Location: ถนนไมตรีจิต กรุงเทพฯ
Designer: อนันดา ฉลาดเจริญ
Owner: อนันดา ฉลาดเจริญ
Photographer: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
หากใครมีโอกาสผ่านในละแวกถนนไมตรีจิต ย่านเยาวราช สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ย่านนี้น่าจดจำ ก็คือสถาปัตยกรรมอันเก่าแก่แต่แฝงเสน่ห์คลาสสิคบางอย่าง สวยงามชวนให้เข้าไปค้นหา ‘The Mustang Blu’ นี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งอาคารที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของสถาปัตยกรรมเก่าร่วม 100 ปี ที่ถึงแม้จะเก่าแต่เมื่อเข้าไปสำรวจภายในเรากลับพบความสวยงามที่ถูกออกแบบไว้อย่างกลมกลืน โดยได้ คุณจอย-อนันดา ฉลาดเจริญ สไตลิสต์และโชว์ไดเรกเตอร์แห่งวงการแฟชั่นของไทยมาเป็นผู้ออกแบบ
The Mustang Blu จุดเริ่มต้นจากความหลงใหลในอาคารเก่า
ด้วยความที่คุณจอยเองเคยผ่านงานปรับปรุงอาคารเก่าเป็นโรงแรมมาแล้วกับ The Mustang Nero ในย่านพระขโนง ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากชาวต่างชาติ จนเกิดปัญหาจำนวนห้องไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว ประกอบกับความชื่นชอบในการสำรวจและปรับปรุงอาคารเก่า คุณจอยจึงเริ่มมองหาสถานที่ที่สองเพื่อทำเป็นโรงแรมแห่งใหม่
“ตอนที่มีนักท่องเที่ยวติดต่อมาถามมากมายว่า คุณมีที่อื่นอีกไหม มีห้องว่างไหม เราก็รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนเล็กๆ ที่ทำให้เขาพูดถึงกรุงเทพฯ ในทางที่ดี ประกอบกับการที่เราก็ชอบทำอาคารเก่า สิ่งเหล่านี้ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราค้นหาสถานที่ใหม่ จนมาเจอที่นี่ ที่ The Mustang Blu”
จากการสำรวจพื้นที่อาคารเก่าไปเรื่อยๆ ทั้งในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต ทำให้คุณจอยมาเจอกับอาคารในย่านเยาวราชหลังนี้ ซึ่งอาคารเก่าแก่เกือบ 100 ปีที่เราเห็นนั้น เดิมเป็นกิจการอาบอบนวดมาก่อน ด้วยรูปแบบของธุรกิจที่แตกต่าง คุณจอยจึงต้องลงมือปรับปรุงอาคารเก่าหลังนี้ให้ตอบรับต่อการเป็นโรงแรมสำหรับนักท่องเที่ยว โดยตั้งใจให้คนที่เข้ามาเยือนนั้นได้เห็นความงดงามของสถาปัตยกรรมที่เดินทางผ่านกาลเวลามาอย่างแท้จริง
สถาปัตยกรรมที่แสดงถึงร่องรอยของกาลเวลา
เมื่อได้แนวคิดหลัก ที่ว่าด้วยเรื่องการโชว์ความสวยงามของอาคารเก่าให้ได้มากที่สุด ขั้นตอนแรกของการออกแบบคุณจอยจึงเข้ามาสำรวจอาคารหลังนี้ด้วยตัวเอง และได้มีโอกาสพบกับร่องรอยของการออกแบบในอดีตที่ถูกปกปิดเอาไว้ หนึ่งในนั้นคือช่องเปิดวงกลมที่พื้นเดิมทั้งหมดอยู่บริเวณใต้ฝ้า ใต้พื้น แต่เนื่องจากฝ้าเกิดการผุพังทำให้คุณจอยได้ค้นพบโดมช่องแสงที่สามารถเชื่อมอาคารทั้งสามชั้น ซึ่งทำให้อาคารได้รับแสงธรรมชาติมากขึ้นด้วย
รวมถึงบริเวณยอดเสาลวดลายโบราณอายุ 100 ปีหาดูได้ยากนั้นถูกซ่อนเอาไว้ใต้ฝ้าเช่นเดียวกัน เมื่อคุณจอยรื้อโครงสร้างเดิมออก จึงจะพบกับความงามของสถาปัตยกรรมโคโลเนียลที่ถูกซ่อนไว้ คุณจอยจึงตั้งแนวทางในการออกแบบของตนเองคือ ‘กลับไปให้เจอแบบเดิมก่อน แล้วจึงเริ่มออกแบบใหม่’ คุณจอยเลือกที่จะเก็บพื้นที่เหล่านี้ไว้ทั้งหมด และต้องการโชว์พื้นผิวของอาคาร แต่ส่วนไหนที่แตก ผุพังหรือทรุดโทรม คุณจอยก็จะซ่อมแซมด้วยการทาสีให้ใกล้เคียงของเดิม เพื่อแสดงถึงร่องรอยของกาลเวลาและทำให้ทุกอย่างกลมกลืนกับโครงสร้างเดิมจนเราแยกไม่ออกว่าส่วนไหนคือส่วนที่ทำใหม่หรือส่วนไหนคือสิ่งที่มีมาแต่เดิม
“ถ้าถามว่าเปลี่ยนไปจากกิจการก่อนหน้านี้ไหม ? เปลี่ยนไปเกือบ 100%” ถึงแม้คุณจอยจะเก็บโครงสร้างเดิมอันสวยงามของอาคารหลังนี้ไว้เกือบทั้งหมด แต่เพื่อปรับปรุงให้ตอบรับกับกิจการโรงแรม บางส่วนจึงต้องมีการสร้างขึ้นใหม่ ซึ่งเดิมอาคารหลังนี้เป็นอาคารในยุคเก่าที่ก่อสร้างโดยไม่ใช้เสาเข็ม คุณจอยจึงต้องเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างอาคารให้ได้มากที่สุด โดยการวางโครงสร้างของพื้นด้วยการวางตงเหล็กและปูพื้นไม้ใหม่ ซึ่งอีกหนึ่งโจทย์หลักๆ ของคุณจอยนั้นคือ การลดขยะจากการก่อสร้างใหม่ให้ได้มากที่สุด ประกอบกับการที่คุณจอยพบว่าในจังหวัดอยุธยานั้นมีไม้จำนวนมากที่ถูกรื้อจากบ้านเก่า ทำให้คุณจอยต้องเทียวไปเทียวมา กรุงเทพฯ-อยุธยา เพื่อค้นหาไม้มาให้เพียงพอต่อการนำมาปรับปรุงพื้นทั้งหมดของ The Mustang Blu
The Mustang Blu เป็นโรงแรมสามชั้น โดยในบริเวณชั้นหนึ่งจะเป็นโถงพื้นที่นั่งพักผ่อนสำหรับแขก ส่วนชั้นสองและชั้นสามจะเป็นห้องพักทั้งหมด ซึ่งห้องพักจะมีให้เลือก 2 ขนาดคือ ขนาด 60 ตารางเมตร และ 30 ตารางเมตร นอกจากนั้นในแต่ละห้องยังมีการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่เหมือนกันตามลักษณะและขนาดห้อง ส่วนห้องไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาดหากได้มาพักนั่นก็คือห้อง 301 และ 302 เพราะเป็นเพียงสองห้องใหญ่ที่มีระเบียง ทำให้สามารถชมบรรยากาศของชุมชนโดยรอบได้อย่างใกล้ชิดกว่า ถือเป็นเสน่ห์ที่ถูกใจเหล่านักท่องเที่ยวไม่น้อยเลยทีเดียว
ออกแบบสถาปัตยกรรมแบบสไตลิสต์
ความรู้สึกแรกเมื่อเราเดินเข้ามาภายใน The Mustang Blu แห่งนี้ คือบรรยากาศของสถานที่ที่มีความแตกต่างจากภายนอกอย่างสิ้นเชิง นอกจากผนังหรือโครงเสาต่างๆ ที่ให้บรรยากาศวินเทจแล้วองค์ประกอบอื่นๆ ของการออกแบบภายในก็ส่งเสริมให้สถานที่แห่งนี้มีบรรยากาศของความวินเทจคลาสสิค สวยงามน่าค้นหาไม่น้อยเลยทีเดียว
ด้วยความที่คุณจอยเป็นสไตลิสต์และไม่ได้เป็นสถาปนิกโดยตรง คุณจอยจึงมีการออกแบบโดยวาง Mood & Tone Board เพื่อกำหนดองค์ประกอบต่างๆ โทนสี และวัสดุที่จะนำมาใช้ภายในทั้งหมดให้ไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งในการทำงานของคุณจอยนั้นจะทำส่วนแปลนขึ้นก่อน จากนั้นจึงค่อยออกแบบเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ขึ้นมาเอง ทั้งเตียง ตู้ โต๊ะ หรือแม้แต่ประตูห้องพัก จากนั้นค่อยนำแบบที่เขียนขึ้นไปให้ช่างทำทีละชิ้น จากนั้นจึงค่อยเอาเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้มาประกอบร่างกันภายในพื้นที่โรงแรม ซึ่งวิธีนี้ก็ทำให้คุณจอยสามารถทำโรงแรม The Mustang Blu แล้วเสร็จโดยใช้เวลาเพียงแค่ 5 เดือน
สิ่งหนึ่งที่ทำให้บรรยากาศของโรงแรมแฝงความรู้สึกอบอุ่น เป็นกันเอง นั่นอาจจะเป็นเพราะคุณจอยเลือกใช้โทนสีที่มีความเป็นธรรมชาติ อย่างเช่น โซฟาสีเขียวมะกอก สีเหลืองมัสตาร์ด หรือผ้าม่านสีน้ำตาลโอ๊ค ให้มู้ดแอนด์โทนของโรงแรมนั้นไปในทิศทางเดียวกันและกลมกลืนไปกับสีสันของโครงสร้างเดิม ส่วนองค์ประกอบอื่นๆ อย่างเฟอร์นิเจอร์ของที่นี่ จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ เฟอร์นิเจอร์ที่เป็นของวินเทจ และเฟอร์นิเจอร์ที่คุณจอยออกแบบขึ้นใหม่เพื่อให้มีความเชื่อมโยงและกลมกลืนกับของเก่า
อีกหนึ่งจุดเด่นที่ดึงดูดสายตา เมื่อเราเปิดประตูเข้ามายังโรงแรมแห่งนี้ นั่นก็คือ ‘สัตว์สตัฟฟ์’ ที่ถือเป็นเหมือนพร็อพหรือสิ่งที่มาเติมเต็มการตกแต่ง เป็นของสะสมของคุณจอยที่มีมาตั้งแต่โรงแรม The Mustang Nero แห่งแรก เมื่อทำโรงแรมแห่งที่สอง คุณจอยจึงนำสัตว์สตัฟฟ์เหล่านี้เข้ามาตกแต่งเพื่อสร้างเรื่องราวให้เชื่อมโยงถึงกันระหว่างสองสถานที่นี้ด้วย
The Mustang Blu กับ ‘ความเศร้าที่งดงาม’
สำหรับชื่อ The Mustang Blu นั้นคุณจอยเล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ตั้งให้คล้องจองกับชื่อโรงแรมอีกแห่ง “จริงๆ ชื่อนี้ก็มาจาก The Mustang Nero เพราะเราอยากให้เขารู้ว่ามาจากที่เดียวกัน คำว่า blu ตอนแรกอยากใช้ชื่อว่า blues ที่แปลว่าเพลงบลูส์ แต่ในอีกความหมายมันก็แปลว่าความเศร้า แล้วในระหว่างการทำมันก็เกิดปัญหาเยอะมาก เราก็เลยแก้เคล็ดแบบไทยๆ ตัด es ออก ให้มันเป็นคำว่า blu ซึ่งแฝงไปด้วยความหมายว่าสีฟ้า หรือความสว่าง”
ด้วยรูปแบบของธุรกิจเดิมที่เป็นอาบอบนวด คุณจอยจึงแอบถ่ายทอดความเศร้าออกมาผ่านชื่อ blues ของโรงแรมแห่งนี้ ซึ่งคุณจอยมองว่าในความเศร้านั้นก็มีความงดงามที่ซ่อนอยู่ ความเศร้าจึงถูกถ่ายทอดผ่านอาคาร ผ่านร่องรอยของอดีตและกาลเวลา ที่คุณจอยไม่เลือกที่จะปิด แต่เลือกที่จะโชว์ให้คนทั่วไปให้มองเห็นสเน่ห์ของอาคารเก่าได้อย่างเต็มที่ นอกจากนั้นเพลง blues ก็ถือเป็นเพลงที่แต่งมาจากความเศร้าของชาวผิวสีที่สามารถแต่งออกมาให้มันงดงาม ซึ่งคล้ายคลึงกับการที่คุณจอยทำ The Mustang Blu แห่งนี้นั่นเอง
ถ้าให้พูดถึงจุดเด่นของ The Mustang Blu คงไม่ใช่ภาพจำการออกแบบที่หวือหวาจนโดดเด่น แต่เป็นการ ‘อนุรักษ์สเน่ห์ของอาคารเก่า’ ไว้ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งคำว่าอนุรักษ์ที่ The Mustang Blu ทำนั้น ไม่เพียงแต่ทำให้เราได้มองเห็นเนื้อแท้ของสถาปัตยกรรมโคโลเนียลโบราณที่หาดูได้ยากในสมัยนี้ แต่ยังช่วยสร้างจุดเด่นกลับคืนสู่ย่านถนนไมตรีจิตร และยังสะท้อนเรื่องราว ชีวิตความเป็นอยู่จากอดีตสู่ปัจจุบันไว้ได้อย่างน่าจดจำ