OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Design In Motion ออกแบบออฟฟิศด้วยสเปซที่เชื่อมต่อ สร้างพื้นที่ส่วนกลางที่มากขึ้น เพิ่มบรรยากาศที่ดีให้การทำงาน

นอกจากบ้านหรือที่อยู่อาศัยแล้ว อีกหนึ่งสถานที่ที่เรามักจะใช้เวลาระหว่างวันไปกับมันค่อนข้างมาก คงหนีไม่พ้นสถานที่ทำงานหรือออฟฟิศ ซึ่งแน่นอนว่าการจะทำงานได้อย่างมีความสุขนั้น สถานที่ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ปัจจัยเหล่านั้นเกิดขึ้นได้ มากไปกว่านั้นเมื่อพนักงานทำงานได้อย่างมีความสุข ผลงานที่ได้ก็ย่อมดีตามไปด้วย บริษัทหรือออฟฟิศหลายๆ แห่งจึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการออกแบบสเปซของการทำงานกันมากขึ้น ซึ่ง Design In Motion ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของออฟฟิศที่นำการออกแบบมาช่วยสร้างบรรยากาศและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่พนักงาน โดยคุณนรินทร์ บุญจุน และคุณธฤต ทศไนยธาดา สองสถาปนิกจากทีมผู้ก่อตั้ง DESIGN IN MOTION CO.,LTD นำเรื่องบรรยากาศสบายๆ ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในการทำงาน มาเป็นโจทย์หลักในการออกแบบออฟฟิศแห่งนี้


คุณนรินทร์ บุญจุน และคุณธฤต ทศไนยธาดา สองสถาปนิกจากทีมผู้ก่อตั้ง
DESIGN IN MOTION CO.,LTD

‘บรรยากาศสบายๆ ในการทำงาน’ คีย์เวิร์ดสำคัญของจุดเริ่มต้นการออกแบบ

เดิมทีออฟฟิศของ Design In Motion นั้นตั้งอยู่ในพื้นที่ห้องแถวเพียงหนึ่งห้อง ซึ่งขนาดของพื้นที่ค่อนข้างแคบและด้วยจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลังทางทีมจึงตัดสินใจทำออฟฟิศขึ้นใหม่ ประจวบเหมาะกับมีที่ว่างในย่านสุขุมวิท71 ทางทีมจึงตัดสินใจสร้างออฟฟิศใหม่ขึ้นบนพื้นที่แห่งนี้ โดยในออฟฟิศใหม่นี้จะเน้นพื้นที่ส่วนกลางที่มากขึ้น เนื่องจากอยากให้ทุกคนมีบรรยากาศสบายๆ ในการนั่งคิดงาน ทุกๆคนที่ทำงานไม่จำเป็นต้องนั่งติดโต๊ะทำงาน สามารถเปลี่ยนบรรยากาศการทำงานได้อย่างหลากหลายตามความต้องการและความเหมาะสม



“โจทย์หลักอันนึงที่เรามอง คือเรื่องบรรยากาศของการทำงาน ด้วยความที่ออฟฟิศที่เก่ามันเล็ก นั่งเบียดกัน บรรยากาศก็เลยค่อนข้างเครียด พอจะทำออฟฟิศใหม่ก็เลยคิดว่าถ้ามีพื้นที่ส่วนกลางเยอะๆ นั่งคิดงาน นั่งประชุมงานได้สบายๆ น่าจะดีกว่า” คุณธฤตเล่าถึงโจทย์แรกของการออกแบบออฟฟิศแห่งนี้



จากข้อจำกัดของพื้นที่ สู่การออกแบบฟังก์ชันและสเปซที่เชื่อมต่อ

ถึงจะเป็นพื้นที่ในทำเลที่ค่อนข้างดี และขนาดของพื้นที่ที่มีหน้ากว้างถึง 20 กว่าเมตร แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่ของหนึ่งในทีมผู้ก่อตั้ง อีกหนึ่งโจทย์สำคัญคือ การเว้นพื้นที่ครึ่งหนึ่งไว้สำหรับสร้างอีกตึกหนึ่งเผื่อสำหรับอนาคต การสร้างออฟฟิศแห่งนี้จึงต้องบีบให้มี footprint ของอาคารให้เล็กที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เราจึงเห็นออฟฟิศนี้ในลักษณะที่ค่อนข้างจะ compact (กระชับ) และเป็นอาคารที่จบในก้อนเดียว


ถึงแม้จะมีลักษณะเป็นอาคารสามชั้นที่ดูจากภายนอกอาจจะมีความทึบตันเล็กน้อย แต่เมื่อเข้ามาภายใน เรากลับพบบรรยากาศโปร่ง โล่ง เป็นกันเองและดูสบายๆ ของพื้นที่ ซึ่งในการวางฟังก์ชัน ผู้ออกแบบต้องการแบ่งพื้นที่ส่วนกลางกับพื้นที่ทำงานให้ได้เยอะที่สุด โจทย์หลักๆ ของการออกแบบจึงเน้นมุมมองและบรรยากาศของออฟฟิศในรู้สึกถึงความลื่นไหล ต่อเนื่องกันของสเปซ เพื่อเชื่อมต่อทุกฟังก์ชัน ทำให้คนที่สามารถนั่งทำงานแล้วมองเห็นพื้นที่ส่วนอื่นๆได้ ไม่แบ่งแยกเป็นชั้นอย่างชัดเจน


จากโจทย์หลักข้างต้น คุณนรินทร์จึงเล่าให้เราฟังถึงการออกแบบพื้นที่ทั้งหมดโดยการเลือกใช้ ‘split level’ หรือการเล่นระดับ เนื่องจากค่อนข้างตอบโจทย์ในเรื่องของมุมมองและการเชื่อมต่อพื้นที่ จากการ spilt level ยังทำให้เกิดพื้นที่ส่วนกลางระหว่างบันไดที่เกิดขึ้น บันไดจึงกลายมาเป็นไอเดียหลักๆ ของตึก เป็นเส้นที่เชื่อมต่อแต่ละพื้นที่เข้าไว้ด้วยกัน นอกจากนั้นพื้นที่บันไดเหล่านี้ยังนำมาสร้างเป็นมุมเล็กๆ ที่สามารถนั่งเล่น นั่งประชุม หรือทำเป็นที่เก็บของ มุมอ่านหนังสือ ช่วยส่งเสริมให้ออฟฟิศมีมุมของพื้นที่ที่หลากหลาย และทำให้บรรยากาศดูสบายๆ เสมือนอยู่บ้านอีกด้วย

 



โดยภายในอาคารจะมีพื้นที่ทั้งหมดสามชั้น บริเวณส่วนชั้นแรกจะเป็นพื้นที่ส่วนกลางทั้งหมด ได้แก่ พื้นที่ประชุมที่เชื่อมด้วยมุมอ่านหนังสือบริเวณขั้นบันได พื้นที่ห้องรับประทานอาหารที่มีประตูเชื่อมไปยังพื้นที่ปาร์ตี้ภายนอกได้ เมื่อเดินขึ้นบันไดมายังชั้นถัดไป จะเป็นพื้นที่สำหรับทำงาน และสำหรับชั้นบนสุดจะเป็นพื้นที่ห้องทำงานของเหล่า Design Director และยังมีพื้นที่ประตูเล็กๆ ที่เชื่อมออกไปที่ดาดฟ้าเผื่อสำหรับการปรับเปลี่ยนสเปซในอนาคต ซึ่งพื้นที่ภายในเหล่านี้สามารถมองเห็นกันได้ ทำให้พื้นที่ดูโปร่งและยังเอื้อต่อการทำงานเป็นทีม ที่แต่ละฝ่ายต้องมีการประชุม คุยงานหรือตรวจงานกันอีกด้วย

 

รายละเอียดการออกแบบที่ส่งเสริมฟังก์ชันและบรรยากาศ

อีกหนึ่งจุดเด่นที่ทำให้บรรยากาศของออฟฟิศนี้ดูโปร่ง โล่ง ก็คือแสงจากธรรมชาติที่ส่องเข้ามายังพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในการออกแบบช่องเปิดนั้น เราจะเห็นช่องเปิดเฉพาะด้านหน้าของตัวอาคารที่ติดถนน เนื่องจากบริบทรอบอาคารที่เป็นบ้านคนและพื้นที่เปล่ารอการขยับขยายอนาคต ผู้ออกแบบจึงเลือกออกแบบด้านข้างทั้งสองด้านของอาคารให้ปิดทึบทั้งหมด และรับแสงธรรมชาติจากด้านหน้าเพียงด้านเดียว นอกจากนี้จากภายนอกของอาคารเรายังเห็นขั้นบันไดที่เชื่อมจาก split level ด้านใน เป็นการเพิ่มความน่าสนใจและลูกเล่นให้ภายนอกอาคารอีกด้วย


ส่วนในเรื่องของการใช้วัสดุ เนื่องจากงบประมาณที่ไม่ได้มีมากนัก วัสดุที่เราเห็นจึงเป็นวัสดุง่ายๆ อย่างเช่น ปูน หรือปูนทาสี ซึ่งในส่วนของโครงสร้างจะเป็นปูนเปลือยโชว์ผิวทั้งหมด แต่เมื่อบรรยากาศภาพรวมมีปูนค่อนข้างมาก ผู้ออกแบบจึงกลัวว่าบรรยากาศจะดูแข็งทื่อ และตึงเครียดจนเกินไป จึงเพิ่มโทนสีขาวกับสีธรรมชาติของไม้เข้ามาช่วย ประกอบกับทางทีมผู้ออกแบบเองชอบวัสดุพื้นฐานที่ค่อนข้างเรียบง่ายกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าหยิบเอาวัสดุเหล่านี้มาทำให้มีความโมเดิร์นมากขึ้น และช่วยทำให้บรรยากาศภาพรวมดูผ่อนคลายขึ้นอีกด้วย


ในส่วนของการใช้ปูนหรือคอนกรีต ทีมผู้ออกแบบยังมีการนำแผ่นพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป (Plank Slab) ที่มีพื้นผิวเล็กน้อยมาใช้บริเวณเพดาน ทำให้ไม่ต้องปูฝ้า พื้นที่จึงดูโปร่ง โล่งขึ้นด้วย และเมื่อนำมาวางต่อกันจะเกิดเป็นลายคลื่นที่ช่วยสร้างลูกเล่นให้ดูสบายๆ และเป็นกันเองมากกว่าการใช้คอนกรีตเรียบทั้งผืนนั่นเอง


“ตั้งแต่ย้ายเข้ามาในออฟฟิศใหม่ พฤติกรรมการทำงานก็ค่อนข้างเปลี่ยนไป เพราะมีพื้นที่รองรับให้คนในออฟฟิศได้มากขึ้น เขาก็ลงมาใช้ ลงมานั่งคิดงานข้างล่างบ้าง ซึ่งผมคิดว่าการสนทนากันมันน่าจะเยอะขึ้น คนในทีมก็จะคุยกันได้ง่ายขึ้น สามารถเลือกพื้นที่การทำงานในรูปแบบที่มันหลากหลายมากขึ้นตามที่แต่ละคนต้องการ” คุณนรินทร์เล่าให้เราฟังถึงความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการทำงานที่เกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมีพื้นที่รองรับที่หลากหลาย บรรยากาศในการทำงานย่อมดีขึ้นตามไปด้วย สิ่งเหล่านี้จึงเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างความสุขกายใจให้กับพนักงาน และเมื่อสถาพกายและใจพร้อม รับรองว่าผลงานที่ตามมาจะต้องดีอย่างแน่นอน