ในช่วงปีค.ศ.1950 เป็นช่วงที่สถาปัตยกรรมคอนกรีตรูปลักษณ์ทรงพลังที่รู้จักกันในชื่อ “Brutalist Architecture” มีบทบาทในโลกสถาปัตยกรรมตะวันตกมาก ความใหญ่โต การใช้จังหวะหรือแพทเทิร์นขององค์ประกอบซ้ำๆ และการเผยให้เห็นสัจจะวัสดุ คือจุดเด่นที่เห็นได้ชัดใน Brutalist Architecture
แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ถูกมองสวนทางว่าเป็นอาคารที่ก้าวร้าว แข็งกระด้าง หรือแม้แต่ถูกกล่าวหาว่าอัปลักษณ์ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา Brutalist Architecture จึงเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ถูกถกเถียงทั้งเรื่องคุณค่าและความงามมากที่สุดรูปแบบหนึ่งในบรรดาสถาปัตยกรรมเก่าแก่ทั้งหลาย
คำว่า Brutalist Architecture นั้น กล่าวกันว่าผู้ริเริ่มใช้คือ Reyner Banham นักวิจารณ์สถาปัตยกรรมชาวอังกฤษผู้เขียนหนังสือ New Brutalism: Ethic or Aesthetic? อธิบายงานสถาปัตยกรรมคอนกรีตเปลือยที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ และยังกล่าวกันว่า คำว่า Brutalism นั้นมาจากคำกล่าวในภาษาฝรั่งเศส “Béton-brut” ซึ่งแปลได้ว่า “Raw Concrete” Brutalist Architecture ในความเข้าใจโดยทั่วไปจึงหมายถึงสถาปัตยกรรมที่แสดงตัวตนผ่านคอนกรีตเปลือย มีรูปลักษณ์ใหญ่โต และมักจะเป็นอาคารที่มีหน้าที่สำคัญของเมืองไม่ว่าจะเป็นอาคารราชการ อาคารพักอาศัยรวม หรืออาคารสาธารณะต่างๆ
คอนกรีตเปลือยคือสัจจะ
การใช้คอนกรีตใน Brutalist Architecture นั้นผูกโยงอยู่กับแนวคิดการแสดง “สัจจะ” ของการออกแบบ เมื่อคอนกรีตเป็นวัสดุที่ยืดหยุ่นสูงโดยใช้หล่อเป็นรูปทรงหรือสร้างรูปแบบพื้นที่ใดๆ ได้รวดเร็วและง่ายดาย มันจึงใช้นำเสนอแนวความคิดของผู้ออกแบบได้หลากหลาย สะดวก และตรงไปตรงมาที่สุด นอกจากนั้น หลังคอนกรีตแห้งและเซ็ตตัว มันยังทิ้งพื้นผิวที่เป็นเอกลักษณ์ไว้ดูต่างหน้า ลักษณะพื้นผิวที่เชื่อมโยงไปถึงกระบวนการการก่อสร้างได้นี่เอง ทำให้คอนกรีตถูกเชื่อมโยงกับความ “สัตย์จริง” อันเป็นค่านิยมความงามและ “ทำนองคลองธรรม” ของการสร้างสถาปัตยกรรมในยุคนั้นเลยก็ว่าได้
แนวคิดหลักของ Brutalist Architecture คือการแสดงเนื้อแท้ของวัสดุที่ก่อรูปมาเป็นตัวของมันเองอย่างชัดเจน ในที่นี้คือคอนกรีต การนำเสนอสัจจะ ไม่ปะหน้าหรือแต่งเติมสิ่งอื่นนอกจากเนื้อแท้ของวัสดุที่ใช้ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างนั้น จึงเป็นคุณค่าหนึ่งที่ทำให้ Brutalist Architecture มีเอกลักษณ์และกลายเป็นต้นแบบทางความคิดสืบต่อกันมา
ทรงพลัง หรือ ประนีประนอม?
นอกจากการเผยสัจจะเรื่องวัสดุ รูปลักษณ์ที่ดุดันอันเป็นเอกลักษณ์ของ Brutalist Architecture ยังมีที่มาคล้ายคลึงกัน คือการเผยสัจจะด้านโครงสร้าง และการแสดงฟังก์ชันการใช้งานอย่างตรงไปตรงมา
หลายอาคารในช่วงนี้ ยังเกี่ยวพันกับช่วงเวลาหลังสงครามโลก โดยเฉพาะอาคารพักอาศัยจำพวกอพาร์ตเมนท์ที่ต้องตอบสนองปริมาณคนจำนวนมาก เช่น Unite d’ Habitation โดย Le Corbusier ในปีค.ศ.1952 อาคารที่อยู่อาศัยคอนกรีตขนาดใหญ่สำหรับรองรับผู้อาศัยกว่า 1600 คน ที่สร้างให้กับครอบครัวผู้ประสบภัยจากสงครามในฝรั่งเศส ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นความสนใจของ Le Corbusier ในการสร้างที่อยู่อาศัยทางตั้งที่จะให้ประโยชน์กับคนหมู่มาก และยังถือกันว่าเป็นอาคารแรกๆ ที่เป็นจุดเริ่มของกระแส Brutalist Architecture ในเวลาต่อมา
หลายอาคารที่เกิดขึ้น ยังเกี่ยวพันไปถึงนัยทางการเมือง โดยเฉพาะเมื่อแนวคิดคอมมิวนิสต์กำลังมีอิทธิพลต่อหลายประเทศในยุโรปขณะนั้น รูปลักษณ์ที่ทรงพลัง การไร้เครื่องประดับตกแต่ง และการใช้วัสดุที่ธรรมดาสามัญ ถูกผูกโยงไปกับแนวคิดความเท่าเทียมของคอมมิวนิสต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
Brutalist Architecture ส่วนหนึ่งจึงมีส่วนในการแบกรับอุดมการณ์ทางการเมือง จนการเกิดขึ้นของมันคล้ายเป็นการสร้างโลกในอุดมคติ ซึ่งสุดท้ายได้ห่างไกลจากวิถีชีวิตธรรมดาสามัญของผู้คนออกไปเรื่อยๆ Brutalist Architecture จึงถูกตั้งคำถามเสมอถึงขนาดและแนวคิดที่เหนือจริง กอปรกับอายุที่ผ่านมากว่า 50 ปีจนถึงปัจจุบัน ยังทำให้หลายอาคาร Brutalist Architecture ที่ยังหลงเหลือยิ่งดูเสื่อมโทรมและอันตรายยิ่งขึ้นไปอีก
การอนุรักษ์ และการกลับมาอีกครั้ง
Brutalist Architecture ได้รับความสนใจอีกครั้ง ในฐานะสถาปัตยกรรมที่มีบทบาทในประวัติศาสตร์อย่างสูง แต่ได้ถูกทุบทำลายลงไปมากเพราะความไม่เป็นมิตรของมัน จนหลายคนเห็นว่าถึงเวลาที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ก่อนจะสายเกินไป
เช่นแคมเปญ “Save Our Sirius” การเรียกร้องให้อนุรักษ์อาคาร “Sirius Building” อาคารที่อยู่อาศัยสไตล์ Brutalism ในซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ที่อยู่คู่กับเมืองมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 ที่กำลังจะถูกซื้อขายที่ดินและทุบทำลายด้วยสภาพเก่าแก่ของอาคารที่ตั้งอยู่ในทำเลที่มีค่ามาก แคมเปญได้รับความสนใจอย่างมากจากคนทั้งในท้องที่และกลุ่มผู้อนุรักษ์อาคารเก่าทั่วโลก และแม้ว่าอาคารจะถูกยกย่องด้านคุณค่าจากหลายองค์กรอนุรักษ์ แต่การซื้อขายที่ดินก็ยังดำเนินอยู่ และกลุ่ม Save Our Sirius ก็ยังไม่หยุดรณรงค์จนถึงเวลานี้
รวมไปถึงเว็บไซต์อย่าง http://www.sosbrutalism.org กับ #SOSBrutalism แพลตฟอร์มรวมอาคาร Brutalist Architecture กว่า 1000 อาคารทั่วโลก (รวมถึงในประเทศไทย) ที่จัดกิจกรรมสร้างกระแสให้คนเห็นคุณค่าสถาปัตยกรรมคอนกรีตเก่าแก่ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ อยู่เสมอ เพื่อเปลี่ยนความคิดให้คนไม่มองมันในแง่ร้ายเกินไปนัก และเห็นในเอกลักษณ์และคุณค่าของอาคารคอนกรีตในประวัติศาสตร์เหล่านี้ จนถึงอาจนำไปสู่การอนุรักษ์อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
Brutalist Architecture จึงกำลังถูกมองด้วยสายตาใหม่ ทั้งด้วยการรณรงค์ให้คนอนุรักษ์และกลับไปใช้อาคารเก่า เก็บไว้ซึ่งรูปแบบของสถาปัตยกรรมในอดีต ที่เป็นต้นแบบทั้งด้านแนวความคิด และรูปทรงหรือองค์ประกอบอาคาร ที่หาได้ยากยิ่งแล้วในปัจจุบัน
การแสดงออกอย่างทรงพลังของ Brutalist Architecture จึงเป็นต้นแบบให้เกิด New Brutalist Architecture ที่ตั้งคำถามกับความเรียบโล่งและไร้จิตวิญญาณของ “Modernism” หรือความไม่เป็นระเบียบ ขรุขระอย่าง “Loft” หรือความน้อยเกินพอดีของ “Minimal” ที่จะสร้างอาคารเหมือนๆกันทุกที่ ว่าถึงจุดสูงสุดของความน่าเบื่อแล้วหรือยัง โดย New Brutalist Architecture จะยึดถือเอาความกล้าหาญ และการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาอย่างมีจิตวิญญาณ เช่นที่ Brutalist Architecture เคยเป็น เพียงแต่ประยุต์ให้เข้ากับวัสดุ สมัยนิยม และสภาพสังคมในยุคนั้นๆ ได้อย่างกลมกล่อมขึ้นนั่นเอง
SPONSORED CONTENT BY NOBLE STATE 39 (A Brutalist Inspired Estate)
รายละเอียดเพิ่มเติม >> https://goo.gl/ePzJyD