หลายปีก่อน ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมอยู่ในกลุ่มผู้ตัดสินการประกวดแบบบ้านของนักศึกษาโครงการหนึ่ง ซึ่งจัดโดยบริษัทจำหน่ายวัสดุก่อสร้างชื่อดัง และทำการจัดประกวดแบบทั้งรุ่นนักศึกษาและสถาปนิก เช่นเดิมทุกปีที่จะมีผู้ส่งผลงานเข้ามากันมากมาย และรอบตัดสินจะเป็นการคัดเลือกทีมที่น่าสนใจจำนวน 10 ทีม เข้ามานำเสนอแนวคิดในการออกแบบต่อหน้าคณะกรรมการกันแบบตัวเป็นๆ
เมื่อฟังและชมการพรีเซ้นต์เสร็จทุกทีม ทำให้ผมรู้สึกว่า หรือเหล่านักศึกษานั้นกำลังเข้าใจคำว่า “แนวคิด” หรือ “คอนเซ็ปท์” ของงานสถาปัตยกรรมนั้น ในแบบที่ผมเคยเข้าใจหรือเปล่า… เพราะความน่าสนใจอยู่ที่ว่า 2 ใน 10 ทีม ที่มาพรีเซ้นต์นั้น มีแนวคิดในการออกแบบคือ “โล่ง โปร่ง สบาย”…
หากผมเข้าใจถูก ในความหมายของคำว่า “โล่ง โปร่ง สบาย” คือคำที่เอาไว้อธิบายความรู้สึก อธิบายคุณลักษณะของพื้นที่นั้นๆ ว่าเราต้องการให้ผู้ที่อยู่อาศัยรู้สึกแบบใด ซึ่งผมมองว่ามันเป็นคุณสมบัติ “ทั่วไป” เพราะเราคงไม่ได้อยากออกแบบอาคารให้ “ทึบ ตัน ไม่สบายตัว” อยู่แล้วหรือไม่… ใช่ครับ ในความคิดของผม “โล่ง โปร่ง สบาย” ไม่ใช่แนวคิดในการออกแบบอาคาร เพราะมันคือสิ่งที่ควรจะเป็นมากกว่า
ส่วนเรื่องของแนวคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ดีควรเป็นอย่างไร ส่วนนี้ผมคงไม่สามารถบอกได้ เพราะมีหลากหลายแนวทางในการคิดงานมากๆครับ ทั้งแนวคิดที่เกิดจากเจ้าของบ้านเอง แนวคิดจากประเภทอาคาร แนวคิดที่เกิดจากบริบท แนวคิดที่เกิดจากวัสดุหลัก หรือแนวคิดที่เกิดจากข้อจำกัดต่างๆ ทั้งหมดสามารถนำมาทำเป็นแนวคิดที่แข็งแรงได้ไม่ต่างกัน
หากลงลึกไปอีก แนวคิดของงานสถาปัตยกรรมอาจแบ่งออกเป็นแนวคิดในการสร้างฟอร์มหรือรูปทรง แนวคิดในการวางฟังก์ชั่น แนวคิดในการสร้างฟาสาดอาคาร เราสามารถมีแนวคิดย่อยๆในการออกแบบส่วนต่างๆของอาคารได้อีก แต่ทั้งหมดนั้นเมื่อมารวมเป็นอาคารแล้ว ต้องดูเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และไม่มีความขัดแย้งในตัวเอง
ทั้งนี้ผมจะขอยกตัวอย่างแนวคิดในการออกแบบอาคารที่คิดว่าชัดเจนมากๆ มาประกอบดังนี้
PA House โดย IDIN Architect / แนวคิด : ออกแบบบ้านที่มีความเป็นส่วนตัวมากที่สุด / วิธี : ออกแบบบ้านที่คิดเรื่องมุมมองจากภายนอกและภายใน ด้วยเพลนผนังต่างระดับและขนาด ซึ่งจะทำให้เจ้าของบ้านรู้สึกปลอดภัยและเป็นส่วนตัวที่สุด
House Flow โดยอาจารย์ต้นข้าว ปาณินท์ / แนวคิด : บ้านที่เข้าใจ เข้าถึงสเกลของคนมากที่สุด / วิธี : ลดทอนขนาด ระยะ ให้สัมพันธ์กับขนาดของมนุษย์ ตั้งแต่ทางเข้าบ้านจนถึงห้องนอน
จะเห็นว่า แนวคิดในการออกแบบ ไม่จำเป็นต้องพูดถึงทุกเรื่อง หรือเรื่องที่ยิ่งใหญ่เสมอไป สถาปนิกที่มองขาดจะรู้ว่า อาคารนั้นควรจับแนวคิดอะไรเข้าไป มันอาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่หากทำให้แนวคิดนั้นชัดเจนและเกิดขึ้นจริง มันจะทำให้สถาปัตยกรรมนั้นมีความพิเศษและมีคุณค่าขึ้นมา อย่างที่ใครๆก็คาดไม่ถึง
คุณอาจออกแบบอาคารที่เต็มไปด้วยแนวคิดที่พูดด้วยวาจาได้ แต่รู้หรือไม่ว่าการทำให้แนวคิดนั้นอยู่รอดได้จนถึงการก่อสร้างนั้นแล้วเสร็จนั้น เป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่า… และจำไว้เสมอว่า “โล่ง โปร่ง สบาย” ไม่ใช่แนวคิดในการออกแบบ หรือถ้ายังอยากใช้คำนี้จริงๆ คุณต้องทำให้คนรู้สึกได้ แม้มันจะเป็นแค่แบบในกระดาษแผ่นหนึ่งเท่านั้น…