OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

With.It Home บ้านรีโนเวทที่สร้างความยืดหยุ่นและหลากหลายของพื้นที่ผ่านสถาปัตยกรรม

Owner : คุณปิยะวัฒน์ บุญกุนะ และ คุณศิริวัฒน์ บุตรศรี
Architect : คุณบดินทร์ เมืองลือ และ คุณพิชชาภา โล่ห์ทอง จาก BodinChapa Architects
Photographs : จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

คงจะดีไม่น้อยหากสถานที่ที่สร้างความสบายใจในการอยู่อาศัยมากที่สุดอย่าง ‘บ้าน’ จะสามารถแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ ไลฟ์สไตล์ หรือตัวตนของผู้อยู่อาศัยออกมา เพราะนอกจากจะส่งเสริมกิจกรรมของการอยู่อาศัยผ่านฟังก์ชันในการใช้งานแล้ว ยังช่วยสร้างความรู้สึกอันแสนพิเศษเมื่ออยู่อาศัยในที่ที่เราสามารถแสดงตัวตนได้อย่างเต็มที่ คุณบดินทร์ เมืองลือ และ คุณพิชชาภา โล่ห์ทอง สองสถาปนิกจาก BodinChapa Architects จึงให้ความสำคัญเรื่องไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่ศัย เป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญของการรีโนเวทบ้าน With.It Home หลังนี้


คุณบดินทร์ เมืองลือ และ คุณพิชชาภา โล่ห์ทอง สองสถาปนิกจาก
BodinChapa Architects

เมื่อพูดถึงชื่อ With.It หลายๆ คนอาจจะพอคุ้นชื่อนี้จากแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังทางอินสตาแกรม โดยทางเจ้าของบ้านเองเป็นทั้งเจ้าของแบรนด์ และดีไซน์เนอร์ ซึ่งมีไลฟ์สไตล์แบบคนรุ่นใหม่ สดใส สนุกสนาน สองสถาปนิกจึงตั้งใจออกแบบให้บ้านสื่อสารออกมาเข้ากับไลฟ์สไตล์ของเจ้าของ ซึ่งอีกหนึ่งโจทย์สำคัญของบ้านหลังนี้ นั่นคือเป็นบ้านที่ผ่านการรีโนเวทมาก่อนแล้วหนึ่งรอบ ในการออกแบบครั้งใหม่ ผู้ออกแบบจึงต้องมองถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่เดิมและแก้ไขฟังก์ชันการใช้งานให้ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ของทางเจ้าของมากขึ้นนั่นเอง 


“เราพยายามให้มีมิติที่หลากหลายมากขึ้น คือเจ้าของสามารถเลือกใช้พื้นที่ในแต่ละที่ได้อย่างหลากหลาย ภาพรวมของบ้านก็จะเป็นภาพรวมที่ยังคงเป็นเรื่องราวเดียวกัน  มีความอบอุ่นในความเป็นบ้านเหมือนเดิม แต่เขาสามารถที่จะสร้างพื้นที่ให้สนุกสนานในรูปแบบของตัวเองได้” คุณพิชชาภา เล่าถึงภาพรวมของบ้านให้เราฟัง ซึ่งแน่นอนว่าเบื้องหลังของบ้านที่สวยงามหลังนี้ที่เราเห็นนั้น มีรายละเอียดของงานออกแบบมากมายที่ซ่อนอยู่


(ภาพส่วนพื้นที่ห้องนั่งเล่นก่อนการปรับปรุง)

ออกแบบใหม่โดยแก้ไขปัญหาพื้นที่เดิม
“เริ่มต้นด้วยการมองว่ามันจะเป็นการแก้ไขปัญหาของพื้นที่เดิม ซึ่งเรามองว่า เจ้าของบ้านจะอยู่ยังไงในพื้นที่ใหม่ เรามองเรื่องของการจัดการพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ภายในบ้าน คือ ตอนที่เรามาดู มันก็มีซอกอับต่างๆ ในบ้านที่เกิดขึ้นจากการที่ไม่ได้วางแผนมาตั้งแต่แรก เราก็ปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้งานขึ้นมาใหม่เพื่อให้ใช้งานให้ดีขึ้น” คุณบดินทร์เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของการออกแบบพื้นที่บ้านหลังนี้ด้วยการปรับเปลี่ยนฟังก์ชันของพื้นที่เดิม


(ภาพบริเวณหน้าบ้านก่อนเกิดการปรับปรุง)

ซึ่งปัญหาหนึ่งที่สถาปนิกพบเมื่อเขามาดูบ้านเดิมคือ ฟังก์ชันของห้องน้ำที่อยู่ลึกและอยู่บริเวณตรงกลางของตัวบ้าน ทำให้บดบังการถ่ายเทอากาศและแสงจากธรรมชาติ ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนฟังก์ชันบางส่วนขึ้นใหม่เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานมากขึ้น โดยเมื่อเข้ามาส่วนภายในของบ้านจะพบกับส่วนห้องนั่งเล่น ซึ่งบริเวณตรงนี้สถาปนิกออกแบบโดยการย้ายตำแหน่งห้องน้ำจากเดิมที่อยู่ลึก ให้มาอยู่บริเวณด้านหน้าของห้องนั่งเล่นแทน เพื่อสะดวกต่อการใช้งานเมื่อมีแขก ช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้ส่วนที่อยู่อาศัยด้านในมากขึ้นอีกด้วย


ประกอบกับการออกแบบส่วนบริเวณหน้าบ้าน จากเดิมที่เข้าถึงจากด้านข้างของบ้านก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นเข้าหน้าบ้านแทน และยังเพิ่มพื้นที่สีเขียวเล็กๆ เข้าไปบริเวณทางเข้าเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับตัวบ้านมากขึ้น นอกจากนั้น บริเวณทางเข้าเดิมด้านข้างของบ้าน มีการปรับเปลี่ยนเป็นทางเข้ารองที่สามารถเปิดระบายอากาศได้บางเวลาที่ไม่ได้เปิดเครื่องปรับอากาศ


อีกหนึ่งส่วนที่เปลี่ยนแปลงจากบ้านหลังเดิมค่อนข้างมากเลยคือ พื้นที่ห้องครัว ซึ่งเดิมอยู่บริเวณใจกลางของบ้าน แต่ด้วยความที่เจ้าของบ้านไม่ได้มีไลฟ์สไตล์ที่ชอบทำอาหาร หรือใช้เวลาอยู่กับครัวมากนัก สถาปนิกจึงเปลี่ยนตำแหน่งของครัว และแยกโซน pantry กับโซนครัวหลัก โดยโซน pantry จะอยู่ภายในและครัวหลักจะอยู่ภายนอกของบ้าน ซึ่งมีข้อดีตรงที่ได้ความเชื่อมต่อของพื้นที่มากขึ้น เกิดความ flow ระบายอากาศได้ดี และช่วยทำให้บ้านดูโปร่ง โล่งมากกว่าเดิมนั่นเอง

(ภาพส่วนห้องครัวเดิมก่อนเกิดการปรับปรุง)


ส่วนพื้นที่ครัวในตำแหน่งเดิมนั้นจะถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่รับประทานอาหาร ซึ่งเป็นเสมือนพื้นที่กึ่งอเนกประสงค์ที่รองรับการจัดปาร์ตี้หรือรับแขกของเจ้าของบ้านได้ นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมกับสวนหลังบ้าน ซึ่งออกแบบโดยใช้ช่องเปิดเดิมแต่ปรับเปลี่ยนวัสดุใหม่ทั้งหมด


เมื่อเดินขึ้นมาบริเวณชั้นสอง ผ่านบันไดหลักของบ้าน เราจะเห็นพื้นที่ระเบียงภายนอกที่ค่อนข้างกว้างขวางและมีสัดส่วนค่อนข้างมาก โดยสถาปนิกเองมองว่าโครงสร้างเก่าของส่วนนี้ค่อนข้างที่จะทรุดโทรมและมีปัญหา จึงออกแบบโครงสร้างขึ้นใหม่โดยเสริมฟังก์ชันของระเบียงนั่งเล่นภายนอกหรือพื้นที่ที่สามารถจัดปาร์ตี้เล็กๆ ได้เข้าไปแทน ทำให้เจ้าของบ้านมีพื้นที่ที่ตอบโจทย์ต่อไลฟ์สไตล์มากขึ้นด้วย

(ภาพส่วนระเบียงชั้นสองก่อนเกิดการปรับปรุง)



ในอีกส่วนหนึ่งของพื้นที่ระเบียง จะถูกออกแบบเป็นห้องนอนสำหรับแขกรวมถึงมีห้องน้ำในตัว โดยเป็นฟังก์ชันที่ทางเจ้าของบ้านต้องการเพิ่มเติม ซึ่งนอกเหนือจากห้องนอนแขกในส่วนนี้แล้ว เนื่องจากทางเจ้าของบ้านทำแบรนด์เสื้อผ้า จึงมักมีเหล่านางแบบหรือกลุ่มเพื่อนมาที่บ้านเพื่อค้างคืน ทำงานหรือต้องแต่งหน้าแต่งตัว ห้องนอนอีกห้องหนึ่งจึงถูกออกแบบให้อยู่ใน

รูปแบบ Dormitory ที่สามารถนอนได้หลายคน รวมถึงมีฟังก์ชันห้องน้ำและห้องแต่งตัวภายในห้องด้วย 



พื้นที่ส่วนสุดท้ายนั่นก็คือ พื้นที่ห้องนอนหลักที่สามารถเชื่อมต่อกับระเบียงด้านหลังบ้านได้ เนื่องจากเดิมระเบียงมีขนาดใหญ่เกินความจำเป็นของบ้าน จึงมีการออกแบบโดยขยายพื้นที่ห้องนอนหลักออกไปบริเวณระเบียงเดิม ทำให้ได้พื้นที่ส่วนนอนเพิ่มมากขึ้นและสามารถแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนได้มากขึ้น โดยจะแบ่งออกเป็น ห้องแต่งตัว ห้องน้ำ และพื้นที่ส่วนนอน โดยพื้นที่ส่วนนอนนั้นจะยังสามารถเชื่อมกับพื้นที่ระเบียงด้านหลังและเชื่อมกับพื้นที่สวนด้านล่างได้ด้วยโครงสร้างของบันไดเวียนเก่าที่ปรับให้เป็นขนาดที่คนเดินได้สบายมากขึ้น





ทันสมัยมากขึ้นด้วยการเปลี่ยนโฉมรูปลักษณ์ของบ้านใหม่ให้มีเอกลักษณ์

เมื่อเรื่องของฟังก์ชันการใช้งานภายในบ้านเริ่มลงตัว ต่อไปจึงเป็นเวลาของการเปลี่ยนโฉมหน้าของบ้านใหม่ โดยองค์ประกอบหลักๆ ที่ค่อนข้างโดดเด่น และสังเกตุได้ง่ายสำหรับบ้านหลังนี้ ก็คือ ‘Translucent façade’ ซึ่งสถาปนิกเองมองว่า การสร้างฟาซาดบริเวณระเบียงนี้เป็นเหมือนกับการสร้างอาณาเขตให้กับผู้อยู่อาศัย ถึงแม้จะอยู่ในพื้นที่ภายนอกแต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกถึงขอบเขตของพื้นที่ที่ชัดเจน รวมถึงช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับเจ้าของบ้าน แต่ก็ไม่ได้ปิดจนทำให้รู้สึกทึบจนเกินไป นอกจากนั้นยังสามารถเปิด-ปิด เมื่อแสงแดดส่องจะเกิดเงา ช่วยสร้างมิติและความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่น่าสนใจให้กับตัวบ้าน และยังทำให้หน้าตาของบ้านดูทันสมัยมากขึ้นด้วย



อีกหนึ่งลักษณะเด่นที่ทำให้บ้านหลังนี้เป็นเอกลักษณ์ ก็คงจะเป็นเส้นโค้ง ที่ซ่อนอยู่แทบจะทุกๆองค์ประกอบของส่วนต่างๆ โดยสถาปนิกเองได้เลือกเส้นโค้งนี้มาใช้ทั้งบริเวณในแปลน รวมถึงกรอบหน้าต่าง ทางเข้าของบ้าน หรือแม้บันไดทางเข้า ซึ่งเส้นโค้งเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นตัวช่วยลบมุมของความเหลี่ยมลง ช่วยเปิดมุมมองให้ไม่เป็นจุดอับกับตัวบ้าน และยังทำให้รู้สึกถึงเส้นสายที่อ่อนโยนและเบาลงอีกด้วย



นอกจากนี้สถาปนิกยังให้เหตุผลเพิ่มเติมกับเราว่า เส้นโค้ง ทั้งหลายเหล่านี้ยังช่วยสะท้อนไลฟ์สไตล์หรือนิสัยของเจ้าของบ้านได้ด้วย เนื่องจากเจ้าของบ้านเองไม่ได้มีคาแรคเตอร์หรือสไตล์ไปทางดิบๆ เท่ๆ การเลือกใช้เส้นโค้งที่มีความอ่อนโยนในตัวเข้ามาเป็นช่วย จึงทำให้เหมาะกับเจ้าของบ้านมากกว่านั่นเอง

 แปลนบ้าน With.It Home ชั้น 1

แปลนบ้าน With.It Home ชั้น 2


‘ความยืดหยุ่นและความหลากหลาย’ โจทย์หลักที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้าน
ด้วยความที่ทางเจ้าของบ้านนั้นเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า ทางเจ้าของจึงให้คีย์เวิร์ดซึ่งกลายมาเป็นโจทย์หลักของสถาปนิก ซึ่งนั่นก็คือ ‘ความต้องการให้บ้านไม่น่าเบื่อ’ นางแบบจากแบรนด์สามารถใช้แต่ละจุดของบ้านเพื่อถ่ายแบบได้ด้วย สถาปนิกและเจ้าของบ้านจึงช่วยกันตีความคำว่าไม่น่าเบื่อจนกลายมาเป็นความหลากหลายของพื้นที่ โดยแต่ละส่วนของบ้านไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ในขณะเดียวกันพื้นที่แต่ละส่วนที่ต่างกันนั้นก็ช่วยสร้างความสนุกให้กับพื้นที่ด้วย

(ภาพส่วนพื้นที่ห้องนั่งเล่นและบันไดเดิมก่อนเกิดการปรับปรุง)



ซึ่งคำว่า ความหลากหลาย ในที่นี้ สองสถาปนิกได้ตีความออกมาทั้งในแง่ของการใช้วัสดุและการออกแบ่งโซนของพื้นที่ โดยในบริเวณห้องรับประทานอาหารกึ่งอเนกประสงค์นี้จะค่อนข้างแตกต่างกับพื้นที่ส่วนอื่นๆของบ้าน โดยถูกออกแบบให้อยู่ในรูปแบบของผนังม่าน ช่วยกั้นโซนพื้นที่เป็นรูปตัวแอล เพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้พื้นที่ ทำให้ทางเจ้าของบ้านสามารถที่จะดีไซน์พื้นที่ได้ในรูปแบบของตัวเอง



นอกจากผนังม่านแล้ว วัสดุที่ใช้ในการออกแบบพื้นที่ส่วนนี้ก็จะมีความแตกต่างจากส่วนอื่นๆ ของบ้าน ซึ่งสถาปนิกเองเลือกใช้วัสดุที่แตกต่างเพื่อสร้างขอบเขตพื้นที่ให้มีความชัดเจน และช่วยเปลี่ยนความรู้สึกของเจ้าของบ้านไม่ให้เกิดความจำเจนั่นเอง รวมทั้งยังออกแบบเพดานแบบเปลือยฝ้าเพื่อทำให้พื้นที่ส่วนนี้มีความโล่ง โปร่งมากขึ้น และมีการเพิ่มลูกเล่นพิเศษด้วยการออกแบบไฟหลากสีสัน เพื่อเพิ่มความสนุกสนานหรือเปลี่ยนพื้นที่นี้ให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการสังสรรค์หรือปาร์ตี้ของเจ้าของบ้านได้อีกด้วย



วัสดุก็ถือเป็นปัจจัยหลักๆ ของบ้านหลังนี้ที่ทำให้เกิดความหลากหลาย  โดยหลักๆ แนวคิดของการเลือกใช้วัสดุภายในบ้านหลังนี้ สถาปนิกต้องการให้บ้านให้ความรู้สึกที่ดูเรียบง่ายและอบอุ่น ประกอบกับกระเบื้องขาวบริเวณบันไดก็เป็นของเดิมที่ผู้ออกแบบรู้สึกว่าควรจะเก็บไว้ จึงมองว่าถ้าได้ส่วนผสมของสีธรรมชาติอย่างไม้ จะช่วยทำให้บ้านดูอบอุ่นมากขึ้น นอกจากนั้นไม้ยังเป็นวัสดุที่ค่อนข้างคงทน สวยได้ในระยะเวลานาน และสีขาวก็ยังมีข้อดีที่ช่วยให้บ้านดูสว่างขึ้นอีกด้วย



แต่ในภาพรวมของบ้านที่มีส่วนประกอบของสีขาวค่อนข้างมาก ผนังผืนใหญ่ส่วนหน้าของห้องนั่งเล่นจึงถูกออกแบบให้มีรายละเอียดที่แตกต่างไป โดยออกแบบให้เป็นผนังสีพ่น ซึ่งมีข้อดีตรงที่ไม่ต้องกังวลว่าในอนาคตผนังจะแตกหรือเป็นรอย ทำให้เกิดความไม่สวยงาม และเมื่อกระทบกับแสง จะมีเงาที่เกิดขึ้นซึ่งแตกต่างจากผนังเรียบทั่วไป เพิ่มมิติของบ้านให้น่าสนใจมากขึ้น



บริเวณของฝ้ายังถูกแก้ปัญหาด้วยการซ่อนระบบแอร์ไว้ภายใน โดยในส่วนนี้นั้นสถาปนิกเลือกใช้เป็นเหล็กเจาะรูกลมเพื่อให้เกิดความคล้ายคลึงและล้อไปกับตัวฟาซาดด้านหน้าของบ้าน และยังสามารถเปิดในเวลาที่ต้องการซ่อมบำรุงแอร์ได้ด้วย ซึ่งเป็นรายละเอียดของงานออกแบบที่ตอบโจทย์ทั้งฟังก์ชันและความสวยงามได้ดีทีเดียว

คิดจะสร้างบ้านทั้งที แน่นอนว่าสถาปัตยกรรมชิ้นนี้จะต้องอยู่กับเราไปอีกอย่างน้อยหลายสิบปีแน่นอน การออกแบบที่ดีจึงเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นที่ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้อยู่อาศัย ความสวยงาม รูปลักษณ์หน้าตา หรือแม้แต่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ภายในบ้าน ซึ่งบ้าน With.it Home หลังนี้ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของบ้านที่ออกแบบอย่างใส่ใจในทุกๆด้านอย่างแท้จริง

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading