“ไม้ต่อไม้ โครงสร้างต่อโครงสร้าง”
ปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆเข้ามามีผลต่อการก่อสร้างมากขึ้น นับวันยิ่งมีวัสดุมาใช้ในการก่อสร้างสถาปัตยกรรมให้ทันสมัยมากกว่าเดิม ซึ่งหากพูดถึงโครงสร้างของสถาปัตยกรรมแล้ว นอกจากบ้านเรือนไทย หลายคนคงนึกภาพไม่ค่อยออกว่าสถาปัตยกรรมโครงสร้างไม้ที่ขนาดใหญ่และสามารถรับน้ำหนักได้จริงๆจะเป็นไปในรูปแบบไหนได้บ้าง วันนี้ Dsign Something จึงอยากนำเสนอ “5 สถาปัตยกรรมโครงสร้างไม้” ที่จะเปิดมุมมองสถาปัตยกรรมโครงสร้างไม้ให้กว้างขึ้นกว่าเดิม

“NEST WE GROW” TIMBER COMMUNITY FOOD HUB
Location: Taiki, Hokkaido, Japan
Architect: UC Berkeley’s College of Environmental Design and Kengo Kuma & Associates
Photographs: Shinkenchiku-sha
หากพูดถึงสถาปัตยกรรมไม้ “Kengo Kuma”คงเป็นหนึ่งในสถาปนิกอันดับต้นๆที่ใครหลายคนนึกถึง เพราะงานออกแบบส่วนใหญ่ของเขาล้วนแล้วแต่มีไม้เป็นองค์ประกอบด้วยกันทั้งนั้น และ “Nest We Grow” ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ Kengo Kuma ร่วมออกแบบกับนักศึกษามหาวิทยาลัย UC Berkeley’s College of Environmental Design สร้างสรรค์ศูนย์อาหารชุมชนที่มีโครงสร้างไม้ซับซ้อนบนเกาะฮอกไกโดเมื่อปี 2014

จุดประสงค์หลักของสถาปัตยกรรมนี้คือ การนำผู้คนในชุมชนมารวมกัน เพื่อจัดเก็บเตรียมและรับประทานอาหารท้องถิ่นในบรรยากาศที่โอบล้ออมไปด้วยธรรมชาติ ซึ่งใช้โครงสร้างไม้ทั้งหมดต่อเข้ากันเป็นอาคารที่มีรูปทรงสี่เหลี่ยมที่ปกคลุมไปด้วยแผ่นพลาสติกลอนโปร่งแสง พื้นที่ภายในแบ่งออกเป็น 4 ระดับด้วยกัน โดยระดับแรกเป็นพื้นที่ส่วนกลาง ส่วนระดับที่อยู่เหนือขึ้นไปออกแบบให้เป็นพื้นที่เล็กๆชิดขอบอาคาร เพื่อให้พื้นที่ส่วนกลางดูโปร่งโล่งนั่นเอง


แนวคิดการต่อเข้าไม้รูปแบบของอาคาร
———————————————————————-

25 KING STREET
Location: Brisbane, Australia
Architect: Bates smart
Photographs: Tom Roe
อาคารสำนักงานโครงสร้างไม้ที่สูงที่สุดในออสเตรเลีย ออกแบบโดย Bates smart บริษัทสถาปนิกจากออสเตรเลีย โดยออกแบบให้ส่วนของโครงสร้างไม้ทั้งหมด 10 ชั้น ที่มีความสูงประมาณ 45 เมตร ตั้งอยู่บนรากฐานของชั้นคอนกรีตสองชั้นที่มาช่วยทำให้อาคารแข็งแรงมากขึ้น โครงสร้างในแนวตั้งเป็นเสาไม้รูปตัววีเสาขนาดใหญ่ ส่วนพื้นที่ภายในจัดวางผังแบบ Open plan หรือเปิดโล่ง เพื่อรองรับพื้นที่สำนักงาน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล รูปแบบของโครงการได้แรงบันดาลใจมาจากรูปแบบอาคาร“ควีนซานเดอร์” ที่ทำด้วยไม้และศาลาประวัติศาสตร์ในเขต Showgrounds ที่อยู่โดยรอบ



———————————————————————-

Tamedia Office Building
Location: Zurich, Switzerland
Architect: Shigeru Ban Architects
Photographs: Didier Boy de la Tour
สำนักงาน “Tamedia” ในประเทศเซอวิสเซอแลนด์ เป็นโครงสร้างไม้ที่สามารถมองเห็นได้ทั้งหมดจากภายนอกอาคาร ภาพเสาเหลี่ยมขนาดใหญ่ที่เป็นเหมือนรากฐานให้กับโครงสร้างอาคาร โดยต่อเข้ากับคานที่ออกแบบมาให้มีส่วนเว้าส่วนโค้ง ส่วนคานรอบอาคารจะเป็นไม้กลม เพื่อเชื่อมต่อโดยการเข้าไม้กับเสาได้อย่างลงตัว สร้างมิติที่แปลกใหม่ให้กับบรรยากาศในการทำงาน


———————————————————————-

Archery Hall & Boxing Club
Location: Tokyo, Japan
Architect: FT Architects
Photographs: Shigeo Ogawa
โปรเจคนี้ประกอบด้วยอาคารสองหลังคือ สนามยิงธนูญี่ปุ่น และสนามมวย ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัย Kogakuin ทางตะวันตกของโตเกียวเพียงไม่กี่ร้อยเมตร โดยโครงสร้างเป็นไม้ที่ได้มาจากท้องถิ่น ความพิเศษคือเรื่องของสัดส่วนของอาคารที่มีขนาด 7.2 x 10.8 เมตร ซึ่งเป็นสัดส่วนเดียวกับโถงศักดิ์สิทธิ์ในวัดญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม โดยออกแบบเป็นโครงสร้างแบบ Long span โครงสร้างไร้เสาคั่นกลาง ทำให้พื้นที่ภายในดูกว้างเหมาะสมสำหรับกีฬาหลายประเภท


อาคารนี้สร้างขึ้นโดยใช้วิธีการที่เรียบง่าย โดยการประกอบกันของไม้ ยึดด้วยสลักเกลียวและน็อต แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากขนาดของพื้นที่ที่กว้างมากกว่าปกติ การดำเนินการก่อสร้างรูปแบบของโครงสร้างไม้จึงต้องอาศัยความพิถีพิถันเพื่อความสวยงามตามแบบฉบับสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่นด้วย
———————————————————————-

Metropol Parasol
Location: Seville, Spain
Architect: J Mayer H
Photographs: Fernando Alda
เดิมทีพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นลานจอดรถ พื้นที่ที่ใช้ประสิทธิภาพได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆโดยรอบของเมืองเซวิลล์ ประเทศสเปนไม่เชื่อมต่อกัน ซึ่งหลังจากมีการขุดค้นพบทางโบราณคดีข้างใต้บริเวณนั้น จึงเห็นควรให้มีโครงการปรับปรุงพื้นที่ครั้งใหญ่ โดยได้จัดประกวดแบบขึ้นมา และผู้ชนะก็คือ “J. MAYER H. architects” ที่ออกแบบโครงสร้างไม้ที่ต่อเข้ากันในรูปแบบรังผึ้ง ทำหน้าที่เป็นร่มเงาและเกิดเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับใช้ประโยชน์ ภายในเป็นพิพิธภัณฑ์โบราณคดี ตลาดทางการเกษตร บาร์ ภัตตาคาร และร้านต่างๆมากมาย อีกทั้งด้านบนยังมีทางเดินให้ทุกคนสามารถเดินชมทิวทัศน์ของเมืองได้อีกด้วย



———————————————————————-
5 สถาปัตยกรรมโครงสร้างไม้นี้ เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อย ที่แสดงให้เห็นถึงการก่อสร้างที่หยิบจับวัสดุใกล้ตัวอย่างไม้ ให้เป็นมากกว่าการนำมาใช้ตกแต่งอาคาร นั่นคือการใช้เป็นโครงสร้างหลัก โดยสามารถรับน้ำหนักและใช้งานได้จริง โดยมีความสวยงามตามแบบฉบับของธรรมชาติ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการดูแลรักษาจึงเป็นอะไรที่ต้องดูแลมากกว่าโครงสร้างอื่นๆ จึงต้องอาศัยการออกแบบที่เข้าใจในตัวของวัสดุและประเภทของไม้ให้ดีด้วย