายในพื้นที่ได้นำเทคโนโลยี AR เข้ามาใช้เพื่อให้ผู้เขาชมมีปฏิสัมพันธ์กับพาวิเลียน

6. Main Stage

ออกแบบโดย ศาวินี บูรณศิลปิน และ Tom Dannecker จาก THINGSMATTER

เวทีหลักเป็นพื้นที่ที่ใช้จัดกิจกรรมตลอดทั้งงาน ภายในบริเวณจะเป็นพื้นที่เปิดโล่งเพื่อใช้สอยทั้งงานเสวนา, เวิร์กช็อป โดยใช้โครงสร้างคลุมพื้นที่ไว้ เป็นโครงสร้างที่หยิบยืมประโยชน์จากวัสดุไม้ไผ่ที่ราคาไม่แพง สร้างได้เร็ว และมีความยืดหยุ่นสูงและวิธีการจากงานฝีมือชาวบ้านพื้นถิ่นมาใช้สร้างรูปทรงร่วมสมัยที่ขึ้นรูปจากคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เกิดชิ้นงานที่มีทั้งความเป็นระบบระเบียบและความยืดหยุ่นไม่ตายตัวแบบงานพื้นถิ่นในเวลาเดียวกัน

7. ASA Member

ออกแบบโดย  นพพล พิสุทธิอานนท์ จาก Quintrix Architects

พาวิเลียนเพื่อนำเสนอผลงานของ ASA Member  ใช้วัสดุเป็นไม้ไผ่ และเทคนิคการก่อสร้างแบบงานช่างฝีมือใช้แนวคิดของดงไผ่ ส่วนลำต้นจะใช้ไผ่เต็มลำวางตั้งในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้หวังเพื่อให้รบกวนกับผลงานของสมาชิกฯ ให้น้อยที่สุด โดยจะเป็นทั้งโครงสร้างและตัวกำหนดทิศทางของผู้ชม ส่วนยอดจะใช้โครงไผ่ขึ้นเป็นแผงรูปทรงเรขาคณิต hyperbolic paraboloid โดยแผงนี้จะทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดแสงและเงาให้กับส่วนแสดงงาน

8. ASA International Competition Design

ออกแบบโดย สุภาพร วิทยถาวรวงศ์ จาก BEAUTBUREAU

พาวิเลียนจัดแสดงงานประกวดแบบนานาชาติ ปี 2561 ตอบสนองต่อโจทย์ของการประกวดแบบประจำปีภายใต้หัวข้อ VEX : Agitated Vernacular โดยการนำวัสดุบังคับคือไม้ ไปผ่านกระบวนการแปลงร่าง ลอกเปลือก ขัดสีฉวีวรรณให้ขาว เผาไฟให้ดำ แล้วนำมาประกอบร่าง ผูกยึด ซ้อนตั้ง และตัดคว้านออก ด้วยกระบวนการทำมือให้เป็นโครงสร้างทรงลูกบาศก์คู่แฝดขาวดำ สำหรับจัดแสดงผลงานประกวด ทั้งในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์และดิจิตัล เศษไม้ที่เหลือจากการตัดคว้าน นำมาบรรจุในกล่องเกเบียนทรงลูกบาศก์สำหรับใช้เป็นเก้าอี้ที่นั่งในบริเวณพื้นที่จัดแสดง