บ้านเรียบง่ายสไตล์โมเดิร์น ซึ่งถูกออกแบบภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่าง จนเกิดเป็นอาคาร Double Façade จากอะลูมิเนียมฉีก เป็นการแก้ไขปัญหาในเรื่องบริบทและสถานที่ตั้งได้อย่างน่าสนใจ
Project: Tee Off Golf House
Architect: Manatspong Sanguanwuthirojana
Architect Firm: Hypothesis
Location: Bangkok, Thailand
Photography: Jinnawat Borihankijanan
Tee Off Golf House
จากความชื่นชอบกีฬากอล์ฟของเจ้าของบ้าน จึงได้เลือกที่ดินติดสนามกอล์ฟแห่งหนึ่งในย่านรามอินทราเพื่อสร้างบ้านหลังใหม่ของครอบครัว เพราะนอกจากจะได้เล่นกีฬาที่โปรดปรานแล้ว ทัศนียภาพที่สวยงามของสนามกอล์ฟก็ชวนให้รู้สึกผ่อนคลายอยู่ไม่น้อย แต่ด้วยความใกล้สนามกอล์ฟมาก จึงมีปัจจัยเรื่องลูกกอล์ฟเพิ่มขึ้นมา กล่าวคือลูกกอล์ฟสามารถลอยเข้ามาในบริเวณบ้านได้ตลอดเวลา การแก้ปัญหานี้จึงเป็นโจทย์สำคัญในการออกแบบ ซึ่งคุณบิว มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา สถาปนิกจาก Hypothesis คือผู้ที่จะแก้ไขโจทย์ชิ้นนี้นี่เอง
บ้าน 2 ชั้นนี้ มีพื้นที่ประมาณ 400 ตารางเมตร ภายในมีการแยกสเปซระหว่างห้องอย่างชัดเจน มีทางเดินยาวเป็นตัวเชื่อมต่อความต่อเนื่องของแต่ละห้อง ในพื้นที่ชั้น 1 ประกอบไปด้วยห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก แพนทรีอยู่ในส่วนเดียวกัน ส่วนห้องนอน ห้องทำงาน และห้องพระจะอยู่บริเวณชั้น 2
– เพราะอะลูมิเนียมฉีก คือคำตอบ –
Double Facade คือคำตอบในการแก้ไขปัญหาลูกกอล์ฟดังกล่าว เพราะ Façade ชั้นนอกสุดจะช่วยป้องกันลูกกอล์ฟที่จะเข้ามานั่นเอง ซึ่งวัสดุที่เลือกใช้เป็นอะลูมิเนียมฉีกที่มีน้ำหนักเบา ไม่คม และมีความแข็งแรงมากพอที่จะซับแรงลูกกอล์ฟได้
สถาปนิกได้ออกแบบให้มีแผ่นอะลูมิเนียมฉีกทั้งหมด 27 แผ่น เรียงต่อกันรอบบ้านบริเวณชั้น 2 โดยแต่ละแผ่นสามารถหมุนเปิดได้ 90 องศา ผู้ใช้งานสามารถหมุนแผ่นอะลูมิเนียมฉีกในช่วงเวลากลางคืนหรือตอนเช้า เพื่อเปิดรับลมและธรรมชาติได้ตามความต้องการ
Dtips: การนำอะลูมิเนียมฉีกไปผ่านการอบอโนไดซ์ จะช่วยให้ตัวอะลูมิเนียมทนทานต่อการใช้งานและไม่คม ป้องกันปัญหาการโดนบาดจากการใช้งาน
– บ้านโมเดิร์นในฝัน เชื่อมโยงความผูกพัน –
บ้านหลังนี้เกิดจากครอบครัวที่ประกอบไปด้วย พ่อ แม่ และลูกสาววัย 4 ขวบ ซึ่งจุดเริ่มต้นในการออกแบบบ้านนั้นมาพร้อมกับการให้กำเนิดลูกสาว บ้านหลังนี้จึงเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นชีวิตครอบครัวอย่างแท้จริง ทุกพื้นที่ถูกออกแบบมาโดยคำนึงถึงการใช้ชีวิตและพัฒนาการของลูก ช่วยให้เขาได้เติบโตตามวัยอย่างมีประสิทธิภาพ มีพื้นที่นั่งเล่นสำหรับครอบครัว มีระเบียงที่สามารถเปลี่ยนไปเป็นสนามเด็กเล่นขนาดใหญ่ได้ อีกทั้งยังมีสนามหญ้าที่สามารถรองรับกิจกรรมเอ้าดอร์ได้อีกด้วย
เพื่อเปิดรับวิวทิวทัศน์จากสนามกอล์ฟและสวนด้านนอก สถาปนิกจึงออกแบบช่องเปิดที่มีขนาดต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ พื้นที่ ที่เป็นส่วนพักผ่อน เช่น ห้องนอน ห้องทำงาน และห้องนั่งเล่น จะใช้กระจกบานใหญ่จากพื้นถึงเพดาน ช่วยเปิดรับธรรมชาติจากภายนอก เมื่อมองออกไปจะเห็นสนามกอล์ฟ สวน และพื้นที่สีเขียวของต้นไม้อยู่ตามส่วนต่างๆของบ้าน ส่วนพื้นที่เซอร์วิสหรือพื้นที่ ที่ไม่ต้องการเห็นวิว ก็เลือกใช้หน้าต่างขนาดเล็กแทน
ความแตกต่างของขนาดหน้าต่างที่เห็นได้ชัดเจนระหว่างส่วนที่ต้องการเปิดรับวิว (ห้องนั่งเล่น) และส่วนที่ต้องการ Ventilation (ห้องนอนแขก)
ในส่วนของช่องเปิดที่อยู่บริเวณสุดทางเดินนั้น สถาปนิกออกแบบโดยคำนึงถึงมุมมองจากผู้อยู่อาศัยภายในบ้านเป็นหลัก “ผมพยายามคอนโทรลทิศทางการมองของผู้พักอาศัย เพื่อให้เขา ได้มุมมองที่ดีที่สุด เช่นในส่วนของทางเดินบริเวณชั้น 2 ทางเดินจะค่อนข้างมืด แต่ที่สุดปลายทางจะมีแสงสว่างจากข้างนอกที่เข้ามา นี่คือมุมที่ผมตั้งใจออกแบบ เพราะอยากให้ผู้พักอาศัยลืมตัวตนหรือสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ เพื่อผ่อนสายตา และมองไปที่ธรรมชาติเป็นหลัก” คุณบิว สถาปนิกจาก Hypothesis กล่าว
– ฟังก์ชัน เพิ่มความอบอุ่นและผ่อนคลาย –
เมื่อเดินเข้ามาในบ้านจะพบกับส่วนนั่งเล่น ส่วนรับแขก ส่วนรับประทานอาหารและแพนทรีครัวเป็น Open Plan อยู่ใน บริเวณชั้น 1 ซึ่งพื้นที่ในส่วนนี้ จะมีความโล่ง โปร่ง มีกระจกขนาดใหญ่ เพื่อรับวิวธรรมชาติและสร้างมุมมองให้สามารถมองเห็นลูกสาวที่เล่นอยู่ตรงระเบียงหรือสวนภายนอกได้ สถาปนิกจึงออกแบบให้เสามีสแปนกว้างถึง 8 เมตร ช่วยให้ภายในพื้นที่รู้สึกโปร่งมากขึ้น ส่วนห้องนอนสำหรับแขก ห้องครัวไทย และส่วนเซอร์วิสจะอยู่บริเวณด้านหลังห้องรับแขก มีผนังเบาเคลื่อนที่ได้ แบ่งแยกพื้นที่ให้เป็นส่วนตัวมากยิ่งขึ้น
Dtips: Open Plan คือการจัดแผนผังอาคารโดยรวมพื้นที่ใช้งานไว้ด้วยกัน เช่นห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ห้องครัว รวมอยู่ในห้องเดียวกัน ไม่แบ่งเป็นห้องๆ ส่วนมาก Open Plan มักจะใช้เพื่อการประหยัดพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านที่มีขนาดเล็ก-ปานกลาง
เมื่อเดินผ่านห้องนั่งเล่นจะพบกับบันไดที่ขึ้นไปสู่ชั้น 2 โดยบันไดตรงนี้สถาปนิกออกแบบให้มีลักษณะค่อนข้างมืด แต่มีแสงสว่างจากสุดทางบันได เพื่อเป็นจุดนำสายตาจากชั้น 1 ขึ้นไปยังบริเวณพื้นที่ชั้น 2
เมื่อขึ้นมาสุดบันไดชั้น 2 จะพบกับห้องพระเป็นอันดับแรก ซึ่งนี่เป็นแนวคิดที่ต้องการให้ผู้พักอาศัยได้เห็นและกราบไหว้ก่อนออกจากบ้าน หรือตอนเดินขึ้นบันไดชั้น 2 อย่างเป็นประจำทุกวัน
ในส่วนชั้น 2 ประกอบด้วยห้องนอนใหญ่ ห้องนอนลูก ห้องทำงาน และห้องพระ มีระเบียงทางเดินยาวนำสายตาไปสู่ห้องนอนลูกที่อยู่ในส่วนลึกที่สุด ห้องนอนลูกและห้องแต่งตัวที่อยู่ในห้องนอนใหญ่สามารถเปิดประตูเชื่อมถึงกันได้โดยตรง เป็นลูกเล่นแสนอบอุ่นที่สถาปนิกตั้งใจให้คุณแม่และคุณลูกสามารถแบ่งปันพื้นที่ร่วมกัน
ห้องนอนใหญ่และห้องทำงานจะเป็นห้องที่มีทิวทัศน์สวยงามที่สุดในบ้าน เมื่อมองทะลุกระจกและ Façade อะลูมิเนียม จะเห็นวิวสนามกอล์ฟ สนามหญ้า และธรรมชาติอยู่รอบๆตัว
ภายในห้องน้ำมีการเจาะช่อง Sky Light ให้แสงธรรมชาติส่องลงมาตอนกลางวัน นอกจากจะช่วยให้ผู้ใช้งานไม่รู้สึกอึดอัดแล้ว แสงที่ส่องลงมายังช่วยฆ่าเชื้อโรคในห้องน้ำ ทำให้ห้องน้ำน่าใช้งานและสะอาดมากขึ้นอีกด้วย
เนื่องจากทางเจ้าของบ้านต้องการบ้านที่สามารถดูแลรักษาได้โดยง่าย วัสดุที่เลือกใช้ในบ้านหลักๆ จึงเป็นวัสดุอย่าง ไม้ กระเบื้อง และคอนกรีต การเลือกใช้วัสดุเช่นนี้นอกจากจะดูแลง่ายและทนทานแล้วนั้น ยังเข้ากับภาพรวมของบ้านที่เป็นรูปแบบเรียบง่ายอีกด้วย
Tee Off Golf House บ้านเรียบง่ายที่สามารถนำบริบท มาปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นจุดเด่นของอาคาร เช่น Façade อะลูมิเนียมฉีกที่สามารถป้องกันลูกกอล์ฟจากภายนอก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็น Façade ที่สร้างความสวยงามให้กับบ้านได้อย่างลงตัว บ้านหลังนี้จึงกลายเป็นสถานที่แห่งการเริ่มต้นชีวิตครอบครัวอย่างสมบูรณ์แบบ เปรียบได้กับการ Tee Off ลูกกอล์ฟไปข้างหน้านั่นเอง