OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

พื้นที่สีเขียว มากกว่าความสวยงามคือการปฏิสัมพันธ์และความยั่งยืน

“ในปัจจุบัน ภูมิสถาปนิกมักจะถูกพูดกันมากว่ามันเป็นสิ่งที่เมืองต้องการ เพราะอย่างที่เรารู้กันว่าเมืองในช่วงระยะที่ผ่านมา เราพัฒนาเมืองแต่เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวมากนัก ซึ่งปัญหาต่างๆ มันก็เกิดมาจากการที่เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวมาตั้งแต่แรก การพัฒนาเราสุดโต่งไปทางสร้างอาคาร เราคำนึงถึงแต่พื้นที่ใช้สอยมากกว่า เพราะฉะนั้นบทบาทของภูมิสถาปนิกในปัจจุบัน ก็พยายามคิดว่ามันจะเป็นไปได้หรือเปล่าถ้าเราสามารถพัฒนาได้แต่เอาพื้นที่สีเขียวเป็นแกนกลางและก็พัฒนารอบๆมันแทน” คุณใหม่ – ประพันธ์ นภาวงศ์ดี  ภูมิสถาปนิก จาก Shma Company Limited

 

ในปัจจุบันเรามักจะเห็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นมากมายและเริ่มเป็นกระแสจนทำให้คนยุคใหม่หันมาใส่ใจกันมากขึ้น เช่นเดียวกับวงการออกแบบเองที่ต่างก็เริ่มให้ความสำคัญกับปัญหาเหล่านี้เช่นกัน ซึ่งวันนี้เราก็มีโอกาสได้คุยกับ คุณใหม่ – ประพันธ์ นภาวงศ์ดี  ภูมิสถาปนิกและหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท Shma Company Limited ถึงประเด็นต่างๆ ของงานออกแบบเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ผ่านมุมมองของนักออกแบบที่เรียกได้ว่าเป็นผู้ผสมผสานธรรมชาติและสถาปัตยกรรมเข้าไว้ด้วยกัน

Dsign Something: จุดเริ่มต้นที่มาเป็นภูมิสถาปนิก เริ่มมาจากอะไร?
คุณใหม่ : ความจริงก็เรียนมาทางภูมิสถาปนิกโดยตรง จบมาจากที่สถาปัตย์ จุฬาฯ พอจบมาก็มีโอกาสได้ไปทำงานที่สิงคโปร์ ก็ทำงานอยู่ที่นู่นประมาณ 7 ปีถึงกลับมาเปิดฉมาที่กรุงเทพฯ ตอนช่วงทำงานที่สิงคโปร์ก็เป็นโอกาสที่ทำให้ได้เข้าใจพื้นที่สีเขียวในวงกว้างขึ้น ซึ่งมันมีผลกระทบต่อทั้งในระดับของย่าน ของเมือง หรือระดับโปรเจคเอง เพราะที่นู่นจะค่อนข้างให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวค่อนข้างมากอยู่แล้วอย่างที่เรารู้กัน  และอีกอย่างหนึ่งที่ได้โอกาสก็คือ ได้ทำโปรเจคในภูมิภาค ก็คือไม่ได้เฉพาะในสิงคโปร์เอง ซึ่งมันเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้เห็นภาพของการพัฒนาของวงการดีไซน์แลนสเคปในหลากหลายบริบท ซึ่งก็ช่วยให้เรามีความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าพื้นที่สีเขียวมันคืออะไร

คุณใหม่ – ประพันธ์ นภาวงศ์ดี  ภูมิสถาปนิก จาก Shma Company Limited

Dsign Something: อยากให้เล่าถึงความสำคัญหรือบทบาทของอาชีพ ‘ภูมิสถาปนิก’ ในมุมมองของพี่ใหม่
คุณใหม่ : ในปัจจุบัน ภูมิสถาปนิกเราจะพูดกันมากว่ามันเป็นสิ่งที่เมืองต้องการมากๆ เพราะอย่างที่เรารู้กันว่าเมืองในช่วงระยะที่ผ่านมา เราพัฒนาเมืองแต่เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวมากนัก  ความท้าทายของสภาพแวดล้อมของปัจจุบัน เราก็รู้กันอยู่ว่ามีทั้งปัญหา Pm2.5 มีทั้งปัญหาโลกร้อนอะไรต่างๆ มันก็เกิดมาจากการที่เราไม่ได้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวมาตั้งแต่แรก การพัฒนาเราสุดโต่งไปทางสร้างอาคาร คำนึงถึงแต่พื้นที่ใช้สอยมากกว่า โดยไม่บาลานซ์มัน เพราะฉะนั้นบทบาทของภูมิสถาปนิกในปัจจุบัน ก็พยายามคิดว่ามันจะเป็นไปได้หรือเปล่าถ้าเราสามารถพัฒนาได้แต่เอาพื้นที่สีเขียวเป็นแกนกลางและก็พัฒนารอบๆมันแทน

Mapletree Business city II : สร้างป่าธรรมชาติบนพื้นที่หลังคาอาคาร
ภาพจาก : Shma Company Limited

 

Dsign Something: จากอาชีพที่ต้องออกแบบผสมผสานทั้งธรรมชาติและสถาปัตยกรรมเข้าไว้ด้วยกัน คิดว่าความยากของมันคืออะไร?
คุณใหม่ : อย่างที่บอกถ้าเกิดแนวคิดหรือวิสัยทัศน์มันยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับสีเขียวเป็นแกนกลาง  มันก็จะถูกความสำคัญอื่นมาบดบังความสำคัญของสีเขียวไป และในที่สุดสีเขียวมันก็จะกลายเป็นแค่ตกแต่ง หรือกลายเป็นแค่การมาทำให้หน้างานดูมีความเขียว มีความสวยนิดนึง แต่ความจริงแล้ว พื้นที่สีเขียวมันจะต้องคิดลึกไปกว่านั้น เราต้องคิดไปถึงความยั่งยืนของมัน มันจะอยู่ได้ยังไงในระยะยาว มันจะทำยังไงให้พื้นที่สีเขียวมันมีคุณค่าจริงๆ ไม่ใช่เฉพาะแค่มองเห็นแล้วสวยด้วยตา เพราะความจริงพื้นที่สีเขียวมันมีประโยชน์มากกว่านั้น

Dsign Something: คิดว่าอย่างการออกแบบในพื้นที่สีเขียวในสเกลบ้าน มันส่งผลต่อผู้อยู่อาศัยอย่างไรบ้าง?
คุณใหม่ : คือในความจริง ฉมา เราอาจจะไม่ได้ทำออกแบบสวนของบ้านมากนัก แต่ที่ได้ทำจริงๆ ก็จะเป็นสวนบ้านของตัวเอง ก็ตีโจทย์ว่าเราอยากได้พื้นที่สีเขียวที่มันดูแลน้อยและพื้นที่สีเขียวที่มันอยู่ได้กับบริบทของเมืองที่มันแออัด แต่สีเขียวเนี่ยยังสามารถเติบโตได้สวยงามอยู่ เราก็จะนึกถึงการใช้งานจริงมากกว่าเป็นสวนตกแต่งให้สวยงาม เรานึกถึงชีวิตสมัยก่อนที่คนมีพื้นที่ที่จะปลูกผักกินเอง แต่แน่นอนในปัจจุบัน  พื้นที่ในเมืองแออัดมากขึ้น เราต้องการปลูกบ้านที่เต็มพื้นที่มากขึ้น เราก็เลยมองว่าเราเอาพื้นที่ปลูกผักของเราไปอยู่บนหลังคา และทำให้มันเป็นสวนป่าที่ยั่งยืนด้วยในอนาคต ผมเลยมองว่าความจริงความสำคัญของสวนในบ้าน มันขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของคนคนนั้นที่อยากจะปฏิสัมพันธ์กับสวนยังไงมากกว่าเป็นรูปร่างหน้าตา เป็นสวนอังกฤษหรืออะไรแบบนั้น

Forest House : พื้นที่ส่วนตัวเพื่อการเชื่อมระบบนิเวศน์เมือง

Dsign Something: การออกแบบพื้นที่ภายนอกหรือพื้นที่สีเขียวในสเกลที่อยู่อาศัย ต่างกับงาน public scale ใหญ่ๆอย่างไร ?
คุณใหม่ : ความจริงก็เหมือนหลักการพื้นฐานในการออกแบบทั่วไปมันก็ต้องวิเคราะห์มาจากผู้ใช้งานอยู่แล้ว แน่นอนถ้าเป็น private มากๆ คนที่จะเข้ามามีส่วนได้ส่วนเสียกับสวนมันก็จะมีจำนวนน้อย แต่ว่ายิ่งโครงการมันใหญ่ขึ้นเท่าไร ยิ่งเป็นโครงการการออกแบบระดับเมืองมากขึ้น เราก็ต้องนึกถึงความหลากหลายของคนที่เข้ามาใช้มากขึ้น นึกถึงความปลอดภัย  ในหลักการผมก็เลยคิดว่าความจริง มันก็ไม่ได้ต่างกันมากในแนวคิดหรอก แต่เราก็ต้องเข้าใจจริงๆ ว่าสิ่งที่เรากำลังออกแบบอยู่มันไปรองรับกับคนกลุ่มไหน อย่างถ้าเป็นบ้าน เป็นงานคอนโด มันก็จะมีความยากของมัน เราก็ต้องมีการคิดด้วยว่าการขายของเขา สวนแบบนี้จะขายได้ไหม แต่ถ้าเป็นโปรเจคสาธารณะจริงๆ มันอาจจะไม่ได้คิดถึงการขายแล้ว แต่เป็นการคิดว่าพื้นที่กิจกรรมอันใหม่ของเมืองอันนี้คืออะไรที่จะทำให้คนได้ออกมาใช้งานร่วมกันและหล่อหลอมคนในสังคมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจากสวนของเราด้วย มันก็จะมีมิติที่กว้างและลึกขึ้น

Pasir Ris : mixed use TOD ที่เน้นพื้นที่สาธารณะเพื่อชุมชน และ ถ่ายทอดอัตลักษณ์ของพื้นที่ผ่านพันธุ์ไม้และระบบนิเวศน์ท้องถิ่น
ภาพจาก : Shma Company Limited




Dsign Something: ความสนุกของอาชีพกับงานออกแบบที่ทำตรงนี้คืออะไร?
คุณใหม่ : ความสนุกของนักออกแบบเลย คิดว่าน่าจะเหมือนๆ กัน คือเราได้ตีโจทย์และนำเสนอไอเดียใหม่ ๆ เพื่อจะแก้ปัญหาใดปัญหานึงอยู่แล้ว  แต่อย่างของภูมิสถาปนิกเอง  ความน่าสนใจของมันก็คือ มันเป็นโจทย์ในระดับที่กว้างกว่า เช่นในระดับเมืองหรือในระดับที่มันมีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถหาวิธีการแก้ปัญหาอะไรใหม่ๆ มาบอกกับเมืองหรือว่าคนในสังคมได้ว่าอันนี้เป็นแนวทางที่เราควรจะทำ เราก็รู้สึกว่านี่ก็เป็นแรงจูงใจของเราในการทำงาน เพื่อให้เรามีส่วนร่วมในสังคมที่สามารถนำเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาต่างๆ ของสิ่งแวดล้อม ผ่านงานออกแบบพื้นที่สีเขียวของเรา 

Dsign Something: อยากให้เล่าถึง Project Bangkok Green Link คร่าวๆ ว่ามีที่มาหรือแนวคิดยังไงบ้าง?
คุณใหม่ : อย่างที่บอกว่าเราอยากนำเสนอไอเดียต่างๆ ออกมาสู่สังคม ซึ่งถ้าดูในต่างประเทศมันเป็นเรื่องปกติมาก ผมคิดว่ามันสำคัญในฐานะของดีไซน์เนอร์ที่จะพัฒนาสิ่งเหล่านี้ออกมาให้สังคมเห็น แน่นอนเราไม่ได้บอกว่าสิ่งที่เราทำมันถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นซ์  ซึ่งของ Bangkok green link ก็เป็นการดูว่าเราจะพัฒนาศักยภาพในการเชื่อมต่อพื้นที่สีเขียวเป็นเส้นในระดับเมืองยังไงบ้าง ซึ่งมันก็จะเป็นพื้นที่สีเขียวที่ให้ทั้งทางเดิน ทางจักรยานที่ออกกำลังกายต่างๆ เพราะถ้ามองไปแล้วสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ เองก็มีน้อยอยู่แล้ว เมื่อมองไปถึงพื้นที่จริงๆ มันก็ยากที่จะไปหาพื้นที่ใหม่มาทำเป็นสวนขนาดใหญ่กลางเมืองอีกอันนึง แต่ถ้าเรามองไปว่าซอกเล็กซอกน้อย พื้นที่รกร้างตรงอื่นมันก็ยังมีความเป็นไปได้อยู่ ที่จะเอาพื้นที่เหล่านั้นมาร้อยต่อกันให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวในลักษณะตามยาวเพื่อเชื่อมเมืองถึงกัน มันก็เป็นโอกาสนึงที่ทำให้คนออกมาใช้พื้นที่สาธารณะที่ใกล้บ้านมากขึ้น และมันก็ตอบโจทย์เรื่องการเชื่อมต่อเมืองโดยทางเท้าด้วย เพราะว่าโอกาสนึงที่กำลังจะมาก็คือบ้านเรากำลังสร้างรถไฟใต้ดินหรือรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นอีกหลายสาย พอมันเสร็จแล้วเนี่ยเราก็หวังว่ามันจะลดการใช้รถยนต์ แต่ถ้าเราจะให้มันลดการใช้รถยนต์ได้จริงๆ การเชื่อมต่อของการเดินเท้ามันต้องดี ตอนที่เราศึกษาเราก็เลยไปดูว่าสถานีรถไฟฟ้าเหล่านั้นอยู่ตรงไหนและเราจะเชื่อมมันยังไง

Bangkok Green Link : green infrastructure ฟื้นฟูพื้นที่รกร้างให้เป็น linear park เพื่อเชื่อมเมือง ส่งเสริมการ เดิน วิ่ง ขี่จักรยาน และเพิ่มพื้นที่สุขภาวะให้ผู้คน
ภาพจาก : Shma Company Limited



Dsign Something: การออกแบบพื้นที่แบบไหนที่รู้สึกว่าสนุกที่สุด
คุณใหม่ : ถ้าโดยส่วนตัวแล้วเราก็รู้สึกว่าชอบงานพวก public scale มากกว่าอยู่แล้ว เราเริ่มต้นมาจากการทำพวกที่อยู่อาศัยก็จริง แต่ตอนนี้บริษัทเราก็เริ่มที่จะออกไปหาโอกาสในการที่จะทำงาน public scale มากขึ้น เพราะเราคิดว่า พื้นที่สาธารณะ มันก็ต้องการความคิดสร้างสรรค์เหมือนกัน มันไม่ใช่ว่าทำแค่ขอไปทีได้ มันก็ต้องใช้ความรู้ความสามารถของภูมิสถาปนิกเหมือนกัน แต่ในงาน public scale มันก็ไม่จำเป็นต้องเป็นงานของภาครัฐเท่านั้น มันก็จะมีงานเอกชนที่เป็นกึ่งๆ public space ที่เขาเปิดให้คนเข้าไปใช้งานได้ เราก็ได้พัฒนาสกิลในการออกแบบพื้นที่ public space ได้คิดคำนึงถึงการออกแบบที่มีคนหลากหลายเข้ามาใช้งานได้ นี่ก็เป็นสิ่งที่เรากำลังสนุกกับมันอยู่ และเราก็กำลังเก็บประสบการณ์กันอยู่เรื่อยๆ


Dsign Something: ที่มาของชื่อ ‘ฉมา’ มาจากอะไร
คุณใหม่ : ฉมาเองเป็นคำภาษาไทยแปลว่าแผ่นดิน เราก็เลยคิดว่ามันเหมาะกับภูมิสถาปนิกซึ่งเป็นอาชีพหลักของเรา  เพราะเราทำทุกอย่างเพื่อการเปลี่ยนแปลงผืนดินแห่งนี้ แต่เราจะทำไงให้มันยังอยู่ได้  ให้มันยั่งยืนในอนาคตนั่นก็เป็นสิ่งที่เราสนใจ เพราะฉะนั้นวิสัยทัศน์ของเรา นอกจากทำเป็นภูมิสถาปนิกโดยตรง เราก็สนใจในประเด็นอื่นๆ ที่จะพูดคุยกับสังคมต่างๆ ด้วย เราก็พยายามเอาตัวเองไปเกี่ยวข้องกับงานที่หลากหลายมากขึ้น ที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงเป็นโปรเจคอย่างเดียว แต่ว่าลงพื้นที่ไปคุยกับชุมชน  หรือว่าไปคุยกับภาครัฐเพื่อดูความเป็นไปได้ว่าเราจะร่วมกันพัฒนาเมืองไปยังไง  และเราก็มีทำงานสื่อสารบางส่วน อย่างเช่นมีเพจ City Cracker ซึ่งเป็นเพจที่จะสื่อสารกับสังคมเรื่องการพัฒนาเมืองที่มีคุณภาพในอนาคต ซึ่งเราคิดว่ามันก็เป็นช่องทางที่ไม่ใช่เฉพาะฉมาอย่างเดียว แต่เป็นช่องทางของนักวิชาชีพคนอื่นๆ ที่กำลังช่วยทำให้บ้านเมืองดีขึ้นด้วย เราก็ศึกษากันไปกับสังคมที่วงกว้างมากกว่าแค่นักออกแบบ แต่ให้คนทั่วๆไป เขาเข้าใจด้วยว่างานออกแบบมีความสำคัญกับเมืองขนาดไหน



หลังจากที่ได้พูดคุยกับคุณใหม่ถึงประเด็นต่างๆ ก็อดไม่ได้ที่จะย้อนคิดต่อว่า จะดีแค่ไหน หากการออกแบบพื้นที่สีเขียวเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้จริงในปัจจุบัน เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องความสวยงามที่ช่วยเพิ่มความสุนทรีย์ในการมองเห็นแล้วนั้น พื้นที่เหล่านี้ยังช่วยตอบโจทย์ในเรื่องกิจกรรมที่ช่วยยกระดับทั้งชีวิตมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นอีกด้วย