“บ้านที่อยู่แล้วอุ่นใจ มองไปทางใดก็มีแต่ของเดิมๆ เหมือนมีสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ที่คอยเติมเต็มความสุขให้บ้านหลังนี้อบอุ่นอยู่เสมอ”
Location: มีนบุรี ,กรุงเทพ
Architect&Owner: ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ Case studio
Photographer: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
ภาพความเรียบง่ายของบ้านรูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมสีขาวสไตล์โมเดิร์น และบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความอบอุ่นจากระแนงไม้ที่อยู่ใจกลางชั้นสองของบ้าน ใครจะคิดว่าภายในได้บรรจุ “บ้านเรือนไทย” พื้นที่แห่งความผูกพันที่เป็นหัวใจสำคัญของทุกคนในครอบครัวไว้ สถาปัตยกรรมโมเดิร์นที่ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมไทยได้อย่างกลมกลืนนี้ เกิดขึ้นผ่านฝีมือการออกแบบของ “คุณป่อง ปฐมา หรุ่นรักวิทย์” สถาปนิกแห่ง Case Studio และเจ้าของบ้าน ที่ถ่ายทอดความต้องการของสมาชิกทุกคนไว้ได้อย่างลงตัว
คุณป่อง-ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ และสมาชิกภายในครอบครัว
ครอบครัวใหญ่ภายใต้บ้านหลังนี้ ประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งหมด 7 คน ได้แก่ คุณแม่ของคุณป่องที่อายุ 84ปี และลูกๆทั้งหมด 3 คน ตั้งแต่ตัวคุณป่องเอง คุณอุ้ย-น้องสาวคุณป่อง คุณเอ็ด-น้องชายคุณป่อง ที่มีภรรยาและลูกๆอีก 2 คน ซึ่งลูกสาวคนเล็กอายุเพียง 8 ขวบ ด้วยความที่มีความแตกต่างของช่วงอายุวัย ความท้าทายในการออกแบบบ้านหลังใหม่ เพื่อทดแทนบ้านหลังเดิมที่กว้างขวางแต่กลับไม่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยนัก จึงเริ่มต้นขึ้น…
– ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลง และโจทย์ของสมาชิกทุกช่วงวัย –
“ภายในพื้นที่ 4 ไร่เดิมเนี่ย แต่ละคนมีบ้านเป็นหลังๆ อยู่กันอย่างกระจัดกระจาย แต่ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป กลายเป็นทุกคนไปรวมอยู่ที่บ้านของแม่ กินข้าวบ้านแม่ กลับจากที่ทำงานก็จะแวะบ้านแม่ก่อน ส่วนบ้านหลังอื่นๆใช้แค่นอน ซึ่งพื้นที่ใหญ่มากแต่กลับไม่ได้ตอบโจทย์การอยู่อาศัยที่แท้จริงเลย” คุณป่องเล่าถึงที่มาของการริเริ่มโปรเจคบ้านหลังใหม่บนพื้นที่ 1 ไร่เศษ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเดิมนัก และอธิบายภาพผลลัพธ์การอยู่อาศัยแบบใหม่ที่มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เพราะนอกจากเป็นพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยของทุกคนในครอบครัวแล้ว ยังประกอบไปด้วยบริษัทสถาปนิก Case Studio ของคุณป่องเอง บริษัทรับเหมาก่อสร้าง Ed The Builder และบริษัททัวร์ของคุณเอ็ด รวมไปถึงโรงเรียนสอนดนตรีของคุณอุ้ยอีกด้วย
ชั้นแรกเป็นพื้นที่ของบริษัท Case studio ส่วนชั้น 2 นั้น เป็นบริษัท Ed The Builder และบริษัททัวร์ของคุณเอ็ด
อีกหนึ่งพฤติกรรมการอยู่อาศัยของครอบครัวนี้ คือจะมีผู้ที่ผลัดเปลี่ยนแวะเวียนกันมาบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นญาติ หรือเพื่อนคุณป่องเอง พื้นที่แห่งนี้จึงต้องออกแบบให้มีพื้นที่รองรับผู้มาเยือน อย่างห้องนอนรับรองแขก และพื้นที่Community สำหรับปาร์ตี้ มี Pantry ขนาดย่อมเพื่อทำอาหาร โต๊ะทานข้าว แกรนด์เปียโน ที่มีผนังกระจกใสในฝั่งทิศตะวันตกสามารถเปิดโล่งเพื่อเชื่อมต่อไปยังสระว่ายน้ำได้
ห้องซ้อมดนตรีที่เชื่อมต่อกับทางเดินสามารถเปิดกระจกเพื่อเชื่อมต่อกับพื้นที่Community เพื่อเป็นเหมือนเวทีการแสดงเล็กๆของเด็กๆได้
– เป็นดั่งพิพิธภัณฑ์ที่พึ่งทางใจของบ้าน –
โจทย์หลักที่เป็นไฮไลท์ของบ้านหลังนี้ คือ “เรือนไทยเก่า” โดยความที่พื้นที่หน้าตื้น และยาวตามแนวเหนือใต้ การจัดวางแมสอาคาร จึงเริ่มต้นออกแบบจากที่ตั้งของเรือนไทยไม้สักเก่า ที่เป็นหนึ่งในข้อจำกัดนอกเหนือจากความต้องการของทุกคนในครอบครัว เป็นความผูกพันของคุณแม่และครอบครัว เพราะเป็นเรือนที่คุณตาของคุณป่องสร้างร่วมกับช่างจีนเอง
“ประเด็นมันอยู่ที่ว่า มันเป็นชีวิตสมัยใหม่ ทุกอย่างมันใหม่หมด จะย้ายเรือนไทยทั้งเรือนมาวางอย่างไรให้ดูไม่น่าตกใจ”
คุณป่องเล่าถึงแนวคิดที่ตั้งใจวางเรือนไทยให้เป็นเรือนประธานตรงกลางชั้นสองของบ้านที่ถูกห้อมล้อมด้วยระแนงไม้โดยรอบ ซึ่งทางเข้าเรือนไทยนั้นมีเพียงทางเดียว คือต้องเข้าจากพื้นที่ของครอบครัว เพราะถือว่าเป็นห้องพระ เป็นหัวใจสำคัญของบ้านหลังนี้
มุมมองจากพื้นที่เรือนไทยที่เชื่อมต่อกับที่อยู่อาศัยชั้นสองของบ้าน
ระแนงไม้ใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อโอบล้อมเรือนไทยเก่าเป็นภาษาทางสถาปัตยกรรมบ่งบอกความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี โดยทำหน้าที่สำคัญคือป้องกันแดดและลมที่จะกระทบเข้าสู่บ้านโดยตรง และสามารถบังสายตาจากภายนอกให้เกิดความกลมกลืนกับกลุ่มก้อนอาคารอื่นๆที่มีความโมเดิร์นตอบรับวิถีชีวิตใหม่ของคนในบ้าน
– สร้างมุมมองสีเขียว และมุมพักผ่อนภายในบ้าน –
ส่วนกลุ่มอาคารอื่นๆ ให้เป็นเรือนบริวารตั้งใจวางเยื้องกัน เพื่อให้ลมพัดผ่านเข้ามา ไหลเวียนไปตามพื้นที่ที่ถูกกำหนดไว้ เช่น ชานของบ้าน ช่องประตูและหน้าต่าง และเนื่องจากพื้นที่ภายนอกฝั่งทิศตะวันตกติดกับทุ่งโล่ง ซึ่งพื้นที่ของคุณน้าคุณป่อง ยังไม่มีโครงการว่าจะสร้างอะไร เลยเลือกเปิดมุมมองทางนั้นให้โล่ง เป็นสระว่ายน้ำยาวขนานไประเบียงทางเดิน เชื่อมกับพื้นที่ภายในสำหรับจัดเลี้ยง ส่วนผนังอาคารด้านอื่นๆที่ไม่ได้มีมุมมองทิวทัศน์ที่สวยงามอะไร จึงเลือกเปิดรับแสงเข้ามาทางทิศเหนือ และทิศใต้ส่วนใหญ่จะเป็นผนังทึบ มีเพียงบางส่วนที่ทำช่องเปิดเพื่อการระบายอาคารและรับลมเท่านั้น รวมถึงการสร้างพื้นที่สีเขียวภายในบ้านเอง เพื่อเปิดมุมมองภายในบ้านเองและทำให้บ้านดูมีชีวิตชีวามากขึ้น
ออกแบบหน้าต่างช่องยาวในห้องนั่งเล่นเพื่อลดความทึบตันของแมสอาคารแล้ว และเนื่องจากเป็นความต้องการของคุณแม่ ที่ต้องการเห็นความเคลื่อนไหว ใครไปใครมาบ้านนั่นเอง
– สิ่งเก่าๆ ภายใต้วิถีชีวิตแบบใหม่ –
คุณป่องเล่าให้ฟังต่อถึงความยากในการออกแบบอีกว่า “มีหลายสิ่งซึ่งเรามีความรู้สึกว่า มันน่าเสียดายถ้าจะทิ้งไป พอจะทิ้ง นี่ก็เสียดาย นั่นก็เสียดาย มันยังดีอยู่ สุดท้ายเลยขนมาด้วยหมดเลย (หัวเราะ)” และนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้บ้านหลังนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่ครอบครัวผูกพัน ไม่ว่าจะเป็นประตูหน้าต่าง ราวกันตก พื้นไม้ หรือเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวต่างๆภายในบ้าน โต๊ะ เก้าอี้ ตู้ไม้สัก บางชิ้นมีอายุมากกว่า 40 ปี บางชิ้นคุณตาของคุณป่องยังเป็นคนประกอบขึ้นมาเองอีกด้วย
หากสังเกตประตูหน้าต่างของที่นี่ จะพบว่ากรอบบานจะมีเพียงไม้และสีขาวเท่านั้น เป็นการผสมผสานกันระหว่างความเก่าและใหม่ ส่วนใหญ่บานไม้ที่มาจากบ้านเก่า มีหลากหลายรูปแบบ หลากหลายขนาด ทั้งบานเปิดและบานเฟี้ยม ซึ่งกว่าจะออกมาลงตัวอย่างภาพที่เห็น ต้องผ่านการวัดขนาดแต่ละบานอย่างละเอียด แล้วค่อยๆนำมาบรรจุลงในการออกแบบส่วนต่างๆของบ้านตามความเหมาะสม
อย่างประตูบ้านเรือนไทยเก่า ถูกนำมาใช้เป็นประตูทางเข้าหลักของบ้านใหม่เพื่อความเป็นศิริมงคล ในขณะเดียวกันก็เป็นการกำหนดขนาดความกว้างของทางเข้าหลักไปด้วย ซึ่งมีด้วยกันสองทาง ทางแรกเป็นประตูไม้สักเดิม อีกทางเป็นประตูที่ถูกจำลองขึ้นใหม่ให้เหมือนของเก่า แต่ระบุปีพ.ศ. 2560 ที่สร้างบ้านหลังนี้เสร็จสมบูรณ์ เสมือนเป็นการบันทึกความทรงจำของเก่าและของใหม่ลงในบ้านหลังนี้อย่างลงตัว
ประตูทางเข้าอีกทาง ที่สลักพ.ศ. ของบ้านหลังนี้ไว้
พื้นไม้ทั้งหมดเป็นไม้เก่าที่รื้อมาจากบ้านหลังเดิม เช่นเดียวกับเฟอร์นิเจอร์เก่าที่เก็บสะสมมาหลายยุคหลายสมัย
เรือที่คุณตาของคุณป่องเป็นคนประกอบ ถูกวางไว้บริเวณคอร์ทยาด พื้นที่ระหว่างบริษัทและโรงเรียนสอนดนตรี ส่วนหนึ่งของสิ่งเก่าๆที่ทำให้บ้านหลังนี้เต็มไปด้วยความผูกพัน
บ้านที่เต็มไปด้วยเรื่องราวแห่งความสุขนี้ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาในการใช้ชีวิตของทุกคนครอบครัว สิ่งของต่างๆที่มีความหมายกับครอบครัวจนเกิดความผูกพันไว้ได้อย่างครบถ้วน ซึ่งคุณป่อง สถาปนิกผู้ได้สัมผัสปัจจัยเหล่านี้มาตลอดทั้งชีวิต ทุกๆรายละเอียด ทุกๆพื้นที่ที่ก่อเกิดขึ้นมาภายในบ้าน จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์และเข้าใจผู้อยู่อาศัยอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังสร้างประสบการณ์และความทรงจำแห่งการอยู่อาศัยต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
Something MORE
- พื้นที่ข้างเคียง ยังมีบ้านเล็กๆอีก 2 หลัง ที่คุณป่องออกแบบบ้านให้กับผู้เช่าบ้านเดิม ที่เช่าอยู่ในพื้นที่บ้านหลังเดิมของคุณป่องมาเป็นเวลานานจนสนิทกันเหมือนเพื่อน และอีกหลังเป็นของเพื่อนชาวญี่ปุ่น
- ในส่วนของพื้นที่ภายในส่วนที่พักอาศัย ห้องนอนแต่ละห้องของทุกคนมีขนาดไม่ใหญ่มาก และไม่มีทีวี เพราะเป็นความตั้งใจที่ต้องการให้ทุกคนออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่ส่วนกลางมากกว่า ส่วนห้องนอนของคุณแม่มีการออกแบบเพื่อรองรับการใช้งานของผู้สูงอายุไว้อย่างครบครันอีกด้วย