OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Siam Hospital Supply : Design For Happy Working Days

มนุษย์เราใช้เวลากว่า 1 ใน 3 ของวันหมดไปกับการทำงาน ฉะนั้นแล้วพื้นที่ทำงานจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่าการออกแบบบ้าน งานออกแบบจึงมีส่วนสำคัญในการสร้างคุณภาพที่ดีในการทำงาน ทั้งต่อประสิทธิภาพในการทำงานและคุณภาพจิตใจที่ส่งผลต่อเนื่องถึงเรื่องการใช้ชีวิต

ความสนุกของงานออฟฟิศนอกจากเรื่องคุณภาพชีวิตในการทำงานที่เป็นเรื่องสำคัญแล้ว เงื่อนไขที่หลากหลายก็ทำให้ผลลัพธ์ของการออกแบบออฟฟิศแตกต่างกันออกไป “ออฟฟิศแห่งนี้เป็นธุรกิจครอบครัว ซึ่งเราเห็นว่ามันดีตรงที่ทุกคนในบริษัทเหมือนครอบครัว ได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันทุกวัน ความพิเศษแบบนี้เลยทำให้เกิดออฟฟิศที่เราคิดว่าควรจะเน้นสิ่งที่เอื้ออำนวยกับคาแร็กเตอร์แบบนี้” และนี่คือจุดเริ่มต้นงานออกแบบสถาปัตยกรรม Siam Hospital Supply จาก GreenDwell โดย คุณรักศักดิ์ สุคนธะตามร์

คุณรักศักดิ์ สุคนธะตามร์ สถาปนิก และ คุณดลพร เอื้ออังคณากุล เจ้าของโครงการ

แต่เดิมออฟฟิศของ Siam Hospital Supply เป็นอาคารพาณิชย์ย่านพรานนก แหล่งซื้อขายเครื่องมือแพทย์แหล่งใหญ่ของกรุงเทพฯ​ ด้วยข้อจำกัดของอาคารพาณิชย์ที่ขยับขยายไปมากกว่าเดิมไม่ได้แล้ว จึงเกิดความต้องการย้ายสำนักงานแห่งใหม่โดยเริ่มจากผืนที่ดินเปล่าริมถนนบรมราชชนนี

คุณดลพร เอื้ออังคณากุล เจ้าของเล่าปัญหาเรื่องพื้นที่และความต้องการให้เราฟังว่า “จากแต่เดิมที่ทั้งหมดเป็นสำนักงาน ไม่ได้แยกส่วนว่าตรงไหนรองรับลูกค้า ตรงไหนเป็นออฟฟิศ ทุกอย่างคือรวมกันหมดในนั้น พอจะสร้างออฟฟิศใหม่ เราเลยอยากแยกให้มีส่วนรับแขก โชว์รูมแสดงสินค้า ส่วนสำนักงาน และโกดังแยกออกจากกัน แต่พอจะสร้างขนาดใหญ่ขึ้น เราก็กังวลเรื่องการใช้เครื่องปรับอากาศอีก เลยรีเควสไปว่าอยากจะแยกห้องให้สามารถเปิดแอร์เฉพาะส่วนใช้งาน ให้อากาศทั้งลมและแสงธรรมชาติเข้ามาภายในอาคารเพื่อประหยัดพลังงานแบบยั่งยืน”

ทางด้านคุณรักศักดิ์ได้ให้แนวความคิดของการออกแบบอาคารสำนักงานเบื้องต้นว่า “ออฟฟิศเกิดขึ้นมาเพื่อมนุษย์ที่ทำงานอยู่ในตัวมัน เพราะฉะนั้นผมมองว่าหน้าที่หลักของสถาปัตยกรรมคือการทำอย่างไรให้ออฟฟิศเป็นตัวพัฒนาคุณภาพของผู้อยู่อาศัยในอาคารให้ได้มากที่สุด โดยส่งผลกระทบต่อภาพรวมน้อยที่สุด มันจึงออกมาเป็นคำตอบที่เป็นทางออกของเรา”

เมื่อความต้องการตรงกันทั้งเจ้าของและนักออกแบบ สถาปัตยกรรมที่ปรากฎออกมาจึงเป็นงานออกแบบสำนักงานที่ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นบ้าน ด้วยการศึกษาทิศทางของแดดและลม เพื่อสร้างให้เกิดการไหลเวียนของอากาศตามธรรมชาติ “การเบรกแมสของตัวอาคาร เรามองว่ามันทำลมไหลเข้าไปในอาคาร ซึ่งมันก็ไม่ได้ทำง่ายๆ แค่เปิดหน้าต่างอย่างเดียว เราจึงต้องใช้ตัว Simulator เพื่อจำลองทิศทางการไหลของลมและแดด ให้เข้ามาแบบพอดีๆ ไม่ร้อนเกินไป”

ตัวผังอาคารจึงถูกแบ่งตามหน้าที่ใช้สอยจากพื้นที่หน้าสุดที่เป็นโชว์รูมและสำนักงานขาย คั่นกลางด้วยคอร์ตยาร์ดที่เป็นเหมือนกับศูนย์กลางของอาคาร ก่อนเข้าสู่อาคารส่วนสำนักงานที่เปิดโถงกลางเพื่อการระบายอากาศและแสงธรรมชาติ ก่อนเข้าสู่ส่วนหลังสุดของผืนที่ดินที่เป็นโกดัง

“แนวความคิดในภาพรวมของออฟฟิศ เราไม่อยากทำอาคารประหยัดพลังงานที่เป็นระบบปิด สมมติว่าส่วนทำงานคิดเป็น 60% ส่วนทางสัญจรหลักและโถงคิดเป็น 40% ซึ่งไม่ใช้พลังงานเลย เรามองว่าตรงนั้นคือการประหยัดพลังงานทีทำให้เกิดผลดีต่อสุขภาวะด้วย เพราะฉะนั้นตัวแมสของอาคารจึงไม่ได้เชื่อมต่อกันทั้งหมด จะมีช่องลมทำให้ลมพัดผ่านได้หลายทิศทาง นอกจากประหยัดพลังงานแล้ว ทุกคนที่ใช้งานก็จะรู้สึกว่ามันไม่ได้อยู่ภายในภาวะอินดอร์ตลอดเวลา”

ในส่วนฟังก์ชั่นการใช้งานภายใน นักออกแบบเน้นเรื่องพฤติกรรมเป็นตัวนำเพื่อสร้างพื้นที่คุณภาพ “GreenDwell เชื่อเสมอว่าสถาปัตยกรรมมีผลต่อมนุษย์ เราจึงมองว่าเราโฟกัสที่มนุษย์ในการออกแบบ อย่างเช่นห้องประชุม เราไม่ได้คิดว่านี่คือห้องประชุม แต่เราคิดถึงคนที่จะมานั่งประชุมว่า เขาประชุมแล้วจะมองไปเห็นอะไรบ้าง รู้สึกอย่างไรในห้องนี้ บรรยากาศควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งผมมองว่านี่แหละคือคุณค่าของสถาปัตยกรรม ความดีงามของการที่มนุษย์มีความสุขในสถาปัตยกรรมเลื่อนขึ้นมาเป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรกในการออกแบบ นั่นแปลว่าคุณภาพชีวิตจะดีขึ้นด้วยงานสถาปัตยกรรม” ผลสะท้อนจากงานออกแบบออฟฟิศแห่งนี้จึงเกิดผ่านคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมกับภาพลักษณ์ขององค์กรที่เอาใจใส่พนักงานจากการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในการทำงานแม้ในรายละเอียดเล็กน้อย

นอกจากการแยกสัดส่วนฟังก์ชั่นการใช้งานและโซนนิ่งของอาคารที่นำมาสู่รูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรมแล้ว อีกส่วนที่สำคัญคือการดูแลรักษา เพราะเป็นอาคารสำนักงาน ทุกส่วนจึงต้องทนทานและดูแลรักษาง่าย จึงเน้นการใช้วัสดุที่ยั่งยืน อย่างวัสดุรีไซเคิล การใช้วัสดุพอดี ไม่เกินความจำเป็น หรือการออกแบบการจัดวางวัสดุให้สามารถทำความสะอาดตัวเองได้ เช่น การใช้ระแนงตั้งสำหรับบังแดด ในขณะเดียวกันก็ทำความสะอาดตัวเองจากการชะล้างด้วยน้ำฝนได้ง่าย ที่สำคัญคือยังคงได้รับแสงสว่างจากภายนอกอาคาร

“ทุกคนที่ทำงานที่นี่มีความสุขมากขึ้นค่ะ แรกๆ ก็ตื่นเต้นกันใหญ่ ตอนนี้คือคอร์ตยาร์ดส่วนกลางก็ใช้เป็นพื้นที่นั่งเล่นช่วงกลางวัน หรือทำกิจกรรมของคนทั้งออฟฟิศ” บทสรุปของการใช้งานออฟฟิศจึงต้องเกิดจากพนักงานผู้ใช้งานพื้นที่แห่งนี้ทั้งวันทุกวัน 

ส่วนทางคุณรักศักดิ์ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า  “เพราะอยากให้ทุกคนมีความสุขในเวลามาทำงาน เราจึงตีความว่าถ้าสภาพแวดล้อมทำให้เรารู้สึกไม่เครียด ผ่อนคลาย สมาธิในการทำงานก็จะเพิ่มขึ้น หลักๆ ความสุขในการทำงานก็มาจากความสุขกายกับสุขใจ เราตีความว่าความสุขกายมาจากแสงแดดที่เพียงพอต่อการทำงาน ไม่อุดอู้ มีมุมพักผ่อน ก็จะส่งผลต่อเนื่องถึงประสิทธิภาพในการทำงาน ผมเชื่อว่าทุกคนควรได้รับสุขภาวะทางกายและใจพอๆ กัน ถ้าออฟฟิศมีสภาพแวดล้อมที่ดี ผมมองว่ามันทำให้ภาพรวมของความเครียดในการทำงานลดลง”

ขอขอบคุณ 

คุณรักศักดิ์ สุคนธะตามร์ สถาปนิก และ คุณดลพร เอื้ออังคณากุล เจ้าของโครงการ