OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Well-being Architecture การสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมเพื่อคุณภาพชีวิต ในมุมมองของ GreenDwell

ทฤษฎีทางสถาปัตยกรรมจะบังเกิดผลจริงได้ก็ต่อเมื่อสถาปนิกลงมือทำ และสถาปนิกก็คือผู้ถอดบทเรียนจากการลงมือทำงานจริงกลับมาสร้างแนวคิด-วิธีการใหม่ๆ เพื่อให้เกิดเครื่องมือในการสร้างสถาปัตยกรรมที่ดีขึ้นอีกต่อไปเรื่อยๆ หลักคิดเหล่านี้อยู่ในความตั้งใจดีของ GreenDwell นำโดยคุณรักศักดิ์ สุคนธะตามร์ สถาปนิกผู้เชื่อมั่นในเรื่อง Well-Being และ Green Design


Elevated Design Concept
เรามีความเชื่อว่าการออกแบบที่ดีคือการใส่ใจในคุณภาพชีวิตของผู้ที่จะเข้าไปอาศัย หรือใช้งานในอาคารในรูปแบบต่างๆ นอกเหนือไปจากการใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือผลกระทบที่จะเกิดจากงานออกแบบของเรา ดังนั้นเราจะผสานแนวคิดในเรื่องของ well-being และ green design ตลอดกระบวนการทำงาน ในทุกโปรเจ็คต์ โดยถือเป็นเงื่อนไขบังคับหนึ่งในการออกแบบ เพิ่มเติมจากเรื่องการใช้สอย ความงาม หรืองบประมาณ โดยเราสร้างวิธีการทำงานที่สอดคล้องกับแนวคิดนี้จนมีความถนัดและเชี่ยวชาญเฉพาะทางครับ

คุณรักศักดิ์และภรรยาเคยเป็นสถาปนิกอยู่ที่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลาหลายปี โดยมีความถนัดในเรื่องการทำอาคารเขียว การันตีด้วยใบอนุญาต LEED จากสหรัฐฯ หลังจากตัดสินใจกลับมาอยู่ที่ประเทศไทยบ้านเกิด ทั้งคู่จึงเลือกเดินในเส้นทางของการทำงานออกแบบเพื่อความยั่งยืน ซึ่งนั่นเป็นแพสชั่นในการทำงานสถาปัตยกรรมของเขาตั้งแต่แรกเริ่ม โดยเฉพาะกับอาคารที่สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันทั้งโรงเรียน ออฟฟิศ บ้าน หรือแม้แต่สถานดูแลผู้สูงอายุ จากความสนใจในเรื่องการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับมนุษย์ผ่านทางสถาปัตยกรรม


Human Centric Design
สถาปัตยกรรมที่ดีสามารถช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนที่อาศัยในอาคารได้ และจะเกิดผลดังกล่าวได้ ในกระบวนการออกแบบ เราก็ต้องนำคนมาเป็นปัจจัยสำคัญในการออกแบบ เพราะกลุ่มคนที่จะใช้เวลาอยู่อาศัย หรือทำงานอยู่ในพื้นที่ ที่เราออกแบบ จะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการออกแบบของเรา จากการที่ปัจจัยแวดล้อมมีผลกับสถาปัตยกรรม อย่าง แดด แสงธรรมชาติ ลม เสียง อากาศ หรือแม้กระทั่งคุณภาพอากาศภายในอาคาร และสิ่งเหล่านี้ สถาปนิกสามารถช่วยออกแบบให้ดีขึ้นหรือลดผลกระทบที่ไม่ดีได้ และผมมองว่าถ้าเราเอาใจใส่ มันอาจจะไม่ได้เป็นค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นเสมอไป และอาจจะไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด คนทุกคนเป็นฟันเฟืองเล็กๆของสังคมของเรา ถ้าเราทำให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้นได้จากการออกแบบ ผมคิดว่าก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมของเราดีขึ้น


แม้ความรู้สึกจะเป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้ แต่สัมผัสเหล่านี้เกิดขึ้นได้ในหัวใจของผู้ที่ได้ใช้งานอาคาร แสดงออกผ่านพฤติกรรมในการใช้งานและความสบายใจที่จะอยู่ในพื้นที่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่คุณรักศักดิ์เล่าให้เราฟังคือ โรงเรียน Raintree International School

ในการออกแบบโรงเรียนนี้ เราไม่ได้โฟกัสไปที่รูปฟอร์มของอาคาร แต่เราโฟกัสไปที่คน ก็คือเด็กและคุณครู ซึ่งคือบุคลากรที่สำคัญที่สุดของการเรียนรู้ โดยดูว่าการออกแบบลักษณะไหนที่จะส่งเสริมคุณภาพในการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับแนวคิดของโรงเรียน ซึ่งใช้แนวคิด Reggio Emilia ที่เน้นว่าเด็กมีความสามารถมากกว่าที่เราคิด เขาสามารถเรียนรู้ได้เอง และแม้กระทั่งสอนกันเองได้ โดยคุณครูจะมีการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับความสนใจของเด็กจริงๆ และสิ่งแวดล้อมสำคัญมาก เป็นเหมือนคุณครูคนที่สามของเด็ก สิ่งแวดล้อมที่ดี ความใกล้ชิดธรรมชาติ จะสามารถกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น การมีส่วนร่วม รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาได้

เด็กในช่วงปฐมวัย คือช่วงเวลาที่เขาจะฝังชิปที่เป็นนามธรรมทั้งหมดลงไป อย่าง ความรับผิดชอบ ความสำนึกเพื่อส่วนรวม ความไม่เห็นแก่ตัว ความรักในธรรมชาติ เห็นความทุกข์ของคนอื่นเป็นความทุกข์ของเราเอง การคิดเพื่อส่วนรวม ดังนั้นการออกแบบสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไม่เอาผู้ให้การเรียนรู้ และผู้รับการเรียนรู้เข้ามาในสมการการออกแบบ


เราสร้างพื้นที่ของการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องกันจาก ภายใน (indoor) ออกมากึ่งภายในกายนอก (semi-indoor/outdoor) และเมื่อมีโอกาส เด็กก็สามารถออกไปที่ภายนอกได้เลย (outdoor) โดยพื้นที่ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจสภาวะภูมิอากาศของบ้านเรา และรู้ว่าจะตอบโจทย์อย่างไรให้ช่วยเรื่องความน่าสบายในการเรียน ซึ่งไม่ใช่แค่การนั่งในห้อง แต่คือการเดิน วิ่ง เล่น อยู่ใน space ได้อย่างสบาย เขาถึงจะสนุก และเมื่อสนุก ก็จะเกิดการเรียนรู้ เรามีการทำ environmental simulation เข้ามาผสานในกระบวนการออกแบบ ออกแบบให้สอดคล้องทั้งเรื่องลมและแดด กับทิศที่ลมเข้ามาที่พื้นที่โครงการที่อยู่ในเมืองและมีอาคารอื่นมาบังลม ออกแบบให้สอดคล้องกับพื้นที่ที่อยู่ใต้ร่มเงาของต้นไม้เดิมที่เราเก็บต้นไม้ใหญ่ไว้ทั้งหมด รูปฟอร์มของอาคารหรือพื้นที่ว่างที่เกิดขึ้น จึงไม่ได้เกิดมาจากความต้องการของสถาปนิกแต่เกิดมาจากการผนวกเอาปัจจัยแวดล้อมทั้งหมดมาซ้อนกันและเกิดเป็น solution ที่ดีที่สุดสำหรับโรงเรียน และผลที่ได้มาก็คือ คุณครูมีความสุขกับการใช้งานอาคาร เด็กก็มีความสุข และที่สำคัญคือเขาสามารถเข้าใกล้ธรรมชาติได้มากขึ้น พอเข้าใกล้ได้มากขึ้น ก็พร้อมที่จะอยู่ร่วมกันและรักมันได้มากขึ้น จากตรงนี้เราเห็นว่านี่คือส่วนหนึ่งที่สถาปัตยกรรมทำให้เกิดจิตสำนึกในเรื่องการรักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้

Good Architecture for A Better Life
งานดีไซน์ที่ดี นวัตกรรมการออกแบบที่เหมาะสม ไปจนถึงวัสดุวิธีการก่อสร้างที่สอดประสานไปกับงานออกแบบ ทั้งหมดสร้างให้เกิดสถาปัตยกรรมที่ดี ตามมาด้วยบุคลากรของประเทศที่อยู่ดีมีความสุข


Ai’s House 
Architect : GreenDwell
Interior design studio: crafttrade studio
Interior designer: wareeyos waewsawangwong

“ในมุมมองของผม สถาปัตยกรรมที่ดีคือสถาปัตยกรรมที่สถาปนิกทราบว่าจุดประสงค์ของมันคืออะไร และโฟกัสที่แท้จริงของมันคืออะไร แล้วเอาใจใส่ หาข้อมูล คิดถึงสิ่งที่ดีงามกับภาพรวมและสังคม ผมเชื่อว่าสถาปัตยกรรมที่ดีไม่จำเป็นต้องแพง สถาปัตยกรรมที่ดีไม่จำเป็นจะต้องมีความซับซ้อน แต่ขอให้เราโฟกัสถูกจุด ใช้ความตั้งใจของเราไปรีเสิร์ชหาการตอบโจทย์ของแต่ละโครงการที่เหมาะสมที่สุด เลือกวัสดุที่ดี หาวิธีการที่เหมาะสมในการก่อสร้าง”


“ความตั้งใจของผมคือทำให้มนุษย์อยู่ในสภาพแวดล้อมของสถาปัตยกรรมที่มีผลกับชีวิตเขาในแนวทางที่ดีขึ้น คุ้มค่าในราคาที่จ่ายได้ และที่สำคัญคือทำให้คุณภาพชีวิตและสังคมดี เริ่มต้นที่ครอบครัวดี ที่ทำงานที่ดี สังคมก็จะดีตามไปด้วย ” ความมุ่งมั่นเหล่านี้ตอบกับความเชื่อของคุณรักศักดิ์ที่ว่า สถาปัตยกรรมที่ดีก็ทำหน้าที่สร้างสังคมที่ดีได้เช่นเดียวกัน