OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

เรื่องเล่าของ “งานไม้ไร้จารีต” จากช่างไม้ไร้จริต…“สันธาน เวียงสิมา”

หากจะพูดถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นในงานสถาปัตยกรรม สิ่งหนึ่งที่สร้างสรรค์ความรู้สึกให้แตกต่างกันอย่าง “วัสดุ” ถือเป็นเรื่องสำคัญในการออกแบบ เพราะถึงแม้รูปลักษณ์สถาปัตยกรรมจะเหมือนกัน ขนาดเท่ากัน แต่หากใช้คนละวัสดุ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นก็มักมีความแตกต่างกันเสมอ ซึ่งวัสดุที่ได้รับความนิยมมายาวนานอย่าง “ไม้” เมื่อผสานการออกแบบจนเกิดเป็น “สถาปัตยกรรม” เสน่ห์ในแบบฉบับของตัวเองในด้านความรู้สึกอบอุ่นและกลิ่นอายธรรมชาติ ก็เผยมาให้ผู้ใช้สถาปัตยกรรมสัมผัสถึง และยังเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย ปลูกทดแทนได้

บ่ายวันหนึ่ง เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ “คุณสันธาน เวียงสิมา” ผู้คว่ำหวอดอยู่ในวงการไม้มากว่า20ปี บทสนทนาส่วนใหญ่ทำให้เรารู้จักกับไม้และเครื่องมือมากขึ้น ซึ่งจากการได้เยี่ยมชมสตูดิโอไม้ขนาดกะทัดรัดในพื้นที่ส่วนตัวของเขา ความคิดที่ว่าสถาปัตยกรรมไม้เป็นอะไรที่ยาก กลับกลายเป็นความเข้าใจธรรมชาติของไม้ได้มากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

DsignSomething: ลักษณะงานที่ทำเป็นอย่างไร?

Suntan: เป็นการให้คำปรึกษาทางเทคนิค การออกแบบรายละเอียดและวิธีการก่อสร้างมากกว่า ไม่ได้เน้นการออกแบบเชิงรูปลักษณ์สวยงามเหมือนสถาปนิกที่ออกแบบอาคารหรือสถาปัตยกรรมทั่วไป เพราะเราทำงานไม้สถาปัตยกรรมในสถานะ ‘คนกลาง’ระหว่างสถาปนิกและช่างไม้ศึกษาไม้และทำความเข้าใจในความเป็นธรรมชาติของไม้จากตำราและการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้ได้งานสถาปัตยกรรมไม้ที่ดี

“เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อที่จะเป็นแนวทางในการเดินต่อไปในปัจจุบันและอนาคต เราไม่ได้มาสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ แต่เราจะเดินต่อไปไม่ได้เลย ถ้าเราไม่รู้ว่า ในอดีตบรรพบุรุษเราเคยเดินอย่างไร”

ตัวอย่างงานสถาปัตยกรรมไม้เฮือนกว่าง จังหวัดเชียงราย ที่โครงสร้างหลังคาทำจากไม้ไผ่พื้นถิ่น ออกแบบโดย Geodesic , สันธาน เวียงสิมา x UG

โครงการดาดฟ้า Façade ออกแบบโดยบริษัท M Space ซึ่งคุณสันธานได้มีส่วนช่วยทำ R&D งานผนัง คอนกรีต และต้นแบบอิฐบล็อกช่องลม Cr: ดาดฟ้า Dadfa

DsignSomething: ข้อจำกัดของไม้ในงานสถาปัตยกรรมไม้มีอะไรบ้าง?

Suntan: จริงๆแล้วข้อจำกัดของไม้น้อยมากถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของไม้ เราพูดกันอยู่เสมอว่า ใช้ไม้ไม่กลัวมันบิด ไม่กลัวมันผุ หรือไม่กลัวปลวกหรอ ถ้าหากเราเข้าใจไม้ เข้าใจว่าพฤติกรรมของมันว่าเป็นอย่างไร มันเกิดจากอะไร เราก็จะสามารถสร้างสรรค์งานออกแบบได้โดยมีข้อจำกัดน้อยมาก อย่างเรื่องของพฤติกรรมในการบิดของไม้แต่ละชิ้น แต่ละประเภท ก็ไม่เหมือนกัน แม้กระทั่งไม้ประเภทเดียวกัน ต้นเดียวกันด้วยซ้ำ ผ่านการแปรรูปที่แตกต่างกัน ก็จะมีพฤติกรรมในการบิดแตกต่างกันไป ซึ่งต้องอาศัยการศึกษาและทำความเข้าใจก่อน

Mock up การต่อไม้ในแนวความยาว

ผมมีแนวทางในการทำงานออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างไม้ 3 ประการ

  1. Material การเข้าใจวัสดุดีพอ
  2. Tools การเข้าใจเครื่องมือที่หลากหลายพอ
  3. Method การเข้าใจในการปฏิบัติ

ถ้ามีทั้งสามสิ่งนี้ประกอบกับเครื่องมือที่หลากหลาย ร่วมกับทักษะที่ฝึกฝนมา จะเอามาสร้างสรรค์อะไรก็ได้ เรียกว่าไม่มีข้อจำกัดก็คงไม่ถูก คงต้องบอกว่ายิ่งคุณเข้าใจมันมากเท่าไหร่ ข้อจำกัดของไม้มันก็น้อยลงเรื่อยๆ

mock up ศาลา cocoon โครงสร้างเปลือก “รังนกกระจาบ” ออกแบบโดย The Pine Tree – Myanmar และ Design 507 -Thailand ในโครงการรีสอร์ทกลางทะเลประเทศพม่า สร้างโดยช่างฝีมืองานหวายที่เมืองย่างกุ้ง

DsignSomething: อะไรคืออุปสรรคของการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมไม้?

Suntan: อุปสรรคของการทำงานสถาปัตยกรรมไม้ในปัจจุบัน มันไม่ได้อยู่ที่วัสดุไม้จริงๆ ผมมองว่าสิ่งที่เราขาดแคลนคือ “ความรู้” หรือวิธีการที่เราจะใช้ไม้มากกว่า ซึ่งพอแยกองค์ประกอบของการจะเกิดสถาปัตยกรรมไม้ขึ้นได้ อย่างแรกคือต้องมีความรู้ สองคือช่างฝีมือ สามคือวัสดุไม้ อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ คือเรื่องของฝีมือมันฝึกกันได้ถ้ามีภูมิปัญญา มีประสบการณ์ สั่งสมความรู้กันต่อไป ส่วนเรื่องของวัสดุไม้ เราก็ยังปลูกทดแทนได้ แต่เรื่องของความรู้มันไม่ได้เกิดขึ้นภายในวันสองวัน หรือ ปีสองปี หรือแม้กระทั่งสิบปียี่สิบปี

“กบไสไม้” หนึ่งในเครื่องมือช่างไม้ที่มีหลากหลายขนาดและองศา ใช้สำหรับไสไม้ให้มีผิวเรียบและได้รูปตามต้องการ

ลักษณะของสถาปัตยกรรมไม้อย่าง เสา คาน ตง หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เป็นอยู่ มันไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อวาน มันสั่งสมนานแล้วเกินชั่วอายุคน เราศึกษาว่าไม้ในไทยเป็นอย่างไร สภาพภูมิอากาศในไทยเป็นแบบไหน พฤติกรรมการใช้สอยอาคารไม้ของไทยเป็นอย่างไร มันก็เลยแปรผันมาเป็นวิธีการก่อสร้างที่เหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้สอยของคนไทย สิ่งเหล่านี้เราเรียกว่าภูมิปัญญา

“เมื่อคุณมีความรู้ คุณก็จะสามารถฝึกฝีมือได้ เมื่อคุณมีฝีมือ คุณก็จะสามารถนำวัสดุไม้ที่มีอยู่ในปัจจุบันมาใช้ได้ดี หากพรุ่งนี้ไม่มีไม้ต้นใหญ่ มีเพียงไม้ป่าปลูกเล็กๆ แต่ถ้ามีความรู้ ภูมิปัญญา คุณก็สามารถใช้ไม้ที่คุณมี เอามาสร้างงานสถาปัตยกรรมที่ดี ที่มีคุณค่าได้”

The Pine Tree – Myanmar and Design 507 – Thailand บริษัทสถาปนิกที่ร่วมกันออกแบบรีสอร์ทที่ใช้โครงไผ่เป็นโครงสร้างหลังคา

DsignSomething: เรื่องที่ทำความเข้าใจยากที่สุดสำหรับงานไม้คืออะไร?

Suntan: สำหรับผมเรื่องที่ทำความเข้าใจยากที่สุดคือ เรื่องความชื้นในเนื้อไม้ เพราะเป็นเรื่องในเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำไมไม้ถึงบวม ทำไมความชื้นจึงเกิดขึ้น ความชื้นสัมพัทธ์เป็นอย่างไร กว่าผมจะเข้าใจมันได้พอสมควรก็ต้องใช้เวลานาน

เครื่องวัดความชื้นไม้

DsignSomething: ความคิดเห็นเกี่ยวกับงานไม้ในปัจจุบันเป็นอย่างไร?

Suntan: ไม้ในปัจจุบันไม่ได้มีมากมายใหญ่โตมโหฬาร ช่างฝีมือแรงงานที่นับวันค่าแรงยิ่งสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้คือ สิ่งที่พยายามจะบอกว่าเราต้องปรับตัว ซึ่งการปรับตัวที่ดีที่สุดคือการละวาง ระเบียบแบบแผนเดิมบ้าง

“ไม้ก็คือไม้ ไม้แต่ละสายพันธุ์ มีคุณลักษณะ คุณสมบัติโดยเฉพาะ เราไปเปลี่ยนธรรมชาติไม่ได้ เปลี่ยนคุณสมบัติพื้นฐานของไม้ไม่ได้ แต่เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยการเข้าใจธรรมชาติของไม้ และเปลี่ยนวิธีการออกแบบให้งานออกแบบไม้มีปัญหาน้อยที่สุด”

DsignSomething: “งานไม้ไร้จารีต ช่างไม้ไร้จริต” หนังสือที่คุณสันธานเขียน มีจุดประสงค์บอกเล่าเรื่องไม้ไว้ว่าอย่างไรบ้าง?

Suntan: อย่างที่ผมบอกว่าตอนนี้สิ่งที่เราขาดแคลนคือ ความรู้ ผมไม่ใช่ห้องสมุดเคลื่อนที่ หรือนักวิชาการที่มีความรู้มากมาย ผมเป็นสถาปนิก เป็นช่างไม้ เป็นคนที่ทำงานกับไม้มา 20 กว่าปี สิ่งที่ผมมีคือ “ประสบการณ์” หนังสือเล่มนี้ มันเป็นเรื่องการจดบันทึกประสบการณ์มากกว่า ต้องการให้มันเป็นจดหมายเหตุของงานไม้ วันหนึ่งที่ผมจากไป ความรู้ตรงนี้ต้องอยู่ อย่างน้อยที่สุด วันหนึ่งที่คนหยิบมาอ่าน ไม่ว่ามันจะถูกหรือผิด ก็ให้มันเป็นเสมือนแนวทางหนึ่ง มีอีกหนึ่งทางเลือกในการทำงานไม้สถาปัตยกรรมว่าเป็นอย่างไร

“อีกทางหนึ่งที่สำคัญคืออยากให้หนังสือเล่มนี้เป็นดั่งเชื้อไฟ ที่จะจุดประกายคนที่สนใจงานไม้ หันมาเห็นว่าจริงๆแล้วงานไม้สถาปัตยกรรมมันไม่ใช่เรื่องที่อยู่ไกลเกินเอื้อม”

DsignSomething: ทำไมต้อง “งานไม้ไร้จารีต ช่างไม้ไร้จริต”?

Suntan: งานไม้ไร้จารีต = ถ้าเรามัวแต่ยึดติดอยู่กับประเพณี กับจารีต กับวิธีปฏิบัติ ว่ามันจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ข้อจำกัดจะเกิดขึ้นมากมายเลย เพราะฉะนั้น เรากำลังจะสร้างสถาปัตยกรรมที่มันตอบสนองการใช้สอยจริงๆ ที่ข้อจำกัดคือวิธีการก่อสร้าง วัสดุ เครื่องมือ ไม่ใช่ข้อจำกัดในเชิงนามธรรมอะไรก็ไม่รู้

ช่างไม้ไร้จริต = คือคนที่จะปฏิบัติงานที่ไร้จารีตแบบนั้นได้ ต้องละวางซึ่งจริตออกไป ถ้าคุณยังยึดถืออยู่กับจริต ยึดถืออยู่กับจารีตอย่างมีจริต คุณจะทำอะไรที่มันนอกลู่นอกทางในเชิงสร้างสรรค์แทบจะไม่ได้เลย เพราะคุณมีกฏกติกามารยาทที่มันมาบีบรัดคุณอยู่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการที่ทำนอกลู่นอกทางในเชิงสร้างสรรค์ ไร้จริต ไร้จารีต มันจะเป็นสิ่งที่ผิดบาปอะไรมากมาย

DsignSomething: ขอคำแนะนำสำหรับผู้ที่จะเริ่มต้นสนใจทำงานไม้

Suntan: เคยมีสถาปนิกคนหนึ่ง เข้ามาถามผมว่า ขอคำแนะนำเกี่ยวกับการเริ่มต้นทำงานไม้ จะต้องซื้อเครื่องมืออะไรบ้าง? ผมจึงตอบว่า ยังไม่ต้องซื้อ คำถามคือแล้วจะทำงานไม้ได้อย่างไรถ้าไม่มีเครื่องมือ? คำตอบคือ ก่อนที่คุณจะมีเครื่องมือคุณจะต้องรู้ก่อนว่าคุณจะต้องทำอะไร ทำอย่างไร ถึงจะลงมือทำ

จริงๆแล้วต้องเริ่มต้นจากวัตถุประสงค์ก่อน แล้วค่อยมาเรียนรู้กันว่า สิ่งที่เราอยากทำ มันจะทำได้อย่างไร เมื่อคุณเรียนรู้ถึงระดับหนึ่งแล้ว แล้วค่อยไปลงมือทำ เครื่องมือซื้อทีหลังได้ พอคุณลงมือทำแล้วคุณจะเข้าใจว่า หากเราต้องการตัดไม้ เราต้องใช้เลื่อย เพราะเราไม่สามารถที่จะใช้นิ้วมือเราตัดไม้ออกเป็นชิ้นๆได้ หรือถ้าเราต้องการบากให้มันเสียบเข้าด้วยกัน เราต้องใช้สิ่ว ถ้าต้องการทำผิวไม้ให้มันเรียบ เราต้องการกระดาษทราย กบ เราก็ค่อยๆซื้อทีละสเตป ตามงานตามความเข้าใจของเรา แล้วเราจะเห็นว่าเราจะทำอะไรด้วยอะไร และเพื่ออะไร

รูปแบบเครื่องมือสำหรับงานไม้ต่างๆ ที่ภายในสตูดิโอแห่งนี้ มีมากกว่า 40 ชิ้น

“เราพูดกันอยู่เสมอว่า งานไม้ในปัจจุบันมันเริ่มหาย เราไม่ทำอะไรมากไปกว่าการพร่ำบ่นว่ามันกำลังจะหายไป” คำกล่าวทิ้งท้ายของคุณสันธานให้เราตระหนักคิดเรื่องสถาปัตยกรรมไม้ที่เริ่มเบาบางจางลงไปทุกที วัสดุที่เราคุ้นเคยกันมานาน แต่หากในวันนี้เราเข้าใจธรรมชาติของไม้มากน้อยเพียงใด