OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

PK House จากความหลงใหลในสถาปัตยกรรม เกิดเป็นบ้านโมเดิร์นอันเรียบง่ายแฝงไปด้วยรายละเอียด

ในการทำบ้านหรือออกแบบบ้านสักหนึ่งหลัง  ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดรูปลักษณ์หรือภาพรวมของบ้านนั่นก็คือ การใส่ความชอบหรือสไตล์ของเจ้าของบ้านเข้าไปด้วย เพราะนอกจากจะให้ความรู้สึกสวยงามเวลาอยู่อาศัยแล้ว ยังทำให้รู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งกับพื้นที่เหล่านั้นนั่นเอง เช่นเดียวกับ คุณต่อโชค จุลสุคนธ์ เจ้าของบ้านและผู้ออกแบบจากบริษัทรับเหมาก่อสร้าง Spc technocons co.ltd.  ซึ่งออกแบบโดยนำภาพจำจากบ้านที่ตนเองชอบ มาดัดแปลงผสมผสานไปกับความชอบส่วนตัวอื่นๆ จนเกิดเป็นบ้าน PK House หลังนี้



คุณต่อโชค จุลสุคนธ์ เจ้าของบ้านและผู้ออกแบบจากบริษัทรับเหมาก่อสร้าง
Spc technocons co.ltd.

“ตอนแรกที่จะออกแบบบ้าน ผมมีภาพจากความชอบส่วนตัวว่าเราอยากได้บ้านทรงกล่องยาวๆ และตั้งโจทย์ไว้เลยว่าบ้านจะต้องมีพื้นที่ยื่นออกไปประมาณ 6 เมตร มีสเปซที่เป็น double volume 2 ชั้น มีบันไดไฟล์ทเดียวที่ไม่มีชานพัก นี่คือ 3-4 อย่างหลักๆ ที่เราต้องการในการออกแบบบ้านและภาพรวมของบ้านต้องค่อนข้างเรียบ ดูได้นาน คุณต่อโชคเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการออกแบบบ้านหลังนี้จากภาพจำและความชอบส่วนตัว ซึ่งถึงแม้คุณต่อจะไม่ได้เป็นสถาปนิกและไม่ได้จบทางสถาปัตยกรรมหลักมาโดยตรง แต่ด้วยความชอบและประสบการณ์จากงานรับเหมาที่ได้ร่วมงานกับสถาปนิกมากมาย จึงหล่อหลอมให้คุณต่อมีความชอบและจดจำเทคนิคหรือรายละเอียดบางส่วนมาดัดแปลงใช้กับการออกแบบบ้านหลังนี้ด้วย


ซึ่งตัวพื้นที่ที่ยื่นออกไปประมาณ 6 เมตรนี้ คุณต่อยังเสริมอีกด้วยว่าเป็นส่วนที่ยากที่สุดในการทำบ้านหลังนี้ เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของโครงสร้างและการรับน้ำหนัก ซึ่งโดยปกติแล้วโครงสร้างที่ยื่นออกไปในลักษณะนี้ ด้านข้างมักจะถูกออกแบบให้เป็นผนังทึบเพื่อซ่อนโครงสร้างหลักเอาไว้ แต่ด้วยความชื่นชอบทดลองอะไรใหม่ๆ คุณต่อจึงออกแบบพื้นที่ด้านข้างของก้อนที่ยื่นออกไปนี้ ให้เป็นช่องเปิดทั้งหมด ทำให้โครงสร้างบริเวณชั้นล่างที่ต้องออกแบบเพื่อมาดึงรั้งก้อนที่ยื่นออกไปให้คงอยู่ได้นั้นจะยาวมากกว่าปกติ ซึ่งถือเป็นความท้าทายจุดใหญ่ๆ ในการออกแบบบ้านหลังนี้เลยทีเดียว

ความสำคัญของสเปซ พื้นที่ภายในบ้านที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต
“ผมว่ามันเป็นเรื่องของสเปซนะ ที่ทำให้คนรู้สึกว่าอยากอยู่หรือไม่อยากอยู่บ้าน เพราะตั้งแต่เด็กๆ เลย ผมอยู่บ้าน พื้นที่ห้องมันค่อนข้างที่จะเล็ก ผมก็จะไม่ค่อยอยากอยู่บ้าน เพราะมันไม่มีสเปซส่วนตัวที่สามารถทำอะไรมากมาย” คุณต่อพูดถึงโจทย์ต่อมาในการออกแบบ


ซึ่งนอกจากภาพจำจากความชอบส่วนตัวแล้ว เรื่องที่คุณต่อให้ความสำคัญเป็นพิเศษนั่นก็คือเรื่องของสเปซ ซึ่งจากประเด็นเหล่านี้ คุณต่อจึงต้องการทำให้บ้านหลังนี้มีสเปซขนาดใหญ่กว่าปกติ ประกอบกับส่วนตัวเป็นคนชอบบ้านโมเดิร์นที่มีความมินิมอลผสมสไตล์ mid-century นิดๆ เฟอร์นิเจอร์ภายในบ้านก็เป็นของสะสมเดิม การออกแบบบ้านจึงเป็นเหมือนการออกแบบสเปซให้วางของเหล่านี้แล้วส่งเสริมความสวยงามซึ่งกันและกันนั่นเอง


ในการวาง planning คุณต่อจึงแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆอย่างชัดเจน โดยพื้นที่ส่วนแรกจะเป็นส่วนอยู่อาศัยของคุณต่อทั้งหมดประกอบด้วย เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ห้องครัว ห้องพักผ่อน ห้องนอน ห้องน้ำ และห้องแต่งตัว ซึ่งอยู่อาศัยหลักเพียงคนเดียว แต่พื้นที่อีกส่วนหนึ่งจะออกแบบไว้สำหรับครอบครัวที่จะอยู่อาศัยในอนาคต

แปลนบ้าน PK House ชั้น  1


แปลนบ้าน PK House ชั้น  2

เมื่อเราเดินเข้าบ้านมาจะสังเกตุเห็นพื้นที่โถงทางเข้าขนาดใหญ่ ที่โปร่ง โล่ง เพื่อเชื่อมต่อสเปซ ซึ่งคุณต่อออกแบบให้เป็น Open-plan ที่เชื่อมต่อบริเวณ Foyer หรือโถงทางเข้า จนมาถึงห้องนั่งเล่น และห้องครัว โดยแต่ละส่วนจะปราศจากผนังที่กั้นห้องอย่างชัดเจน ซึ่งคุณต่อเองให้เหตุผลว่าต้องการให้เกิดการเชื่อมต่อของสเปซ และยังออกแบบเพดานเป็นแบบโชว์ฝ้า เพื่อช่วยบ้านดูโล่ง โปร่ง มากขึ้น นอกจากนั้นในบริเวณโถงทางเข้าเรายังสามารถเชื่อมต่อการมองเห็นด้วยพื้นที่ Double Volume ที่มองเห็นพื้นที่ห้องพักผ่อน และบันไดที่พาดผ่านบริเวณชั้นสอง ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างความโปร่งแล้วยังสร้างความน่าสนใจให้กับตัวบ้านได้ด้วย



ส่วนพื้นที่บริเวณชั้นสอง จะเป็นพื้นที่การใช้ชีวิตหลักๆ ของคุณต่อ ซึ่งจะถูกแบ่งออกเป็นพื้นที่ห้องพักผ่อน ที่รวมฟังก์ชันของการดูทีวี ดูภาพยนตร์ เล่นเกมส์และเป็นห้องทำงานไว้ภายในห้องเดียว โดยจะสามารถเชื่อมไปยังพื้นที่ห้องนอนได้ด้วยสะพานกระจก ถือเป็นรายละเอียดเล็กๆ ที่ช่วยสร้างความแปลกใหม่ให้กับบ้านมากขึ้น



เมื่อเดินขึ้นมาถึงบริเวณชั้น 2 ที่เห็นความแตกต่างระหว่างชั้น 1 และชั้น 2 คงจะเป็นเรื่องของการออกแบบผนังกั้นห้อง โดยชั้นสองจะถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่ห้องที่มีผนังกั้นอย่างชัดเจน จากห้องนอนเราจะสามารถเดินเชื่อมไปยังห้องแต่งตัวและห้องน้ำ แต่สิ่งที่แตกต่างจากบ้านปกติ ก็คือขนาดพื้นที่ที่ค่อนข้างใหญ่ โดยคุณต่อเองออกแบบสัดส่วนของพื้นที่ห้องนอน ห้องแต่งตัว และห้องน้ำ ให้มีขนาดเกือบที่จะเท่ากัน เพราะส่วนตัวคุณต่อเองต้องการสเปซที่ไม่แน่นเกินไปจนอึดอัดนั่นเอง




บริเวณห้องแต่งตัวของชั้นสอง จะมีทางเดินที่สามารถเชื่อมไปยังพื้นที่อีกส่วนหนึ่งของบ้านที่รองรับการอยู่อาศัยในอนาคต และยังมีบันไดที่เชื่อมไปยังพื้นที่บริเวณสระว่ายน้ำที่อยู่บริเวณส่วนกลางของบ้านได้ ซึ่งในการออกแบบสระว่ายน้ำไว้กลางบ้านนี้ จะได้ประโยชน์เรื่องความเป็นส่วนตัวเมื่อใช้พื้นที่สระว่ายน้ำ และช่วยสร้างบรรยากาศให้กับบ้านเมื่องมองจากพื้นที่ส่วนต่างๆ อีกด้วย



อีกหนึ่งจุดเด่นของบ้านหลังนี้ คือ บ้านถูกออกแบบให้ไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกับดิน กล่าวคือเป็นบ้านที่ถูกยกระดับขึ้นมาจากดิน เพื่อสะดวกกับการทำงานระบบ สามารถเข้าไปเซอร์วิสงานระบบต่างๆ ได้  นอกจากนั้นภาพลักษณ์ของบ้านที่เราเห็นจากภายนอกนั้นยังถือเป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของตัวบ้าน โดยมีการแบ่งแยกภายนอกและภายในอย่างชัดเจน เมื่อเรามองจากภายนอกจะเห็นเพียงแค่โรงรถเท่านั้น เพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับบ้านได้มากขึ้น



‘วัสดุ’ เน้นความเรียบง่ายแต่มีรายละเอียด
“ผมจะเน้นใช้วัสดุที่ง่ายต่อการดูแลรักษา เพราะด้วยไลฟ์สไตล์ผม ผมใช้เวลาส่วนมากไปกับการทำงานจึงไม่ค่อยมีเวลา ส่วนเรื่องสี จะเน้นใช้สีเรียบๆ เพื่อไม่ให้มันโดด เพราะผมไม่อยากให้บ้านมันเด่นด้วยสีหรือวัสดุ แต่อยากให้เด่นด้วยสเปซหรือโครงสร้างที่มันแตกต่างมากกว่า” คุณต่อเล่าให้เราฟังถึงแนวคิดในการใช้วัสดุซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่น่าสนใจของบ้านหลังนี้



เนื่องจากต้องการวัสดุที่ดูแลรักษาง่าย วัสดุที่เราสังเกตุเห็นภายในบ้านหลังนี้จึงเป็นวัสดุที่ค่อนข้างเรียบง่าย โดยเน้นผนังทาสีขาว คอนกรีตเปลือย กระจก ส่วนภายในจะเป็นกระเบื้องกับไม้  โดยหลีกเลี่ยงการใช้หินขัดจริง ซึ่งสวยงามแต่ปัญหาที่ตามมาคือเรื่องของการแตกและทรุดโทรมในภายหลัง คุณต่อจึงเลือกใช้วัสดุพื้นภายในเป็นกระเบื้องทั้งหมด เพราะดูแลรักษาได้ง่ายกว่า คงทน และสามารถสวยได้นาน



อีกหนึ่งวัสดุที่โดดเด่นและมีให้เห็นตามส่วนต่างๆ ของบ้านนั่นก็คือ ไม้ ซึ่งภายนอกคุณต่อเลือกใช้ไม้สักเพราะ ทนทาน คงอยู่ได้นาน นอกจากนั้นยังมีการทดลองนำไม้สักไปเผาเพื่อทำเป็นประตูทางเข้าบ้านหลักบานใหญ่ ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์ที่ดี ไม่ลอกและสร้างความน่าสนใจและแปลกใหม่ให้บ้านน่าสนใจมากขึ้น


ส่วนโครงสร้างหลักของบ้าน เราจะเห็นวัสดุหลักเป็นคอนกรีต ซึ่งสร้างความโมเดิร์นอันเป็นความชื่นชอบส่วนตัวของคุณต่อด้วย แต่ในความธรรมดาของคอนกรีตนั้น ส่วนบริเวณเปลือกอาคารภายนอกของบ้าน คุณต่อก็มีการนำคอนกรีตไปกระเทาะเพื่อให้เกิดพื้นผิวและลวดลายที่แตกต่าง เป็นการนำสิ่งของธรรมดาที่มีอยู่เดิมมาสร้างสรรค์ให้เกิดความแปลกใหม่ได้เป็นอย่างดี



ทดลองสร้างความแปลกใหม่ด้วยการสร้างรายละเอียดผ่านงานออกแบบ

จากความต้องการของคุณต่อที่ต้องการสเปซบ้านที่แตกต่างจากบ้านปกติ ในส่วนรายละเอียดของการออกแบบจึงมีการเพิ่มลูกเล่นต่างๆ เข้าไป โดยส่วนมากจะเกิดจากการทดลองของคุณต่อ อย่างเฟอร์นิเจอร์ชั้นวางภายในบ้าน หรือเฟอร์นิเจอร์บางส่วนก็เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่คุณต่อออกแบบเอง ซึ่งจะสังเกตุได้ว่าตู้หรือชั้นวางภายในบ้านนั้นจะไม่มีมือจับเลย เพราะคุณต่อต้องการให้ภาพรวมของบ้านเรียบง่ายและมีความมินิมอลมากขึ้น



ส่วนรายละเอียดของบานประตูคุณต่อก็ออกแบบให้อยู่ในรูปแบบ floor to sealing หรือเป็นบานประตูขนาดใหญ่ที่มีขนาดตั้งแต่พื้นจรดเพดานทั้งหมด และบานประตูเลื่อนที่กรอบบานจะบางกว่าประตูปกติ และในบริเวณห้องน้ำคุณต่อเลือกวางในลักษณะที่อ่างล้างมือจะลอยตัวอยู่ส่วนกลางของห้องน้ำ ทำให้เกิดสเปซที่แตกต่าง ในขณะเดียวกันโครงสร้างตรงกลางที่
กรุกระจกยังเป็นช่องสำหรับงานระบบได้อีกด้วย



อีกหนึ่งพื้นที่ที่เห็นความใส่ใจในรายละเอียดได้อย่างชัดเจน นั่นก็คือ สระว่ายน้ำ ซึ่งจริงๆ สระว่ายน้ำนี้จะเป็นประเภท overflow หรือสระน้ำล้นแบบที่เรามักเห็นกันในรีสอร์ท เพียงแต่ว่าคุณต่อเลือกที่จะซ่อนรางระบาย และเพิ่มช่องสำหรับงานระบบเป็นช่วงๆ เนื่องจากสระแบบ overflow ทั่วไปต้องมาลงรายละเอียดกันว่าจะเป็นการโรยกรวด หิน หรือปลูกต้นไม้รองรับ ซึ่งวิธีของคุณต่อก็ถือว่าง่ายต่อการดูแลรักษามากกว่านั่นเอง



ส่วนพื้นที่หลังคาก็เป็นอีกหนึ่งส่วนที่คุณต่อทดลองปลูกต้นไม้ ซึ่งกลายมาเป็นวิวที่ดีให้กับห้องบริเวณชั้นสองที่สามารถมองเห็นพื้นที่สีเขียวได้บางส่วน แทนที่จะมองออกไปแล้วเห็นแต่อาคารหรือบ้านของเหล่าเพื่อนบ้าน นอกจากนั้นเรายังเห็นแพทเทิร์นสามเหลี่ยมในจุดต่างๆ ที่มาเสริมให้งานออกแบบภายในบ้านชัดเจน เป็นเรื่องราวเดียวกันมากขึ้น โดยจะเห็นได้ตามส่วนต่างๆอย่าง มือจับประตูทางเข้า สกายไลท์ (Skylight) หรือผนังบริเวณสระว่ายน้ำ ซึ่งนอกจากจะส่งเสริมงานออกแบบแล้วยังสร้างมิติที่หลากหลายมากขึ้นเวลาแสงแดดส่องอีกด้วย




“ บ้านหลังนี้มันก็เรียบๆ นะ แต่มันก็จะมีกิมมิค พอทำบ้านเสร็จแล้วก็เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ จากแต่ก่อนเราไม่ค่อยอยากกลับบ้าน หรือกลับบ้านก็กลับมานอน ตอนนี้กลับกลายเป็นว่ากลับมาใช้ชีวิต กลับมาว่ายน้ำบ้าง กลับมาใช้ชีวิตกับสเปซที่มันเปลี่ยนไปเพราะมันทำให้เราอยากอยู่บ้านมากขึ้น”
คุณต่อทิ้งท้ายถึงนิสัยที่เปลี่ยนไปเพราะการอยู่อาศัยในสเปซที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเราเห็นด้วยและรู้สึกว่าบ้านหลังนี้เป็นอีกตัวอย่างที่น่าสนใจทั้งในแง่ของสเปซหรือรายละเอียดของส่วนต่างๆ ทั้งวัสดุหรือโครงสร้างที่ซ่อนไว้ได้อย่างเรียบง่ายและน่าอยู่อาศัยไม่น้อยเลยทีเดียว