OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

เตรียมความพร้อม งานสถาปนิก’63 “มองเก่า ให้ใหม่ : Refocus Heritage”

งานอีเวนท์กลางปีที่มีอิทธิพลในวงการสถาปัตยกรรมและการออกแบบอย่างที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘งานสถาปนิก’  โดยงานที่กำลังจะจัดขึ้นในปี 2563 นั้น ยังคงมีวัตถุประสงค์เดิมที่ชัดเจนเพื่อนำเสนอผลงานและแสดงศักยภาพของสถาปนิกให้สังคมได้รับรู้ถึงบทบาทของสถาปนิกที่มีต่อสังคม ซึ่งในเวลาที่ผ่านมาก็มีทั้งสถาปนิก และบุคคลทั่วไปที่ให้ความสนใจมากมายทีเดียว ภายในปีนี้จึงมีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาตัวงานในบางส่วนเพื่อนำเสนอบทบาทของสถาปนิกผ่านงานอนุรักษ์ให้เข้ากับสถานการณ์ของโลกปัจจุบัน ภายใต้แนวคิด “มองเก่า ให้ใหม่ : Refocus Heritage” ซึ่งจากการที่เราได้มีโอกาสไปร่วมงานแถลงข่าวการจัดงาน จึงจะเป็นตัวแทนเพื่อมาบอกเล่าว่าภายในงานสถาปนิก’63 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 28 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2563 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี นั้นมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง

แนวคิดของงาน มองเก่า ให้ใหม่ : Refocus Heritage” ตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างอดีตและอนาคต
งานสถาปนิกในปี ’63 นี้ได้ความร่วมมือจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท เอ็น.ซี.ซี เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด ซึ่งสำหรับการจัดงานในครั้งนี้ สมาคมสถาปนิกสยามฯ ต้องการนำเสนอเรื่องราวของมรดกสถาปัตยกรรมจากอดีต การอนุรักษ์อาคาร และการรักษาคุณค่าเพื่อส่งต่อจากรุ่นเราไปยังรุ่นอื่นๆ ซึ่งงานอนุรักษ์เองก็ถือเป็นสิ่งที่สมาคมและวงการสถาปัตยกรรมให้ความสำคัญมากขึ้นโดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงคุณค่าของสถาปัตยกรรมจากอดีต จนเกิดเป็นที่มาของแนวคิด “มองเก่า ให้ใหม่ : Refocus Heritage”


ซึ่ง ดร.วสุ โปษยะนันทน์ ประธานการจัดงานสถาปนิก ’63 ก็ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงแนวคิดของงานว่า “แนวคิด มองเก่า ให้ใหม่ : Refocus Heritage เป็นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด ‘มรดก’ ในหลากหลายมิติมากขึ้น ซึ่งหลายๆ คนอาจคิดว่างานอนุรักษ์อาคารหรือเรื่องมรดกสถาปัตยกรรมเป็นเรื่องไกลตัว ดูเป็นรูปธรรม เป็นหน้าที่ของกรมศิลปากรหรือนักอนุรักษ์เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราก็ล้วนเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ทั้งสิ้น เช่น คนที่มีบ้านเก่าต้องการจะปรับปรุงอาคาร ตลอดจนการพัฒนาเมืองหรือชุมชน อย่างที่เรามักจะเห็นชุมชนสร้างสรรค์ในย่านเก่าแก่ที่เกิดขึ้นและก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากมาย งานสถาปนิก ’63 จึงเป็นตัวช่วยที่ทำให้เห็นภาพและเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้ง่ายมากขึ้น”  

สิ่งน่าสนใจภายในพื้นที่นิทรรศการธีมงานที่เพิ่มมากขึ้นจากปีก่อนๆ
งานสถาปนิกจัดขึ้นบนพื้นที่ 75,000 ตารางเมตร โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือส่วนจัดแสดงสินค้าที่รวมผู้แสดงสินค้าจากทั่วโลกกว่า 850 ราย และพื้นที่นิทรรศการธีมงาน (Themeatic Exhibitions) ซึ่งภายในปีนี้จัดให้มากขึ้นโดยมีพื้นที่ถึง 5,000 ตารางเมตร และเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการก่อสร้างรูปลักษณ์ที่ล้ำสมัย สะท้อนแนวคิดจากอดีต โดยคุณวสุ ยังบอกอีกด้วยว่าวัสดุทั้งหมดที่นำมาใช้ในการจัดงานจะถูกนำกลับไปใช้ใหม่ทั้งหมด ซึ่งภายในงานจะมีโซนที่ให้ทั้งความเพลิดเพลินและให้ความรู้มากมาย ได้แก่

นิทรรศการช่างกับงานมรดก เป็นโซนโรงหนังเล็กๆ ที่มีกิจกรรมฉายหนังสั้นมรดก 63 ซึ่งเป็นการรวบรวม 63 ความเห็นที่หลากหลายของคนในสังคมที่มีต่อการอนุรักษ์ และนำเอาวัสดุพื้นที่อย่างไม้ไผ่มาทำเป็นโครงสร้างของโรงหนัง เพื่อนำเสนอคุณค่าของวัสดุพื้นถิ่นและเทคนิคพื้นบ้านที่หาชมได้ยากและยังสามารถนำมาก่อสร้างเพื่อตอบสนองฟังก์ชันของการใช้งานได้


นิทรรศการวิกฤตมรดกบนโลกออนไลน์
เป็นการเลือกประเด็นต่างๆ ที่เป็นที่พูดถึงในโลกโซเชียล เช่น การรื้อโบราณสถาน การบูรณะซ่อมแซมวัดแบบขาดความรู้ความเข้าใจ เพื่อชวนให้บุคคลทั่วไป ไปจนถึงผู้ดูแลสมบัติสาธารณะของประเทศมาช่วยกันตั้งคำถามและหาคำตอบเกี่ยวกับประเด็นต่างๆที่มีผลกระทบในวงกว้าง ให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง

การประกวดแบบสถาปัตยกรรมระดับชาติ ในส่วนของการประกวดออกแบบประจำงานสถาปนิกในปี’63 นี้จะแตกต่างจากเดิม โดยมีการยกระดับให้เป็น การประกวดแบบสถาปัตยกรรมระดับชาติ ภายใต้แนวคิด ‘Everyday Heritage’ ผ่านการนำเสนอสิ่งง่ายๆ รอบตัวว่าสามารถนำมาสร้างสรรค์เป็นอะไรได้บ้าง และเปิดโอกาสให้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มนักเรียนมัธยมที่สามารถใช้รางวัลนี้เพื่อการต่อยอดทางการศึกษาได้


อีกโซนหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงคือ นิทรรศการรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ซึ่งในปีนี้ได้มีการยกระดับมาตรฐานการตัดสินโดยใช้เกณฑ์เดียวกับรางวัล UNESCO เลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีโซน นิทรรศการรางวัลสถาปัตยกรรมเด่นประจำปี 2563 ซึ่งรวมที่สุดของผลงานด้านออกแบบอาคารใหม่ที่ถูกคัดเลือกโดยสมาคมสถาปนิกสยามฯ และ นิทรรศการปฏิบัติการกู้ชีพอาคารเก่า (Heritage in Danger) ที่นำเสนอผลงานของเหล่านักศึกษาสถาปัตยกรรมจากทั่วประเทศ ในโจทย์ของการออกแบบเพื่อฟื้นฟูมรดกทางสถาปัตยกรรมในชุมชนที่สถาบันการศึกษานั้นตั้งอยู่



นอกจากนี้ยังมีพื้นที่กิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมายอย่าง ลานอาษา ซึ่งถือเป็นพื้นที่สันทนาการสำหรับผู้เข้าชมทุกกลุ่ม ทุกวัยและยังเป็นพื้นที่ของกิจกรรมต่างๆ เช่นการบรรยาย เวิร์คช็อป ซึ่งจะหมุนเวียนกันไปตลอดระยะเวลาในการจัดงาน 6 วันเต็มๆ มีการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยที่ใช้ในงานอนุรักษ์ อย่างการแสกนวัตถุสามมิติมาสาธิตให้ได้ชมกัน และยังมีกิจกรรม หมอบ้านอาษา ที่บริการให้คำปรึกษาปัญหาการออกแบบและก่อสร้างโดยสถาปนิก วิศวกรและผู้เชี่ยวชาญในสายอาชีพนั้นโดยตรง

และสำหรับใครที่เป็นสถาปนิก ก็มีกิจกรรมดีๆ ในพื้นที่ อาษาฟอรั่ม (ASA Forum) ที่พลาดไม่ได้กับเวทีบรรยายด้านสถาปัตยกรรมระดับนานาชาติ โซน อาษาคลับ พื้นที่พบปะสังสรรค์สำหรับสมาชิกสมาคมสถาปนิกสยามฯ และ ร้านอาษา (ASA Shop) และร้านหนังสือที่มีการปรับรูปแบบใหม่ โดยนำเสนอหนังสือสถาปัตย์ดีๆ มากมายที่อาจหาไม่ได้ตามร้านหนังสือทั่วไป และยังมีการเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ๆ ในงานอีกด้วย



พื้นที่จัดแสดงสินค้าที่ยกระดับสู่นานาชาติ

ซึ่งในบริเวณส่วนนี้ได้ บริษัท เอ็น.ซี.ซี เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด หรือนีโอ ผู้บริหารงานสถาปนิก’63 มาดูแลในส่วนนี้เป็นหลัก โดยภายในปีนี้จะมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่จัดแสดงสินค้า เพื่อรองรับผู้ร่วมแสดงสินค้าจากทั้งในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีโซนพิเศษที่มีการจัดกิจกรรม Inno-talks เวทีที่รวมผู้เชี่ยวชาญในวงการมาบอกเล่าถึงเทคโนโลยีเพื่องานสถาปัตยกรรมและการก่อสร้าง และยังเพิ่มโอกาสทางธุรกิจจากแคมเปญ Buyer Program ทำให้ผู้ร่วมแสดงได้พบกับกลุ่มผู้ซื้อภายในงาน ช่วยเพิ่มโอกาสการต่อยอดทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในระดับเอเชียด้วย


แนวคิด ‘มองเก่า ให้ใหม่’ คำว่า Refocus นั้น ไม่เพียงแต่ทำให้เราย้อนกลับมามองดูมรดกทางสถาปัตยกรรมนี้อีกครั้ง แต่รวมถึงการปรับความเข้าใจด้านการรับรู้ที่มีต่อมรดกสถาปัตยกรรม เพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างอาคารรุ่นเก่าและอาคารใหม่ร่วมสมัย ซึ่งจะช่วยทำให้มุมมองต่อมรดกทางสถาปัตยกรรมนั้นกว้างขวางและมีหลากหมายมิติมากขึ้น ท่ามกลางความหลากหลายของอาชีพ ความแตกต่างทางยุคสมัยจากผู้เข้าชม ทำให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมและตระหนักได้ถึงบทบาทของ มรดก และส่งต่อสิ่งที่มีคุณค่าเหล่านี้ให้สามารถดำรงอยู่ได้ในสังคมที่จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading