OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

บ้านสมดุลแห่งการอยู่อาศัย..เป็นส่วนตัวในขณะที่เปิดรับธรรมชาติ

“ปิดเพื่อความเป็นส่วนตัว เปิดเพื่อเชื่อมต่อกับธรรมชาติ”

Location: ศรีราชา, ชลุบรี
Architects: รองศาสตราจารย์ ดร. ต้นข้าว ปาณินท์ และคุณธนาคาร โมกขะสมิต
Owner: คุณธินันท์-คุณธนพงษ์ นาคะประสิทธิ์
Photographs: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

เราต่างทราบกันดีว่าความเป็นส่วนตัว เป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่แต่ละบ้านพึงมี แต่หากต้องอยู่ควบคู่กับความรู้สึกโปร่งโล่ง คงไม่ง่ายนักที่จะออกแบบให้ลงตัวและมีมิติไปพร้อมๆกับการสัมผัสธรรมชาติที่รื่นรมย์ บ้านสีขาวหลังนี้เป็นบ้านอีกหนึ่งหลังที่เกิดจากความต้องการความเป็นส่วนตัว บ้านหลังใหม่ของ “คุณธินันท์-คุณธนพงษ์ นาคะประสิทธิ์” ที่ไว้ใจให้ “อาจารย์ต้นข้าว ปาณินท์” สถาปนิกหญิงแห่งResearch Studio Panin และอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาตอบโจทย์ความต้องการนี้ด้วยบรรยากาศรายล้อมไปด้วยบริบทที่อุดมสมบูรณ์

คุณธินันท์ และคุณธนพงษ์ นาคะประสิทธิ์ เจ้าของบ้านหลังนี้

– สมดุลระหว่างพื้นที่ –

แรกเริ่มเดิมทีเจ้าของบ้านมีบ้านอยู่แล้วที่พัทยา แต่ทว่าต้องมาทำงานที่ศรีราชา เลยตัดสินใจซื้อที่ดินใน “หมู่บ้านปัญญารีสอร์ท” พื้นที่รูปสี่เหลี่ยมคางหมูที่ด้านหลังถูกโอบล้อมไว้ด้วยทะเลสาบ มองไปเห็นวิวภูเขาและสีเขียวของต้นไม้ใบหญ้า ผิดจากภาพพื้นที่ภายในหมู่บ้านทั่วไปโดยสิ้นเชิง

ด้วยความต้องการความเป็นส่วนตัวสูง ไม่อยากให้คนภายนอกมองเข้ามายังพื้นที่ภายในได้ และกังวลเรื่องความปลอดภัยเพราะพื้นที่อยู่ค่อนข้างลึกเข้ามาจากหน้าหมู่บ้าน สถาปนิกจึงออกแบบแมสของบ้านให้เป็นรูปตัว U ล้อมรอบพื้นที่คอร์ทตรงกลางเอาไว้ เพื่อเปิดมุมมองกว้างสู่ด้านในตัวบ้านเองให้สามารถมองเห็นกันได้เกือบทุกพื้นที่ และเลือกเปิดด้านหลังของบ้าน ซึ่งเป็นทิวทัศน์ที่สวยงามของธรรมชาติ

แปลนพื้นที่ทั้งหมดของบ้าน

สร้างพื้นที่ที่ส่งผลต่อผู้อยู่อาศัยให้รู้สึกปลอดภัย รู้สึกอบอุ่น ในขณะเดียวกันก็สามารถเลือกเปิดปิดเพื่อสัมผัสกับธรรมชาติและอากาศสามารถไหลเวียนผ่านเข้ามายังพื้นที่ได้ตลอดเวลา เป็นความสมดุลในด้านการอยู่อาศัยระหว่างพื้นที่ส่วนตัวและการเปิดมุมมองสู่ธรรมชาติได้อย่างตรงจุด

– เข้าถึงแบบไทย ค่อยเป็นค่อยไปอย่างมีลำดับ –

การวางตำแหน่งบ้านให้ลึกเข้าไปอยู่ติดกับริมน้ำ เป็นความตั้งใจของสถาปนิกที่ต้องการให้บ้านอยู่ติดบรรยากาศริมน้ำมากที่สุด และรู้สึกถึงความปลอดภัยและส่วนตัวมากกว่า รวมถึงเป็นการสร้างลำดับการเข้าถึงคล้ายกับบ้านไทยโบราณ นั่นคือ จากลานหน้าบ้านสู่ตัวบ้าน ซึ่งเมื่อขึ้นบันไดไปยังพื้นที่อยู่อาศัยชั้นสอง จะพบกับชานของบ้าน ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อไปยังส่วนอเนกประสงค์ต่างๆอย่างทางซ้ายที่เป็นห้องนั่งเล่น และทางขวาที่เป็นแกลอรี่ ก่อนจะค่อยๆก้าวไปยังพื้นที่ส่วนตัว เช่น ห้องนอน อย่างค่อยเป็นค่อยไป

บันไดทางขึ้นบ้านและชานบ้าน

ห้องแกลอรี่ พื้นที่ซึ่งแสดงผลงานของศิลปินที่เจ้าของบ้านชื่นชอบ อย่าง “อาจารย์ประเสริฐ ยอดแก้ว” ศิลปินผู้สะท้อนเรื่องราวผ่านภาพวาดที่มีสีสัน ซึ่งเมื่อภาพวาดมาอยู่ในบ้านสีขาวที่เรียบง่ายแล้ว ทำให้บ้านหลังนี้ดูมีมิติมากขึ้น

ห้องนั่งเล่นที่มีช่องหน้าต่างเปิดมุมมองสู่คอร์ทกลางของบ้าน เงาจากต้นไม้กลางคอร์ทที่ทอดผ่านมาบนผนังสีขาวของตัวบ้าน ช่วยสร้างบรรยากาศแห่งความร่มรื่น ส่วนอีกด้านของห้องนั่งเล่นเชื่อมต่อกับทางเดินด้านหลังที่สามารถสัมผัสกับบริบทได้

ห้องครัวที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ของห้องนั่งเล่น

ห้องนอนของบ้าน

ห้องทำงานที่มองออกไปเห็นคอร์ทกลางบ้าน

– ความสัมพันธ์ของใต้ถุน และบริบท –

“ฟังก์ชันของใต้ถุน มันไม่ได้มีเพื่อให้เรานั่งทำอะไร แต่มันมีเพื่อทำให้องค์ประกอบของบ้านมันสัมพันธ์กับบริบท ได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง”

อาจารย์ต้นข้าวอธิบายให้เราฟัง เมื่อถามถึงใต้ถุนของบ้าน พื้นที่โล่งที่จัดสวนหินแบบเรียบง่าย และดูเหมือนไม่ฟังก์ชันในการใช้งานใดๆ นอกเสียจากเป็นทางผ่านของสายลม ทำให้บ้านดูโปร่งโล่งมากขึ้น และสามารถมองลอดผ่านไปยังธรรมชาติที่สวยงามหลังบ้านได้อย่างชัดเจน ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นจากความชอบที่ตรงกันของเจ้าของบ้านและสถาปนิก ที่อยากยกพื้นที่อยู่อาศัยให้อยู่เหนือดิน เพราะจะทำให้รู้สึกถึงความปลอดภัยที่มากกว่าด้วย

– พัดผ่านพื้นที่วงกลม –

Façade แผ่นเหล็กฉลุสีขาวที่ปรากฏอยู่บริเวณหน้าบ้าน และหน้าต่างบานเปิดด้านหลังของบ้าน ถูกเจาะช่องเป็นรูปวงกลมเรียงกันในรูปแบบและขนาดพอดี ไม่เล็ก ไม่ใหญ่จนเกินไป ซึ่งอนุญาตให้ผู้อยู่อาศัยมองทะลุผ่านได้อย่างโปร่งโล่งแตกต่างจากระแนงที่รู้สึกถึงความปิดกั้นมากกว่า ในขณะที่ยังรู้สึกถึงความปลอดภัยและเป็นส่วนตัวจากภายนอกที่มองเห็นได้ยาก เพราะมีผนังอีกชั้นก่อนเข้าสู่พื้นที่ด้านใน

Façade ด้านหน้าบ้าน รูปแบบเดียวกับด้านหลัง

หน้าต่างบานเปิดด้านหลังของบ้าน ค่อนข้างมีความยืดหยุ่นในการใช้งาน เพราะสามารถเลือกปิดเพื่อความเป็นส่วนตัว และเปิดเพื่อเชื่อมต่อกับธรรมชาติได้อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นแสงและเงาที่ทอดผ่านมายังพื้นที่ทางเดิน และเปิดมุมมองสู่ทะเลสาบและภูเขาที่สวยงามได้กว้างขึ้น แต่ไม่ว่าจะปิดหรือเปิด ลมก็สามารถพัดผ่านพื้นที่ช่องว่างรูปวงกลมนี้ได้ตลอดเวลา

– แตกต่างอย่างกลมกลืน –

“เราเห็นว่าถ้ามันขาวหมดเนี่ย รู้สึกว่าบางทีมันนิ่งเกินไป มันอาจจะน้อยไป ดังนั้นเราก็เลยใส่ความContrastของวัสดุเข้าไป” คำตอบของอาจารย์ต้นข้าวในเรื่องการเลือกใช้ปูนเปลือยมาแทรกตัวอยู่ตามพื้นที่ต่างๆของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นพื้น ฝ้า คาน หรือกรอบหน้าต่าง ช่วยสร้างมิติบางอย่างให้บ้านดูไม่ขาวและเรียบจนเกินไป ซึ่งถ้าอยู่ภายใต้สภาวะแสงสว่างๆ ก็จะออกเป็นสีเทาอ่อนๆ ทำให้รู้สึกถึงความกลมกลืน และความแตกต่างได้ขึ้นอยู่กับช่วงจังหวะเวลาในแต่ละวัน

นอกจากนี้ภายในห้องน้ำยังเลือกวัสดุโทนที่เป็นสีเข้ม เพื่อตัดกับตัวบ้านที่เป็นสีขาว ทำให้พื้นที่ภายในไม่น่าเบื่อเกินไป

บ้านหลังนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ใช้ภาษาทางสถาปัตยกรรมสีขาวสื่อสารออกมาผ่านการออกแบบ ความรู้สึกปลอดภัยของเจ้าของบ้าน และพื้นที่ซึ่งเปิดรับธรรมชาติเข้ามาได้อย่างเหมาะสม พื้นที่ใต้ถุนที่ลมสามารถผ่านได้ และลำดับการเข้าถึงแบบไทยๆ ซึ่งทั้งหมดทำให้เกิดความสมดุลแห่งการอยู่อาศัยได้เป็นอย่างดี

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading