“ผมมักจะมองหาที่ว่างและแสงสว่างในสถาปัตยกรรม” Santiago Calatrava
Santiago Calatrava สถาปนิกชาวสเปน ผู้เป็นทั้งสถาปนิกหัวสมัยใหม่และวิศวกรโครงสร้าง ผลงานของเขาโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมและสะพานล้ำสมัยกว่า 50 ที่ทั่วโลก และเขาก็ไม่ได้หยุดอยู่ที่การเป็นสถาปนิกหรือวิศวกรเท่านั้น เพราะเขายังเป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์ภาพวาดและประติมากรรมต่างๆ มากมาย งานของเขามักท้าทายกับกฎแรงโน้มถ่วงของโลก และยังเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึก ที่สะท้อนผ่านงานสถาปัตยกรรม
Santiago Calatrava
Santiago Calatrava เกิดวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1951 เมือง Valencia, Spain เขาชื่นชอบการวาดภาพตั้งเด็ก ประกอบกับการที่พ่อและแม่เล็งเห็นถึงศักยภาพนี้ พวกเขาจึงสนับสนุนให้ Santiago Calatrava เรียนศิลปะตั้งแต่อายุ 8 ปี ซึ่งในตอนแรกเขาวางแผนที่จะเป็นศิลปินเต็มตัว จึงเข้าศึกษาที่ l’Ecole des Beaux-Arts (โรงเรียนสอนศิลปะ Fine Arts) ในเมือง Paris, France แต่อย่างไรก็ตาม ในปี 1968 กลับมีการประท้วงของนักเรียนใน Paris ชั้นเรียนต่างๆ ล้วนถูกยกเลิก เขาจึงตัดสินใจกลับมาเรียนที่เมือง Valencia บ้านเกิดของเขา ณ มหาวิทยาลัย Technical University of Architecture สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ หลังจากเรียนจบ เขาก็ศึกษาต่อที่ Swiss Federal Institute of Technology สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง ในเมือง Zurich, Switzerland
Yuan Ze University Project
เมื่อสำเร็จการศึกษา ในปี 1981 Santiago Calatrava ก็เริ่มต้นเป็นสถาปนิกและวิศวกรเต็มตัว หลังจากนั้นเพียงระยะเวลาไม่นาน เขาก็ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันประกวดการออกแบบสถานีรถไฟท้องถิ่น โดยได้รับแรงบันดาลใจจากรูปทรงซี่โครงสุนัขที่เขาได้รับเป็นของขวัญ ซึ่งการนำซี่โครงมาใช้นี้ จะกลายเป็นจุดเด่นสถาปัตยกรรมของเขาในอนาคต
The City of Arts and Sciences of Valencia
การที่เขาเรียนทั้งสถาปัตยกรรม วิศวกรรม เขาจึงกลายเป็นสถาปนิกและวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญทั้ง 2 ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรวมกับความเป็นศิลปินของเขา ก็ทำให้สถาปัตยกรรมของ Santiago Calatrava มีทั้งความหนักแน่น สวยงาม เปรียบเสมือนผลงานศิลปะชิ้นหนึ่ง
Bac de Roda Bridge
Margaret Hunt Hill Bridge
Santiago Calatrava เริ่มเป็นที่รู้จักจากงานออกแบบสะพานในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก เช่น Bac de Roda Bridge และ Margaret Hunt Hill Bridge เป็นต้น
Milwaukee Art Museum คืองานชิ้นแรกของเขาที่สหรัฐอเมริกา เป็นอาคารรูปทรงออร์แกนิคที่พลิ้วไหวดั่งปีกนก
Cathedral of Christ the Light (concept model)
อย่างไรก็ตามสถาปัตยกรรมของ Santiago Calatrava มักเกิดปัญหาบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการส่งงานล่าช้ากว่ากำหนด หรือค่าใช้จ่ายที่เกินงบเป็นเท่าตัว เขาจึงเป็นสถาปนิกที่เป็นประเด็นและมีเรื่องอื้อฉาวมากที่สุดคนหนึ่ง และเมื่อเกิดปัญหานี้ขึ้นหลายๆ ครั้ง จึงมีการยกเลิกบางโปรเจคของเขา เช่น Fordham Spire และ Cathedral of Christ the Light
Museum of Tomorrow
แต่ในเวลาต่อมาเขาก็ได้แก้ไขปรับปรุงตัว จนมีโปรเจคที่ประสบความสำเร็จมากขึ้น ชื่อเสียงด้านลบของเขาก็ค่อยๆ หายไป และในท้ายที่สุดเขาก็กลายเป็นบุคคลที่มีผลต่อวงการสถาปัตยกรรม ทั้งจากความทะเยอทะยาน ความคิดสร้างสรรค์ และความเชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมกับวิศวกรรม
World Trade Center Transportation Hub
Year: 2004 – 2016
Location: New York, United States
World Trade Center Transportation Hub หรือ Oculus ตั้งอยู่บริเวณรอบๆ ตึก World Trade Center เดิม อาคารนี้เป็นศูนย์รวมการขนส่งทางรถไฟใต้ดินของ New York ส่วนด้านบนเป็นร้านค้าและร้านอาหารต่างๆ
Santiago Calatrava ออกแบบอาคารให้คล้ายกับรูปทรงของปีกนกสีขาวบริสุทธิ์ที่ถูกปล่อยออกจากมือเด็ก และมีแสงธรรมชาติสาดส่องเข้ามาในพื้นที่ของโครงสร้างแต่ละส่วน ทำหน้าที่มอบความสว่างให้กับพื้นที่ในอาคาร และยังสะท้อนความหมายถึงการเป็นอิสระ มีเสรีภาพอีกด้วย ซึ่งเป็นการรำลึกเหตุการณ์ ตึก World Trade Center โดนเหตุก่อการร้ายในวันที่ 11 กันยายน ปี 2001
โดยภายในอาคารเป็นโถงกว้างขนาดใหญ่ รายล้อมด้วยร้านค้าต่างๆ ใช้โครงสร้างเหล็กสีขาวเรียงติดกันเป็นแผง 2 ด้าน ทำมุมโค้งเข้าหากันเป็นวงรี และเว้นที่ว่างระหว่างเหล็กสีขาวแต่ละเส้น ให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาในอาคาร
Ponte Sul Crati
Year: 2000 – 2018
Location: Cosenza, Italy
Ponte Sul Crati สะพานแขวนยาว 140 เมตร สำหรับรถยนต์และทางคนเดิน พาดผ่านแม่น้ำสำคัญในเมือง Cosenza, Italy โดยทางรัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ว่า สะพานนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการฟื้นฟูเมืองเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่สำคัญของเมือง 2 ฝั่ง ที่มีแม่น้ำ Crati กั้นกลาง
Ponte Sul Crati เป็นสะพานแขวนที่ใช้โครงสร้างสายเคเบิลเดี่ยว มีเสาเหล็กจาก Pylon รูปทรงสี่เหลี่ยมสูง 82 เมตร ตั้งโดดเด่นเหนือทิวทัศน์เมือง ซึ่งเสานี้จะเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อรองรับน้ำหนักโครงสร้างสะพาน และนำสายตาสู่ทิวทัศน์เมืองด้านหลัง โดยรูปทรงของสะพานจะคล้ายกับฮาร์ปขนาดใหญ่ที่พาดผ่านแม่น้ำนั่นเอง
Innovation, Science and Technology Buliding (FPU)
Year: 2010 -2014
Location: Lakeland, United States
มหาวิทยาลัย Florida Polytechnic University ตั้งอยู่บนพื้นที่ 425 ไร่ ณ Lakeland, United States โดย Santiago Calatrava เป็นผู้ออกแบบ Masterplan และออกแบบอาคารเรียนสาขานวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งมีรูปทรงภายนอกคล้ายกับตาข่ายขนาดใหญ่
ในส่วนอาคารเรียนจะมีพื้นที่ 18,500 ตารางเมตร และถูกห่อหุ้มด้วยอลูมิเนียมน้ำหนักเบารูปทรงตาข่าย สร้างขึ้นจากเสาโค้งเป็นฟาซาดภายนอก โดยการดีไซน์รูปแบบนี้จะลดความร้อนที่เข้ามาในอาคารได้ถึง 30%
ภายในอาคารมีโถงกลาง หรือ ‘Commons’ เป็นพื้นที่สำหรับพบปะพูดคุยและจัดการประชุม ซึ่งพื้นที่นี้จะได้รับแสงสว่างผ่านช่อง Skylight โดยมีแผงกันแดดเรียงกันถึง 46 แผ่น ถูกควบคุมด้วยระบบไฮดรอลิก สามารถปรับเปลี่ยนองศาของแผงกันแดด เพื่อป้องกันแสงแดดที่เข้ามาในอาคาร
Santiago Calatrava, World Trade Center Transportation Hub
Santiago Calatrava สถาปนิกสไตล์ Neo – Futurist ผู้เป็นทั้งวิศวกร ศิลปิน และประติมากร และยังเป็นที่ถกเถียงถึงงานของเขามากที่สุด สถาปัตยกรรมของเขายังเปรียบเหมือนงานศิลปะชิ้นใหญ่ ซึ่งยากที่จะอธิบายความสวยงามเหล่านั้นได้ด้วยคำพูด …