OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

ออกแบบแบบนี้“ดีกว่า”..คุยเรื่องเต็กๆในสไตล์ “สาริน นิลสนธิ” สถาปนิกอารมณ์ดีแห่ง D KWA DESIGN STUDIO

“ทุกอย่างมันมีเหตุผล การออกแบบต้องตอบได้ว่า ทำไมผลลัพธ์จึงเป็นแบบนี้”

“ดีกว่า” หนึ่งในคำพูดที่เราใช้มักใช้เปรียบเทียบระหว่างอะไรสองอย่าง แต่สำหรับมุมมองของ “คุณสาริน นิลสนธิ” สถาปนิกหนุ่มอารมณ์ดีแห่ง D KWA DESIGN STUDIO แล้ว คำนี้มีความหมายมากกว่านั้น เพราะนอกจากจะเป็นชื่อของบริษัทสถาปนิกที่ก่อตั้งขึ้นเองแล้ว ยังเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมให้ดีมากขึ้นกว่าเดิมต่อไปเรื่อยๆอีกด้วย ว่าแล้วก็เตรียมเปิดใจ เปิดประตูเข้ามาฟังเรื่องราวการออกแบบดีๆพร้อมกันเลยดีกว่า

เช้าวันหนึ่ง เราได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยียนเมืองเชียงใหม่ ซึ่งหนึ่งในลิตส์บ้านหลังที่เราตั้งใจมา ก็คือ บ้านสไตล์อินดัสเทรียลสุดดิบเท่ของ “คุณสาริน นิลสนธิ” บ้านและออฟฟิศในขนาดกะทัดรัด แต่เปี่ยมไปด้วยความร่มรื่น จากต้นไม้น้อยใหญ่นานาพรรณที่ร่วมใจกันสรรค์สร้างบรรยากาศภายในให้อบอวลไปด้วยพื้นที่สีเขียว ประกอบกับแสงและเงาที่สาดส่องลงมา สู่พื้นที่ต่างๆที่ถูกออกแบบไว้เป็นอย่างดี เราจึงไม่พลาดที่จะสนทนากันถึงเรื่องราวการออกแบบสถาปัตยกรรมในสเกลเล็กๆ ตามแบบฉบับของ D KWA DESIGN STUDIO มาให้ทุกคนได้สัมผัสกัน

เริ่มต้นกันเลย D KWA

Sarin: สมัยก่อนอยากจะทำผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่งขาย คือ โมเดลคนที่เราใส่ในโมเดลตามสเกลต่างๆ ใช้แผ่นอะคิลิคตัด ทำเป็นคอลเลคชันคนในท่าทางต่างๆ ยืน นั่ง เดิน เล่นกีฬา เล่นดนตรี ตอนนั้นเลยคิดว่าจะตั้งชื่อโปรเจกต์ว่าอะไรดี ก็เลยใช้ชื่อว่า “ดีกว่า” เพราะเราคิดถึงประโยคว่าเราแบบพูดติดปากกันท้ายประโยค มันก็เป็นการพูดว่า เป็นการตัดสินใจเลือกในสิ่งที่ดีที่สุด แต่ว่าไม่ได้ไปเทียบกับใคร เช่น เราอยากจะไปเที่ยว จะไปไหนดี? ไปที่นี่ดีกว่า และคำนี้ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เราว่าเราต้องทำให้ดีกว่าเสมอ พัฒนาตัวเองตลอดเวลา การตั้งชื่อนี้ให้เราไม่ลืมความตั้งใจของตัวเองด้วย ก็เลยใช้ชื่อนั้นมาตลอด ตั้งแต่ทำฟรีแลนซ์ และมาเปิดออฟฟิศเป็นของตัวเอง

ออฟฟิศ D KWA Architect ในปัจจุบันที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่

เหตุผลของงานออกแบบ

Sarin: เวลาออกแบบงานสถาปัตยกรรมเล็กๆอย่างบ้าน เราเอาความต้องการของเจ้าของบ้านเป็นตัวนำ ซึ่งจะไม่มีภาพในหัวมาก่อน ยังไม่รู้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร จะรู้ก็ต่อเมื่อทุกอย่างที่เกิดขึ้นจากการตีความออกมาเป็นฟังก์ชัน การวางทิศทาง ช่องเปิดต่างๆลงตัวก่อน ภาพลักษณ์หรือฟอร์มจึงค่อยตามมา ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ออกแบบบนพื้นฐานการใช้ชีวิต และต้องสอดคล้องกับงบประมาณที่กำหนดมาด้วย

“ทุกอย่างต้องตอบได้ว่า ทำไมจึงออกแบบแบบนี้ ทำไมอยู่ตรงนี้ ใช้อย่างไร มีประโยชน์อย่างไร มีผลต่อความรู้สึกและการใช้งานอย่างไร ทุกอย่างผมเชื่อว่ามันมีเหตุผล”

งานออกแบบของดีกว่าส่วนใหญ่เป็นบ้าน?

Sarin: ใช่ครับ เราชอบทำบ้าน เรามีโอกาสได้สนุกกับการออกแบบบ้านในสเกลเล็กๆ เพราะเราได้สัมผัสกับดีเทลการออกแบบที่ให้อะไรมากกว่า มันมีเรื่องของ Commercial มาเกี่ยวข้องน้อยมาก และการที่ได้พูดคุยกับเจ้าของเหมือนเราได้ความสุขที่แชร์มาซึ่งกันและกัน เราประทับใจในการออกแบบบ้าน เขาก็มีความสุขในการอยู่อาศัย

อะไรดีกว่ากัน? ระหว่างบ้านที่ตอบโจทย์เรื่องบริบท
กับบ้านที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัย

Sarin: วัดไม่ได้ครับ เพราะอยู่ที่ความพอใจของเจ้าของ อย่างบางงานเจ้าของอาจจะไม่อยากตอบโจทย์ฟังก์ชันการใช้สอยภายในบ้านก็ได้ เช่น อยากให้งานมีกิมมิก หรือตอบโจทย์ด้านความสวยงามมากกว่า แต่ถ้าถามในมุมมองของสถาปนิกแล้ว ก็ต้องทำได้หมด ออกแบบเน้นให้เจ้าของเขามีความสุขดีกว่า แต่ทั้งนี้เราก็ต้องบอกข้อดีข้อเสียในการออกแบบให้เขารับรู้ด้วย ไม่ใช่ว่าจะออกแบบตามใจเขาอย่างเดียว ถ้าเขาโอเค รับได้ เราก็โอเค

เห็นงานออกแบบส่วนใหญ่จะเก็บรักษาต้นไม้เดิมไว้ และมีพื้นที่สีเขียวเยอะมาก อยากให้ลองบอกข้อดี-ข้อเสีย

Sarin: ข้อเสียก็เรื่องกิ่งไม้ ใบไม้ ราก และสัตว์ต่างๆที่เขากลัวๆกัน แต่ถ้าคนชอบเขาก็จะมองผ่านเรื่องนี้ อย่างเช่นบ้านของผม ถ้าถามว่า มีใบไม้ร่วงไหม คำตอบคือ ก็มี แต่เราก็ต้องปรับตัวให้สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้เพราะเมื่อแลกกับความสุขที่ได้มา เวลาที่ต้นไม้ให้ร่มเงา ให้ความชื้น ให้อากาศที่เย็นสบาย ให้บรรยากาศที่ทำให้การอยู่อาศัยเป็นไปอย่างมีความสุข ผมว่ามันคุ้ม

เปรียบการออกแบบงานสถาปัตยกรรมเป็นอะไร?

Sarin: การเดินทางครับ เพราะ งานถาปัตย์ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องอาศัยสั่งสมการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เหมือนการไปท่องเที่ยว แล้วได้พบเจอสิ่งใหม่ๆ ค้นพบความสวยงาม เจออุปสรรคที่ต้องแก้ปัญหาระหว่างทาง ซึ่งงานสถาปัตยกรรมมันมีหนึ่งเดียวในโลก เพราะฉะนั้นมันเป็นสิ่งที่มีเรื่องราวเฉพาะ และมีเสน่ห์ของตัวเอง

เรียนรู้ในแบบฉบับดีกว่า

Sarin: สถาปนิกที่เก่ง คือต้องพลาดมาเยอะเหมือนกัน คือถ้าเราดูจากแมกกาซีน หรือไปจำเขามาออกแบบ มันไม่เกิดการเรียนรู้ มันแค่ต้องการให้สวยเหมือนเขาเท่านั้น แต่ถ้าเราทำเอง ออกแบบคิดขึ้นเองจากบริบทนั้นจริงๆ ก็จะรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น ว่าที่เราคิดในจินตนาการเรากับของจริงที่มันออกมามันใช่หรือเปล่า แล้วพอเราได้บทเรียนจากมันแล้วก็ไปพัฒนาต่อได้ ซึ่งก็จะทำให้งานนั้นดีกว่าเดิมขึ้นเรื่อยๆเสมอ…

“ตอนนี้กำลังเรียนรู้กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ การบริหารงาน และทีมให้มีผลงานที่พัฒนาต่อไปเรื่อยๆ แล้วก็มีแพลนจะทำร้านกาแฟที่บ้านหลังนี้ด้วยครับ” คุณเอกกล่าวทิ้งท้ายกับเราเมื่อเราถามถึงโปรเจกต์ในอนาคตที่ใกล้จะมาถึง