OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

ARI HOUSE บ้านที่ดีไซน์ให้พื้นที่ส่วนกลางสำคัญกว่าพื้นที่ส่วนตัว

Location: กรุงเทพฯ ประเทศไทย
Owner: คุณเจ-ชวรัฐ จรุงวิทยากรและคุณเกด-ปภัสรินทร์ เกิดสิริโรจน์กุล
Architectural designer: คุณสุรัตน์ พงษ์สุรรณ์ Greenbox Design
Interior designer: คุณอรอนงค์ ตันติเสรี
Photograph: Panoramic Studio

หลังจากใช้ชีวิตอยู่คอนโดมาตลอดจนกระทั่งกำลังจะมีลูกน้อยมาคล้องใจจึงทำให้ คุณเจ-ชวรัฐ จรุงวิทยากร และ คุณเกด-ปภัสรินทร์ เกิดสิริโรจน์กุล ตัดสินใจที่จะสร้างบ้านเพื่อเริ่มต้นชีวิตครอบครัวในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อไลฟ์สไตล์ของสมาชิกทุกคนในครอบครัว จนกระทั่งได้มาพบที่ดินขนาด 45 ตร.ว.แปลงหนึ่งย่านอารีย์จึงตัดสินใจที่จะสร้างบ้านในฝันบนที่ดินแปลงนี้ โดยวางใจให้ คุณสุรัตน์ พงษ์สุรรณ์ สถาปนิกจาก Greenbox Design มารับไม้ต่อจากผู้ออกแบบก่อนหน้านี้ โดยใช้เวลาออกแบบเพียง 4 เดือน และก่อสร้างอีก 3 ปี บ้านสีขาวขนาดพอดีหลังนี้ก็แล้วเสร็จสมบูรณ์

บ้านหลังเล็กแต่การใส่ใจในการออกแบบไม่ได้เล็กตาม

ก่อนเริ่มการออกแบบ สถาปนิกจึงเข้ามาดูไซต์และพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการออกแบบต่างๆ โดยมีไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้านเป็นที่ตั้ง รวมไปถึงแผนในอนาคตภายในเวลา 5 ปี ถึง 10 ปี เมื่อเห็นดังนั้นจึงเสนอว่าควรทุบบ้านแฝดที่สร้างอยู่ก่อนแล้ว แล้วสร้างใหม่จะเป็นผลดีต่อการออกแบบเพื่อฟังก์ชันสำหรับรองรับอนาคตที่ดีกว่า แต่ในด้านการก่อสร้างจริงการรื้อบ้านแฝดก็พบข้อจำกัดไม่น้อย เนื่องจากขณะที่รื้อต้องระมัดระวังไม่ให้กระทบบ้านแฝดหลังที่อยู่ติดกัน ไม่อย่างนั้นอาจเกิดการร้าวและทรุดตัวลงได้

ส่วนด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม แม้บ้านจะมีขนาดพื้นที่ใช้สอยเพียง 400 ตร.ม. แต่ทุกๆ ตารางเมตรก็เกิดเป็นพื้นที่ที่สามารถเป็นพื้นที่ใช้สอยได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยสถาปนิกได้ดึงข้อจำกัดทางด้านขนาดพื้นที่ที่มีหน้ากว้างเพียง 9 เมตรแต่ยาวลึกลงไปคล้ายตึกแถว ผสานกับการต้องการสร้างความส่วนตัวจากเพื่อนบ้านโดยรอบ ตัวบ้านจึงมีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าตามขนาดของพื้นที่ และเจาะคอร์ยาร์ตด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้เพื่อลดการปะทะความร้อนโดยตรง พร้อมกับใช้บล็อกช่องลมทำเป็นผนังบางส่วน ทั้งนี้เพื่อให้แสงและลมธรรมชาติยังสามารถเข้ามาถึงตัวบ้านได้อย่างพอเพียง และลดความอึดอัดของบ้านที่มีลักษณะลักษณะคล้ายตึกแถวให้ปลอดโปร่งอยู่สบาย อีกทั้งต้นไม้ที่อยู่อยู่บริเวณคอร์ตยาร์ดยังช่วยพรางสายตาและสร้างความเป็นส่วนให้กับคนในบ้านในเวลาเดียวกันได้เป็นอย่างดี

เมื่อฟังก์ชันสะท้อนการใช้ชีวิตในแบบเส้นตรง

การออกแบบแปลนและวางตำแหน่งของฟังก์ชันสำหรับบ้านหลังนี้ สถาปนิกอธิบายว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากการศึกษาพฤติกรรมของเจ้าของบ้านอย่างแม่นยำที่สุด โดยจะวิเคราะห์กิจกรรมของทั้งสามี-ภรรยาซึ่งเป็นคุณหมอทั้งคู่ ตั้งแต่เวลาเช้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ใช้พื้นที่อย่างไร ทั้งเรื่องของความชอบหรืองานอดิเรกต่างๆ ซึ่งหลังจากการวิเคราะห์ก็พบว่าไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้านมีวิธีการดำเนินชีวิตในรูปแบบเป็นแพทเทิร์นคล้ายเดิมในทุกๆ วัน นั่นจึงทำให้สถาปนิกออกแบบฟังก์ชันอย่างตรงไปตรงมา ไล่เรียงการเข้าถึงและการใช้พื้นที่ตามไลฟ์สไตล์อย่างชัดเจน อาทิ เช่น เมื่อจอดรถแล้วจะพบกับคอร์ตยาร์ดกลางบ้านและพื้นที่ครัวเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงใส่ฟังก์ชันอื่นๆ บริเวณชั้น 2 และ 3 ตามลำดับการใช้งานตามการใช้งานจริง บ้านจึงออกมาเรียบง่ายแต่การใช้งานต่อเนื่องและเอื้อประโยชน์ให้เจ้าบ้านใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน

(มุมมองจากห้องรับประทานอาหารบริเวณชั้นหนึ่งกลับไปยังที่จอดรถก็จะสามารถเห็นคอร์ตกลางบ้านได้อย่างชัดเจน)

(เมื่อจอดรถแล้วจะพบทางเดินและชานขนาดเล็กก่อนเข้าสู่ตัวบ้าน โดยทางเดินนั้นสถาปนิกตั้งใจออกแบบเป็นสะพานข้ามบ่อปลาเล็กๆ ซึ่งเป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่งของคุณพ่อด้วย เพื่อที่เวลาไปทำงานตอนเช้าและหลังจากกลับมาจากทำงานตอนเย็นก็จะได้เห็นปลาในสระทั้งสองเวลา)

วัสดุน้อยชิ้นแต่มากด้วยความรู้สึก

ต่อเนื่องจากขนาดพื้นที่ของบ้านที่มีอย่างจำกัด ทำให้สถาปนิกต้องการใช้วัสดุน้อยชิ้นที่สุดเพื่อขับให้สเปซและฟอร์มของบ้านดูโดดเด่น โดยการเลือกให้บ้านทั้งหลังเป็นสีขาวทั้งภายในและภายนอก เนื่องจากสีขาวเมื่อรวมกับช่องเปิดที่ถูกออกแบบขนาดให้เหมาะสมจนทำให้แสงธรรมชาติเข้ามาอย่างพอเพียงจะทำให้บ้านที่มีพื้นที่จำกัดดูกว้างกว่าความเป็นจริง สร้างบรรยากาศอยู่สบายและมีความสุข เสริมด้วยการสร้างความอบอุ่นให้กับผู้ใช้พื้นที่ด้วยการใช้ไม้จริงและไม้เทียมในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ เพื่อให้บ้านไม่แข็งจนเกินไปเหมาะสำหรับเป็นบ้านของครอบครัวอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ช่องเปิดที่เกิดขึ้นเกิดจากความต่อเนื่องของฟังก์ชันภายในบ้านสะท้อนออกมานั่นเอง ดังนั้นทั้งประตู หน้าต่าง และช่องแสงต่างๆ จึงสร้างประโยชน์ภายในบ้านได้อย่างเต็มที่ในทุกช่วงเวลา โดยการเลือกใช้อลูมิเนียมและกระจกนั้นเจ้าของบ้านตั้งใจเลือกใช้จากแบรนด์ทอสเท็ม TOSTEM เนื่องจากพบว่าราคาหลังประเมินออกมาเมื่อเปรียบเทียบกับแบรนด์ท้องถิ่นไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่คุณภาพที่ได้รับนั้นถือว่าเกินคุ้ม ทั้งในเรื่องของความแข็งแรง สีสัน การทำความสะอาด ระบบล็อครวมไปถึงความบางของวงกบที่เหมาะกับสไตล์ของบ้านเป็นอย่างมาก นั่นจึงทำให้ ‘ARI HOUSE’ ติดตั้งผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ทอสเท็ม (TOSTEM) ทั้งหลังนั่นเอง

(จากชั้น 3 สามารถมองทะลุผ่านมายังห้องพักผ่อนชั้น 2 ได้โดยผ่านตาข่ายที่ติดตั้งไว้ให้คุณลูกโดยเฉพาะ ซึ่งในขณะเดียวกัน คุณแม่ที่นั่งดูซีรี่ย์บริเวณชั้น 2 ก็สามารถมองเห็นลูกได้ตลอดเวลา)

(พื้นที่ด้านหลังโซฟา ถูกยกสเต็ปขึ้นพื้นเป็นพื้นที่ทำงานและพื้นที่สำหรับเล่นของเล่นของลูกในเวลาเดียวกัน)

(ห้องครัวที่แยกออกมาบริเวณชั้น 1 ถูกเป็นพื้นที่แรกที่จะพบก่อนออกจากบ้านเพื่อไปทำงานและทานอาหารเช้าของคุณลูก)

(โถงทางเดินทำหน้าที่พิเศษด้วยการเป็นโถงแจกฟังก์ชัน แบ่งสัดส่วนของบ้านให้ออกจากันอย่างชัดเจน อีกทั้งยังรับหน้าที่กระจายแสงธรรมชาติเข้าสูงพื้นที่ต่างๆ อย่างเหมาะสม)

(ประโยชน์ของคอร์ตยาร์ตนอกจากการดึงประโยชน์จากธรรมชาติเข้ามาใช้ในบ้านแล้ว ยังทำหน้าที่เชื่อมการมองเห็นกันภายในครอบครัว ส่งผลดีในเรื่องของความปลอดภัยโดยตรง)

(แม้บ้านจะมีพื้นที่จำกัด แต่สถาปนิกกลับออกแบบห้องน้ำให้กว้างขวาง เนื่องจากมองเห็นว่าอีกช่วงเวลาแห่งการพักผ่อน ห้องน้ำก็เป็นหนึ่งในนั้น ห้องน้ำของบ้านหลังนี้จึงใหญ่เป็นพิเศษ โดยการตกแต่งยังเน้นเป็นสีขาวเช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ ของบ้าน)

“ความสนุกในการออกแบบบ้านหลังนี้ คือ การออกแบบบ้านที่มีข้อจำกัดด้านขนาด อย่างบ้านหลังนี้มีขนาดเล็ก งานรายละเอียดในการออกแบบเราจึงใส่ใจมากๆ เนื่องจากทุกพื้นที่ที่เกิดขึ้นมันต้องใช้งานได้จริง เข้ากับเจ้าบ้านทั้งในเรื่องของความสวยงามและฟังก์ชัน เพราะตอนเราออกแบบบ้านเรามองไปถึงอนาคตไกลๆ อย่างการเติบลูกของลูกเจ้าของบ้าน การต้องการฟังก์ชันและพื้นที่เปลี่ยนไป หรือ การเพิ่มฟังก์ชันขณะก่อสร้าง เช่น ห้องใต้หลังคาที่เกิดจากระยะถอยร่นจากกฎหมายอาคารทำให้บ้านหลังนี้ใช้หลังคาทรงจั่วและเกิดเป็นห้องใต้หลังคาในที่สุด และหลายๆ รายละเอียดที่เกิดขึ้นทำให้บ้านหลังเล็กหลังนี้ล้วนแต่เป็นความสนุกทั้งหมดครับ” คุณสุรัตน์ พงษ์สุรรณ์ สถาปนิกจาก Greenbox Design กล่าว

(พื้นที่ชั้นลอยสำหรับให้คุณพ่อและคุณลูกตีกลองร่วมกัน)

(รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างไฟส่องสว่างทางเดินก็ช่วยทั้งในเรื่องของความปลอดภัยและสร้างบรรยากาศให้สวยงามในเวลาเดียวกัน)

(ช่องเปิดขนาดเล็กเพื่อให้เห็นความเคลื่อนไหวและช่วยลดความอึดอัดภายในบ้าน)

(สร้างกิมมิคเล็กๆ ให้เฟอร์นิเจอร์บิลอินท์ด้วยการเปิดมุมบานตู้และตกแต่งด้วยแจกัน)

ขอบคุณ

Architectural designer: คุณสุรัตน์ พงษ์สุรรณ์
Interior designer: คุณอรอนงค์ ตันติเสรี
Owner: คุณเจ-ชวรัฐ จรุงวิทยากรและคุณเกด-ปภัสรินทร์ เกิดสิริโรจน์กุล
TOSTEM

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading