OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Gardenzenment สถาปัตยกรรมสำหรับผู้สูงอายุ ที่สอดแทรกในธรรมชาติอย่างนุ่มนวล

“เมื่อสถาปัตยกรรมและธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน”

Gardenzenment
Owner: คุณวิไลวรรณ-สมศักดิ์ เพชรโสภณสกุล
Architect: คุณสาริน นิลสนธิ D KWA DESIGN STUDIO
Photographs: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

จังหวะของแสง และร่มเงาของต้นไม้ ที่พาดผ่านลงมาภายในสถาปัตยกรรมอันโปร่งโล่งนี้ ทำให้เราอดสงสัยถึงฟังก์ชันการใช้งานภายในไม่ได้ว่าสุดท้ายแล้วไปในทิศทางใด  แต่เมื่อได้ก้าวเข้าไปสำรวจพร้อมๆกับรับฟังคำตอบจากสถาปนิกผู้ออกแบบอย่าง คุณสาริน นิลสนธิ แห่ง D KWA DESIGN STUDIO” ว่าพื้นที่แห่งนี้คือ สถานที่ทำกิจกรรมของผู้สูงอายุ ก็ยิ่งทำให้เราอยากรู้จัก “Gardenzenment” ที่แม้ชื่อมีกลิ่นอายของญี่ปุ่น แต่ทว่าตั้งอยู่ในเมืองเชียงใหม่นี้มากขึ้นอีกเท่าตัว

Gardenzenment เกิดจากการรวมกันของคำว่า “Garden + Zen + Entertainment” ซึ่ง Garden ในภาษาไทยแปลว่า สวน,­ Zen คือการตกแต่งสวนเรียบๆตามแบบฉบับญี่ปุ่น เปรียบดั่งตัวแทนของความเงียบสงบและเรียบง่าย ส่วนEntertainment คือ กิจกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมด Gardenzenment จึงเป็นหนึ่งสถานที่ที่ต้อนรับผู้มาเยือนเชียงใหม่ ด้วยภาพลักษณ์ของบรรยากาศสวนที่เป็นไปอย่างเรียบง่ายและเป็นกันเอง รวมถึงเป็นสถาปัตยกรรมที่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุ ท่ามกลางการต้อนรับที่แสนอบอุ่นของเจ้าของอย่าง คุณวิไลวรรณคุณสมศักดิ์ เพชรโสภณสกุล” ได้อย่างอบอุ่น

เนื่องจากบริบทแถวนั้นมีแหล่งท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรมอย่างเวียงกุมกาม จึงมีนักท่องเที่ยวปั่นจักรยานชมชุนชนรอบๆอยู่เป็นประจำ ซึ่งทางเจ้าของก็อยากให้จุดนี้เป็นอีกจุดหนึ่งที่แวะเข้ามาได้ และด้วยความที่เน้นกลุ่มเป้าหมายคือเพื่อนชาวญี่ปุ่นเกษียณอายุที่มาพักอาศัยอยู่ในเมืองเชียงใหม่ ทางเจ้าของจึงอยากให้มีพื้นที่นี้เพื่อรองรับกิจกรรมในการพบปะกัน สร้างสังคมใหม่ขึ้นมา โดยการใช้กิจกรรมในการปลูกต้นไม้ ปลูกผัก เล่นดนตรี อ่านหนังสือ ทำอาหาร ให้เกิดขึ้นในอาคารหลังนี้

ให้เกียรติธรรมชาติ ด้วยการรักษาธรรมชาติ

เดิมทีพื้นที่แห่งนี้เป็นสวนลำไยเก่า ซึ่งมีต้นไม้นานาพรรณมากมาย ความตั้งใจแรกเลยคือ การไม่ตัดต้นไม้” สถาปนิกเล่าให้ฟังถึงแนวคิดเริ่มต้นเมื่อลงสำรวจพื้นที่แห่งนี้ ว่าจะออกแบบสถาปัตยกรรมให้อยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างนุ่มนวล โดยไม่ทำลายทิ้งได้อย่างไร ผลลัพธ์ที่ปรากฏออกมา จึงเป็นสถาปัตยกรรมรูปทรงยาวๆคล้ายตัว I ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 3 หลังย่อยๆ โดยแต่ละก้อนมีองศาที่แตกต่างกัน เพื่อให้สอดคล้องและกลมกลืนกับต้นไม้เดิมที่มีอยู่ก่อนหน้า

นอกจากนี้ยังออกแบบให้ต้นไม้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานสถาปัตยกรรม โดยส่วนใดที่มีต้นไม้เดิมอยู่แล้ว ก็จะมีการเจาะเว้นช่องให้ต้นไม้เติบโต เป็นการสร้างภาษาใหม่ในการอยู่ร่วมกันระหว่างสถาปัตยกรรมและธรรมชาติ

“อีกอย่างมันเป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ต้นไม้มีมาก่อนที่เราจะเริ่มออกแบบ เราต้องเคารพพื้นที่และเก็บต้นไม้นั้นไว้ ให้สอดแทรกกับงานสถาปัตยกรรมได้ และเกิดความกลมกลืนกัน”

ฟังก์ชันต่างๆ ถูกแบ่งออกตามลักษณะของการเว้นวรรคของพื้นที่ โดยพื้นที่โล่งด้านหลังในอนาคต เจ้าของตั้งใจจะทำเป็น “Allotment Garden” หรือ โปรเจกต์แบ่งแปลงให้เช่าพื้นที่ปลูกพืชผัก ซึ่งตัวสถาปัตยกรรมที่ถัดเข้ามาจึงออกแบบเป็นฟังก์ชันService ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่เก็บอุปกรณ์ทางการเกษตร และห้องน้ำ สถาปัตยกรรมอีกสองส่วนที่เหลือจัดเตรียมไว้สำหรับทำกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นเล่นดนตรี นั่งเล่นอ่านหนังสือ และครัวเล็กๆสำหรับทำอาหาร โดยสามารถเลือกปิดเพื่อแบ่งแยกสัดส่วน หรือเปิดเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่หรือกิจกรรมในกรณีที่มีคนใช้เยอะ

แปลนของ Gardenzenment

พื้นที่ภายในมีความโปร่งโล่ง มีเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้น เพื่อยืดหยุ่นต่อการจัดกิจกรรมที่เกิดขึ้น

ไม่เล่นกับระดับ แต่กลับตอบโจทย์

นอกเหนือจากการออกแบบให้สถาปัตยกรรมเว้นวรรคห่างจากกันเพื่อสอดคล้องกับต้นไม้ที่มีอยู่เดิม ระดับความสูงต่ำของแต่ละส่วนยังแตกต่างกันด้วย ซึ่งแทนที่จะเชื่อมต่อกันด้วยขั้นบันได แต่สถาปนิกออกแบบให้เป็นทางลาดเป็นแนวยาวขนานกับด้านข้างของตัวอาคาร เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานหลักโดยเฉพาะผู้สูงอายุนั่นเอง

ทางลาดด้านข้างที่เชื่อมต่ออาคารทั้ง 3 ส่วนเข้าด้วยกัน

มิติของแสงและเงาที่เปลี่ยนไปตามเวลา

โครงสร้างของอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยพื้นชั้น 1 เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด แต่จากชั้น 1 ขึ้นมาเป็นโครงสร้างเหล็ก เพราะสถาปนิกอยากให้สัดส่วนที่เล็กละง่ายต่อการก่อสร้าง ส่วนหลังคาเป็น Shingle roof ที่ไม่ต้องกังวลเรื่องกิ่งไม้ที่ตกลงมา และเสียงรบกวนที่เกิดขึ้น

ด้านบนของหลังคาถูกปกคลุมไปด้วยระแนงไม้เทียมที่เชื่อมต่อลงมาสู่พื้นในระยะห่างที่พอเหมาะพอเจาะ เพื่อทำหน้าที่กรองแสงที่สาดส่องเข้ามาระหว่างวัน ซึ่งระแนงไม้ที่เป็นซี่ๆนี้ นอกจากจะซ่อนโครงสร้างที่ช่วยรับน้ำหนักอาคาร และสามารถเลื่อนเปลี่ยนระยะตามความต้องการได้แล้ว ยังสร้างมิติของแสงและเงาที่แตกต่างกันในช่วงวัน ทำให้อาคารดูมีชีวิตชีวามากขึ้นอีกด้วย

ส่วนตัวอาคารเอง จะมีช่องแสงและหน้าต่างค่อนข้างเยอะ เพราะทางเจ้าของอยากให้มองเห็นทัศนียภาพต้นไม้รอบๆได้ทุกพื้นที่ แม้กระทั่งในห้องน้ำ ก็ยังมีหน้าต่างวงกลมกว้าง และใช้กระจกใส โดยออกแบบม่านไว้ด้วยเมื่อต้องการความเป็นส่วนตัว

พื้นที่ภายใน ไม่มีผนังทึบ มีเพียงหน้าต่างและประตูภายในสามารถเปิดเพื่อสัมผัสธรรมชาติในพื้นที่ได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น

สถานที่แห่งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการตอบโจทย์กิจกรรมเชิงสุขภาพของผู้ใช้งานหลักได้อย่างหลากหลาย แต่ยังสะท้อนถึงแนวคิดที่ออกแบบสถาปัตยกรรมให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย