OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

bAAn บ้านสไตล์โมเดิร์น ใส่ใจเชื่อมต่อทุกองค์ประกอบที่เกิดขึ้นจริง

เมื่อการเชื่อมต่อที่พักอาศัยกับสภาพแวดล้อม สเปซ วัสดุ และตัวตนของเจ้าของบ้านเป็นองค์ประกอบเดียวกัน

Location: กรุงเทพฯ, ประเทศไทย

Owner: ธนัชพร รัชตะชาติ และ คุณแอนดี้ สิริวิชชา

Architect & Interior: พงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์, ปานดวงใจ รุจจนเวท, Anonym

Photograph: เชาวฤทธิ์ พูนผล

สถาปัตยกรรมคือเรื่องราวการออกแบบทั้งภายในและภายนอก มิใช่แค่การออกแบบเพียงด้านใดด้านหนึ่ง รูปลักษณ์และรูปแบบที่เกิดขึ้นภายนอกย่อมส่งผลต่อการใช้งานภายใน เพราะเป็นเรื่องราวและฟังก์ชันที่เชื่อมต่อกันกันและยังสะท้อนตัวตนของผู้พักอาศัยอีกด้วย

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญของการออกแบบ bAAn ที่พักอาศัยซึ่งคำนึงถึงการเชื่อมต่อกันระหว่างสภาพแวดล้อม สเปซ และวัสดุ

bAAn เป็นบ้านพักอาศัย 2 ชั้น ที่มีขนาด 500 ตารางเมตร บนพื้นที่ 300 ตารางวา ในย่านประชาชื่น โดยชื่อโปรเจค bAAn มาจากชื่อย่อของเจ้าของบ้านทั้ง 2 ท่าน ได้แก่คุณโน้ต ธนัชพร รัชตะชาติ และ คุณแอนดี้ สิริวิชชา ความต้องการแรกเริ่มคือการสร้างบ้านเพื่อรองรับการขยับขยายครอบครัว คุณโน้ตและคุณแอนดี้จึงต้องการสร้างบ้านหลังใหม่ในพื้นที่เดียวกันกับบ้านของคุณพ่อและคุณแม่ โดยใช้แลนด์สเคปและสระว่ายน้ำเป็นจุดเชื่อมต่อและเป็นพื้นที่ส่วนกลางของทั้ง 2 บ้าน

คุณบอย พงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์ และคุณปาน ปานดวงใจ รุจจนเวท สถาปนิกผู้ออกแบบ

คุณบอย พงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์ และคุณปาน ปานดวงใจ รุจจนเวท จากบริษัท Anonym คือสถาปนิกผู้ออกแบบบ้าน  เนื่องจากบ้านหลังนี้มีการคำนึงถึงฟังก์ชันและการเชื่อมต่อกันขององค์ประกอบต่างๆเป็นหลัก จึงมีการแบ่งพื้นที่การใช้งานเป็น 3 ส่วน ได้แก่ส่วนของห้องนอน 2 ห้องในบริเวณด้านหน้า ส่วน Master bedroom ในด้านหลัง ส่วนห้องนั่งเล่นและรับประทานอาหารตรงกลางบ้านเชื่อมต่อระหว่างสเปซทั้ง 2 ด้าน

เชื่อมต่อตัวตน

“เวลาผมออกแบบบ้านผมมักจะสังเกตว่าเจ้าของบ้านเป็นอย่างไร ชอบแบบไหน เพราะการออกแบบที่สะท้อนตัวตนของเจ้าบ้านได้ถึงจะเป็นบ้านที่เจ้าของอยู่แล้วสบายใจ ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของเขา ซึ่งบ้านหลังนี้ที่ผมสัมผัสได้คือเจ้าของทั้ง 2 ท่าน ชอบบ้านที่ดูเรียบง่าย มินิมอล โมเดิร์นแต่ก็มีความอบอุ่นอยู่ในนั้น ผมจึงออกแบบ bAAn โดยคำนึงถึงสไตล์และ mood & tone เหล่านี้เป็นประเด็นหลัก” คุณบอย สถาปนิกผู้ออกแบบกล่าว

จะกล่าวได้ว่าแนวคิดของบ้านหลังนี้คือการสื่อสารตัวตนของเจ้าของบ้านผ่านทางสถาปัตยกรรมก็คงไม่ผิดนัก เพราะคุณบอยและคุณปานต้องการออกแบบบ้านที่สามารถแสดงตัวตนของเจ้าของบ้านออกมา โดยความต้องการของเจ้าของคือต้องการสเปซที่โล่ง โปร่ง และเรียบง่าย คุณบอยและคุณปานจึงนำองค์ประกอบเหล่านี้มาผสานกับการสร้างกริลล์อะลูมิเนียมสีเข้มด้านนอก นอกจากนั้นยังเลือกใช้วัสดุและออกแบบพื้นที่ให้เกิดความเชื่อมโยงกัน จากนั้นจึงเริ่มต้นด้วยการออกแบบบ้านจากการกำหนดเสปซ วางฟังก์ชันไดอะแกรมและสัดส่วนตามการใช้งาน

None

เชื่อมต่อสเปซ

บ้านหลังนี้มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วนหลักๆได้แก่ส่วนของห้องนอน 2 ห้อง ที่อยู่บริเวณด้านหน้าอาคาร ส่วน Master bedroom และส่วนห้องนั่งเล่น พื้นที่ในทั้ง 3 ส่วนนี้จะเกิดการสอดประสานและผสานรวมกันในส่วนห้องนั่งเล่น ทำให้พื้นที่ภายในบ้านเกิดความเคลื่อนไหวและเชื่อมต่อซึ่งกัน แต่ในขณะเดียวกันพื้นที่ทั้ง 3 ส่วนก็ยังมีความแตกต่างจากการเลือกใช้วัสดุต่างชนิด ส่วนของห้องนอน 2 ห้อง จะอยู่ในบริเวณชั้น 2 หน้าบ้านเหนือพื้นที่จอดรถ โดยมีโถงทางเข้าและห้องพักผ่อนขนาดเล็กอยู่ในพื้นที่ชั้น 1 

ส่วนของห้องนั่งเล่นเป็น Double space กลางบ้าน ซึ่งมีความโปร่ง โล่งมากที่สุด เมื่อมองออกไปจะพบกับสวนสวยและต้นไม้  และเมื่อสังเกตดูจะพบว่าที่ห้องนั่งเล่นจะใช้การโชว์เสาแทนการซ่อนเสาไปกับผนัง เป็นการสร้างพื้นที่ให้มีมิติมากขึ้น ช่วยลดความโมเดิร์นของบ้าน และเพิ่มสีสันลูกเล่นให้กับผู้พักอาศัย โดยสร้างความรู้สึกราวกับเสาเป็นส่วนที่เติมเต็มให้บ้านสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

เมื่อขึ้นไปชั้น 2 จะพบกับโถงขนาดใหญ่ที่นำไปสู่ระเบียงภายนอกอาคาร

Dtips: ถึงแม้ว่าภายในห้องนั่งเล่นจะเป็น Double space ซึ่งหลายๆคนมองว่าการซ่อมแซมบ้าน โดยเฉพาะเรื่องหลอดไฟในพื้นที่นี้อาจจะเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่คุณบอยกล่าวกับเราว่า เคล็ดลับในการออกแบบคือการวางตำแหน่งไฟให้อยู่ในบริเวณความสูงปกติ หรือบริเวณที่มีทางเดินตัดผ่าน เวลาซ่อมแซมบ้านจะสะดวกเหมือนบ้านที่มีความสูง 2.5 เมตร – 3.0 เมตร โดยทั่วไป แต่ทั้งนี้ก็ต้องคำนึงถึงทิศทางของแสงที่จะตกกระทบกับพื้นหรือผนังด้วย

ส่วน Master bedroom มีการใช้อะลูมิเนียมสีเข้มเป็นวัสดุหลักในการตกแต่ง เป็นการสร้างความขัดแย้งกับอีก 2 ส่วนที่ใช้สีขาวเป็นหลัก และในการวางผังตัวบ้านทั้ง 3 ส่วนนั้น คุณบอยและคุณปานเลือกวางทิศทางบ้านให้หันสู่ทิศตะวันออกมากที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงความร้อนที่จะได้รับตลอดทั้งวัน

ฟาซาดจากระแนงอะลูมิเนียมสีดำในบริเวณทั้งด้านหน้าและด้านข้างของบ้านมีหน้าที่ในการสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับผู้พักอาศัยและยังทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของอาคาร โดยเป็นก้อนฟังชันก์เชื่อมต่อพื้นที่ภายในและภายนอกนั่นเอง

หน้าต่างในส่วนห้องนอน 2 ห้อง ยื่นลอยออกมาจากห้องพัก เพื่อเปิดรับวิวทิวทัศน์จากภายนอก

หน้าต่างที่ยื่นออกมาอีกส่วนของบ้านจะอยู่ในส่วน Master bedroom ในส่วนนี้ออกแบบเพื่อช่วยเปิดมุมมองให้คุณโน้ตและคุณแอนดี้มองลงไปเห็นลูกๆที่ว่ายน้ำในพื้นที่ชั้น 1

เชื่อมต่อกับบ้านหลังเก่า

“พื้นที่ว่าง สวน สระว่ายน้ำ และทิวทัศน์คือสิ่งที่เชื่อมโยงระหว่างทั้งสองบ้าน” คุณบอยกล่าว

มีการออกแบบความสัมพันธ์ของพื้นที่ในบ้านใหม่ให้เชื่อมโยงกับบ้านของคุณพ่อ คุณแม่ โดยการเก็บสระว่ายน้ำเดิมไว้ และปลูกต้นไม้ในสวนพื้นที่รอบๆขึ้นมาใหม่ เพื่อสร้างพื้นที่ส่วนตัวให้กับผู้ใช้งาน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ปิดทึบจนรู้สึกแบ่งแยกจากบ้านคุณพ่อ คุณแม่มากเกินไป

ขอบเขตที่ดินของบ้านคุณโน้ตและคุณพ่อ คุณแม่

เชื่อมต่อผ่านทางวัสดุ

วัสดุที่สามารถแสดงตัวตนเจ้าของบ้านที่ดูเรียบง่าย ละเอียดอ่อน แน่นอนว่าจะต้องใช้วัสดุสีขาวเป็นหลัก และเพิ่มเติมความอบอุ่นให้บ้านด้วยการใช้ไม้ (ซึ่งไม้ยังเป็นวัสดุที่สัมพันธ์กับบ้านเดิมสร้างความเชื่อมต่ออีกด้วย) ส่วนอะลูมิเนียมสีดำ เป็นส่วนที่สร้างความขัดแย้งกับภาพรวมของบ้านอย่างเห็นได้ชัด เพราะสถาปนิกเลือกใช้สีเข้มซึ่งเป็นสีที่ตัดกับสีขาวและไม้ในส่วนอื่นๆของบ้าน ช่วยให้บ้านดูไม่เรียบจนเกินไปนัก ช่วยสร้างสีสันและความแตกต่างให้กับบ้านได้อย่างน่าสนใจ

ห้องนั่งเล่น พื้นที่ที่สามารถแสดงถึงการเลือกใช้วัสดุทั้ง 3 ชนิดได้อย่างชัดเจน

ห้องนอน Master bedroom

ผนังคอนกรีตของบ้านหลังนี้ ไม่ใช่ผนังฉาบปูนเรียบแบบโดยทั่วไป แต่เป็นผนังที่เล่นกับพื้นผิววัสดุและใช้เส้นสายแบ่งผนังคอนกรีตให้เห็นพื้นที่และช่องว่างชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้งานเห็นลำดับของพื้นที่ต่างๆ เห็นลำดับของพื้น ความสูง ขนาดต่างๆในบ้านได้ดีขึ้น และยังช่วยให้ผนังไม่เรียบจนเกินไปนัก เป็นลูกเล่นเล็กๆที่สามารถสร้างความแตกต่างให้กับบ้านหลังนี้ได้

Dtips: ผนังคอนกรีตเช่นนี้ทำโดยการฉาบผนังด้วยคอนกรีตก่อน จากนั้นจึงตีขอบและสร้างเส้นสายแบ่งกรอบพื้นที่ในภายหลัง

มีการนำธรรมชาติเข้าสู่ภายในบ้านด้วยการเก็บต้นไม้เดิม พยายามหลีกเลี่ยงการทำลายต้นไม้ในไซท์ ออกแบบพื้นที่ว่างและช่องเปิดให้หันหน้าเข้าสู่ต้นไม้และธรรมชาติ ไม่ว่าจะมองมุมไหนจากภายในบ้านก็จะพบกับสีเขียวของต้นไม้อยู่ตลอด เป็นการเชื่อมต่อตัวบ้านกับธรรมชาติภายนอกและยังสร้างความร่มรื่นให้กับผู้อยู่อาศัยด้วย

“ผมคิดว่าการเชื่อมต่อในบ้านหลังนี้คือเรื่องสำคัญ เพราะช่วยทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างบ้านคุณพ่อ คุณแม่และบ้านของลูก ช่วยในการเชื่อมต่อพื้นที่ภายนอกและภายใน หรือจะเป็นเชื่อมต่อโดยนำมุมมองข้างนอกเข้าสู่ข้างในก็ล้วนแต่เป็นสิ่งสำคัญครับ”

คุณบอยกล่าวถึงหัวใจหลักในการออกแบบบ้านหลังนี้กับเรา เพราะการออกแบบโดยการสร้างความสัมพันธ์หรือการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆเข้าด้วยกัน เป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้พักอาศัยใช้งานในบ้านได้อย่างมีความสุข ไม่รู้สึกแตกต่างหรือขัดแย้งกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบในการออกแบบบ้านที่สำคัญเทียบเท่ากับการออกแบบรูปลักษณ์อาคารและฟังก์ชันนั่นเอง