การแก้ไขปัญหาเมืองที่ง่ายที่สุดวิธีหนึ่ง คือ วิธีการใช้สีแต่งแต้มหรือวาดลวดลายเพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับพื้นที่ หรือเรียกว่า “Painted Scape” และจะเป็นอย่างไรหากมีวิธีที่เราสามารถช่วยให้เมืองน่าอยู่มากขึ้น และพื้นที่เมืองน่าเข้าไปใช้งาน ปลอดภัยได้เพียงการใช้สี…โดยเรื่องนี้ มีผู้ออกแบบและงานออกแบบที่เกิดขึ้นจริงมาให้เห็นผ่านตากันบ้างแล้ว ครั้งนี้ เราจึงอาสาพาไปชมโปรเจกต์ที่ใช้สีในกการแก้ไขปัญหาเมืองมาให้ชมกัน
Pigalle Basketball Court
Location: Paris, France
Architects: Nike + Ill-Studio + Pigalle
เมื่อกลางปี 2017 “Pigalle Basketball Court” สนามบาสเกตบอลในพื้นที่ระหว่างซอกตึกอพาร์ทเมนท์ย่าน 9th arrondissement แห่งกรุงปารีส ถูกแปลงโฉมใหม่ผ่านสีสันสดใสเป็นครั้งที่ 2 ด้วยการร่วมมือกันระหว่างแบรนด์กีฬา “Nike”, Art-Direction “Ill-Studio” และแบรนด์เสื้อผ้าฝรั่งเศส “Pigalle” เพื่อเพิ่มความสดใสและสร้างสุนทรียภาพที่แปลกใหม่ให้พื้นที่กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง หลังจากการแต่งแต้มสีสันในครั้งแรกมามากกว่า 2 ปี
ภาพของสนามบาสเกตบอล Pigalle Basketball Court ในรูปแบบเก่าและใหม่
โทนสีชมพู, ม่วง, เหลืองและสีน้ำเงินอินดิโก้ ถูกออกแบบมาเพื่อให้สอดคล้องกับความงามที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกีฬาบาสเกตบอลคอลเลคชั่นในยุค 90 ซึ่งมีการไล่ระดับของเฉดสีทั้งบนพื้นสนามและกำแพง โดยจุดประสงค์ของการสร้างสรรค์สนามนี้ คือความต้องการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกีฬา ศิลปะ และวัฒนธรรมในย่านนั้นนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติมได้ที่.. https://www.designboom.com/art/pigalle-basketball-court-ill-studio-paris-06-26-2017/
Superkilen
Location: Nørrebro, Copenhagen, Denmark
Architects: Topotek 1 + BIG Architects + Superflex
“Superkile” Land scape Park ใจกลางกรุงเดนมาร์ค แนวคิดพื้นที่เปิดโล่งอันโดดเด่นที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสะท้อนเอกลักษณ์ของย่าน ภายใต้การทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ระหว่าง BIG, Topotek1 และกลุ่มศิลปิน Superflex โดยมีจุดเริ่มต้นของการออกแบบคือ การแบ่งของสวนภูมิทัศน์ออกเป็นสามโซนด้วยสามสีที่แตกต่างกัน ได้แก่ สีเขียว สีดำ และสีแดง พื้นผิวและสีที่แตกต่างกันนั้นถูกนำมาหลอมรวมกันเพื่อสร้างปรากฏการณ์ใหม่ภายในพื้นที่กว่าครึ่งไมล์ เปรียบเสมือนพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ เครื่องเล่นออกกำลังกายที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้คนเมืองใช้ในชีวิตประจำวันอย่างมีความสุข
ในส่วนของโซนสีแดงในฐานะที่เป็นส่วนขยายของกีฬาและกิจกรรมทางวัฒนธรรม ทำให้ผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่นได้พบปะกันผ่านกิจกรรมการออกกำลังกายและเกม ถือเป็นส่วนขยายของชีวิตในเขตเมือง นอกจากนี้ยังช่วยแก้ไขปัญหาจราจรด้วย เพราะมีการออกแบบเลนส์จักรยานภายในพื้นที่ รวมถึงการแบ่งพื้นที่ของฟังก์ชันต่างๆเพียงการใช้เฉดสีที่พื้นให้แตกต่างกัน
อ่านเพิ่มเติมได้ที่.. https://www.detail-online.com/article/three-colours-red-black-green-landscape-park-in-copenhagen-16511/
Green Square
Location: Bratislava, Slovakia
Architects: Urban Interventions + Vallo Sadovský Architects
จากสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ภายใต้พื้นที่รอรถโดยสารประจำทางใต้สะพานใหม่ ในย่านบราติสลาวาประเทศสโลวาเกีย ทำให้ผู้คนต้องรอรถบัสในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม รู้สึกไม่ปลอดภัยเป็นเวลายาวนาน การรวมกลุ่มระหว่างคนที่ต้องการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างUrban Interventions ได้จับมือกับบริษัทสถาปนิก Vallo Sadovský Architects จึงเกิดขึ้น เพื่อออกแบบแก้ไขพื้นที่ด้วยวิธีที่ง่ายและถูกที่สุด ด้วยการทาสีเขียวบนพื้นถนนแบบไร้รูปร่างพื้นที่ประมาณ 1,000 ตารางเมตร และสร้างเส้นสายของเครื่องหมายการจราจร รวมถึงจุดรอรถบัสต่างๆขึ้นมา เพื่อสร้างขอบเขตที่ชัดเจนการใช้งาน
ซึ่งข้อดีของการทาสีเขียวในพื้นที่นี้ นอกจากสีเขียวจะสะท้อนกับแสงทำให้พื้นที่ดูสว่างมากขึ้นแล้ว ยังสร้างความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน และแก้ไขเรื่องอารมณ์ฉุนเฉียวในการรอรถบัสอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติมได้ที่.. https://www.archdaily.com/177428/green-square-urban-interventions-vallo-sadovsky-architects
Garscube Landscae Link
Location: Garscube Road/ M8 Flyover, Glasgow
Architects: 7N Architects + RankinFraser Landscape Architecture
ภายใต้พื้นที่มากกว่า 14 เอเคอร์ของ Speirs Locks ย่านศูนย์กลางการค้าที่เจริญรุ่งเรือง ซึ่งตอนนี้กลายเป็นที่ดินรกร้างเนื่องจากการลดลงของอุตสาหกรรมและการก่อสร้างทางด่วน ข้อเสนอของระหว่างสถาปนิกและภูมิสถาปัตย์อย่าง7N Architects และ RankinFraser Landscape Architecture จึงเป็นวิธีแก้ปัญหาความสัมพันธ์ที่ขาดระหว่างคลองกับเมืองเปลี่ยนพื้นที่ให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่เหมาะสำหรับนักปั่นจักรยานและคนเดินเท้า
สถาปนิกได้ออกแบบพื้นผิวเรซิ่นสีแดง โดยไม่จำกัดการใช้งานภายในพื้นที่กับเส้นทางของการปั่นจักรยาน บวกกับออกแบบประติมากรรมดอกไม้ที่ทำจากอลูมิเนียม 50 สีด้วยกัน เป็นที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงเชื่อมต่อเส้นทางสัญจรเท้าและจักรยานผ่านไปยังพื้นที่ริมน้ำสู่ใจกลางของย่าน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดที่มองเห็นศักยภาพที่มีอยู่ในสภาพปัจจุบัน โดยการแปลงและยกระดับพื้นที่ที่ควรค่าแก่พัฒนา เพื่อให้บริบทของเมืองเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
อ่านเพิ่มเติมได้ที่.. https://www.archdaily.com/69178/garscube-landscae-link-7n-architects-rankinfraser-landscape-architecture
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก.. Archdaily, Designboom, Detail-online