OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Dong Sculpture ประติมากรผู้สรรสร้างงานศิลปะเพื่อส่งเสริมงานสถาปัตยกรรม

“ Sculpture มันคือองค์ประกอบหนึ่งที่ไม่ได้สำคัญไปมากกว่าอะไร คือถ้ามองเปรียบเทียบเป็นหนัง หนังทั้งเรื่องเลยไม่มีตัวโกง มีแต่พระเอกกับนางเอก บางครั้ง sculpture มันก็ต้องยอมเป็นตัวร้ายเพื่อระเบิดความเป็นระเบียบแบบแผน Sculpture ที่เป็น Art มันก็ทำหน้าที่เป็นตัวไปสลาย บางครั้งมันจะเป็นพระเอกหรือเป็นตัวร้ายก็ได้ บางทีตัวร้ายอาจจะเป็นตัวเด่นก็ได้ เหมือนกับการทำงานของ Sculpture มันจะทำหน้าที่ระเบิด เชื่อมโยง หรือกลมกลืน นั่นแล้วแต่สเปซที่มันกำลังจะแสดงตัวขึ้นมาคุณโด่ง -พงษธัช อ่วยกลาง


ในโลกของงานสถาปัตยกรรมเรามักเห็นองค์ประกอบมากมายหลายสิ่ง  บางสิ่งอาจถูกเน้นให้เด่นขึ้นมาเป็นพระเอก หรือบางสิ่งอาจได้เป็นเพียงแค่ตัวประกอบที่แทบไม่มีใครมองเห็นแต่ก็มีส่วนช่วยที่ทำให้งานเหล่านั้นโดดเด่นขึ้นมา หรือเช่นเดียวกับงานประติมากรรม ศิลปะอีกหนึ่งแขนงที่ทำหน้าที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ของการออกแบบ แต่แท้จริงแล้วหากไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ อาจทำให้งานสถาปัตยกรรมที่เราเห็นกันอยู่นั้นไม่สมบูรณ์หรือขาดอะไรไป เช่นเดียวกับที่ คุณโด่ง – พงษธัช อ่วยกลาง ประติมากรและเจ้าของบริษัท Dong Sculpture ได้เล่าให้เราฟัง ในวันที่เราได้มีโอกาสพูดคุยถึงจุดเริ่มต้นในการเดินทางสายอาชีพนี้ และประเด็นต่างๆ ของงานประติมากรรม ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนาน ตื่นเต้นและน่าสนใจมากทีเดียว


คุณโด่ง – พงษธัช อ่วยกลาง ประติมากรและเจ้าของบริษัท Dong Sculpture

Dsign Something: จุดเริ่มต้นของการมาทำงานสายนี้มาจากอะไร เป็นเพราะ passion ล้วนๆเลยไหม ?
คุณโด่ง : เราไม่ค่อยกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นศิลปิน ก็เลยไม่ค่อยรู้จริงๆ ว่าในแง่ของอาชีพมันจะเป็นยังไง คือคนเรียนศิลปะหรือประติมากรรมส่วนใหญ่ กระบวนการของเขาคือ ประกวด ได้รางวัล สุดท้ายก็ต้องดันตัวเองเข้าสู่การเป็นอาจารย์เพื่อให้มีเงินเดือน มีอาชีพ และแฝงตัวเพื่อเป็นศิลปิน สุดท้ายแล้วมันเป็นสูตรแบบนั้นหมดเลย ซึ่งเราเองก็เริ่มตั้งคำถามว่า แล้วความรู้ที่มันมีอยู่ตรงนี้ มันเป็นอย่างอื่นไปได้ไหม มันต่างกันนะ ระบบของ Architect  Interior หรือ Landscape เขามีโครงสร้างของวิชาชีพ เช่น วันนึงเราอยากจะซื้องานศิลปินสักคนนึง เราจะไปซื้อยังไง แต่ถ้าเราอยากจ้างดีไซน์เนอร์สักคนนึงเราจะรู้ว่ามันมีโครงสร้างหรือกระบวนการในการติดต่อเขายังไง  ซึ่งจุดเริ่มต้นในการทำงานตรงนี้ของพี่ก็เกิดจากการตั้งคำถามพวกนี้แหละ แรกๆ ก็เดินไปหาสถาปนิก ไปดูว่าการมองเห็นสเปซของ Architect  Interior หรือ Designer เขาเป็นยังไง พอเรามีความรู้เรื่อง Art มันจะไปเชื่อมต่อเขายังไง จะส่งเสริมกันยังไง และไปต่อด้วยกันยังไง


Dsign Something: จากการทำงานมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว ทัศนคติที่มีต่อสายอาชีพนี้เป็นยังไง?
คุณโด่ง : สำหรับพี่เอง พี่จะไม่ค่อยพยายามให้คำจำกัดความตัวเองว่าเป็นศิลปินเท่าไร เพราะจริงๆ แล้วคำว่าศิลปินมันก็ไม่มีขอบเขตที่คลุมมันได้ชัดเจน พอมันไม่ชัดเจนเราก็ไม่เข้าใจมัน เราก็เลยพยายามเลี่ยงคำนี้มาตลอด แต่เราแค่มองว่าตัวเองคือคนที่เรียนด้านศิลปะมา และด้านที่เรียนก็คือประติมากรรม ยังงั้นมากกว่า คือมันเป็นอาชีพที่คนคนนึงเรียนและได้ทำอย่างที่ตัวเองได้เรียนรู้มา และในฐานะของคนที่เรียนศิลปะมา 10 ปีเนี่ยมันก็เรียกได้ว่า มันเข้าเลือดไปหมดแล้ว มันมีทัศนคคติ มีมุมมอง มีการเรียนรู้ หล่อหลอมจนมันกลายเป็นแบบนี้ไปแล้ว ถ้าให้ไปทำอย่างอื่นที่ดีกว่านี้ก็คงยาก


Dsign Something: อยากให้เล่าถึงขั้นตอนการทำงานของ sculpture 1 ชิ้น มีขั้นตอนอย่างไร
คุณโด่ง : ในการทำ Sculpture ชิ้นนึงบอกตรง ๆ ว่ามันมีทุกรูปแบบที่จะทำให้เกิดการทำงานได้หมดเลย บางครั้งมันจะเกิดจาก Landscape ออกแบบพื้นที่ก่อน พอออกแบบเสร็จเขาก็จะรู้สึกว่าถ้ามีอะไรสักอย่างไปตั้งมันน่าจะดีขึ้น แล้วก็ติดต่อเรามา แต่หลังๆ Owner เขาก็จะเริ่มคิดแล้วว่า ถ้าเขาจะทำโครงการนึง มี Architect มี Interior มี Landscape แล้วจะมีคนที่จะมาดู Art หน่อยได้ไหมว่าตรงไหนควรมีอะไรบ้าง ขั้นตอนต่อไปก็เริ่มประเมินงบประมาณกัน ซึ่งทำควบคู่ไปกับกระบวนการคิด เราก็ทำการศึกษาข้อมูลต่างๆ อย่างตัวองค์กรเป็นยังไง ลักษณะอาคารหรือสเปซเป็นยังไง เป็นพื้นที่ยาว หรือเป็นพื้นที่แนวตั้ง หรือแม้แต่มุมมองที่เกิดในการเดินผ่าน หรือระบบของทางสัญจรมันเป็นยังไง บางทีก็เป็นข้อมูลแนวคิดจากการออกแบบของพวกสถาปนิก Interior และ Landscape เอง เราก็จะเอาข้อมูลเหล่านี้มาคิด และตั้งโจทย์จนเกิดเป็นคอนเซ็ปต์ ซึ่งคอนเซ็ปต์ก็เป็นตัวกำหนดให้เกิดเป็นรูปทรง หลังจากนั้นก็ค่อยหาวิธีการสร้างต่อ และตัวงานมันก็จะถูกพัฒนา ถูกคอมเมนท์ ถูกแชร์ จากฝ่ายอื่นๆ จนมันเกิดเป็นตัวงานจริงขึ้นมา


The Residences at Mandarin Oriental, Bangkok

Dsign Something: คิดว่าประติมากรรมที่เราทำตรงนี้มันส่งผลกับตัวสถาปัตยกรรมอย่างไรบ้าง?
คุณโด่ง : จริงๆ แล้ว มันก็บอกลักษณะหรือคาแรคเตอร์อะไรบางอย่าง เหมือนอย่างโบสถ์อันนึง มันก็มีทั้งงานจิตรกรรม งานประติมากรรม งานสถาปัตยกรรม มันก็เหมือนเป็นองค์ประกอบนึงที่มันประกอบรวมกัน แต่บางทีประติมากรรมมันก็มี Scene ที่มากกว่าสถาปัตยกรรม จริงๆ มันจะเป็นวิธีคิดที่เรามีสเกลจำกัด ตาเราก็มีทัศนียภาพที่จำกัด บางครั้งทำให้เวลาเราเข้าไปสู่พื้นที่เรามีระยะจำกัดในการเชื่อมต่อ บางทีตึกสูงมากเราก็ไม่เห็นว่ายอดตึกอยู่ตรงไหน แต่ Sculpture เป็นตัวพูด สื่อสารกับคอนเซ็ปต์หรือลักษณะของพื้นที่แรกๆ ก่อน มันเหมือนเป็นจิ๊กซอว์อันนึงที่ทำให้ทุกคนต่อภาพกันติด ซึ่งบางทีในการออกแบบเราไม่สามารถใช้ภาษาภาษาเดียวทั้งหมดในเฟรมเดียวได้



AIA Capital Center , ratchada

Dsign Something: การทำ sculpture ในงานแต่ละประเภทอย่างเช่นงานคอนโด หรืองาน public space มันแตกต่างกันไหม มากน้อยอย่างไร ?
คุณโด่ง : จริงๆ มันต่างกันที่ งาน public space มันคือการคิดแบบ public ทำแบบ public ให้ผลมันได้แบบ public ซึ่งผลสุดท้ายมันอาจจะไม่มีใครเห็นผมเลย มันไม่มีใครเห็นใคร แต่มันกลายเป็นของทุกคนที่เห็นอยู่ อย่างบางงานเราเห็นเราจะรู้ว่าอันนี้งานของศิลปินคนนี้ อันนี้งานของอาจารย์คนนั้น แต่งาน public แบบนี้เราไม่เห็นใครทั้งนั้น มันไม่ใช่เฟรมของผมเลย อันนั้นคือผลที่ได้จากงานที่คิดแบบ public จริงๆ แต่งานหน้าอาคาร หน้าตึก เราก็อาจจะแอบใส่กิมมิค หรือลักษณะที่เราชอบลงไปได้บ้าง แต่งานแบบนั้นคือต้องคิดกับคอนเซ็ปต์จริงๆ ทำงานกับโจทย์จริงๆ อะไรแบบนั้น

Dsign Something: การทำงาน sculpture ร่วมกับสถาปนิก นักออกแบบภายใน หรือภูมิสถาปนิก เป็นอย่างไร มีความเหมือนหรือต่างกันไหม?
คุณโด่ง :
จริงๆ ตอนนี้มันเริ่มดีขึ้นเยอะมาก เพราะเราเริ่มทำงานแล้วเขาเข้าใจว่ามันเป็นอาชีพ เขาก็ให้เกียรติในวิชาชีพของแต่ละคนเท่าๆ กัน ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ดีมากๆ อย่างโปรเจคนึงที่เกิดขึ้นแล้วดีๆ ส่วนใหญ่เวลาดีไซน์เนอร์ สถาปนิก นักออกแบบภายใน หรือแม้แต่เราเองไปรวมกันเนี่ย บางครั้งไม่จำเป็นต้องพรีเซนท์พอร์ทให้ดูว่าตัวเองทำไรมา แต่นั่งคุย นั่งถกในเรื่องทัศนคติบางอย่าง พอทัศนคติมันตรงกันแล้วเนี่ย ไปทำงานคนละอย่างกันมาแล้วมันแมตต์กันมันจะมีสเน่ห์มากกว่าเวลาที่เราไปกำหนด กฏเกณฑ์กับคอนเซ็ปต์ด้วยซ้ำไป บางทีคอนเซ็ปต์มันเป็นตัวทำให้เราดิ้นไม่ได้ บางทีหน้าที่ของเราเองก็คือเข้าไประเบิดสเปซบางอย่างที่มันมีคอนเซ็ปต์มากเกินไป

Dsign Something: ส่วนขั้นตอนที่ชอบที่สุดในการทำ sculpture ของคุณโด่งคือขั้นตอนไหน?
คุณโด่ง :
สิ่งหนึ่งที่ทำงานแล้วรู้สึกดีที่สุด คือวันนึงที่เราเดินกลับไปในพื้นที่หรือสเปซที่เราทำ ถ้ามันไม่ได้บอกให้เราคิดอะไรต่อมันจะเป็นสิ่งที่ดีมาก พี่ชอบตั้งคำถามกับตัวเองเสมอเลยว่า ทำยังไงได้บ้างที่จะทำให้รู้สึกว่า วันนึงที่เราติดตั้งมันเสร็จแล้วเดินออกมา แล้วเมื่อเรากลับไปยังพื้นที่เราไม่รู้สึกว่ามันเก่า กระบวนการมันก็เลยทำให้เราเรียนรู้และเข้าใจ พอมันเข้าใจมันก็ได้ผลลัพธ์อย่างที่เราอยากให้มันเกิดขึ้น

King Power – Phuket

Dsign Something: ในความคิดของคุณโด่งเปรียบเทียบ sculpture  1 ชิ้นเป็นอะไร ?
คุณโด่ง : Sculpture มันคือองค์ประกอบหนึ่งที่ไม่ได้สำคัญไปมากกว่าอะไร แต่มันเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้มันเกิดการต่อจิ๊กซอว์ที่จะพูดถึงพื้นที่ คือถ้ามองเปรียบเทียบเป็นหนัง หนังทั้งเรื่องเลยไม่มีตัวโกง มีแต่พระเอกกับนางเอก เหมือนกันบางครั้ง sculpture มันก็ต้องยอมเป็นตัวร้ายเพื่อระเบิดความเป็นระเบียบแบบแผน ซึ่งอย่างสถาปัตยกรรมมันมีเสากับคานเสมอ บางทีเสาคานเยอะๆ มันก็เลยทำให้เกิดความแข็งมากๆ Sculpture ที่เป็น Art มันก็ทำหน้าที่เป็นตัวไปสลาย บางครั้งมันจะเป็นพระเอกหรือเป็นตัวร้ายก็ได้ บางทีตัวร้ายอาจจะเป็นตัวเด่นก็ได้ เหมือนกับการทำงานของ Sculpture มันจะทำหน้าที่ระเบิด เชื่อมโยง หรือกลมกลืน นั่นแล้วแต่สเปซที่มันกำลังจะแสดงตัวขึ้นมา

คุณโด่งตอบคำถามสุดท้ายด้วยการเปรียบเทียบ Sculpture เป็นเหมือนองค์ประกอบในหนัง ซึ่งทำให้เรารู้สึกเห็นด้วยอย่างไม่ต้องสงสัยเลย เพราะองค์ประกอบทุกๆอย่างในงานทุกงาน ไม่ว่าจะเป็นงานสถาปัตยกรรม งานประติมากรรม งานออกแบบภายใน หรือแม้แต่งานภูมิสถาปัตยกรรม ต่างก็ต้องพึ่งพาและส่งเสริมซึ่งกันและกันไม่ว่าจะทางใดก็ทางหนึ่ง จึงจะเกิดความสวยงามและสมบูรณ์แบบอย่างที่เราเห็นกันในงานออกแบบมากมายอย่างในปัจจุบัน