“จักรยาน เป็นลมหายใจของการเดินทางในญี่ปุ่น”
สำหรับผม จักรยานจำเป็นต่อการเดินทางอย่างมาก เพราะมันสะดวกที่จะไปไหนมาไหนด้วยจักรยาน ทั้งไปซื้อของ ไปเรียน หากเป็นการเดินทางในรัศมีที่ไม่เกิน 6 กิโลเมตร จัดว่ากำลังดีมาก เพราะปั่นไม่เหนื่อย ยิ่งในวันที่อากาศเย็น ยิ่งปั่นได้ไกลกว่าปกติ
ด้วยเพราะญี่ปุ่นมีการออกแบบให้เมืองมีระบบขนส่งสาธารณะที่ดี ให้สามารถเชื่อมโยงกันได้ทั้งรถไฟ รถประจำทาง สำหรับการเดินทางในตรอกซอกซอยที่ลึกเข้าไปจากป้ายรถประจำทางหรือสถานีรถไฟ จักรยานจึงเป็นคำตอบที่ดีในการเดินทางต่อ อย่างเมืองเคียวโตะที่ผมอาศัยอยู่ หากลองสังเกตพฤติกรรมของคนเคียวโตะในวัยทำงาน จะมีส่วนน้อยที่ทำงานในเคียวโตะ แต่ถ้าทำงานเป็น ’ซาลารีมัง’ (เป็นภาษาญี่ปุ่นที่มาจากคำว่า Salary Man) หรือมนุษย์เงินเดือน จะนิยมทำงานในเมืองใหญ่อย่างโอซะกะ วิธีการเดินทางก็คือปั่นจักรยานมาที่สถานีรถไฟ แล้วหาที่จอดให้ได้ก่อนใคร ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วจะหาที่จอดยากมาก การที่เสี่ยงไปจอดแอบๆ ตามตรอกซอกซอยนั้นจัดว่าเสี่ยง แม้จะไม่เสี่ยงเรื่องจักรยานหาย แต่ก็เสี่ยงที่จะถูกทางเจ้าหน้ายกไปยังสถานีรับรถจอดผิดกฎ พอกลับมาจากทำงาน อาจจะเจอป้ายกระดาษแปะไว้แถวที่เราจอด เพื่อให้มาเสียค่าปรับเสียแต่โดยดี ค่าปรับในการจอดจักรยานผิดที่ก็ 2,300 เยน แต่ถ้าไม่มาเสียค่าปรับเพื่อเอาจักรยานคืนภายในเวลา 30 วัน จักรยานของเราก็จะถูกกำจัด
เรื่องเหล่านั้นคือความสำคัญของการใช้จักรยานที่จริงจังในญี่ปุ่น มันช่วยลดการใช้พลังงานได้ดีทีเดียว
จากความสำคัญเหล่านี้ ทางจักรยานในญี่ปุ่นได้ถูกออกแบบให้มีความสัมพันธ์กับการใช้สอยในชีวิตประจำวัน ในซอยจะถูกตีเส้นสำหรับจักรยาน คนเดิน รถยนต์ อย่างชัดเจน หากเป็นการปั่นบนถนนใหญ่ ถ้าไม่มีสัญลักษณ์ทางจักรยานวิ่ง บนทางเท้าที่กว้างกว่าในซอย จะถูกตีเส้นแบ่งให้จักรยานใช้ร่วมกันกับคนเดินเท้า หากลองปั่นจักรยานในเมืองจะเห็นถึงความละเอียดในการออกแบบทางจักรยานที่ซ้อนลงไปบนเส้นทางของเมืองเดิมอย่างดี แม้ว่าหากเทียบกันกับบ้านเรา การปั่นจักรยานบนถนนใหญ่เป็นเรื่องอันตรายมากจากรถยนต์ แต่กับที่ญี่ปุ่น การขับขี่ต้องมีวินัยสูง การสอบใบอนุญาตขับขี่รถยนต์นั้นยากมาก การจะไปเฉี่ยวชนจักรยานบนถนนเป็นเรื่องที่เกิดได้ยากมาก เพราะแนวคิดการใช้พื้นที่สาธารณะนั้น คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อผู้อื่นเสมอ
ความสำคัญของจักรยาน ทำให้ที่จอดจักรยานถูกพัฒนาอย่างเป็นระบบ มีระเบียบ ใช้งานง่าย
การออกแบบเมือง ให้น่าใช้จักรยาน จึงต้องสร้างสถาปัตยกรรม หรือพื้นที่ใช้สอยไว้รองรับจักรยาน ยิ่งทำให้น่าใช้มากขึ้น บางแห่งที่อยู่ในเมือง พื้นที่แนวราบน้อย ที่จอดจักรยานถูกออกแบบเป็นที่จอดแบบใต้ดิน เราสามารถเอาจักยานมาที่แท่นด้านหน้า จากนั้นเครื่องจอดก็จะเอาจักรยานของเราไปเก็บบนรางในที่จอดชั้นใต้ดิน หากเราไปชอปปิ้งที่ห้างในเมืองที่ญี่ปุ่น เราจะไม่สามารถหาที่จอดรถยนต์ในห้างได้เลย เพราะกฎหมายอาคารที่ไม่เหมือนกันกับบ้านเรา โดยเมืองในญี่ปุ่นออกแบบให้คนใช้ระบบขนส่งสาธารณะ แต่ห้างที่ผมไปซื้อของประจำในตัวเมือง มีที่จอดจักรยานไว้บริการอย่างดี และไม่มีที่จอดรถยนต์ ซึ่งมาคิดดูมันก็ดีมากเลย ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองการพัฒนาประเทศ ที่ไม่ต้องให้รถยนต์เป็นใหญ่ ให้ความสำคัญกับจักรยาน และคนเดินเท้า ทั้งรถก็ไม่ติด มลภาวะก็น้อยลง การก่อสร้างอาคารต่างๆ จะลดงบประมาณลง เพราะไม่ต้องออกแบบที่จอดรถยนต์
ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็แค่เปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับเมือง ก็จะสามารถเปลี่ยนเมืองให้น่าอยู่ได้ เพราะเอาจริงๆ แล้วนั้น ที่จอดจักรยานในญี่ปุ่น หาง่ายกว่าถังขยะเสียอีก