OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

ถอดสเปซฉากบ้าน PARASITE ภาพยนตร์ที่พูดถึงการแบ่งชนชั้น โดยมีสถาปัตยกรรมเป็นตัวช่วย

 *** Spoiler Alert
หลังจากที่งานประกาศผลรางวัลออสการ์ประจำปี 2020ผ่านพ้นไป ก่อนอื่นต้องขอขอแสดงความยินดีกับ Parasite (2019) ภาพยนตร์ตัวเต็งอันดับต้นๆ จากเอเชียที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ได้อย่างสมภาคภูมิ และนอกจากรางวัลสาขาใหญ่ที่สุดอย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแล้วนั้น ยังการันตีความเด็ดของหนังด้วยออสการ์อีก 3 รางวัลซึ่งได้แก่ ผู้กำกับยอดเยี่ยม  รางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม และ รางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมอีกด้วย

แต่สำหรับใครที่ยังไม่ได้ติดตาม Parasite เป็นภาพยนตร์สัญชาติเกาหลีกำกับโดย Bong Joon Ho ที่นำเสนอประเด็น
ความแตกต่างของฐานะยากจนและร่ำรวยผ่านตัวละคร และองค์ประกอบต่างๆ ที่หนังพยายามใส่เข้ามาเพื่อช่วยให้ประเด็นหลักเหล่านี้แข็งแรงขึ้น หนึ่งในองค์ประกอบเหล่านั้นก็เป็นเรื่องของสถาปัตยกรรมนั่นเอง

ภายในหนังจะนำเสนอชีวิต ความเป็นอยู่ และการอยู่อาศัยในบ้าน 2 หลังเป็นหลัก โดยแบ่งเป็นบ้านของคนที่มีฐานะค่อนข้างขัดสน กับคนที่มีฐานะร่ำรวย ซึ่งในเนื้อเรื่องครอบครัวที่มีฐานะต่ำกว่านั้นได้ย้ายเข้ามาทำงานภายในบ้านของคนที่มีฐานะร่ำรวย ซึ่งฉากของบ้านหลังนี้เป็นบ้านที่ทางผู้กำกับ Bong Joon Ho และ Lee Ha Jun ผู้ออกแบบฉากได้ร่วมกันสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ถ่ายหนังโดยเฉพาะ

วันนี้เราจึงขอยกประเด็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจของบ้านหลังนี้มานำเสนอ ซึ่งรับรองว่าน่าสนใจไม่แพ้ประเด็นเสียดสี สนุกเข้มข้น ที่ภาพยนตร์พยายามเล่าให้เราฟังกันเลยทีเดียว



1.จุดเริ่มต้นการปิดบังตัวตน  บ้านที่ปิดทึบแยกส่วนภายนอกและภายในอย่างชัดเจน
เริ่มต้นด้วยฉากที่น้องชายจากบ้านฐานะยากจนปิดบังตัวตนและฐานะที่แท้จริงด้วยการสวมบทบาทเข้ามาทำงานเป็นครูสอนภาษาที่มีความสามารถ นอกจากนั้นยังโกหกด้วยการพาน้องสาวของตนเองเข้ามาเป็นครูสอนศิลปะในบ้านที่มีฐานะสูงกว่าอีกคนหนึ่ง

จากฉากนี้ เมื่อมองจากทางเข้าบ้านเราจะเห็นเพียงแค่ผนังรั้วบ้านที่ถูกออกแบบเป็นกำแพงสูง ทึบตัน ไม่สามารถมองเข้าไปเห็นพื้นที่ภายในได้เลยแม้แต่น้อย คล้ายกับว่าบ้านหลังนี้ต้องการจะปิดบังตนเองจากภายนอกด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้าพูดในแง่ของการออกแบบ รั้วบ้านจากวัสดุทึบตันแบบนี้จะมีข้อดีตรงที่ช่วยสร้างความเป็นส่วนตัว สามารถแยกพื้นที่ภายนอกและภายในได้ชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันถ้าบ้านมีขนาดที่ค่อนข้างจำกัด การทำรั้วแบบนี้จะยิ่งทำให้บ้านดูอึดอัด มืดทึบ และถ่ายเทอากาศได้ยากกว่าด้วย

2.ต่างระดับ ต่างชนชั้นด้วยบ้านยกระดับ
เนื้อหาของหนังพูดถึงความแตกต่างระหว่างฐานะยากจนกับร่ำรวย ทำให้สัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่เรามักเห็นบ่อยๆ ภายในหนังเรื่องนี้ นั่นก็คือ ระดับที่แตกต่าง โดยจะพูดถึงเรื่อง ความสูง ความต่ำ ผ่านขั้นบันได เช่นเดียวกับตัวบ้านหลังนี้ที่เมื่อผ่านประตูทางเข้าหลักมาแล้วเราจะพบกับขั้นบันไดที่พาเราเดินขึ้นไปยังระดับของตัวบ้านซึ่งอยู่สูงกว่าระดับพื้นดิน เพิ่มความน่าสนใจและความเป็นส่วนตัวให้กับบ้านมากขึ้น เนื่องจากเราจะค่อยๆ เห็นพื้นที่ของบ้านทีละส่วนๆ และคนในบ้านก็จะสามารถทำกิจกรรมได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกมองเห็นจากภายนอก

อีกรายละเอียดเล็กๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ภายในหนังจะเห็นได้ว่า ในฉากที่ตัวละครจากครอบครัวคิมผู้ขัดสนเดินขึ้นบันไดมาเจอกับตัวบ้านของครอบครัวเศรษฐีเป็นครั้งแรก สีหน้าจะเต็มไปด้วยความรู้สึกตื่นตา ตื่นใจ และสนใจในตัวบ้านเป็นพิเศษราวกับว่าไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งตัวฉากเองก็พาให้เรารู้สึกเช่นเดียวกัน ด้วยความที่พื้นที่ภายนอกค่อนข้างปิดบวกกับพื้นที่ต่างระดับ ทำให้บ้านหลังนี้ดูเข้าถึงยากกว่าที่ควรจะเป็นนั่นเอง



3.กระจกบานใหญ่ในห้องนั่งเล่น พื้นที่หลักของการใช้ชีวิตในครอบครัว
เมื่อเดินผ่านบันไดเข้ามาพื้นที่ที่พบเป็นส่วนต่อไปก็คือ ห้องนั่งเล่นของครอบครัว ซึ่งหากใครที่ดูหนังเรื่องนี้มาแล้วก็คงจะจดจำหน้าต่างบานนี้ได้อย่างแน่นอน นอกจากจะเป็นองค์ประกอบที่บ่งบอกถึงความแตกต่างทางฐานะที่หนังต้องการจะจิกกัดแล้ว ในแง่ของการออกแบบ หน้าต่างบานนี้ยังทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกซึ่งเต็มไปด้วยธรรมชาติจากพื้นที่สีเขียวและแสงธรรมชาติที่ส่องเข้ามาอย่างเต็มที่อีกด้วย

ซึ่งในหนังจะมีหลายฉากที่เราเห็นว่าลูกๆ ของครอบครัวปาร์คผู้ร่ำรวยนั้นจะออกมากางเต็นท์เล่นภายในสวนด้านนอก พื้นที่ห้องนั่งเล่นจึงกลายเป็นพื้นที่ของพ่อแม่ที่สามารถมองเห็นลูกผ่านกระจกบานใหญ่ได้ นอกจากนั้นเรายังสังเกตเห็นว่าถึงแม้จะเป็นครอบครัวของคนร่ำรวยแต่ในห้องนั่งเล่นกลับไม่มีโทรทัศน์ ซึ่งคุณ Bong Joon Ho ผู้กำกับ ตั้งใจสร้างขนาดกระจกบานนี้ให้มีสัดส่วน 2:35:1 เพื่อให้คล้ายคลึงกับลักษณะของจอภาพ หน้าต่างกระจกที่มีโครงสร้างสูงถึงเพดานนี้จึงเปิดมุมมองให้ดื่มด่ำบรรยากาศจากวิวธรรมชาติแทนทีวีในห้องนั่งเล่นแบบบ้านปกติ ส่วนหนึ่งก็เพื่อแสดงถึงรสนิยมที่มากกว่าด้วยนั่นเอง



4.แบ่งสัดส่วนพื้นที่ชัดเจนด้วยบันไดกลางบ้าน จุดเชื่อมต่อของทุกตัวละคร
แม้ความเป็นจริงผู้ออกแบบบ้านในเรื่องจะไม่ใช่สถาปนิก แต่กลับเป็นฝีมือการออกแบบจากผู้กำกับและผู้ออกแบบฉาก โดยให้ความสำคัญกับมุมกล้องและอารมณ์ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละฉาก แต่ด้วยเนื้อหาภายในเรื่องที่บอกเล่าว่าบ้านหลังนี้ถูกออกแบบโดยสถาปนิกท่านหนึ่ง เราจึงเห็นองค์ประกอบที่น่าสนใจมากมายที่ปรากฏอยู่ เช่น บันไดบริเวณกลางบ้านที่เป็นทั้งจุดเชื่อมต่อพื้นที่และจุดเชื่อมต่อของทุกตัวละคร

โดยในบ้านหลังนี้เราสังเกตุเห็นฉากบันไดบริเวณกลางบ้าน ซึ่งเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมต่อหลายๆ อย่างเข้าไว้ด้วยกัน อย่างเช่นพื้นที่ส่วนชั้น 1และชั้น 2 ซึ่งการวางบันไดไว้ส่วนกลางของบ้านก็จะช่วยแบ่งพื้นที่ส่วนอื่นๆ ให้เป็นสัดเป็นส่วนมากขึ้น อย่างในบ้านหลังนี้ ห้องครัวและห้องนั่งเล่นก็จะแยกออกจากกันอย่างชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถมองเห็นซึ่งกันและกันได้ซึ่งเมื่อมองด้วยสายตาจะเป็นสเปซที่เชื่อมต่อยาวทั้งบ้าน

5.ใส่ใจรายละเอียดด้วยสีของวัสดุ เน้นความแตกต่างระหว่างภายนอกและภายใน
อีกหนึ่งรายละเอียดที่เราสังเกตุได้จากบ้านหลังนี้ นั่นคือ ภาพรวมของโทนสีวัสดุที่เลือกใช้ ซึ่งส่วนมากจะเป็นโทนสีที่ค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกัน เช่น สีจากไม้ธรรมชาติ สีขาวและสีเทา ซึ่งถ้ามองในมุมของหนังที่พูดเรื่องความแตกต่างทางฐานะแล้ว วัสดุก็คงเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ถึงแม้จะเล็กน้อยมากๆ แต่ก็ส่งเสริมให้เราเห็นว่าในบ้านของคนที่มีฐานะร่ำรวยนั้น จะให้ความสำคัญกับการตกแต่ง ความสวยงามของที่อยู่อาศัย หรือรายละเอียดจากวัสดุมากกว่า ซึ่งแตกต่างจากบ้านของตระกูลคิม การมีพื้นที่ใช้งานหลักๆ อย่างห้องน้ำหรือพื้นที่รับประทานอาหารดีๆ ยังเป็นไปได้ยาก

นอกจากนั้นคุณ Bong Joon Ho ผู้กำกับและคุณ Lee Ha Jun ผู้ออกแบบฉากยังบอกอีกด้วยว่าการใช้สีวัสดุภายในบ้านเพียงไม่กี่สี และการเลือกใช้โทนสีเหล่านี้ ยังช่วยทำให้ภายในนั้นเกิดความแตกต่างจากภายนอกซึ่งเน้นสีเขียวของธรรมชาติอย่างชัดเจนอีกด้วย



6.โคมไฟตกแต่ง เพิ่มบรรยากาศและรายละเอียดให้ตัวบ้าน
“ความจนเป็นสิ่งน่ากลัว” นี่คงเป็นความรู้สึกเวลาที่เราดูหนังเรื่องนี้ และเป็นสิ่งที่หนังพยายามจะพูดให้เราฟังตลอดเวลา ความแตกต่างระหว่างฐานะเริ่มมีให้เราเห็นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยจนหนังเริ่มให้ความรู้สึกอึดอัด ซึ่งอีกหนึ่งจุดที่แตกต่างจนเราสังเกตุได้ก็คงจะเป็นแสงสว่างจากโคมไฟ

จากฉากในหนังที่เราได้เห็นการใช้ชีวิตภายในบ้านของตระกูลคิมที่มีเพียงพื้นที่เล็กๆ แสงไฟที่มีอยู่น้อยนิดตามจุดที่จำเป็น แต่กลับกันเมื่อมองดูบ้านของตระกูลปาร์คซึ่งเป็นบ้านที่มีฐานะร่ำรวยกว่านั้น ในองค์ประกอบของงานตกแต่ง เราจะเห็นโคมไฟประดับ เรียงรายอยู่ตามทางเดินของบ้าน ซึ่งไม่ได้มีฟังก์ชันที่ให้แสงสว่างด้วยซ้ำไป เพียงแต่เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มาส่งเสริมบรรยากาศของบ้านให้อบอุ่น น่าอยู่อาศัย และสวยงามมากขึ้นนั่นเอง



7.เฟอร์นิเจอร์ชิ้นหลัก น้อยชิ้น เรียบง่ายแต่หรูหรา
จากที่เห็นว่าบ้านจากหนังเรื่องนี้มีสไตล์ของความโมเดิร์นอันเป็นสัญลักษณ์ของความหรูหราที่ไม่มากและน้อยจนเกินไป การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ภายในบ้านนั้นเราจึงเห็นเพียงแค่ชิ้นหลักๆ อย่างเช่น โต๊ะรับประทานอาหาร โซฟา เก้าอี้ ซึ่งเฟอร์นิเจอร์เหล่านั้นจะถูกวางเป็นสัดส่วน แม้แต่ส่วนห้องครัวและส่วนรับประทานอาหารก็ยังแยกกันอย่างชัดเจน โดยสำหรับบ้านตระกูลปาร์คเราจะเห็นสเปซที่ค่อนข้างนิ่ง เรียบง่าย ที่ว่างระหว่างสเปซมีค่อนข้างมาก แสดงถึงความหนาแน่นที่น้อยกว่า แตกต่างจากบ้านของตระกูลคิมที่จะค่อนข้างมีความวุ่นวาย จอแจ และหนาแน่นมากกว่าจนทำให้รู้สึกอึดอัด

เราจึงได้เห็นฉากต่างๆ ภายในบ้านของตระกูลปาร์คที่ถึงแม้จะนิ่ง เรียบง่ายแต่ในขณะเดียวกัน เมื่อถ่ายทอดผ่านมุมกล้องของหนังออกมาก็ทรงพลังอย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว

8.การออกแบบช่องเปิดเพื่อดึงแสงธรรมชาติเข้าสู่ตัวบ้าน จุดแตกต่างที่ทำให้การแบ่งชนชั้นชัดเจนขึ้น
มาถึงเรื่องสุดท้ายซึ่งเป็นเรื่องที่ทางผู้กำกับเองให้ความสำคัญเป็นพิเศษ นั่นก็คือ แสงจากธรรมชาติ ซึ่งผู้กำกับเองมองว่ายิ่งเป็นบ้านที่มีฐานะน้อยมากเท่าไร แสงสว่างจากธรรมชาติที่ส่องถึงจะย่อมน้อยลงเท่านั้น เพื่อสร้างความแตกต่างอย่างสุดขั้วระหว่างบ้านของคนที่มีฐานะร่ำรวยและฐานะยากจน

จากบ้านของตระกูลปาร์คที่เราเห็นนั้น จะมีช่องเปิดมากมายไม่ว่าจะเป็นบานกระจกบริเวณพื้นที่ห้องครัว บริเวณห้องนั่งเล่น ต่างถูกออกแบบขึ้นเพื่อรับแสงสว่างจากธรรมชาติ หรือวิวทิวทัศน์จากพื้นที่สีเขียวภายนอกที่สร้างบรรยากาศที่ดีให้กับตัวบ้าน แตกต่างจากบ้านของตระกูลคิมที่มีหน้าช่องเปิดเพียงหนึ่งบาน ที่อยู่ระดับต่ำกว่าพื้นดิน และเมื่อมองออกไปยังเห็นบรรยากาศของสังคมรอบด้านที่ค่อนข้างแย่ เช่น คนเมา หรือ คนมาปัสสาวะที่พื้นซึ่งใกล้กับหน้าต่างบานนั้นอย่างเห็นได้ชัดเจน

จากองค์ประกอบต่างๆ ที่เรากล่าวไปข้างต้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังเรื่องนี้หยิบเอาองค์ประกอบต่างๆ ในหนังและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมมาส่งเสริมประเด็นความแตกต่างทางฐานะให้แข็งแรงขึ้นได้อย่างแนบเนียนและน่าสนใจมากทีเดียว สมกับรางวัลอันยิ่งใหญ่บนเวทีออสการ์อย่างแท้จริง