OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

PRY1 (ไพรวัน) ห้องพักผ่อนของเพื่อนนักปั่น

Architect : รศ.ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ และ คุณธนาคาร โมกขะสมิต จาก Research Studio Panin
Interior Design : G4 Architects Co.,Ltd.
Landscape Shma Company Limited
Story : SKIXXY
Photographer : จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
Photographer assistant : วราพร เจนไธสง

“อยากทำให้โรงแรมให้เป็นมิตรกับนักปั่นและนักกีฬาให้ได้มากที่สุด ฟังก์ชั่นทั้งหมดจึงเกิดขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าพักรู้สึกว่า โรงแรมแห่งนี้เป็นที่สำหรับพวกเขาจริงๆ

อากาศดีของเขาใหญ่ฝั่งจังหวัดปราจีนบุรีที่ธรรมชาติยังคงสมบูรณ์ตลอดสองข้างทางต้อนรับเราจนกระทั่งมาถึงทางเข้าของโรงแรม PRY1 (ไพรวัน) เพียงป้ายเท่านั้นที่บอกว่าเรามาถึงที่นี่แล้ว หากแต่ยังต้องผ่านแนวต้นไม้น้อยใหญ่ก่อนจะเข้าไปถึงตัวโรงแรมสีเทา ที่ตั้งอยู่อย่างถ่อมตัวท่ามกลางร่มไม้สีเขียวก่อนเปิดปลายทางของทิวทัศน์ออกสู่ทะเลสาบที่ธรรมชาติสรรสร้างขึ้น

“เจ้าของมีความต้องการอยู่แล้วค่ะ ว่าอยากให้เป็นโรงแรมสำหรับคนรักสุขภาพ คนรุ่นใหม่ที่ชอบขี่จักรยาน วิ่ง ว่ายน้ำ หรือไตรกีฬา” รศ.ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ และ คุณธนาคาร โมกขะสมิต จาก Research Studio Panin  เริ่มต้นเล่าให้เราฟังถึงจุดประสงค์แรกสุดของโรงแรมแห่งนี้ นั่นทำให้เราค่อยๆ ปะติดปะต่องานสถาปัตยกรรมและแลนด์สเคปตรงหน้าแต่ละชิ้นได้อย่างเข้าใจมากขึ้น

เดิมที่พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นโรงแรมเก่าที่ถูกก่อสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2538 ตามความนิยมของงานออกแบบในยุคนั้นที่มีการซอยห้องเพื่อให้ได้จำนวนมากที่สุด และเล่นระดับกับกลุ่มอาคารต่างๆ กัน สถาปนิกต้องการอัพเดตพื้นที่ และความสัมพันธ์ของหน่วยต่างๆ ภายในสเปซ รวมทั้งปรับลุคใหม่ให้ดูร่วมเข้ากับทุกยุคสมัยโดยไม่ได้มีคำว่าเทรนด์มาเป็นข้อกำหนด สถาปนิกจึงรื้อเอาทุกองค์ประกอบออกทั้งหมด อย่างผนังทึบที่ปิดกั้นวิวดีของพื้นที่ เหลือเพียงเสาและคานเป็นแนวกริดเดิม เพื่อเสริมงานทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมชิ้นใหม่ทั้งหมด

“สิ่งที่สนุกที่สุดในงานออกแบบครั้งนี้คือ ฟอร์แมตของเสาและคานที่ยังคงเหลืออยู่ มันเหมือนกับเราไมได้เป็นอิสระเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้ถูกจำกัดการทำงาน เราได้ครีเอทีฟกับการจัดการหน่วยของสเปซและหน่วยของฟาซาดใหม่ๆ เสากับคานมันก็เหมือนเวลาเราเริ่มคิดในกระดาษกริดตอนเป็นเด็กๆ จึงสามารถสร้างสเปซใหม่ เชื่อมสเปซ หรือขยับขยายห้องแบบไหนก็ได้ เช่นเดียวกันกับงานนี้ที่เราเริ่มทำงานกับระบบหน่วยของสเปซก่อน แล้วจึงค่อยคิดเรื่องหน้าตาตามมา”

เพราะอยากทำให้โรงแรมแห่งนี้เป็นมิตรกับนักปั่นและนักกีฬาให้ได้มากที่สุด ฟังก์ชั่นทั้งหมดจึงเกิดขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าพักรู้สึกว่าโรงแรมแห่งนี้เป็นที่สำหรับพวกเขาจริงๆ ไม่ใช่โรงแรมที่อุปกรณ์กีฬาหรือจักรยานเป็นข้าวของแปลกหน้า

ฟังก์ชั่นแรกที่คิดถึงถูกสร้างขึ้นเพื่อคนรักจักรยาน เพราะพื้นที่แห่งนี้เป็นเส้นทางการปั่นจักรยานขึ้นเขาใกล้กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่นิยม ตัวสถาปัตยกรรมจึงจัดสรรให้มีส่วนทางลาดจักรยานให้สามารถปั่นจักรยานจากนอกโรงแรมเข้าสู่ห้องพักได้ทันที ส่วนภายในห้องก็ขยายให้มีขนาดใหญ่จัดเป็นพื้นที่เก็บจักรยานอย่างดี รวมทั้งยังมีพื้นที่แอ๊คทีฟภายในโรงแรมอีกด้วยสระว่ายน้ำความยาว 50 เมตรมาตรฐานขนานไปกับลำน้ำธรรมชาติ รวมทั้งทางวิ่งธรรมชาติท่ามกลางร่มไม้จากงานแลนด์สเคปของ Shma ตอบความต้องการสายออกกำลังได้แบบครบครันไม่ว่าจะวิ่ง ว่าย หรือปั่น

“ทาง Shma พยายามจะคงต้นไม้เดิมซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเอาไว้ และออกแบบงานแลนด์สเคปให้สามารถทำงานร่วมกันกับธรรมชาติเดิมให้ได้มากที่สุด มันเลยดูเหมือนกับว่าไม่ได้ถูกประดิษฐ์ แต่ก็นับเป็นโจทย์ยากสำหรับเขาเหมือนกัน เพราะมันอยู่ที่บาลานซ์ระหว่างธรรมชาติของเดิมกับของใหม่ที่ใส่แทรกลงไป รวมทั้งโจทย์อีกอย่างก็คือ ดูแลรักษาให้น้อยที่สุด ด้วยพื้นที่ที่กว้างใหญ่มากเป็นร้อยไร่ จึงอยากให้ต้นไม้อยู่ได้ด้วยตัวเองหรือให้เทวดาเลี้ยงให้”

ไม่เพียงแต่นักปั่นเท่านั้นที่สถาปนิกคิดถึง แต่บรรดาเพื่อนนักปั่นที่ติดตามมาพักผ่อนที่นี่ก็มีกิจกรรมในโรงแรมเช่นกัน ด้วยการจัดพื้นที่ห้องสมุดเพิ่มขึ้นมาเป็นพื้นที่กิจกรรมที่สงบ ร่มเย็น และเป็นมิตร

ผลจากการจัดการฟังก์ชั่น เกิดเป็นหน้าตาของโรงแรมที่เรียบนิ่ง เคารพความต้องการใช้งานเป็นหลัก นอกจากรูปทรงที่เห็นได้ชัดเจนในภาพใหญ่ ในงานส่วนรายละเอียด สถาปนิกเลือกใช้วัสดุราคาถูกและช่างฝีมือในท้องถิ่น เพื่อสร้างความรู้สึกให้โรงแรมแห่งนี้เป็นเหมือนห้องพักผ่อนที่บ้านเพื่อน ให้แขกผู้เข้าพักทุกคนเดินเข้ามาได้อย่างสบายใจ

“มันเป็นอีกโจทย์หนึ่งด้วยว่า เจ้าของโรงแรมอยากจะให้คนรู้สึกว่าโรงแรมแห่งนี้เฟรนด์ลี่ ทุกคนจับต้องได้ เราเลยทำทุกอย่างให้ธรรมดาที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างการใช้บล็อกช่องลมมาจัดวางในรูปแบบที่แปลกตาออกไป รวมทั้งการเลือกใช้สีเทาหลายๆ เฉดที่ทำงานร่วมกับสีเขียวได้อย่างดี เพราะเราไม่ได้อยากอาคารหายตัวไป แต่เราอยากให้มันคงอยู่กับต้นไม้ได้อย่างมีบทสนทนาซึ่งกันและกัน”

นอกจากตัวโรงแรมที่สร้างบทสนทนากับพื้นที่ได้อย่างกลมกล่อมแล้ว การจัดการสถาปัตยกรรมของโรงแรมแห่งนี้ที่ตอบรับกับบริบททั้งในแง่ความต้องการด้านฟังก์ชัน ความรู้สึกของการอยู่อาศัย รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่อยู่รายรอบ เหล่านี้ก็นับเป็นการสร้างสุขภาพกายที่ดีไปพร้อมกับสุขภาพใจที่เป็นสุข ทำให้การออกต่างจังหวัด ออกกำลังกาย เป็นเหมือนการไปเยี่ยมบ้านเพื่อนได้อย่างสบายใจ