OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

I.M. Pei โมเดิร์นคือสะพานเชื่อมปัจจุบันเข้าหาอดีต

“หากมีสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกไม่ผิดที่ได้ลงมือทำไป นั่นก็คือลูฟว์” I.M. Pei กล่าวคำนี้เอาไว้กับโดมปิระมิดกระจกหน้าพิพิธภัณฑ์ลูฟว์​ หนึ่งในงานชิ้นที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเขาและสัญลักษณ์ชิ้นสำคัญของฝรั่งเศส

(ภาพจาก Wall Street Journal)

แม้จะไม่ใช่นักเรียนออกแบบหรือสถาปนิก ผลงานของ I.M. Pei หรือ Ieoh Ming Pei ก็เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาสาธารณชนในฐานะสถาปัตยกรรมโมเดิร์นที่สร้างความจดจำให้กับผู้คนผ่านเส้นตรงที่มั่นคง แข็งแรง ซึ่งประกอบขึ้นเป็นรูปทรงที่มีเหลี่ยมมุมชัดเจน ผ่านภาพจำของอาคารที่มีชื่อเสียงหลายหลังที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลกจนกลายเป็นซิกเนเจอร์สำคัญให้กับโลเคชั่นของอาคาร อย่างที่อาคาร Bank of China เป็นลายเซ็นของฮ่องกง, The Museum of Islamic Art in Doha ในกาตาร์ หรือ John F. Kennedy Library ที่เขานับเป็นผลงานชิ้นสำคัญของชีวิต

Bank of China

The Museum of Islamic Art in Doha

John F. Kennedy Library

(ภาพจาก skyscrappercenter, dezeen, architravel)

หลักคิดสำคัญในงานออกแบบสถาปัตยกรรมของ I.M. Pei นั่นคือ Form Follows Intention หรือ รูปฟอร์มเกิดตามเจตนา ซึ่งเจตนาในที่นี้หมายรวมฟังก์ชั่นเข้าอยู่ในนั้นด้วย ดังนั้นแม้งานของเขาจะอยู่ในเส้นสายเฉียบคมแบบโมเดิร์น แต่อาคารทุกหลังแตกต่างกันทั้งหมดโดยสิ้นเชิงตามแต่บริบทและความรู้สึกที่สถานที่เหล่านั้นต้องการส่งต่อ ตัวอย่างงานทรงปิระมิดทั้งสองงานของเขา ที่หนึ่งคือลูฟว์ และอีกที่หนึ่งคือ Rock & Roll Hall of Fame แม้ดูเผินๆ จะเป็นทรงปิระมิดกระจก แต่รายละเอียดของงานที่ต้องการสื่อสารแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่เรื่องโครงสร้าง การเชื่อมต่อการใช้งาน และสัญลักษณ์ที่ซ่อนอยู่เพื่อเป็นตัวแทนลายเซ็นของอาคาร ซึ่งปิระมิดของลูฟว์​เป็นการต้องการแสดงความนอบน้อมต่อสถาปัตยกรรมมหัศจรรย์นั่นคือปิระมิดของกิซ่า แต่ปิระมิดของ Rock & Roll Hall of Fame คือเครื่องเล่นไวนิลที่วางอยู่เหนือผิวน้ำ

พิพิธภัณฑ์ลูฟว์​

Rock & Roll Hall of Fame

(ภาพจาก wikipedia)

ถึงเขาจะได้รับการขนานนามให้เป็นสถาปนิกสายโมเดิร์น แต่บทเรียนสำคัญที่เขายังคงเน้นย้ำเสมอในทุกครั้งที่มีเล็กเชอร์หรือเสวนา นั่นคือการกลับไปวิเคราะห์บริบทของแวดล้อมเพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์สถาปัตยกรรม ทั้งในเรื่องของเวลา สถานที่ และจุดประสงค์ของอาคาร นั่นก็เพราะรูปฟอร์มสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม ที่บรรจุอยู่ในงานสถาปัตยกรรม อันเป็นผลสุดท้ายที่ดูเรียบง่ายอย่างที่สุด หากแต่ผ่านการวิเคราะห์จากสายตาของเขาแล้วว่ามอบคุณค่าให้กับสถานที่แห่งนั้น เพราะโมเดิร์นของเขาทำหน้าที่เหมือนกับสะพานที่เชื่อมปัจจุบันเข้าหาอดีต อย่างที่เขาเคยบอกกับสถาปนิกจีนในทริปไปเมืองจีนครั้งหนึ่งว่า ให้กลับมามองงานสถาปัตยกรรมแบบท้องถิ่น แทนที่จะพยายามออกแบบเหมือนอย่างตะวันตกเขา

(ภาพจาก dezeen)

สายสัมพันธ์ระหว่าง I.M. Pei กับเมืองจีน บ้านเกิดเมืองนอนของเขายังคงถูกรักษาอยู่อย่างหนาแน่น ถึงแม้เขาจะเดินทางมาเรียนและทำงานเป็นสถาปนิกที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ยังวัยรุ่น เห็นได้จากการตั้งชื่อลูกเป็นภาษาจีน และการบริจาคเงินรางวัลมูลค่า 100,000 เหรียญสหรัฐฯ​ ที่ได้มาจากรางวัล Pritzker Prize เมื่อปี 1983 ให้กับนักเรียนชาวจีนเพื่อเป็นทุนการศึกษาต่อด้านสถาปัตยกรรมในสหรัฐอเมริกา

(ภาพจาก The New York Times)

I.M. Pei ในวัย 102 ปี แม้เขาจะจากไปแล้ว แต่ผลงานก็เป็นเครื่องพิสูจน์วิสัยทัศน์ และบทเรียนด้านงานออกแบบที่ยังคงส่งทอดมรดกทางสถาปัตยกรมเป็นแนวทางต่อสู่สถาปนิกรุ่นหลังต่อไป