สิ่งก่อสร้างเหนือท้องถนน ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีอย่าง “สะพานลอย” อีกวิธีสำหรับการข้ามถนนที่ว่ากันว่าปลอดภัย แต่หลายครั้งที่เราได้ยินเรื่องราวการมีอยู่ของสะพานลอยที่ดูไม่ปกตินักในโลกออนไลน์ บ้างมีต้นไม้ใหญ่ขวางทางขึ้นลง บ้างมีเสาไฟและสายไฟฟ้าโผล่กลางสะพาน
สิ่งเหล่านี้มีมาให้เราเห็นอยู่เรื่อยๆ ซึ่งวันนี้ Dsignsomething ขอนำเสนอเรื่องเล็กๆที่ชวนให้สังเกต หลากหลายมิติของสะพานลอยที่เป็นมากกว่าสิ่งก่อสร้างลอยฟ้าเพื่อข้ามถนน และจริงๆแล้ว “สะพานลอย” บอกอะไรกับกรุงเทพฯของเราบ้าง…
1.ข้าม(สะพาน)ผ่านกาลเวลา
ความคิดริเริ่มของการสร้างสะพานคนเดินเป็นเรื่องที่มีมานานในสังคมไทย ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2471 ได้มีการสร้างสะพานลอยข้ามเส้นทางสัญจรทางบกแห่งแรกในประเทศไทยคือ “สะพานกษัตริย์ศึก” เพื่อให้คนเดินเท้าไม่ให้ต้องเสียเวลาติดรถไฟที่แล่นเข้าออกสถานีรถไฟหัวลำโพงแทบทั้งวัน นับแต่นั้นสะพานลอยก็กลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่แก้ปัญหาจราจรบนท้องถนน ตามสี่แยกที่มีคนเดินพลุกพล่าน และสถานที่สำคัญต่างๆอย่างโรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด ซึ่งข้อมูลในปี 2560 ได้ระบุไว้ว่า มีสะพานลอยคนเดินข้ามถนนมากถึง 915 แห่งในกรุงเทพมหานคร
2.มากหน้า หลายสะพาน
รูปร่างหน้าตาของสะพานลอยในกรุงเทพฯ บ้างมีหลังคา บ้างก็ไม่มีหลังคา หรือพิเศษกว่านั้นก็มีทางลาดสำหรับเข็นจักรยานข้ามได้อย่างที่วิภาวดี โครงสร้างต่างๆก็แตกต่างกันไป เหล็กบ้าง คอนกรีตบ้าง เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของภาพหลากมิติ เมื่อมีแสงและเงาตกกระทบ มองแล้วก็สวยดีเหมือนกันนะ
ราวกันตก เรียกว่าเป็นองค์ประกอบที่ทุกสะพานลอยต้องมี
สะพานลอยโครงสร้างเหล็ก แบบโครง truss เพื่อเพิ่มความแข็งแรง
3.ทอดสะพาน
แม้การสร้างสะพานจะไม่ต้องมีแม่สื่อแม่ชัก แต่อีกประเภทหนึ่งที่เรามักเห็นกันบ่อยๆตามที่ที่มีคนพลุกพล่าน อย่าง “Walkway” สะพานลอยทอดยาวที่สามารถข้ามถนนได้มากกว่าหนึ่งเลน หรือเชื่อมต่อสถานที่หนึ่งยังสถานที่หนึ่งได้สะดวก ก็มีให้เห็นกันอยู่มาก อย่างสยาม สี่แยกสะพานควาย อนุสาวรีย์ เซนทรัลเวิร์ลไปแพลตินัมอย่างในภาพด้านบนนี้นั่นเอง
สะพานข้ามสี่แยกสะพานควาย มีรางรถไฟฟ้าวิ่งผ่านด้านบน
สะพานลอยล้อมรอบสี่แยกพระรามที่สี่ ถนนรัชดาภิเษก
วอร์คเวย์อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สะพานลอยที่สร้างเป็นแนวโค้งโอบล้อมวงเวียนกึ่งกลางระหว่าง
4.Co-walking Space
อีกหนึ่งมุมมองของสะพานลอยในไทย ที่เป็นมากกว่าพื้นที่สัญจรของคน ก็น่าจะเป็นพื้นที่อาศัยของคนจรจัด หรือมีขอทานนั่งอยู่ หรือเป็นตลาดขนาดย่อมของบรรดาพ่อค้า แม่ค้าหาบเร่ ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการออกกฏหมายตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบของบ้านเมืองแล้ว (โทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท) แต่ก็ยังมิวายที่จะเห็นภาพแบบนี้อยู่ร่ำไปบนสะพานลอย เราจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้อย่างไร..
5.พื้นที่โฆษณา
ไม่ว่าป้ายประกาศจะเล็กหรือใหญ่ พื้นที่ราวกันตกของสะพานลอยก็ทำหน้าที่เป็นพื้นหลังของป้ายโฆษณาได้ดีเสมอ เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งฟังก์ชันที่สะพานลอยกลายเป็นพื้นที่โฆษณา ประชาสัมพันธ์ข่าวสาร ช่วยกระจายข่าวให้กับคนบนท้องถนนได้ไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว
หรือบางทีสะพานลอยก็ช่วยประกาศเวลาให้เราทราบก็มี
6.ให้มุมมองที่แตกต่าง
หากสะพานลอยเป็นหนึ่งสิ่งที่บดบังทัศนียภาพของเมือง ก็อยากให้ทุกคนลองมองสิ่งดีๆที่สะพานลอยมอบให้เราอย่างง่ายดายที่สุดเมื่อขึ้นไปใช้งาน นั่นคือ “มุมมองที่แตกต่าง” ที่เราไม่สามารถสัมผัสมุมมองนี้ได้หากยืนบนพื้นถนน ไม่แน่เราอาจจะบังเอิญเห็นความสวยงามของมหานครแห่งนี้ มากขึ้นก็เป็นได้
สุดท้ายแล้วสะพานลอยก็เป็นอีกสิ่งก่อสร้างใกล้ตัวที่แอบทักทายผู้คนในเมืองอยู่เสมอ หากลองสังเกตให้ดี คาดว่าเรื่องราวสนุกๆของสะพานลอย ก็ยังคงมีมาให้เราเห็นอยู่เรื่อยๆ และอาจทำให้เราฉุกคิดได้ว่า แท้จริงแล้วสะพานลอยมีประโยชน์แค่ไหน และให้อะไรกับเราบ้าง…