“เชื่อมพื้นที่ให้เป็นหนึ่ง แบ่งวัสดุและฟังก์ชันด้วยระบบโมดูลาร์”
Architects: ชุติ ศรีสงวนวิลาส Black Pencils Studio
Photographs: Spaceshift Studio
“การออกแบบที่ดีช่วยยกระดับคุณภาพของการอยู่อาศัยได้” เป็นอีกหนึ่งเหตุผลของคนส่วนใหญ่ที่ให้ความสนใจกับการออกแบบหรือเปลี่ยนแปลงพื้นที่อยู่อาศัย เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์ความเป็นอยู่มากขึ้น เช่นเดียวกับบ้านทาวน์เฮาส์สีขาวสะอาดตาหลังนี้ ที่ถูกแปลงโฉมมาจากบ้านเก่าที่ถูกทิ้งร้างมานานกว่า 30 ปี ด้วยฉากหลังที่ผุพังและทรุดโทรมอย่างหนัก คงไม่ง่ายนักที่จะสร้างฉากใหม่อันสวยงามโดยปราศจาก “คุณชุติ ศรีสงวนวิลาส แห่ง Black Pencils Studio” สถาปนิกผู้ทำหน้าที่เปลี่ยนฉากใหม่บ้านหลังนี้ ให้กลายเป็นบ้านทาวน์เฮาส์โปร่งแสงแห่งความสุข
ลบกำแพง และเชื่อมหน้าให้ถึงหลัง
เป็นที่ทราบกันดีว่าพื้นที่ภายในทาวน์เฮาส์เก่าส่วนใหญ่มักจะถูกกั้นเป็นห้องๆ เพื่อฟังก์ชันการใช้งานที่ชัดเจน บวกกับความทรุดโทรมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการผุพังของหลังคาและบันได ต้นไทรที่เกาะอยู่ด้านบนของบ้าน ทำให้สิ่งที่สถาปนิกเลือกคงไว้จึงเป็นเพียงโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กของบ้านเดิม และได้เนรมิตพื้นที่ภายในใหม่ทั้งหมด โดยเริ่มต้นจากการทลายกำแพงภายในบ้าน เพื่อสร้างความสัมพันธ์บางอย่างของพื้นที่ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
สภาพเดิมของบ้านก่อนได้รับการรีโนเวท มีความผุพังและทรุดโทรม
ซึ่งผลลัพธ์ที่ตามมาจากการนำกำแพงที่ปิดกั้นพื้นที่ออกก็คือ พื้นที่ภายในเชื่อมต่อกันทั้งหมด ให้ความรู้สึกที่โปร่งโล่งมากขึ้น และสามารถมองทะลุจากหลังบ้านไปยังหน้าบ้านได้
สร้างเรื่องราวด้วยขอบเขต
เนื่องด้วยความต้องการของเจ้าของบ้านที่อยากให้บ้านสว่าง จึงมีการออกแบบช่องเปิดที่ต้อนรับแสงเข้ามาสู่พื้นที่โถงกลางบ้าน ซึ่งเป็นเหตุผลให้ตัวบ้านถูกแบ่งฟังก์ชันออกเป็นด้านหน้าและหลังอย่างชัดเจน โดยในการจัดวางฟังก์ชันนั้นได้มีการใช้ระบบโมดูลาร์เข้ามาออกแบบ ด้วยการใช้แนวกริดโครงสร้างเดิมของเสาคานมาเป็นตัวกำหนดขอบเขตพื้นที่ของแต่ละฟังก์ชัน วัสดุต่างๆ การปูกระเบื้อง อีกทั้งยังแบ่งความยาวจากหน้าบ้านที่กว้าง 6 เมตร ออกเป็น 6 ส่วน ส่วนละเมตร ซึ่งทำให้เกิดเส้นสายที่ต่อเนื่องกันทั้งบ้าน ไม่ว่าจะเป็นแนวของผนังที่ก่อขึ้นมาใหม่เพื่อเพิ่มเติมสัดส่วนการใช้งานที่ตอบโจทย์มากขึ้น อย่างตรงห้องนั่งเล่นและห้องครัว
แนวกริดต่างๆภายในบ้านหรือระบบโมดูลาร์เชื่อมเรื่องราวของทุกพื้นที่ภายในบ้านให้เป็นเรื่องราวเดียวกันทั้งหมด
ฟังก์ชันด้านหน้าของบ้าน ได้ลดพื้นที่จอดลดลงครึ่งหนึ่งเหลือเพียง 3 เมตรตามระบบโมดูลาร์ที่ได้แบ่งสัดส่วนไว้ โดยกั้นผนังเพิ่มเติมขึ้นมาเพื่อสร้างเป็นห้องนั่งเล่นที่ดูเรียบง่าย ด้วยแท่นไม้ที่วางเบาะโซฟาสไตล์ญี่ปุ่นไว้ สร้างบรรยากาศภายในบ้านให้อบอวลไปด้วยความอบอุ่น
ด้านหลังของบ้านจะเป็นส่วนของห้องครัว และห้องรับประทานอาหาร ซึ่งเดิมทีมีผนังกั้นอยู่ ส่วนด้านข้างเป็นส่วนของเซอร์วิส แบ่งออกเป็นสองห้องคือห้องน้ำ และห้องซักรีด
สีขาวตัดกับโทนของไม้สีอ่อน ช่วยเพิ่มความโปร่งให้แก่พื้นที่ และทำให้บ้านดูสว่างมากขึ้น
โถงโปร่งแสง แบ่งปันความสว่าง
หัวใจสำคัญที่ทำให้บ้านหลังนี้ดูมีชีวิตชีวามากขึ้นนั่นคือ พื้นที่ของโถงกลางบ้านที่เปิดรับแสงแดดจากหลังคาด้านบนจากชั้นสองลงมาสู่ชั้นล่าง แบ่งปันความสว่างไปยังพื้นที่ต่างๆภายในบ้านได้อย่างทั่วถึง เปลี่ยนภาพทาวน์เฮาส์ที่ทึบตันให้น่าอยู่มากกว่าเดิม
โถงนี้เสมือนเป็นโถงบันไดที่เชื่อมต่อไปยังชั้นสองของบ้าน ซึ่งเดิมทีบันไดเคยมีทิศทางจากหลังบ้านไปยังหน้าบ้าน ซึ่งเมื่อเกิดการปรับเปลี่ยนฟังก์ชันห้องนอนมาไว้ด้านหน้าของตัวบ้านแล้วนั้น จึงต้องเปลี่ยนทิศทางของบันไดย้อนกลับด้วย เพื่อลดความกระชั้นชิดจากบันไดสู่ห้องนอน และตอบโจทย์ในเรื่องของทางสัญจรภายในบ้านมากขึ้น
โดยโครงสร้างของบันไดที่ปรับทิศทางแล้วนั้นเป็นโครงสร้างเหล็ก จึงไม่มีปัญหาในเรื่องโครงสร้างหรือการรับน้ำหนักต่างๆ เพราะถือว่าเป็นโครงสร้างเบาอยู่แล้ว
ห้องนอน ซึ่งอยู่ด้านหน้าของตัวบ้านในชั้นสอง ก็มีหน้าต่างกว้างเพื่อเปิดรับแสงจากโถงกลางบ้าน ในขณะเดียวกันก็สามารถรับแสงจากทางด้านหน้าของบ้านได้ด้วยเช่นกัน เลยกลายเป็นว่าบ้านจะค่อนข้างโปร่งมาก
เชื่อมต่อจากโถงที่มีตู้เก็บของไปยังห้องน้ำ
เปิดเพื่อเชื่อม ปิดเพื่อส่วนตัว
ประตูบนชั้นสอง ไม่ว่าจะเป็นประตูห้องนอนหรือประตูห้องน้ำก็ตาม ถูกออกแบบให้เป็นประตูบานเลื่อนไม้ เพื่อที่จะสามารถเลือกเปิดเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ห้องนอน พื้นที่เก็บของ ห้องน้ำ และห้องแต่งตัวให้เป็นหนึ่งเดียวกัน หรือจะเลือกปิดเมื่อต้องการความเป็นส่วนตัวก็ได้
มุมมองจากห้องนอนทอดยาวไปจนสุดพื้นที่ภายในห้องน้ำ
โครงสร้างของหลังคาทัลชีท
ด้วยว่าหลังคาที่ต้องทำใหม่ทั้งหมดอยู่แล้ว การเลือกวัสดุหลังคาจึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงโครงสร้างของอาคารเดิม ซึ่งไม่สามารถรับน้ำหนักของโครงสร้างหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็กได้อีกชั้นหนึ่งแล้ว รวมถึงต้องคำนึงถึงความลาดเอียงและการทำหลังคาโปร่งเพื่อทำช่องแสงให้โถงกลางบ้าน สถาปนิกจึงเลือกใช้เมทัลชีท วัสดุมุงหลังคาที่มีน้ำหนักเบา มีทั้งแบบทึบแสงและโปร่งแสง ซึ่งมีฉนวนอยู่ด้านใต้ เพื่อป้องกันเสียงและความร้อนอีกด้วย
โถงกลางบ้านที่ใช้เมทัลชีทโปร่งแสง เพื่อต้อนรับแสงธรรมชาติเข้ามาสู่พื้นที่ภายในบ้าน
อีกทั้งเพิ่มเติมความเป็นส่วนตัวและป้องกันความร้อนจากแสงอาทิตย์โดยตรงด้วยFacade แบบดับเบิ้ลสกิน ที่ติดตั้งอยู่ชั้นสองด้านหน้าของบ้าน โดยมีเส้นสายของกริดโครงสร้างที่แบ่งด้วยระบบของโมดูลาร์ คือ 6 ส่วนตามที่ได้กล่าวไป นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มองค์ประกอบให้บ้านดูมีความน่าสนใจมากขึ้นอีกด้วย
บ้านหลังนี้เป็นอีกหนึ่งผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการออกแบบ โดยการอนุญาตให้ธรรมชาติอย่างแสงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งภายในบ้าน เลือกตำแหน่งช่องแสงตรงกลางบ้านเพื่อแบ่งปันความสว่างทั่วถึงกัน และทำให้พื้นที่เชื่อมต่อกันได้โดยกำหนดจากการใช้งานของผู้อยู่อาศัยเอง นับเป็นการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยที่ดี ที่จะช่วยยกระดับการอยู่อาศัยภายในทาวน์เฮาส์ให้มีความสุขมากยิ่งขึ้น