จากความต้องการเริ่มต้นของเจ้าของที่ต้องการแบ่งบ้านสามหลังสำหรับสมาชิกครอบครัวรุ่นใหม่กลายมาเป็นบ้านหลังใหญ่ที่มีพื้นที่ส่วนกลางเป็นศูนย์รวมหัวใจของครอบครัว ทั้งหมดเกิดจากการพูดคุย สังเคราะห์ความรู้สึก สร้างสรรค์ของคุณเผดิมเกียรติ สุขกันต์ แห่ง Studiomiti จนกลายเป็นบ้าน สถาปัตยกรรมเพื่อการอยู่อาศัย และรวบรวมหัวใจของสมาชิกทุกรุ่น
“ตอนคุยกันกับครอบครัวนี้ครั้งแรก สิ่งที่ผมเห็นคือ เขาเป็นครอบครัวที่สนิทกันมากทั้งพี่น้องกับคุณแม่ ก็เลยคิดว่า ถ้าทำบ้านให้เขามีพื้นที่ทั้งของตัวเองและพื้นที่ส่วนรวม เพราะลูกชายทั้งสองคนต่างก็มีครอบครัวแล้ว แต่ละครอบครัวก็ย่อมต้องการเติบโตในครอบครัวของเขาเอง แต่ขณะเดียวกัน คุณแม่จะอยู่อย่างไรถ้าลูกแตกแยกบ้านไป การ connect กันก็จะน้อยลง เราจึงปรึกษากับเจ้าของขอวางแปลนนิ่งใหม่ให้กับบ้านดีกว่า ซึ่งเจ้าของก็บอกว่าได้ จึงเริ่มต้นดีไซน์บ้านหลังนี้”
การวางผังพื้นจึงเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวไปพร้อมกับการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว เริ่มต้นจากการกำหนดที่จอดรถไว้ส่วนหน้าสุดของบ้านให้เพียงพอกับจำนวนรถของสมาชิก จากนั้นจึงเริ่มวางตำแหน่งของตัวบ้านเป็นรูปตัว L 2ตัวประกบกันแบบหัวท้าย โดยมีเงื่อนไขเป็นเลนโบว์ลิ่งความยาว 25 เมตรของลูกชายคนโตซึ่งเป็นนักโบว์ลิ่งทีมชาติ จึงจัดสรรพื้นที่ส่วนที่ยาวที่สุดสำหรับบ้านหลังแรก
“เพราะขอบเขตของบ้านรอบด้านติดกับไซต์อื่นที่ไม่มีอะไรน่าสนใจ เราจึงต้องสร้างบรรยากาศเป็นของตัวเองจากด้านใน คอร์ตตรงกลางจึงกลายเป็นสระว่ายน้ำที่ใช้ว่ายออกกำลังได้จริง ล้อมรอบด้วยบานเฟี้ยม เพราะน้ำช่วยลดความร้อนที่จะเข้าสู่บ้านจึงไม่ได้ร้อนมาก อีกอย่างคือเราทำเป็นคอร์ตซ้อนคอร์ต คือมีคอร์ตด้านนอกแล้วก็มีคอร์ตกลางอยู่ด้านใน ฝั่งหน้าบ้านเป็นบ่อเลี้ยงปลา สวนเล็กๆ อีกฝั่งกลายเป็นพื้นที่เอ๊าต์ดอร์ลานเด็กเล่น ที่อนาคตจะกลายเป็นพื้นที่สังสรรค์ของครอบครัว”
บานเฟี้ยมและบานหน้าต่างทั้งหมด เจ้าของบ้านเลือกใช้งานกรอบประตูหน้าต่างของ ทอสเท็ม (TOSTEM) จากการที่ได้ทดลองใช้และสัมผัสด้วยตัวเอง ซึ่งข้อดีที่สวมกันได้กับความต้องการใช้งานพื้นที่คือ โปรไฟล์ที่ทำได้สูงเกือบ 3 เมตรตามงานดีไซน์ของตัวบ้าน วิธีการรีดน้ำ การติดตั้งที่แน่นหนา รวมทั้งระดับของพื้นภายในและภายนอกที่เกือบเสมอกัน ซึ่งระบบรางของ ทอสเท็ม (TOSTEM) ก็ตอบโจทย์ข้อนี้ได้ และที่สำคัญสำหรับบ้านที่มีสมาชิกหลากหลายวัยคือ อุปกรณ์ประกอบหน้าบานและฟิตติ้งไม่ได้ทำให้สมาชิกในบ้านรู้สึกว่าใช้งานยากหรือลำบากที่ต้องใช้ สเปซทุกส่วนที่ออกแบบมาจึงถูกใช้งานเพื่อครอบครัวได้อย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
สิ่งที่สถาปนิกเน้นหนักและให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกสุดคือ ความเป็นส่วนตัว “ตัวเอง เพราะปัญหามันเริ่มมาจาก สังคมประเทศไทยมันจะเริ่มเป็นสังคมผู้สูงอายุ แม้กระทั่งคนแก่ก็ถูกทิ้งไว้ที่บ้าน ถ้าเราสามารถจัดการพื้นที่ให้เรามีทั้งพื้นที่ส่วนตัวด้วย และเราสามารถดูแลพ่อแม่ของตัวเองได้ด้วย มันจะเพอร์เฟ็กต์ และก็อยู่กันจนเป็นบ้านตระกูล”
การจัดสรรพื้นที่ภายในจึงถูกขยับเคลื่อนย้ายเพื่อให้มุมมองจากแต่ละบ้านไม่ให้มองเห็นกิจกรรมของกันและกันมากจนเกินไป เช่น หากมองในระนาบของแปลนจะพบว่า ห้องนั่งเล่นของบ้านหลังแรกจะตรงกับส่วนทางเข้าของบ้านอีกหลัง ขณะที่ห้องนั่งเล่นของบ้านอีกหลังจะตรงกับบันไดกับบ้านหลังแรก นั่นทำให้บ้านแต่ละหลังรู้สึกเป็นส่วนตัวอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็จะมีห้องนั่งเล่นตรงกลางของบ้าน เป็นพื้นที่ให้ผู้ใหญ่ยังได้มองเห็นกิจกรรมเหมือนกับยังได้ดูแลลูกหลานอยู่เสมอ
คาแร็กเตอร์ของเจ้าของบ้านแต่ละหลังสะท้อนอย่างชัดเจนผ่านงานดีไซน์ การเลือกใช้วัสดุ และการจัดสรรฟังก์ชั่นใช้งานในบ้าน บ้านหลังแรกของพี่ชายคนโตตกแต่งด้วยสไตล์แบบอินดัสเทรียลลอฟต์และมีความยืดหยุ่นของโปรแกรมใช้งาน ส่วนบ้านของน้องชายจะเรียบร้อยและดูแลรักษาง่าย จึงเน้นการใช้ตู้เก็บของบิลท์อินเพื่อเว้นพื้นที่ส่วนกลางให้ดูเรียบง่ายสบายตา และบ้านส่วนกลางของคุณแม่จะเป็นโมเดิร์นที่เน้นงานไม้จริงตามความชื่นชอบ
“ทั้งหมดทั้งมวลเป็นการแชร์การดีไซน์ ผมเป็น lead ก่อน แล้วก็ให้เจ้าของบ้านว่าชอบไหม บางส่วนเจ้าของบ้านก็จะเป็นคนลีด ในส่วนที่เขาชอบมากๆ และรีเควสมาเลยว่าต้องการ ตัวอย่างเช่นบ้านของพี่ชายคนโต เขาก็เสนอว่าสามารถเป็นห้องกระจกได้หมดเลยนะ มีแขวนๆ ไม่ต้องมีบานประตูบ้างก็ได้ และก็มีความยืดหยุ่นทางโปรแกรมค่อนข้างสูง อย่างพื้นที่บางพื้นที่เราอาจจะสงสัยว่าควรเป็นอะไรดี แต่เจ้าของก็จะครีเอตโปรแกรมช่วยเราได้ว่า เป็นอันนี้สิ ผมใช้ได้ พี่ทำเลย และก็ทำงานดีไซน์ด้วยกันได้ผลลัพธ์น่าสนใจ”
เพราะสถาปัตยกรรมที่มีเส้นสายเฉียบคม สถาปนิกจึงเลือกใช้ต้นไม้มาช่วยเบรกเพื่อสร้างบรรยากาศอบอุ่นของความเป็นบ้านให้เป็นมิตรขึ้นอีก “หรืออย่างต้นหลิวซึ่งใบมันร่วงเยอะ แต่ว่าผมเชื่อว่ามันทำให้บ้านมันซอฟต์ แล้วมันแลกกันได้ เช่นกันถ้าใบหลิวมันเยอะ ก็เปิดน้ำให้ระบบโฟลว์ก็ดันใบออกไป แล้วใช้คนตักบ้าง ไม่ได้ลำบากขนาดนั้น ซึ่งตอนแรกก็โดนคัดค้านเยอะ แต่ผมก็เชื่อว่าบ้านมันดีไซน์ค่อนข้างคม ตัวอาคารมันคม ต่อให้เราใช้ไม้มาช่วย แต่เส้นสายมันยังคมอยู่ เพราะฉะนั้นการได้ฟอร์มที่ออร์แกนิคมาช่วยมันเยอะๆ มันจะทำให้บ้านมันซอฟต์ลง”
สุดท้ายแล้ว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่บ้านที่เป็นส่วนตัวตามจุดประสงค์ตั้งต้นที่ตั้งไว้แต่แรก แต่ยังตามมาซึ่งการรักษาความสัมพันธ์ที่ช่วยสร้างบ้านของตระกูลหลังนี้ให้เกิดขึ้นได้จริง
“ผมแฮ็ปปี้ที่เห็นเขาอยู่ด้วยกัน ผมยังจำวันที่คุยกันวันแรกๆ พี่น้องคุณแม่แชร์กัน ตอนนี้ภาพนั้นยังอยู่ แล้วกลับมีตัวน้อย ๆ เพิ่มขึ้นมา แล้วก็มีสเปซของสองพี่น้อง ว่ายน้ำเล่น มีคุณภาพชีวิต เห็นเรื่องนั้นมากกว่า แล้วทุกคนก็ได้ดูแลคุณแม่ ผมว่าเรื่องนั้นเป็นพ้อยท์หลักตอนที่ออกแบบบ้านหลังนี้เลย ไม่ได้เป็นเรื่องของฟอร์ม หน้าตา อันนั้นเป็นเรื่องของความชอบ เป็นแค่การจัดการให้อยู่อย่างสบายและมีความสุข”
ขอขอบคุณ
คุณเผดิมเกียรติ สุขกันต์ แห่ง Studiomiti
TOSTEM Thailand