“ส่วนประกอบจากจิตวิญญาณแห่งล้านนา ต่อเติมบรรยากาศอันแสนร่มรื่นริมแม่น้ำปิง”
Raya Heritage
Location: ริมแม่น้ำปิง, เชียงใหม่
Architect: BoonDesign
Photograph: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
หากพูดถึงเชียงใหม่ คุณนึกถึงอะไร? คำตอบของใครหลายๆคนอาจจะเป็นคาเฟ่ชิคๆ หรือบรรยากาศดีๆบนภูเขา แต่หลังจากที่เราได้มาสัมผัสพื้นที่แห่งนี้ใน “Raya Heritage Hotel” คำตอบของเราก็แตกต่างออกไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง… เพราะด้วยภาพบรรยากาศความรื่นรื่น ภายใต้การออกแบบที่ใส่ใจในรายละเอียดในแบบฉบับแบบไทยๆ ของตกแต่งที่ล้วนแล้วแต่เป็นของพื้นบ้านที่ดูธรรมดา แต่กลับพิเศษได้ด้วยการจัดเรียง จังหวะของสถาปัตยกรรมที่ดูลื่นไหลด้วยฝีมือการออกแบบของ “บุญเลิศ เหมวิจิตรพันธ์ แห่ง BOONDESIGN” จึงไม่ยากเลยที่โรงแรมแห่งนี้จะสร้างความประทับใจและให้ประสบการณ์กับผู้ที่มาเยือนได้เป็นอย่างดี
Raya Heritage Hotel โรงแรมแห่งวิถีศิลป์พื้นเมืองเหนือแห่งแรกในไทย ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิงในจังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ซึ่งรายล้อมไปด้วยบริบทธรรมชาติอันสมบูรณ์ สะท้อนลงในสถาปัตยกรรมสีขาว ด้วยแรงบันดาลใจในการออกแบบที่ได้รับจากงานฝีมือดั้งเดิมและหัตถศิลปพื้นบ้านล้านนา ผสานเสน่ห์และอัตลักษณ์สวยงามอย่างไทย
ใจกลางความร่มรื่น
สถาปนิกตั้งใจออกแบบพื้นที่โถงต้อนรับให้มีความโปร่งโล่ง ฝ้าเพดานสูง เสาขนาดใหญ่และสูงกว่าปกติ และสร้างจังหวะการจัดเรียงในระยะที่เท่ากันเพื่อให้เกิดภาษาที่ถ่ายทอดกลิ่นอายของล้านนา ส่วนพื้นที่ภายในคอร์ทกลาง เป็นที่ตั้งของต้นสะเดา และต้นกระท้อน ต้นไม้สูงใหญ่ที่เป็นดั่งใจกลางแห่งความร่มรื่นของส่วนต้อนรับ เชื่อมต่อไปยังต้นไม้นานาพรรณ ทั้งไม้พุ่ม และสนามหญ้าที่ทอดยาวไปจนสุดขอบของแม่น้ำปิง
คอร์ทกลางที่ถูกปกคลุมไปด้วยพื้นที่สีเขียว
พื้นที่ภายในที่มีความสูงโปร่งมากกว่าปกติ
ส่วนอาคารที่โอบล้อมคอร์ทกลางนี้ เป็นพื้นที่ Common Area ภายในโรงแรม ซึ่งนอกจากมีล็อบบี้ส่วนต้อนรับอันแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของ “ไอ-ว่าน สปา” สปาหลักของโรงแรม “ลานชา” ระเบียงชั้นสองสำหรับนั่งจิบชาสมุนไพรและน้ำผลไม้คั้นสดเหมาะแก่การมานั่งพักผ่อนพร้อมชมวิวแม่น้ำในยามบ่าย ในขณะที่ด้านล่าง คือ “บ้านท่า” เป็นเลานจ์ตกแต่งด้วยโทนสีดำ ฝ้าเพดานไม้ที่ภาพรวมออกมาลึกลับน่าค้นหา ให้บริการค็อกเทลและเครื่องดื่มหลากชนิดในบรรยากาศริมน้ำยามเย็น
“ลานชา” กับการเลือกวัสดุตกแต่งแบบไทยๆ ไม่ว่าจะเป็นผนังมู่ลี่ที่ทาสีดำ โคมไฟที่ทำมาจากถังหมัก และหมอนสีฟ้าที่เกิดขึ้นจากกระบวนการย้อมคราม
“บ้านท่า” กับการตกแต่งเรียบหรูโดยใช้เฟอร์นิเจอร์จักสานแบบไทยๆ มาดัดแปลงให้ดูโมเดิร์นยิ่งขึ้น
และส่วนของ “ห้องอาหารคุข้าว” ที่มีการใช้องค์ประกอบแบบไทยๆอย่างเสาไม้ เฟอร์นิเจอร์จักรสาน กระทั่งคุข้าว หรือกระด้งขนาดใหญ่ใช้สำหรับฝัดข้าวเปลือก ที่ดัดแปลงเป็นโคมไฟ ช่วยสร้างเอกลักษณ์ในการตกแต่งพื้นบ้านได้อย่างสวยงาม เสิร์ฟพร้อมอาหารเอเชียนฟิวชั่นที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นของเชียงใหม่ คัดสรรออกมาให้เป็นอาหารสุดกลมกล่อม อาทิ น้ำพริกเขมร จะส่าน และจิ้นลุง ตำรับไทใหญ่ หรือข้าวแรมฟืนใส่ไก่ยูนนาน เป็นต้น
เมนูต่างๆภายในห้องอาหารคุข้าว
สะท้อนกลิ่นอายล้านนา
วัสดุต่าง ๆ ที่ได้รับการคัดสรรอย่างพิถีพิถันมาใช้ในการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นกระเบื้องดินเผา ระแนง และเสาไม้โบราณ หรือฉากกระดาษสาต่างๆ ล้วนสะท้อนกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมล้านนาดั้งเดิมอันงดงาม และเมื่อนำมาผสมผสานเข้ากับ ตัวอาคารที่ถูกออกแบบให้มีเพดานสูงโปร่งในโทนสีขาวและครีม จึงสร้างบรรยากาศร่วมสมัยได้อย่างกลมกลืน
บริเวณของโถงต้อนรับที่มีการใช้มู่ลี่ เฟอร์นิเจอร์ไม้และไม้ไผ่ในการทำ
3 ชั้น 3 ความหมาย
ภายในอาคาร 3 ชั้น ที่วางขนานกับแม่น้ำปิง มีห้องทั้งหมด 33 ห้อง โดยทุกห้องมีพื้นที่ที่กว้างขวาง และล้วนหันหน้าไปทางแม่น้ำปิง ทั้งยังมีสวนอยู่เบื้องหน้าที่โอบล้อมไปด้วยสีเขียวขจีของต้นไม้น้อยใหญ่ ทุกห้องล้วนผสานเสน่ห์ความเป็นล้านนาที่เรียบง่าย งดงาม เข้ากับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ครบครัน อีกทั้งยังตกแต่งด้วยงานฝีมือพื้นเมืองอย่างพิถีพิถัน ไม่ว่าจะเป็นผ้าทอ ตระกร้อสาน กรอบไม้ เฟอร์นิเจอร์จักรสาน งานสลักไม้ หรือกระเบื้องดินเผา สะท้อนเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือได้เป็นอย่างดี
“คราม พลู สวีท” ห้องพักในชั้นล่างสุด มีสระว่ายน้ำส่วนตัว และเน้นการตกแต่งในโทนสีขาว-น้ำเงิน ซึ่งได้จากการย้อมคราม บนผ้าม่าน พรม หรือปลอกหมอนต่างๆ
“ริน เทอเรส สวีท” ห้องพักในชั้นสอง มีระเบียงนั่งเล่นภายนอก ตกแต่งอย่างเรียบหรูในโทนสีขาว ครีมและดำ มีการนำวัสดุธรรมชาติมาประดับตกแต่ง ในบรรยากาศที่มองเห็นวิวธรรมชาติได้อย่างสบายๆ
“เฮือนบน สวีท” ห้องพักชั้นบนสุด มีฝ้าเพดานสูงตามแบบฉบับสถาปัตยกรรมบ้านไทยในอดีต
นอกจากนี้ระเบียงอันกว้างขวางในห้องพักแต่ละห้อง ซึ่งหันหน้าเข้าหาแม่น้ำปิงยังชวนให้นึกถึงบรรยากาศวิถีชีวิตริมน้ำในสมัยก่อนที่ผู้คนมักจะมานั่งสนทนาเล่าถึงสิ่งที่ตนพบเจอมาในแต่ละวันที่ท่าน้ำในยามเย็น
ของฝากจากช่างฝีมือท้องถิ่น
เมื่อแนวคิดหลักในการออกแบบโรงแรมคือ ‘วิถีชีวิตริมน้ำแบบดั้งเดิมของชาวบ้าน’ เฟอร์นิเจอร์แอนทีคที่เจ้าของรวบรวมมาจากทั่วภูมิภาค และเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่ทำมือขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ เราจึงได้เห็นงานหัตถกรรมจากฝีมือช่างในชุมชนเหล่านี้ตกแต่งอยู่ภายในห้องพัก และตามพื้นที่ common Area ต่างๆภายในโรงแรม ทั้งไซจับปลา ซุ้มไก่ กระทั่งคุข้าว กระบุง
นอกจากนี้โรงแรมยังมีนิทรรศการ “เลือนจางไม่ลางหาย” นิทรรศการที่ โรงแรมรายา เฮอริเทจตั้งใจ รวบรวมและนำเสนอเหล่าบุคคลผู้เป็น เจ้าของมรดกที่กำลังจะเลือนหายอย่างวิถีชีวิตของเหล่าพ่อครูแม่ครู ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ผ่านภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหว บทสัมภาษณ์ รวมถึงถ้อยคิดคำนึง ซึ่งนิทรรศการจัดขึ้นตามพื้นที่ต่างๆภายในโรงแรมตั้งแต่วันนี้จนถึงเดือนมีนาคม