เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาอากาศอันร้อนระอุที่เซี่ยงไฮ้ดูเหมือนจะทวีองศาร้อนขึ้นไปอีก เนื่องจากนิทรรศการงานสถาปัตยกรรมจากแปดออฟฟิศแถวหน้าของเมืองไทย อันได้แก่ all(zone), Architectkidd, Bangkok Project Studio, CHAT architects, Department of ARCHITECTURE, Stu/D/O Architects, Supermachine Studio และ Walllasia ได้ถูกเลือกให้ไปแสดงงานที่นั่น
ด้วยแรงผลักดันของสถาปนิกคลื่นลูกใหม่สัญชาติไทยไต้หวัน เจอร์รี่ (JenChieh Hung) และป้อ กุลธิดา (Poh Kulthida) ที่ทำงานร่วมกันในนาม JpCoh ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดนิทรรศการนี้ที่เซี่ยงไฮ้ โดยทั้งคู่เริ่มตั้งแต่การหาข้อมูลของสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในไทย พบปะพูดคุยกับสถาปนิกทั้งแปดออฟฟิศ หาแกลเลอรี่จัดงาน ออกแบบติดตั้งนิทรรศการ และลงลึกไปจนถึงขั้นหาเงินทุนเองเพื่อให้นิทรรศการโชว์ผลงานของสถาปนิกไทยในเซี่ยงไฮ้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
ซึ่งตัวนิทรรศการนี้ถูกจัดขึ้นในแกลเลอรี่กลางเมืองที่ปลุกโฉมใหม่โดย TM studio สถาปนิกและนักออกแบบเมืองจากมหาวิทยาลัยถงจี้ (Tongji University) TM studio ใช้เวลาสามปีในการออกแบบตั้งแต่วางผังปรับปรุงพื้นที่โดยรอบไปจนถึงการซ่อมแซมอาคาร เขาเสนอให้พื้นที่นี้ที่เป็นจุดบรรจบกันของถนนสี่สาย กลายมาเป็นจุดเชื่อมต่อสื่อสารกันระหว่างพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัว มีอาคารหกชั้นที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อสามสิบห้าปีที่แล้วเป็นจุดเชื่อมโยง ห้าชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย ส่วนชั้นล่างเป็นตลาดสดใต้อาคาร โดยแบ่งพื้นที่บางส่วนมาเป็นแกลเลอรี่ที่มีชื่อเก๋ๆ ว่า Urbancross
ด้วยที่ตั้งและบริบทอันน่าสนใจซึ่งแวดล้อมไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา ผู้สูงอายุจับกลุ่มนั่งเล่นนอนเล่นทำกิจกรรมร่วมกันหน้าตลาด ภาพความต่างสุดโต่งระหว่างแกลเลอรี่กับตลาดสดข้างๆ ทำให้ Urbancross มีลักษณะเฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์และกลายเป็นตัวแทนเชื่อมโยงความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในเมือง รวมถึงกลายเป็นตัวกลางที่สื่อสารระหว่างงานศิลปะกับปุถุชนคนธรรมดาให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น
สำหรับนิทรรศการ Thai Contemporary Architecture: Emerging Tectonics โดย JpCoh นอกจากจะช่วยสนับสนุน ผลงานของสถาปนิกไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวเซี่ยงไฮ้แล้ว ตัวนิทรรศการยังกลายเป็นพื้นที่เผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้กับผู้คนไปโดยปริยาย JpCoh ออกแบบให้ประตูทางเข้าด้านหน้าเสมือนประตูเมืองต้อนรับสู่เมืองไทย บานประตูสีเขียวที่เปิดอ้าพร้อมตัวอักษรภาษา ไทยระบุชื่อออฟฟิศสถาปนิกทั้งแปดถูกเขียนด้วยชอล์กสีขาวตัดกับสีเขียวของผนัง ตัวอักษรทั้งหมดเขียนตามลวดลายเอียงซ้ายขวา ที่ JpCoh นำลักษณะเส้นสายของลายไทยมาลดทอน เมื่อเราก้าวผ่านประตูทางเข้า ภาพถ่ายของงานสถาปัตยกรรมทั้งแปดชิ้นถูกแปะต่อเนื่องกันตามผนังโดยไม่มีการเว้นระยะช่องว่างของงาน เพราะทางผู้ออกแบบต้องการให้ตัวนิทรรศการเชื่อมโยงต่อเนื่องในลักษณะเดียวกันกับชั้นขายของในตลาดซึ่งผู้ซื้อจะเดินวนโดย รอบเพื่อหาสินค้าที่ต้องการ
ขณะที่ภาพงาน drawing ของอาคารทั้งแปดถูกพิมพ์ลงบนกระดาษร่างห้อยโยงระย้าอยู่บนฝ้าสื่อถึง ลักษณะของผ้าที่แขวนบนราวตากผ้าด้านนอกอาคารบนแกลเลอรี่ซึ่งเป็นภาพที่พบเห็นได้ทั่วไปสำหรับอาคารพักอาศัยในเมืองเซี่ยงไฮ้ โดยมีจอ LCD ทั้งสี่ที่ติดตั้งอยู่ด้านนอกของประตูเมืองเป็นภาพวิดีโอบอกเล่าเรื่องราวงานออกแบบของทั้งแปดอาคาร รวมไปถึงจอ LCD อีกสามจอที่ต้อนรับผู้คนบนท้องถนนด้วยวิดีโออนิเมชั่นแสดงถึงวิถีชีวิตคนไทยจากงาน research ของ CHAT architects เคล้าคลอไปกับเสียงเพลงไทยสากลร่วมสมัยประกอบการชมงาน ซึ่งเพลงทั้งหมดเป็นเพลงสมัยใหม่ประยุกต์ด้วยเครื่องดนตรีไทย คงเหมือนกับงานสถาปัตยกรรมทั้งแปดชิ้นที่มองแว๊บแรกคืออาคารสมัยใหม่แต่เมื่อเราดูในรายละเอียดเรากลับพบความสมัยใหม่ที่มีกลิ่น อายของความเป็นไทยแฝงอยู่ไม่ว่าจะเป็นที่ว่างในอาคาร ลักษณะของวัสดุ และกรรมวิธีเทคนิคในการก่อสร้าง
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีกิจกรรมการพูดคุยสองงานในวันเปิดนิทรรศการ โดยได้ Luke Yeung จาก Architectkidd บินตรงจากกรุงเทพฯ มาร้านหนังสือชื่อดังในเซี่ยงไฮ้ Upper Bookstore ซึ่ง Luke เล่าถึงแนวทางการออกแบบของเขาในหัวข้อ Loose Fit Architecture ที่สื่อถึงความพอเหมาะพอดีของแต่ละงานที่เขาทำ ไม่ว่าจะเป็นโชว์รูม Lightmos ที่ทองหล่อ, Hard Rock Cafe, Now 26 และงานล่าสุดอย่าง The Street รัชดา
ที่ล้วนแล้วแต่ได้แรงบันดาลใจมาจากบริบทของเมือง กระบวนการผลิตของวัสดุพื้นถิ่น และการ ประยุกต์กรรมวิธีในการก่อสร้างท้องถิ่นกับวัสดุสมัยใหม่ การมาของ Luke ครั้งนี้ เรียกได้ว่าปลุกกระแสให้คนจีนที่เข้าร่วมฟังตื่นตัวไป กับการทำงานสถาปัตยกรรมในเมืองไทยมากยิ่งขึ้น
ส่วนการพูดคุยอีกงานที่แกลเลอรี่ Urbancross ได้เจอร์รี่หนึ่งใน curator ผู้ออกแบบ นิทรรศการและบรรณาธิการรับเชิญของนิตยสาร TA (Taiwan Architecture Magazine) ฉบับสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในไทยมาพูดคุย ในหัวข้อ Thainess Architecture เจอร์รี่ตั้งข้อสังเกตว่า “มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้คำจำกัดความว่าความเป็นไทยมีลักษณะแบบไหน แต่สิ่งที่น่าสนใจนั้นกลับเป็นการเรียนรู้และเข้าใจในวิถีของความเป็นไทยมากกว่า”
เจอร์รี่ยังเสริมอีกว่า เขาใช้เวลาหลายปีไปกับการค้นคว้าหาข้อมูลของสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในไทย ถึงตอนนี้ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ชัดเจน เขาจึงตัดสินใจว่า เขาไม่ควรไปเสียเวลาหาคำนิยามนี้จากเรื่องราวในอดีต แต่ให้มองไปที่ผลงานในปัจจุบันที่จะสร้างความเป็นไทยแบบใหม่ เป็นเอกลักษณ์ใหม่ และเป็นความสมัยใหม่ในสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของเมืองไทย เฉกเช่นผลงานของสถาปนิกทั้งแปดที่เขานำมาแสดงในนิทรรศการนี้
เรื่อง กุลธิดา ทรงกิตติภักดี (Kulthida Songkittipakdee)
ภาพ JenChieh Hung