สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือที่หลายๆ คนคุ้นกันในชื่อ อาษา (ASA) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวงการสถาปัตยกรรมในบ้านเมืองเราให้ดียิ่งขึ้น หรือสิ่งเกี่ยวข้องกับสมาคมสถาปนิกสยามที่หลายๆ คนรู้จักดีคือ ‘งานอาษา’ หรืองานสถาปนิกนั่นเอง โดยในวันนี้เรามีโอกาสพิเศษที่ได้คุยกับคุณโอ๋ -ชนะ สัมพลัง สถาปนิก รองกรรมการผู้จัดการบริษัทสถาปนิก49 เฮาส์ดีไซน์ จำกัด (A49HD) และว่าที่นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ คนต่อไป ที่จะดำรงวาระในปี พ.ศ. 2563-2565 ซึ่งเราเตรียมคำถามชุดหนึ่งไปถามคุณโอ๋เรื่องภาระหน้าที่ที่เหมือนจะทำให้ชีวิตยุ่งยากขึ้น แต่คำตอบที่ได้กลับมากลับทำให้เรามองภาพของวงการสถาปนิกไทยได้ชัดเจน และยังได้รับความคิดจากมุมมองดีๆของคุณโอ๋กลับมามากมายทีเดียว
DsignSomething : อะไรคือจุดเริ่มต้นของความคิดที่อยากเป็นสถาปนิก รวมถึงที่มาของการเป็นสถาปนิกในชีวิตของคุณโอ๋
คุณโอ๋ ชนะ : ย้อนกลับไปไกลเลย (หัวเราะ) ต้องบอกว่าที่จริงอาชีพสถาปนิกผมไม่เคยรู้จักมาก่อน เพราะครอบครัวเป็นทหาร ตำรวจ แล้วก็ทำนา ทีนี้เวลาโตขึ้นมาเขาก็อยากให้เราเป็นทหาร ตอนนั้นเราก็แค่รู้สึกว่าไม่อยากทำซ้ำ อะไรก็ได้ที่ถ้าพ่อแม่สั่งแล้วจะคิดไปอีกอย่างหนึ่ง และด้วยความที่ตอนเด็กๆ ผมเรียนวัดสังเวช ซึ่งใกล้กับศิลปากร ทุกๆ วันก็จะเดินจากบางลำพูไปศิลปากรไปนั่งอยู่ที่หอศิลป์โบราณข้างหน้า แล้วพอไปบ่อยๆ ก็รู้สึกว่านี่คือสิ่งที่อยากเรียน วันหนึ่งก็เห็นว่ามันมีคณะสถาปัตย์ จัดงาน ‘เด็กไม่กลัวผี’ แล้วเขาก็นำดีไซน์ของผีมาทำเป็นอะไรน่ารักๆ เป็นสิ่งของ เป็นสเปซ พอมีคำนี้เด้งขึ้นมาในหัว ตอนนั้นเราก็เลยคิดว่าวิชาชีพนี้แหละมันน่าจะใช่ แต่สำหรับในยุคผม ถ้าบอกว่าเป็นสถาปนิก เกือบทุกคนจะเข้าใจว่าคือช่างก่อสร้าง สภาพร่างกายเราตอนนั้นก็ดูผอมๆ ตัวเล็กๆ ซีดๆ ยืนอยู่กลางแดดน่าจะล้ม เขาก็เลยพยายามจะถามว่ามันทำอะไร แล้วทำไหวไหม ด้วยความเป็นคนดื้อก็ทำไปเรื่อยๆ แล้วสุดท้ายก็สำเร็จ
คุณชนะ สัมพลัง สถาปนิก รองกรรมการผู้จัดการบริษัทสถาปนิก49 เฮาส์ดีไซน์ จำกัด (A49HD) และว่าที่นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ คนต่อไป
DsignSomething : ผ่านมาจนวันนี้ มีจังหวะที่คุณโอ๋คิดว่าตัวเองเลือกถูกแล้วแหละ หรือมันเป็นทางของเรา มีความคิดเหล่านี้เกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า?
คุณโอ๋ ชนะ : จริงๆ ถ้าเป็นเรื่องของการเป็นสถาปนิก ผมว่ามันมีอันหนึ่งที่น่าสนใจกับน้องๆ ที่จะเป็นสถาปนิก คือด้วยความเป็นเด็กม.6 มันมีประเด็นเรื่องเมื่อเข้ามาเรียน เราไม่รู้หรอกว่าวิชาชีพนี้เหมาะกับเราหรือเปล่า แล้วเรียนใช้เวลาตั้ง 5 ปี เมื่อไหร่เราถึงจะรู้ แต่จริงๆแล้วลึกๆ แล้วผมมองว่าคนที่จะเป็นสถาปนิกมันจะมีความคิดแบบหนึ่งที่จะรู้ตัวเอง รู้สึกว่าทำงานแบบนี้ได้ เพราะมันมีความละเอียดอ่อนของการมองเห็น การวิเคราะห์ และมีความอดทนสูง มันไม่ใช่วิชาชีพที่จะมีแต่ความฝัน เพราะฉะนั้นสำหรับผมการที่เราจะรู้ว่าเราเหมาะกับอาชีพนี้หรือเปล่า มันคือการฝึกอย่างเดียว ฝึกทำให้พลาด พลาดแล้วก็ไปเรียนรู้ต่อ
DsignSomething : บางทีในการเรียนมหาลัยจะมีวิชาที่เขาพูดถึงเรื่องนักศึกษาที่จบไปแล้วจะต้องเจออะไรบ้าง ซึ่งมันคล้ายๆกัน
คุณโอ๋ ชนะ : แต่วิชา practice ของเราไปอยู่ในปี 4 พอเราจะรู้ว่าวิชามันเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง มันคือปี 4 แล้ว แต่ในขณะที่ปีแรกๆ เป็นการเรียนรู้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม แล้วบางคนก็ไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเอาไปใช้ทำอะไร แล้วพอไปดูพื้นที่จริง หรือการไปดู case study ก็เริ่มมีการลอก พอขั้นตอนของการทำงานมันเป็นแบบนี้ หลักสูตรของการเรียนที่อยากให้เด็กเริ่มจาก คิด วิเคราะห์ แล้วใช้เทคนิคต่างๆ มาออกแบบเป็นอาคาร มันก็เลยขาดตอน พอเด็กไม่เขาใจ ทุกคนก็จะรู้สึกท้อว่าเราเรียนอะไรเนี่ย การตั้งหลักของคนที่จะเป็นอาชีพนี้มันเลยดูยากนิดหนึ่ง ผมว่าเดี๋ยวสักพักมันจะสูญพันธ์ เดี๋ยวเด็กๆ จะอยากเรียนคณะนี้น้อยลงจากการพูดของผมวันนี้ (หัวเราะ)
Omar residencece – Bang Sarae, Chon Buri
DsignSomething : เห็นคุณโอ๋ทำงานเป็นสถาปนิกมานานมาก ทัศนคติหรือมุมมองในการเป็นสถาปนิกจริงๆของคุณโอ๋ มีความสัมพันธ์ กับสังคม หรือบ้านเมืองอย่างไร?
คุณโอ๋ ชนะ : ผมว่ามันตอบยากมากเลย ทุกอาชีพในโลกมันสำคัญ แต่สำหรับอาชีพสถาปนิก สร้างอะไรสิ่งหนึ่งขึ้นมา มันก็ต้องทำลายบางสิ่งไป เพราะฉะนั้นเราต้องใช้มันอย่างคุ้มค่าที่สุด มีประโยชน์ที่สุด ให้ผลประโยชน์กับคนที่เราทำให้เขาดีที่สุด ผมว่ามันส่งผลอย่างนั้นแหละ ความสำคัญอยู่ที่เราซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพของเราแค่ไหน พื้นฐานของสถาปัตยกรรม มันก็คือหนึ่งในปัจจัยสี่ พอมันสำคัญ มนุษย์ก็เริ่มทำการอยู่อาศัยให้พิเศษขึ้น พอทำมากๆ สภาพแวดล้อมเริ่มแย่ เราก็เริ่มกลับมาหาความดีใส่ให้มัน เช่น อาคารประหยัดพลังงาน เพราะฉะนั้นผมเลยมองว่า หน้าที่ของเราสำคัญ คนที่จะมาทำหน้าที่ก็ต้องซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ตัวเอง
DsignSomething : เหตุผลหลักในการลงสมัครตำแหน่งนายกสมาคมสถาปนิกคืออะไร?
คุณโอ๋ ชนะ : มันอาจเป็นเรื่องประหลาดนิดหน่อย คือใครก็มองว่า ผมไม่น่ามาเป็นเลย แต่จริงๆ ผมเป็นคนมีเพื่อนเยอะ เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ อยากให้เป็น เราก็รู้สึกว่าถ้าเป็น น่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆ ได้ ถ้ามีโอกาสก็อยากเป็นคนที่เริ่มวิวัฒนาการว่าวิชาชีพนี้มันควรจะโตไปในทิศทางไหน แล้วก็แก้ปัญหาเรื่องอะไร คือมีหลายคนที่มองว่าผมเป็นคนที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างคนรุ่นเก่ากับสถาปนิกรุ่นใหม่ๆ ได้ ผมก็เลยมองว่า ถ้าเข้ามาทำแล้วแค่รับหน้าที่ต่อไป เป็นคนมีชื่อเสียงเฉยๆ ผมก็ไม่อยากได้ เพราะไม่รู้จะเอาชื่อเสียงไปทำอะไร (หัวเราะ)
Pavillion 23 – Wat That Thong ,Bangkok
DsignSomething : สำหรับวงการสถาปนิกไทย ส่วนตัวแล้วคุณโอ๋คิดว่ายังขาดอะไรบ้าง?
คุณโอ๋ ชนะ : ถ้าพูดถึงในตอนนี้ ผมมองว่าเราขาดการเป็นหนึ่ง คือต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างไป ต่างคนต่างโต มันก็เลยไม่มีตัวร่วมที่จะทำให้วงการนี้กลายเป็นที่มองเห็นหรือรู้จักจากโลกภายนอก ผมว่ากลุ่มก้อนของเราไม่ใหญ่พอ ซึ่งตอนนี้คนบางคนก็สามารถดีดตัวขึ้นไปให้โลกเห็นได้ แต่ไม่ใช่สถาปนิกทั้งวง ซึ่งถ้าจะทำ ผมอาจจะเริ่มก่อนที่จะทำให้มันเป็นรูปร่าง แต่ของอย่างนี้มันไม่สามารถจบในปีสองปี มันต้องค่อยๆเป็นค่อยไป
อย่างสิงคโปร์เนี่ย เคยไม่มีชื่อเสียงทางด้านสถาปัตยกรรมมาก่อน แต่ว่าเขามีแผนในระยะเวลาสิบปี จนเขาชูความเป็นเอกลักษณ์ของเขาได้ ความเนี้ยบ เทคโนโลยี เริ่มตั้งแต่เอาคนไทยไปทำงานเรื่อยๆ จนเกิดมาตรฐานหนึ่ง แล้วก็สร้างมาตรฐานใหม่ให้ตนเอง สร้างกลุ่มก้อนของเมืองที่ส่งสถาปนิกตัวเองออกไปทำในประเทศต่างๆ ทำให้ทุกคนเห็นภาพชัดว่า สถาปนิกสิงคโปร์มีคุณภาพสูง
DsignSomething : ซึ่งในการที่จะไปเป็นหนึ่ง หรือยกระดับให้เป็นที่รู้จัก ส่วนหนึ่งคือการจัดงานเพื่อให้รางวัลอย่าง “อาษาอะวอร์ดส์” หรือเปล่า?
คุณโอ๋ ชนะ : อันนี้ขำๆ ดี รางวัลอาษาเนี่ย บางปีมันตลกเนอะ บางปีก็ให้เยอะ บางปีก็น้อยมาก (หัวเราะ) หลักการของมันคืออะไร ผมก็เลยมองว่า ถ้าเรามองภาพของรางวัลใหม่ ให้เป็นเหมือนตัวประชาสัมพันธ์ให้กับประเทศเราด้วย นอกเหนือจากการชื่นชมหรือให้กำลังใจสมาชิก ถ้าเราทำให้เป็นกลุ่มขึ้น กว้างขึ้น ผมมองว่าถ้าเราให้รางวัลนั้นกับคนในอาเซียนด้วยจะเกิดอะไรขึ้น ประเด็นของรางวัลมันอาจไม่ใช่ว่าเรามีสิทธิ์อะไรไปให้รางวัลเขา แต่มันคือการให้เขา เขาก็ให้เรา มันมีผลประโยชน์ร่วมกันได้ แล้วมันก็มีภาพลักษณ์ร่วมกันได้ กลายเป็นรางวัลของเรามันอาจกลายเป็นศูนย์รวม เหมือนรางวัล WAF (World Architecture Festival) ที่เราเอามาคิดว่าเขาทำให้รางวัลเขาดูมีคุณค่าได้อย่างไร
S-HOUSE – Samut Prakan, Bangkok
DsignSomething : ประโยคที่พูดว่า “วงการสถาปนิกในตอนนี้ขาดการเป็นหนึ่ง ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างไป” หมายความว่าอย่างไร?
คุณโอ๋ ชนะ : ต้องท้าวความกลับไป ด้วยความที่ผมมีเพื่อนเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พี่ หรือน้อง สามารถช่วยกันแก้ปัญหาได้ แล้วหลายๆ ครั้งมันเป็นเรื่องของเครื่องมือที่ต้องใช้ อย่างเช่น มีน้องๆออกไปทำงานต่างประเทศ บังเอิญมีคนจีนมาจ้าง ภาษาอังกฤษก็ไม่เก่ง จะแปลยังไง เราก็มีก้อปปี้ส่งให้ มันก็คือการช่วยเหลือเกื้อกูลได้ ซึ่งเราทำอยู่ประจำ คือมันต้องมีคนแบบผมที่เป็นคนกลางแล้วทุกคนเดินมาหาได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะรู้จักผม แต่ทุกคนรู้จักสมาคม ถ้าสมาคมมันมีเจ้าหน้าที่ คน หรือเป็นเหมือนแหล่งรวมข้อมูลที่ไม่ต้องไปหาเอง เพราะบางครั้งต่อให้เราไปหามาเอง เราก็ไม่รู้จะใช้ยังไง มันต้องมีคนให้ปรึกษา ช่วยเหลือ ทำตัวเหมือนเพื่อนที่ช่วยตอบคำถามได้บ้าง หรือช่วยหาคนที่ตอบได้มาช่วยตอบ ผมว่าถ้ามันมีพื้นที่หรือกลุ่มคนที่จะคอยยทำหน้าที่ตรงนี้ให้กับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในวงการได้ มันก็น่าจะดี
DsignSomething : นอกจากทำเครือข่ายให้แข็งแรงแล้ว ในแง่ของภาพลักษณ์สถาปนิกกับบุคคลทั่วไป ที่บางคนเขาไม่รู้จักวิชาชีพนี้เลย เราควรจะดำเนินการหรือมีเครื่องมือที่ช่วยได้บ้างไหม?
คุณโอ๋ ชนะ : ตอนนี้กับคนทั่วไปที่เขาไม่ค่อยรู้จักเพราะเหตุผลอะไร เราอาจจะต้องถามคำถามนั้นกับตัวเองก่อน คนที่อยู่ต่างจังหวัดไม่ได้รู้จักเราเพราะเขาไม่ได้ใช้เรา หรือแม้แต่แม่ผมก็ยังไม่รู้เลยว่าผมทำอะไรอยู่ ทำไมเขาถึงไม่รู้ การประชาสัมพันธ์ตัวเองมันอาจจะต้องใช้เครื่องมือที่ผ่านคนอื่น หรือก็คือสมาคมนี่แหละ ซึ่งทุกวันนี้เราทำหน้าที่ให้ความรู้เขามากกว่า แต่มันไม่มีคนพูดถึงในเชิงของความสำคัญของอาคารนั้นๆ อย่างหนักหน่วง หรือมันอาจจะไปไม่ถึง อย่างยุคก่อนๆ คนรู้จักสถาปนิกเพราะละคร ที่ตัวละครในนั้นที่กลายเป็นพระเอกหน้าตาดี คนถึงจะเริ่มเห็นว่าสถาปนิกทำอะไร ซึ่งบางทีมันอาจจะเป็นอะไรอย่างนั้นแหละ ที่ต้องค่อยๆ ซึมเข้าไป มันอาจจะไม่ใช่วิชาการอย่างเดียว ประกวดแบบอย่างเดียว แน่นอนต้องบอกว่าไปไม่ถึงเขา เขาไม่อยากรู้หรอกว่าอันนี้ได้สถาปัตยกรรมดีเด่น
Ware House112 – Sukhumvit, Bangkok
DsignSomething : คิดว่าถ้าประชาชนทั่วไปในประเทศไทยรู้จักว่า ‘สถาปนิก’ คือใคร มันจะมีความสำคัญและส่งผลดีอย่างไรบ้าง?
คุณโอ๋ ชนะ : ต้องดี เพราะมันจะทำให้เขาเห็นคุณค่าของสิ่งที่เขากำลังจะเสียเงินสร้าง มันมีเมืองหนึ่งที่ผมเพิ่งไปมา คืออุดร พวกตึกเล็กตึกน้อย ที่หน้าตาดูธรรมดาๆ มันแอบซ่อนดีไซน์ไว้ ผมเลยมองไปถึงว่าคนในเมืองนั้นเป็นใคร ทำไมถึงให้ความสำคัญกับสถาปัตยกรรมหรือการอยู่อาศัยขนาดนั้นทั้งๆ ที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว เขาไม่มีทะเล เขาไม่มีวัดที่สวยงามเหมือนเชียงใหม่ เรียกว่าไม่มีอะไรเลยสำหรับผม แต่ทำไมเวลาเดินไปสองสามก้าว เดินไปร้อยเมตร ผมกลับมีความรู้สึกว่า ร้านกาแฟยังสวยเลย อู่ขายรถยังสวย ผมเลยแปลกใจและเป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่า ถ้าคนเข้าใจความสำคัญของสถาปัตยกรรม เขาจะยอมให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ไม่ว่าสเกลมันจะเล็กหรือใหญ่ อันนี้น่าสนใจ
DsignSomething : คุณโอ๋ยังมีแผนจะทำอะไรนอกจากนี้อีกไหม?
คุณโอ๋ ชนะ : ในเรื่องของวิสัยทัศน์ สิ่งที่อยากทำคือเครื่องมือสำหรับวิชาชีพนี่แหละ แล้วก็การที่จะทำให้คนที่เรียนสถาปัตย์มาแต่ไม่ได้ทำหน้าที่นักออกแบบ อาจจะเป็นผู้กำกับ ช่างภาพ คนเขียนแบบ คนตรวจงานก่อสร้าง คือคนเหล่านี้อาจจบสถาปัตย์มาทั้งนั้นเลย แต่พอไม่ได้เป็นสถาปนิก ก็ไม่เคยถูกชูว่ามันสำคัญ ผมก็เลยอยากเปิดเวทีให้คนเหล่านี้ หรือค่อยๆ สอนพวกเด็กๆ ไปเรื่อย ผมว่าเขาจะเรียนสถาปัตย์อย่างมีจุดหมายมากขึ้น ซึ่งอันนี้อาจจะต้องทำเป็นระยะสิบปีเลย เริ่มจากโรงเรียน จากสมาคม จากการที่มีพื้นที่ให้เขาได้แสดงตัวเอง
Ministry of Culture – Huai Khwang, Bangkok
DsignSomething : ซึ่งมองว่าอยากให้เขาเห็นความสำคัญถึงสิ่งที่เขาทำอยู่ เพื่อที่จะทำให้มันดีขึ้นต่อไป
คุณโอ๋ ชนะ : การที่เราจะแก้อะไรก็แล้วแต่ ผมรู้สึกว่าเราต้องแก้ที่ตัวเราเองก่อน ถ้าเราสร้างความเชื่อในอาชีพนั้นได้ว่ามันสำคัญ เขาจะยิ่งพัฒนาในส่วนของเขาให้ดีขึ้นไปอีก คนเขียนแบบอาจจะไม่ได้แค่เขียนตาม เขาก็มีความคิดของตัวเองว่าทำอย่างนี้ผิดแน่นอน หรือคนที่ดูแลเรื่องวัสดุอาจไม่ได้แค่ทำตามแบบที่โยนมาให้ เขาอาจสอดแทรกความรู้ของเขาเข้ามาด้วยก็ได้ มันก็จะพัฒนาในพื้นที่ของตัวเองในทุกๆ ด้าน ซึ่งผมพูดเรื่องเหล่านี้เพราะบริษัทก็ใช้กลยุทธ์เหล่านี้ คือ เราทำให้ทุกๆ คนในองค์กรภูมิใจในหน้าที่ของตัวเอง เพราะเมื่อไหร่ที่เขาภูมิใจ เขาก็จะรู้ว่าเขาสำคัญ และเขาก็จะพัฒนาตัวเองโดยที่เราไม่ต้องสั่ง
DsignSomething : ในอนาคตคิดว่าวงการสถาปัตยกรรมในบ้านเราจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ?
คุณโอ๋ ชนะ : ผมพูดเป็นสองหัวข้อนะ ถ้ามันจะเปลี่ยนแปลง ผมอยากให้มันเปลี่ยนแปลงสองส่วน คือตัวสถาปนิก กับตัวสถาปัตยกรรม อย่างแรกคือสถาปนิก อย่างน้องๆ เนี่ย พี่คิดว่าอยากให้มีความเป็น Professional มากกว่านี้ขึ้นสิบเท่า คือตอนนี้ทุกคนทำงานด้วยแพชชั่น ด้วยความทะยาน บางทีมันก็ดีมาก แต่อยากให้มีความรู้แจ้ง รู้จริง และละเอียดกับทุกอย่างในสิ่งที่เราจะผลิตออกมา คือบางทีมันสนุกจนลืม หรือตื่นเต้นกับงานจนไม่ได้ระวัง แล้ววันหนึ่งมันจะส่งผลเสียต่อทั้งผู้ใช้และตัวเราเอง เวลาที่ผมไปงานต่างประเทศผมจะรู้สึกว่า การสร้างสิ่งที่ไม่แข็งแรง สิ่งที่อันตรายเนี่ย มันเกือบจะไม่มี แต่ในประเทศเราสิ่งเหล่านี้ ผมว่ายังน้อยไป
RENAISSANCE PHUKET RESORT & SPA ,Mai Khao Beach, Phuket
พอสถาปัตยกรรมมันสมบูรณ์ด้วยตัวดีไซน์เนอร์ ผมว่ามันจะก้าวไปอีกขั้นเอง มันจะเริ่มรู้ว่าคาแรคเตอร์ของไทยคืออะไร แล้วถ้าพูดถึงในอนาคตที่ผมอยากให้เป็นเนี่ย คือถ้าวันหนึ่งมันเกิดมีสถาปนิกไทยออกแบบอาคาร แล้วเขารู้เลยว่า อาคารโมเดิร์นแบบนี้คนไทยทำ เหมือนที่เรารู้ว่าอาคารแบบนี้คนญี่ปุ่นทำ ผมอยากเห็นแค่นี้แหละ มันต้องค่อยๆ สอนหรือปลูกฝังกับวงการวิชาชีพของเราไปเรื่อยๆ เพราะไม่อย่างนั้นทุกคนก็อยากจะเป็นคนนั้นคนนี้ ผมอยากให้เราสร้างคาแร็คเตอร์ของเราเอง จะได้ไม่มีใครมาบอกว่าถ้าจะทำอาคารไทยกรุณาใส่จั่วทีเถอะ ถ้าไม่ใส่จั่วจะไม่ใช่ไทย มันก็จะเป็นความเจ็บปวดที่เราก็รู้ๆ กัน (หัวเราะ)
DsignSomething : สุดท้าย อยากฝากอะไรเป็นพิเศษถึงสถาปนิกรุ่นใหม่ที่จะมีบทบาทสำคัญต่อวงการในอนาคต ?
คุณโอ๋ ชนะ : อยากจะพูดตลกๆ เล่นๆ ว่าใครที่อายุต่ำกว่าผมช่วยเตรียมมาเป็นนายกที (หัวเราะ) คือผมมองว่า ผมคือรอยต่อของนายกในอดีตและนายกใหม่ แต่คราวนี้แอบสังเกตว่า พอผมมาเป็นนายกแล้วเนี่ย พอลักษณะของคะแนนมันเปลี่ยน ถ้าน้องๆ หรือเพื่อนๆ ที่อายุประมาณเราเห็นลักษณะการเปลี่ยนแปลงของมัน น่าจะเดาอะไรบางอย่างได้ว่านายกคนถัดมาอาจจะจะไม่ใช่นายกที่อายุเยอะแล้ว สำหรับผมนะการโยนตัวเองเข้ามาเป็นนายก คือการโยนตัวเองเข้ามาช่วยแชร์ปัญหา การเอาตัวเองเข้าไปอยู่ศูนย์กลางของการแก้ปัญหา ตั้งแต่ปัญหาที่ผมแก้ได้ และปัญหาที่ผมต้องฟังจากคนอื่นๆ อันนั้นคือความเป็นนายกที่ดี ถ้าอยากจะฝาก ฝากให้คนที่อยู่แถวๆ ผมนี่แหละ เริ่มคิดว่าสมาคมฯเรา หน้าตาคนถัดไปจากผม ควรจะเป็นใคร แล้วการขับเคลื่อนของมันจะคืออะไร อันนั้นน่าจะสำคัญกว่าหน้าตาคนคนนั้นด้วยซ้ำ
คุณชนะ ทิ้งท้ายถึงสถาปนิกรุ่นใหม่ด้วยประโยคติดตลกนิดๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ชวนให้เราตั้งคำถามถึงหน้าตาของวงการสถาปัตยกรรมในอนาคตได้เป็นอย่างดี