IR-ON Hotel โรงแรมที่นำเอกลักษณ์ไทยมาตีความใหม่ ด้วยการนำองค์ประกอบที่ดูทั่วไปอย่าง “เหล็กดัด” มาใช้ให้เกิดความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
Owner: คุณ เปรมนนทร์ เลิศพรเจริญ
Architect: Hypothesis Design Agency
Location: Sukhumvit, Thailand
Photograph: SPACESHIFT STUDIO
ท่ามกลางบรรยากาศความมีชีวิตชีวาในย่านสุขุมวิท มีโรงแรมแห่งหนึ่ง IR-ON Hotel เป็นโรงแรมที่บอกเล่าเรื่องเกี่ยวกับวัสดุธรรมดาที่ไม่ธรรมดาอย่าง “เหล็ก” โดยมีประติมากรรมจากเหล็กเพื่อมาประดับตกแต่งอาคาร มีฟาซาดที่เกิดจากการนำแผงเหล็กดัดมาซ้อนกัน 2 ชั้น และเฟอร์นิเจอร์บางส่วนของโรงแรมก็ยังผลิตจากเหล็กที่ไม่ได้ใช้งานอีกเช่นกัน ซึ่่งคุณโตโต้ เปรมนนทร์ เลิศพรเจริญ เจ้าของโรงแรม คือผู้ที่เติบโตท่ามกลางอุตสาหกรรมเหล็ก เพราะที่บ้านของคุณโตโต้มีอาชีพทำโรงงานเหล็ก เรื่องราวทุกอย่างจึงเริ่มต้นจากเหล็กนั่นเอง
IR-ON Hotel เริ่มต้นจากการรีโนเวทตึกร้างอายุกว่า 30 ปี นำมาปรับเปลี่ยนเป็นโรงแรมที่มีพื้นที่ 8 ชั้น มีห้องพัก 20 ห้อง โดยมีส่วนของล็อบบี้ ร้านกาแฟ และพื้นที่ส่วนกลาง อยู่ในชั้น 1 และชั้น 2 ตามลำดับ คุณบิว มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา จากบริษัท Hypothesis คือสถาปนิกผู้นำเรื่องราวของเหล็กมาผสานความเป็นไทย สร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่างให้กับอาคาร เริ่มต้นจากการตั้งสมมุติฐานและทำการทดลองออกแบบโรงแรมภายใต้แนวคิดของการใช้วัสดุที่แตกต่าง มากไปกว่านั้นยังต้องสามารถดึงเอกลักษณ์ไทยผ่านการออกแบบได้อีกด้วย
“คุณโตโต้เติบโตมาจากกิจการโรงงานเหล็กของที่บ้าน มีความผูกพันอยู่ในนั้น และเหล็กดัดก็ยังสามารถแสดงความเป็นไทยได้อีกด้วย ผมจึงคิดว่าเหล็กคือสิ่งที่แสดงตัวตนของทางเจ้าของและแสดงความเป็นไทยได้ดี จึงตั้งชื่อโรงแรมแห่งนี้ว่า IR-ON Hotel” คุณบิว สถาปนิกผู้ออกแบบโรงแรมกล่าว
– เหล็กแบบไทยๆ –
“เมื่อเรารู้ข้อมูลและความต้องการของทางเจ้าของโรงแรมแล้ว เราก็เลยตั้งคำถามขึ้นมาว่า เราจะทำยังไงให้โรงแรมนี้มีความพิเศษ และจะทำยังไงให้โรงแรมแห่งนี้สามารถสื่อความเป็นไทยในรูปแบบที่แตกต่างได้ ?” คุณบิวกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการออกแบบ
จากนั้นคุณบิวจึงเริ่มค้นคว้าหาข้อมูล จนพบว่าบานเหล็กดัดที่มักจะพบเห็นทั่วไปในอาคารบ้านเรือนและตึกที่พักอาศัยต่างๆ คือสิ่งที่แสดงความเป็นไทยได้เป็นอย่างดี แม้บานเหล็กดัดจะดูทั่วไปในประเทศไทย แต่ในต่างประเทศเช่น ในประเทศแถบยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา กลับไม่มีบานเหล็กดัดที่มีแพทเทิร์นคล้ายกับบ้านเรา คุณบิวจึงได้นำเหล็กดัดมาใช้เป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับโปรเจคนี้
Dtips: ทางประเทศแถบยุโรปหรือเมริกามักจะใช้เหล็กเพื่อความสวยงาม เพื่อรูปแบบและลักษณะที่เกี่ยวเนื่องกับสถานที่นั้นๆ ส่วนเหล็กดัดในประเทศไทยมักจะติดตั้งตรงประตูบ้านหรือหน้าต่าง สร้างขึ้นเพื่อความปลอดภัยเป็นหลัก โดยรูปแบบของเหล็กดัดนั้นจะมีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ลายตรง ลายสี่เหลี่ยม จนถึงลายที่มีรูปทรงอิสระต่างๆมากมาย
– ฟาซาดจากเหล็กดัด –
“เหล็กดัดบนฟาซาดอาคารคือการทำสิ่งที่ธรรมดาให้ดูไม่ธรรมดา ลูกกรงเหล็กมักจะมีแพทเทิร์นหรือรูปแบบบางอย่างที่เป็นแบบไทยเท่านั้น ผมตั้งใจว่าฟาซาดเหล็กดัดอันนี้จะสามารถแสดงความเป็นไทยออกมาได้โดยไม่ต้องใช้องค์ประกอบที่เป็น Traditional หรือลายไทย แต่เป็นการนำเสนอความเป็นไทยในอีกมุมหนึ่ง” คุณบิวกล่าว
ผิวอาคารจากเหล็กดัดที่อยู่ภายนอกอาคารนี้ ถูกคิดค้นไปพร้อมกับคุณภาพของสเปซภายในอาคาร โดยนำเหล็กดัดซ้อนกัน 2 ชั้น เพื่ออธิบายความเป็นเหล็กในอีกแง่มุม ด้วยการแสดงความต่างของสัจจะวัสดุที่แท้จริงของเหล็กให้เห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้น แสดงเนื้อแท้และสีของเหล็กที่มีหลากหลายตั้งแต่สีที่ดำสนิทจนไปถึงสีน้ำตาลที่เกิดสนิม ในขณะเดียวกันเหล็กดัดก็ยังเป็นส่วนช่วยสร้างแสงและเงาเกิดมิติให้กับภายในอาคารอีกด้วย
แสงและเงาที่สะท้อนจนเกิดมิติ ด้วยการใช้เหล็กดัดเป็นฟาซาดนอกอาคาร
– สเปซและฟังก์ชัน –
มีการเปลือยผิววัสดุและไม่ทาสีทับในส่วนโครงสร้างและองค์ประกอบเดิมก่อนนีโนเวทอาคาร ในส่วนที่ต่อเติมภายหลังก็เลือกใช้สีขาวทาผนัง เพื่อช่วยคุมงบประมาณในการก่อสร้าง และเป็นการสร้างมิติของแสงและเงาที่ส่องผ่านมาในอาคารให้เห็นชัดเจนมากขึ้น เสมือนเงาที่ทอดลงบนผืนผ้าใบที่ว่างเปล่านั่นเอง
– ส่วนต้อนรับผสานรวมกับคาเฟ่ Kurious Café –
เมื่อเดินเข้ามาภายในโรงแรมจะพบกับส่วนต้อนรับและส่วนคาเฟ่ Kurious Café ก่อนเป็นอันดับแรก โดยในส่วนนี้จะเป็นพื้นที่ ที่ไม่มีขอบเขตชัดเจน และเป็น Double Volume เปิดโล่งสู่ชั้น 2 เพื่อสร้างความโปร่ง โล่ง ให้ผู้ใช้งานได้สัมผัสบรรยากาศของการพักผ่อนและผ่อนคลาย และยังมีบริเวณ Terrace เล็กๆ สำหรับแขกผู้เข้าพักหรือแขกจากข้างนอกสามารถมานั่งจิบเครื่องดื่มบริเวณหน้าคาเฟ่ได้อีกด้วย
พื้นในส่วนของส่วนต้อนรับคือวัสดุจากอิฐ ที่ถูกนำมาเผาให้ไหม้เกรียม จนเป็นสีดำสนิท โดยสถาปนิกตั้งใจให้พื้นอิฐสีดำนี้ช่วยดึงสีสันและผิวสัมผัสของเหล็กให้โดดเด่นมากยิ่งขึ้น
ภายในส่วนคาเฟ่จะมีประติมากรรมจากเศษเหล็ก Iron Cloud แขวนอยู่บนฝ้าเพดานชั้น 2 เป็นประติมากรรมจากคุณศรุตา เกียรติภาคภูมิ ซึ่งเปรียบเสมือนสิ่งที่คอยต้อนรับแขกผู้มาเยือนเมื่อได้เข้ามาภายในโรงแรม เหมือนก้อนเมฆที่สร้างจากเหล็กลอยล่องอยู่ในอากาศ โดยประติมากรรมชิ้นนี้เมื่อมองจากมุมสูงหรือจากด้านหน้า ผู้รับชมจะเกิดความรู้สึกที่แตกต่างกันตามแต่ละมุมมอง ซึ่งเป็นความตั้งใจของคุณศรุตา นั่นเอง
มีการนำต้นไม้มาประดับตกแต่งภายในอาคารเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างธรรมชาติและการออกแบบสไตล์อินดัสทรีได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันต้นไม้เหล่านี้ก็ยังช่วยให้ภายในอาคารร่มรื่น ผ่อนคลาย ช่วยฟอกอากาศภายในอาคารอีกด้วย และในส่วนของบริเวณด้านหน้าในส่วนต้อนรับและร้านกาแฟจะมีประตูบานเฟี้ยมที่สามารถเชื่อมต่อพื้นที่ภายในและภายนอก เมื่อเปิดประตูนี้ออกจนสุด ล็อบบี้จะกลายเป็นพื้นที่กึ่งเอ้าดอร์โดยทันที
– เชื่อมโยงถึงกัน ด้วยพื้นที่ส่วนกลาง –
ในพื้นที่ชั้น 2 เป็นส่วนของพื้นที่ส่วนกลางซึ่งแขกสามารถเข้ามาใช้งานได้ระหว่างการเข้าพัก มีการจัดวางเฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัว เพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลาย โดยครึ่งหนึ่งของพื้นที่ชั้น 2 ถูกดัดแปลงเพื่อใช้เป็นส่วน Double Volume ของส่วนต้อนรับและคาเฟ่ชั้น 1 ดังนั้นเมื่อผู้ใช้งานมองลงมาจะพบกับส่วนพื้นที่ต้อนรับและร้านคาเฟ่นั่นเอง
– พักผ่อน ในบรรยากาศไทยๆแบบอินดัสทรี –
ส่วนของห้องพักจะอยู่ในชั้น 3 – 8 โดยชั้น 3 – 7 จะเป็นห้องธรรมดา โดยใน 1 ชั้นจะมีห้องพักทั้งหมด 4 ห้อง ส่วนชั้น 8 หรือชั้นบนสุดของอาคารจะเป็นห้อง Suite ที่มีระเบียงส่วนตัว ซึ่งทำให้ห้องชั้นนี้มีสเปซที่กว้างและมีเอกลักษณ์มากกว่าชั้นอื่นๆ ภายในห้องพักมีการตกแต่งด้วยวัสดุจากเหล็กที่ดูแข็งแรงแต่โปร่งเบาและใช้สีโทนสว่างอย่างสีขาวเป็นหลัก ช่วยเพิ่มพื้นที่ห้องพักให้โปร่ง โล่ง ไม่คับแคบ และสร้างบรรยากาศชวนผ่อนคลายให้กับแขกผู้เข้าพัก
เหล็กถือเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรม ไม่เว้นแม้แต่ภายในห้องพักก็มีการตกแต่งด้วยเหล็กเช่นกัน มีการใช้เศษเหล็กมาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ และนำเหล็กดัดมาแขวนสร้างบรรยากาศบนฝ้าเพดาน เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่สอดคล้องกันระหว่างภายในและภายนอกอาคาร
“เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ผลิตจากประเทศไทยและเป็นฝีมือการออกแบบของคนไทย เพื่อแสดงออกถึงความเป็นไทยให้ได้มากที่สุด” คุณบิวกล่าว
ในส่วนของห้องพักมีการตกแต่งโดยใช้วัสดุทองแดง ทองเหลือง มาตัดกับเหล็ก เพื่อบาลานซ์สีน้ำตาลเข้มและลดความแข็งจากเหล็ก โดยคุณบิวเลือกใช้วัสดุที่เป็นโลหะเหมือนกัน เพื่อคุมบรรยากาศให้ไปในทิศทางเดียวกัน แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถเพิ่มความผ่อนคลายให้กับผู้ใช้งานได้มากขึ้น
“ถึงแม้โปรเจคชิ้นนี้จะไม่ได้ใหญ่โต แต่ทาง Hypothesis ก็คิดมาทุกองค์ประกอบจริงๆ ผมคิดว่า Perfect คือ Imperfect เพราะ IR-ON Hotel เป็นโรงแรมที่ไม่ได้ใช้งบประมาณมากนัก มีความสวยที่ไม่เป็นเอกลักษณ์ สวยในการใช้วัสดุ สวยในการตอบโจทย์และเรื่องราวของอาคาร ของเจ้าของอาคาร โดยผมพยายามให้ผู้ใช้งานรู้สึกถึงความจริงแท้ของวัสดุที่เลือกใช้” คุณบิวกล่าวปิดท้าย
IR-ON Hotel คือโปรเจคที่สามารถแสดงความเป็นไทยด้วยการใช้องค์ประกอบที่อาจจะดูธรรมดา เช่นเหล็กดัด หรือแม้แต่แผงเหล็กที่เห็นได้ตามท้องถนน อีกทั้งเรื่องราวของการใช้เหล็กก็ยังนำไปสู่เรื่องราวชีวิตและความเป็นมาของเจ้าของอาคาร ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกแสดงออกมาผ่านการเลือกใช้วัสดุและการออกแบบรูปร่างอาคาร จนเกิดเป็นผลลัพธ์ที่สร้างความแปลกใหม่ แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์แบบไทยๆได้เป็นอย่างดี ณ IR-ON Hotel แห่งนี้
IR-ON Hotel
Facebook: www.facebook.com/ironhotels
Website: www.ir-onhotel.com
Tel: 02 074 0806
Map: