Architects : Full Scale Studio
Lead Architect : อรรถสิทธิ์ กองมงคล
Design Team : กฤตานน ฉั่วชุมแสง,สุรศักดิ์ จิตรเอียด,โสภิดา จิตรจำนอง,สุจินดา ตุ้ยเขียว
Structural Engineer : พิลาวรรณ พิริยะโภคัย
Story : EKTIDA N.
Photographs : วีรพล สิงห์น้อย
‘เพราะธรรมชาติโดยรอบพื้นที่นั้นดีมาก บริบทรายล้อมด้วยนาข้าว อีกทั้งยังสามารถมองเห็นวิวของดอยสุเทพ ที่ถือว่าเป็นสิ่งสิริมงคลของชาวเชียงใหม่ การออกแบบจึงเน้นในการดึงธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านให้ได้มากที่สุด โดยให้ธรรมชาติเหล่านี้ทำหน้าที่สร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีให้กับสมาชิกทุกคนในครอบครัวไปพร้อมๆ กัน’
Jongluck villa 168 เป็นชื่อที่เจ้าของบ้านตั้งขึ้นเอง ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการให้บ้านหลังนี้ เป็นบ้านที่ให้ครอบครัวของทั้งลูกชายและลูกสาวอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ดังนั้นการออกแบบจึงมีเงื่อนไขสำหรับการจัดวางฟังก์ชันที่ซับซ้อนและยากกว่าบ้านที่อยู่เป็นครอบครัวเดี่ยวอยู่มาก อีกทั้งพื้นที่สร้างบ้านยังตั้งอยู่ในอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งบริบทโดยรอบมีความเฉพาะตัวค่อนข้างมาก นั่นจึงทำให้การออกแบบยังต้องคำนึงถึงปัจจัยรอบด้านอย่างถี่ถ้วน ด้วยเหตุผลข้างต้นจึงทำให้เจ้าของบ้านเชื่อใจให้ คุณอรรถสิทธิ์ กองมงคล สถาปนิกมากฝีมือจาก Full Scale Studio ทำหน้าที่เป็นผู้ร้อยเรียงธรรมชาติให้เข้ากับสเปซจนเกิดเป็นบ้านพักอาศัย 3 ชั้น ขนาด 2,000 ตร.ม. ที่สามารถดึงความพิเศษของธรรมชาติที่อยู่รายล้อม เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านได้อย่างน่าสนใจ
จุดเริ่มต้นของการออกแบบ คือทางสถาปนิกได้ทำการศึกษาพฤติกรรมของสมาชิกในครอบครัวอย่างละเอียด ทั้งรสนิยม ความชอบและกิจกรรมในระหว่างวัน ก่อนจะเริ่มลงรายละเอียดในการจัดวางฟังก์ชันไปพร้อมกับการดึงธรรมชาติเข้ามาในบ้านให้มากที่สุด ซึ่งถือเป็นจุดประสงค์หลักในการออกแบบบ้านหลังนี้ เนื่องจากสถาปนิกเล็งเห็นถึงศักยภาพของธรรมชาติที่อยู่รอบบ้าน รวมถึงทิวทัศน์ของดอยสุเทพที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน จึงออกแบบให้พื้นที่กลางบ้านเป็นคอร์ทยาร์ดขนาดใหญ่เพื่อเป็นศูนย์กลางของธรรมชาติในบ้าน อีกทั้งการมีคอร์ทยาร์ดยังช่วยในเรื่องของการนำแสงและลมธรรมชาติเข้ามา เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับทุกฟังก์ชันได้ตลอดทั้งวัน
จากนั้นสถาปนิกจึงเริ่มออกแบบฟังก์ชัน โดยแบ่งเป็นฟังก์ชันในลักษณะกลางแจ้ง (outdoor) ในอาคาร (indoor) และ เปิดรับภายนอกบางส่วน (semi-outdoor) ที่สถานิกให้ความสำคัญของทุกส่วนเท่ากัน จากนั้นจึงค่อยๆ จัดวางฟังก์ชันตามลำดับการเข้าถึงและมุมมองที่สามารถเข้าถึงธรรมชาติเป็นสำคัญ
ออกแบบให้พื้นที่บริเวณนี้เป็น semi-outdoor โดยได้รับแรงบันดาลใจจากใต้ถุนบ้านของ “บ้านไทยโบราณ”
เริ่มจากบริเวณชั้น 1 โดยมีที่จอดรถ โถงต้อนรับ ส่วนห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร แพนทรี่และบ่อปลา ซึ่งมีพื้นที่บริเวณนั่งเล่นที่เชื่อมต่อกับสระว่ายน้ำ ที่สถาปนิกตั้งใจออกแบบให้พื้นที่บริเวณนี้ให้เป็น semi-outdoor โดยได้รับแรงบันดาลใจจากใต้ถุนบ้านของบ้านไทยโบราณ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญที่เป็นศูนย์รวมสมาชิกทุกคนในครอบครัวให้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ดังนั้นบริเวณของชั้น 1 จึงเป็นพื้นที่ส่วนกลางทั้งหมดเพื่อให้สมาชิกในบ้าน มาใช้งานพื้นที่ส่วนกลางมากกว่าอยู่ในห้องส่วนตัว
แม้ว่าการออกแบบพื้นที่ส่วนกลางเพื่อให้สมาชิกในครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกันจะเป็นหนึ่งในความต้องการของเจ้าของบ้าน แต่ทางสถาปนิกก็ได้คำนึงความเป็นส่วนตัวสำหรับครอบครัวของลูกชายและลูกสาวของเจ้าของบ้านไปพร้อมๆกัน ด้วยการออกแบบพื้นที่พักอาศัยของแต่ละครอบครัวออกอย่างเป็นสัดส่วน โดยวางตำแหน่งห้องนอนใหญ่ของเจ้าของบ้านตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือ ห้องนอนของครอบครัวลูกชายอยู่ทางทิศใต้ ซึ่งเป็นด้านหน้าของบ้าน วางตำแหน่งห้องนอนของลูกสาวในด้านตะวันออก และห้องนอนสำหรับแขกที่มาเยี่ยมอยู่ทางทิศตะวันตก โดยภายในห้องนอนแต่ละห้องได้ออกแบบพื้นที่สำหรับการทำสวนขนาดเล็กบริเวณห้องน้ำ หรือการเว้นจังหวะช่องเปิดให้แสงธรรมชาติเข้ามาในพื้นที่ เนื่องจากการรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของช่วงเวลาผ่านธรรมชาติ เช่น แสงและเงาที่เปลี่ยนไปตลอดทั้งวันก็ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งเช่นกัน
จากแนวความคิดในการออกแบบที่ต้องการดึงธรรมชาติเข้ามาภายในบ้านเพื่อสร้างสภาวะการอยู่อาศัยที่พิเศษ ทำให้สถาปนิกออกแบบองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมเพื่อช่วยสร้างรูปแบบของการเคลื่อนไหวในแบบไดนามิก ด้วยการทำบันไดวนที่ยึดกับผนังอาคาร โดยค่อยๆ ไล่ระดับจากชั้น 1 จนขึ้นไปถึงชั้นดาดฟ้าที่เป็นอีกหนึ่งพื้นที่พักผ่อนของครอบครัว โดยบันไดนี้จะทำหน้าที่ให้ผู้ใช้พื้นที่ สามารถสัมผัสและรับรู้การมีอยู่ของธรรมชาติบริเวณคอร์ทยาร์ดได้ในหลากหลายมิติ หมุนเวียนพื้นที่ทั้งหมดจากล่างขึ้นบน จากแนวตั้งไปยังแนวนอน เพื่อให้เข้าถึงธรรมชาติได้อย่างไร้ขีดจำกัด
เนื่องจากบันไดทำหน้าที่สำคัญในการเชื่อมโยงธรรมชาติ กับผู้ใช้พื้นที่ สถาปนิกจึงออกแบบให้บันไดให้มีลูกนอนกว้าง 1 เมตร เพื่อสร้างพฤติกรรมที่ไม่ต้องเร่งรีบในการใช้บันได ทุกขั้นเปรียบเสมือนชานพักบันไดที่ให้ทุกคนสามารถดื่มด่ำกับธรรมชาติตรงหน้าได้อย่างเต็มที่ ภายในบันไดเป็นโครงสร้างเหล็กที่ยื่นออกมาจากผนังอาคาร แล้วกรุปิดด้วยกระเบื้องผิวสัมผัสคอนกรีต ด้วยต้องการให้บันไดเสมือนลอยออกมาจากผนังดูเบาและบางให้ได้มากที่สุด พร้อมกับติดตั้งราวกันตกกระจกตลอดแนวเพื่อไม่ให้มีเส้นสายที่รบกวนสายตามากจนเกินไป ภายนอกของบ้านสถาปนิกตั้งใจให้ดูเรียบนิ่งและมีเส้นสายเท่าที่จำเป็น ให้มีความถ่อมตนและนอบน้อมต่อบริบท ส่วนช่องเปิดที่เกิดขึ้นก็เป็นผลมาจากฟังก์ชันภายในเป็นสำคัญ (Form follows function) เช่นเดียวกับการเลือกใช้วัสดุที่เลือกใช้ให้น้อยชนิดที่สุด โดยเน้นไปที่สัจจะวัสดุอย่าง คอนกรีต หินอ่อนและหินแกรนิต โดยมีไม้จริงช่วยลดทอนความแข็งของวัสดุชนิดอื่น และช่วยสร้างบรรยากาศอบอุ่นให้กับบ้านไปพร้อมๆ กัน
เราออกแบบโดยที่ไม่ได้เน้นภาพจบ แต่เรามุ่มเน้นให้เจ้าบ้านและบ้านค่อยๆ พัฒนาไปในแบบที่ควรจะเป็น
นอกจากนั้นสถาปนิกยังออกแบบเฟอร์นิเจอร์บิลอินท์ และช่วยเจ้าของบ้านเลือกเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว โดยให้คำแนะนำในเรื่องของขนาดและสไตล์เป็นหลัก เพื่อให้สเปซของบ้านไม่ข่มเฟอร์นิเจอร์ แต่ช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกันแทน เพื่อให้ทุกสเปซภายในบ้านออกมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งหลัง
‘เราออกแบบโดยที่ไม่ได้เน้นภาพจบ แต่เรามุ่มเน้นให้เจ้าบ้านและบ้านค่อยๆ พัฒนาไปในแบบที่ควรจะเป็น ให้เจ้าของบ้านมีส่วนร่วมในการออกแบบให้มากที่สุด เราไม่เอาความชอบของเราใส่ลงไป แต่เราทำหน้าที่ช่วยเลือก ช่วยกรองความเป็นไปได้ที่เหมาะสมให้กับเจ้าของบ้าน’ คุณอรรถสิทธิ์ กองมงคล สถาปนิกกล่าว