OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

สำรวจเบื้องหลัง Tiny Museum พิพิธภัณฑ์สีแดงชาดที่ออกแบบโดยตั้งต้นจากคุณค่าทางประวัติศาสตร์

การเข้าถึงโบราณสถานหรือโบราณวัตถุที่คนมักมองข้าม จำเป็นต้องใช้ภาพลักษณ์สวยงาม เพื่อดึงดูดคนยุคปัจจุบันให้หันมาสนใจ การสร้างพิพิธภัณฑ์ด้วยรูปโฉมใหม่ สร้างเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของความอยากรู้อยากเห็น และกระตุ้นผู้คนให้เข้าไปค้นหา

Tiny Museum ไม่เพียงแต่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ทำหน้าที่จัดแสดงและเก็บรักษาสมบัติล้ำค่าอันเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ แต่ยังเปรียบเสมือนประตูที่เปิดไปสู่โลกอีกใบที่ตั้งใจเชื่อมโยงระหว่างคุณค่าอันงดงามของเรื่องราวในอดีตกับคนรุ่นใหม่เข้าไว้ด้วยกัน

เปลี่ยนที่เก็บสะสมกเบื้องจานเก่าให้เป็นพิพิธภัณฑ์
ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อ ‘กเบื้องจาน’ เรานึกถึงภาชนะรูปกลมแบนใช้ใส่อาหารหรือไม่ก็วัสดุที่ผลิตจากดินเผา แต่ความจริงแล้วกเบื้องจานในที่นี้กลับคือ หนังสือที่ใช้บันทึกเรื่องราวหรือจดหมายที่เขียนส่งข้อความถึงกันของผู้คนในอดีต โดยเป็นการเขียนอังขระลงไปบนพื้นผิวแผ่นกเบื้องจานที่มีลักษณะเป็นดินอัดแผ่นผสมยางกระบก ในวันนี้กเบื้องจานถือเป็นของล้ำค่าที่ถูกเก็บอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี อยู่ภายในวัดโสมนัสราชวรวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย จังหวัดกรุงเทพฯ

กเบื้องจานไทยโบราณ

และเป็นข่าวดีที่สถานที่เดิมในการเก็บกเบื้องจานเก่าแก่เหล่านี้ ได้ถูกรีโนเวทขึ้นมาใหม่ให้กลายเป็นมากกว่าพื้นที่เก็บรักษา แต่ยังเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ที่มีชื่อว่า Tiny Museum หรือที่อ่านออกเสียงเล่นเป็นคำไทยว่า ‘ไทยนี่มิวเซียม’ โดยมี คุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิกรางวัลศิลปาธรจาก Walllasia เป็นเจ้าของผลงานการออกแบบพิพิธภัณฑ์ และคุณวรรณฤทธ์ ปราโมช ณ อยุธยา ฐานข้อมูลกเบื้องจาน ผู้ศึกษาและค้นคว้าวิจัย ในความอุปถัมภ์ของมูลนิธิพระราชกวี (มพอ.) เป็นอีกบุคคลสำคัญที่มีความตั้งใจริเริ่มให้เกิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้น

คุณสุริยะและคุณวรรณฤทธ์ สถาปนิกผู้ออกแบบและผู้ดูแลภาพรวมของพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ แห่งนี้ยิ้มต้อนรับเราอย่างใจดี ก่อนพาเดินสำรวจจุดต่าง ๆ พลางเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของโครงการนี้ว่า แรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เกิดพิพิธภัณฑ์มาจาก เจ้าคุณอ่ำ (อ่ำ ธมฺมทตฺโต) หรือพระราชกวีแห่งวัดโสมนัสวรวิหาร ที่เป็นคนเก็บสะสมและค้นคว้ากเบื้องจานเหล่านี้มาตั้งแต่ต้น แต่ภายหลังเมื่อเจ้าคุณอ่ำมรณภาพในปี พ.ศ. 2535 กเบื้องจานถูกย้ายมาอยู่ในความดูแลของ พระสิริปัญญามุนี หรือเจ้าคุณเต็ม เจ้าคณะ ๑ วัดโสมนัสราชวรวิหาร

คุณวรรณฤทธ์เห็นว่า เดิมทีกเบื้องจานไม่ได้ถูกเก็บรักษาไว้ในสภาพที่เหมาะสมทั้งที่เป็นของมีค่า เลยคิดอยากต่อยอดพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยมีพระสิริปัญญามุนี (เจ้าคุณเต็ม) นี่แหละที่เป็นบุคคลสำคัญที่สนับสนุนให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดขึ้นมาได้ ประกอบกับบังเอิญไปเจอคุณสุริยะ ซึ่งเป็นสถาปนิกที่มาบรรยายเรื่องวิธีทำงานออกแบบ ปรัชญา และความเชื่อ ที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนินพอดี จึงมีโอกาสได้พูดคุยกันและชักชวนให้มาร่วมโครงการนี้

คุณวรรณฤทธ์ ปราโมช ณ อยุธยา ฐานข้อมูลกเบื้องจาน ผู้ศึกษาและค้นคว้าวิจัย ในความอุปถัมภ์ของมูลนิธิพระราชกวี (มพอ.)

คอนเซปต์หีบสมบัติล้ำค่าสีแดงชาด
เมื่อเดินเข้ามาด้านในวัด หากไม่สังเกตดี ๆ อาจไม่เห็นว่า ตรอกเล็ก ๆ ระหว่างกุฏิพระสองหลังในวัดโสมนัสราชวรวิหารขนาด 16 ตร.ม. คือที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ Tiny Museum

“ที่เล็กไม่ใช่ปัญหา” คุณสุริยะเล่า “คอนเซปต์ในการออกแบบของเราคือหีบสมบัติ จะเป็นเหมือนการนำหีบสมบัติไปวางไว้ระหว่างตึก แล้วขยายหีบให้ใหญ่ และไม่ไปแตะส่วนของอาคารเดิม จุดต่าง ๆ ของอาคารจะยังคงสามารถเห็นถึงผนัง หน้าต่าง และคิ้วบัวที่ถูกเว้นไว้ของอาคารเดิมทั้งหมด เพื่อเชื่อมโยงระหว่างสองสิ่งคือ ส่วนของงานออกแบบและการให้เกียรติสิ่งที่มีอยู่ก่อน”

ออกแบบให้อาคารเปรียบเสมือนหีบที่ไปกั้นอยู่ระหว่างอาคารเก่า

เช่นเดียวกันกับที่มาของการออกแบบอาคารรูปทรงหลังคาจั่ว 45 องศา นอกเหนือจากเป็นองศาที่ทำให้เกิดสภาวะความสบายมากที่สุดแล้ว ยังได้แรงบันดาลใจจากการเห็นว่าหลังคาวัดรอบ ๆ บริเวณทำมุม 45 องศาเหมือนกัน ทำให้กลมกลืนกับอาคารทั้งหมดภายในวัด ซึ่งนับเป็นไอเดียจากการค้นคว้าข้อมูลของคุณวรรณฤทธ์ที่ทางคุณสุริยะหยิบนำมาปรับใช้ในงานออกแบบ เพราะเห็นว่าเป็นการให้เกียรติกับสิ่งที่มีอยู่ผ่านงานออกแบบสถาปัตยกรรม

อาคารรูปทรงหลังคาจั่ว 45 องศา

คุณสุริยะเลือกใช้วัสดุอย่างเหล็กมาเป็นองค์ประกอบหลักในการก่อสร้างตัวอาคาร เนื่องจากเป็นวัสดุที่เหมาะสมในการก่อสร้าง สามารถก่อสร้างได้ง่าย และไม่เปลืองพื้นที่ โดยผสมกับเทคนิคการพับเหล็กเพื่อช่วยให้เกิดความแข็งแรงมากขึ้น ที่สำคัญคือมีกระบวนการที่ไม่รบกวนอาคารเดิม ทำให้ผนังของตัวพิพิธภัณฑ์เกิดเป็นคิ้วบัวลักษณะเหมือนกับอาคารหลักของวัด ซึ่งนับว่าเป็นอีกจุดที่แสดงให้เห็นถึงความพิถีพิถันในการออกแบบ นอกจากนี้เหล็กยังไม่ก่อให้เกิดความชื้นเหมือนวัสดุอื่น ๆ อย่างไม้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่มักสร้างความเสียหายให้กับตัวกเบื้องจาน เนื่องจากความชื้นจะทำให้เกิดเชื้อรา

ลวดลายของเหล็กที่ไม่แตะส่วนของอาคารเดิม

เมื่อเดินต่อเข้าไปภายในอาคารสีแดง ด้านในมีชั้นเหล็กที่ทำจากเหล็กแผ่นตัดประกอบ ตั้งเรียงรายตั้งแต่ประตูทางเข้าจนถึงด้านหลัง ทำหน้าที่จัดเก็บกเบื้องจานที่ใช้บันทึกเรื่องราวและส่งข้อความอายุ 8,000 – 20,000 ปี จำนวนกว่า 847 แผ่น โดยมีขนาดช่องแบ่งตามขนาดของกเบื้องจาน แต่ละชั้นถูกออกแบบให้ยกสูงจากพื้น 13 เซนติเมตร เพื่อง่ายต่อการรักษาและการเยี่ยมชม แม้ว่าชั้นจะทำจากแผ่นเหล็กที่บาง ขนาดหนาเพียง 5 มิลลิเมตร แต่ก็สามารถรับน้ำหนักมาก ๆ ได้

ชั้นวางจัดเก็บกเบื้องจาน

เราสังเกตว่ามีรายละเอียดมากมายที่ซุกซ่อนตามจุดต่าง ๆ ภายในของพิพิธภัณฑ์ถูกออกแบบและคิดมาอย่างดี อย่างการยกพื้นของอาคารให้สูงจากพื้นเดิมในระยะประมาณ 1.5 เซนติเมตร ก็เป็นเพราะสามารถระบายน้ำฝน อีกทั้งยังเป็นระยะที่หนูหรือสัตว์ต่าง ๆ ไม่สามารถลอดผ่านเข้าไปได้

การเลือกใช้สีแดงชาดที่เป็นสีที่ถูกใช้ในวัดเป็นประจำ และยังมีความเกี่ยวข้องกับประตูและหน้าต่างของอาคารต่าง ๆ ในวัดโสมนัสฯ นอกจากเพื่อความกลมกลืนแล้ว ยังจะเป็นสิ่งที่ทำให้คนรุ่นหลัง เกิดการตั้งคำถามต่อว่า สีแดงชาดคือสีอะไร

คุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ สถาปนิก ศิลปินศิลปาธร

โลกอีกใบที่เชื่อมโยงคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมกับคนรุ่นใหม่
“คียเวิร์ดสำคัญของการออกแบบคือ ความปลอดภัย ความยั่งยืน และการเผยแพร่ตัวกเบื้องจาน” แต่นอกเหนือจากสิ่งเหล่านี้ คุณสุริยะเพิ่มเติมถึงความสำคัญของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ว่า “มีเรื่องแบบนี้ในประเทศหรือต่างประเทศเยอะมาก แต่การเชื่อมโยงระหว่างของเก่ากับคนรุ่นใหม่ ยังไม่มีการเชื่อมโยงถึงกันให้เห็นมากนัก นอกเหนือจากการทำให้มูลนิธิพระราชกวีร่วมกับคุณวรรณฤทธ์ที่มีกเบื้องจานเป็นตัวสำคัญ ยังเป็นเรื่องของประเทศชาติ การทำสิ่งเล็ก ๆ ที่ร่วมสมัยแล้วไปซ้อนอยู่ในสิ่งใหญ่ ๆ ที่มีความสำคัญต่อคนสมัยเก่า ทำให้เราได้เชื่อมโยงคนรุ่นใหม่เข้ากับของที่มีอยู่ในอดีต อย่างผลงานชิ้นนี้ก็เป็นการเชื่อมโยงกับวัดโสมนัสฯ ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัย ร.4 แม้แต่ตัวผมเอง ก่อนหน้านี้ก็ยังไม่ได้รู้จักกเบื้องจาน แต่พอได้เข้ามาทำงานนี้จึงได้เรียนรู้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดของงานชิ้นนี้ที่เราอยากเสนอผ่านงานออกแบบ”

ในอนาคตพิพิธภัณฑ์มีความตั้งใจที่จะจัดเป็นนิทรรศการเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับกเบื้องจาน หมุนเวียนไปตามกิจกรรมหรือช่วงเวลาต่าง ๆ รวมถึงจัดทำเป็น Virtual Museum ให้เหมาะกับคนในยุคปัจจุบัน โดยเป็นพื้นที่จัดแสดงและค้นคว้าหาข้อมูลแบบออนไลน์ที่เราสามารถเข้าไปดูภาพรวมของพิพิธภัณฑ์และอ่านเรื่องราวที่อยู่บนกเบื้องจานผ่านภาพ 3 มิติ เพื่อศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับกเบื้องจานวิทยาด้วยตัวเองได้ นอกจากนี้ทั้งคุณสุริยะและคุณวรรณฤทธ์ยังมีความตั้งใจที่จะนำแนวคิดในการออกแบบพิพิธภัณฑ์ในลักษณะนี้ มาปรับใช้กับวัดหรือสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศที่มีโบราณสถานหรือโบราณวัตถุที่กำลังรอให้คนรุ่นใหม่เข้าไปทำความรู้จักและมีโอกาสเข้าถึงมากขึ้น

ทีมสถาปนิกและผู้จัดทำ WALLLASIA
สุริยะ อัมพันศิริรัตน์
ประวิทย์ พูลกำลัง
ศศิประภา รสจันทร์
ปรีณาพร แสงศรี
พนมพร พรมแปง
ณรงค์ชัย ใจใส
ชัชวาล ตุลยนิษก์
Charlotte Matias
จิรวัฒน์ พลสามารถ
ชาญชัย บริบูรณ์ (Graphic Design)
วันชัย เอื้ออัครวงษ์ (Product Design)