OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

“สถาปัตยกรรมหลัง COVID-19 จะเปลี่ยนไปอย่างไร?” คุยกับคุณปอย ไพทยา บัญชากิติคุณ ATOM design

ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทำให้ธุรกิจทั้งโลกต้องหยุดชะงักไปตามๆกัน รวมถึงเรื่องของวิชาชีพสถาปัตยกรรมหรือการเป็นสถาปนิกด้วยเช่นกัน เมื่อสถาปัตยกรรมเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของชีวิต ผู้คน ที่ใช้งานอาคารหนึ่งๆ แน่นอนว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามความคิดและความต้องการของมนุษย์เช่นกัน ครั้งนี้เรามีโอกาสคุณปอย ไพทยา บัญชากิติคุณ จาก ATOM design ผู้ที่อยู่เบื้องหลังโครงการใหญ่มากมาย กับคำถามเรื่อง “สถาปัตยกรรมหลัง COVID-19 จะเปลี่ยนไปอย่างไร?” ครับ

คุณปอย ไพทยา บัญชากิติคุณ ATOM design

“ถ้าวิกฤตินี้กินระยะเวลายาวนาน
Post COVID Effect จะมีผลรุนแรง
คนจะจดจำและมีความวิตกกังวลอย่างมาก
และส่งผลถึงสถาปัตยกรรมมากแน่นอน”

หลังจากเหตุการณ์ COVID-19 ครั้งนี้ คุณปอยคิดว่าจะส่งผลต่อผู้คนอย่างไรบ้าง?

เชื่อว่าทุกคนคงเห็นไม่ต่างกันว่า วิกฤต COVID-19 นี้เป็นวิกฤติใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษย์ หลายสถาบันยกให้เป็นวิกฤติที่รุนแรงที่สุดนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลกระทบโดยตรงในวงกว้างต่อ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ทั่วโลก

ยังเป็นการยากที่จะคาดการณ์ว่าวิกฤตินี้จะส่งผลกับคนในเชิงจิตวิทยาไปเป็นระยะเวลานานแค่ไหน เพราะวันนี้เรายังไม่เห็นปลายทางจุดสิ้นสุด หากผ่านได้เร็ว Post COVID-19 effect ก็จะมีผลต่อไปไม่นานมาก คงใช้ระยะเวลาไม่นานที่คนส่วนใหญ่ก็คงลืมได้เหมือนหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา และอาจกลับสู่สภาวะแบบเดิมได้เร็ววิถีชีวิตคนก็คงเปลี่ยนไปไม่มากนัก แต่ถ้าวิกฤตินี้กินระยะเวลายาวนาน Post COVID effect จะมีผลรุนแรง คนจะจดจำและมีความวิตกกังวลอย่างมากซึ่งจะส่งผลกับวิถีชีวิตในระยะยาวและส่งผลกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวรวมถึงสถาปัตยกรรม อาคารสิ่งปลูกสร้างซึ่งออกแบบตามวิถีชีวิตการใช้งานของคนอยู่อาศัยก็จะได้รับผลกระทบโดยตรง

“การลดผลกระทบและการป้องกันการแพร่ระบาดในระดับต่าง ๆ
อาจกลายเป็นมาตรฐานการออกแบบที่จะปรับใช้ในอาคารต่อไปในระยะยาว”

และคิดว่าจะส่งผลต่อเจ้าของโครงการ เจ้าของบ้าน (owner) อย่างไร?

แน่นอนว่าส่งผลโดยตรงกับเจ้าของโครงการ ในเชิงธุรกิจคงไม่ต้องพูดถึง เพราะส่งผลทันทีอย่างมาก

แต่ที่ต้องสนใจอย่างมากคือสิ่งที่จะตามมาต่อจากนี้และภายหลังวิกฤติ ตอนนี้ในหลายโครงการที่ได้ร่วมพัฒนา ทั้งที่เปิดใช้แล้วหรืออยู่ระหว่างเตรียมเปิดใช้ ได้มีการปรับใช้มาตรการป้องกัน COVID-19 เบื้องต้นทุกโครงการ

ในฐานะทีมออกแบบ ทางเราก็กำลังร่วมกันกับเจ้าของโครงการ ในการปรับปรุงและเสริมคุณภาพให้กับตัวโครงการ สำหรับการลดผลกระทบและการป้องกันการแพร่ระบาดในระดับต่าง ๆ ซึ่งหลายส่วนอาจกลายเป็นมาตรฐานการออกแบบที่จะปรับใช้ในอาคารต่อไปในระยะยาว

“วิกฤตินี้ทำให้เราพบว่าวิถีชีวิตเดิมสามารถเปลี่ยนไปได้
และหลายส่วนอาจเป็นวิถีชีวิตที่ดีกว่าเดิม
เมื่อคนสามารถพบเจอกันทางกายภาพน้อยลงได้
ทำงานและทำกิจกรรมต่าง ๆ จากที่บ้านได้ เดินทางน้อยลงได้
ระยะห่างระหว่างกันเป็นเรื่องสำคัญ มันส่งผลถึงการออกแบบ
ตั้งแต่พื้นที่ ฟังก์ชั่น และระยะ”

สุดท้ายส่งผลต่อสถาปัตยกรรมอย่างไร?

วิกฤตินี้ทำให้เราพบว่าวิถีชีวิตเดิมสามารถเปลี่ยนไปได้และหลายส่วนอาจเป็นวิถีชีวิตที่ดีกว่าเดิม เมื่อคนสามารถพบเจอกันทางกายภาพน้อยลงได้ ทำงานและทำกิจกรรมต่าง ๆ จากที่บ้านได้ เดินทางน้อยลงได้

สิ่งที่น่าสนใจมากตอนนี้ คือความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของคนในภาพใหญ่ เมื่อ 65% ของประชากรโลกอยู่ในวัยทำงานและใช้เวลาเฉลี่ย 12 ชม.ไปกับการทำงาน กิจกรรมเกี่ยวเนื่องและการเดินทาง วิกฤติครั้งนี้บังคับให้คนทำงาน เรียน สอน และทำกิจกรรมต่าง ๆ จากที่บ้านหรือสถานที่ส่วนบุคคล ลดการนัดพบกัน หลายอาชีพหลายหน่วยงานสามารถทำงานแบบ WFH: work from home ได้อย่างมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับการทำงานแบบปกติในสำนักงาน ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ การประชุมประสานงานและนำเสนองานต่าง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เข้าใจกันว่าไม่สะดวก ไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อสถานการณ์บังคับ ก็สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งอีกไม่นานอาจจะเป็น New Norm, New Habit เป็นพฤติกรรมและวิถีชีวิตของคนในวงกว้างได้

หากเป็นเช่นนั้นวิถีชีวิตของเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างมากและบางส่วนก็ส่งผลดีกับทั้งคนและสภาพแวดล้อม เราประหยัดเวลาเดินทาง ได้เวลาคืนให้กับชีวิต 1-2 ชม.ต่อวันหรือเกือบ 1 เดือนต่อปี ลดความเครียดจากปัญหาจราจร ประหยัดค่าใช้จ่าย ด้านสภาพแวดล้อมจะเห็นได้ว่าภายหลังจากที่คนเริ่มมีการกักตัว จำกัดการเดินทาง คุณภาพอากาศดีขึ้น PM2.5 น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เราเข้าใจกันดีว่ามนุษย์ยังคงต้องการสังคมและมีกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ ต่อไป แต่วิกฤติครั้งนี้ก็ทำให้เราได้ทดลองวิถีชีวิตที่ต่างไปจากเดิม ทำให้เราตระหนักได้ว่าหลายกิจกรรมอาจมีความจำเป็นที่ต้องพบปะกันน้อยลงหรือบางกิจกรรมไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่เดียวกันก็ยังสามารถทำร่วมกันได้ เช่น การสังสรรค์กินดื่มก็ยังทำแบบ on line กันได้ในบางโอกาส

ถ้าวิกฤตินี้กินระยะเวลายาวนานจนส่งผลระยะยาวกับวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนในแบบที่แตกต่างจากเดิม มีความคุ้นชินกับการทำงานและทำกิจกรรมต่าง ๆ จากที่บ้านมากขึ้น อาคารสำนักงานหรืออาคารบางประเภทจะมีความจำเป็นน้อยลงหรือยังจำเป็นอยู่หรือไม่ คนส่วนใหญ่ยังต้องอาศัยอยู่แออัดกลางเมืองเพื่อประหยัดเวลาเดินทางในการไปเรียนไปทำงานอีกหรือไม่ หรือเราสามารถเลือกที่จะอยู่นอกเมืองในสภาพแวดล้อมที่ดีกว่าได้มากขึ้น  วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปนี้ จะส่งผลโดยตรงกับเมืองและสถาปัตยกรรมในระดับมหัพภาค

ถ้ามองลงมาในระดับการออกแบบอาคารและรายละเอียดสถาปัตยกรรมต่าง ๆ การกำหนดพื้นที่ใช้สอย ขนาดพื้นที่ มิติการใช้สอยต่าง ๆ ก็อาจจะเปลี่ยนไปจากเดิมเช่นกัน Social (Physical) Distancing จะทำให้คนมีความรู้สึกเรื่องระยะปลอดภัยต่างไปจากเดิมในระยะยาวหรือไม่ ยืน นั่ง มีระยะห่างกันมากขึ้นจนเป็นนิสัย การใช้สอยหรืออยู่ร่วมกันในบางพื้นที่อาจทำได้น้อยลง อัตราการใช้พื้นที่ส่วนกลางและพื้นที่เพื่อกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร รวมไปถึงวิธีการใช้สอยอาคารแต่ละส่วน มาตรการการเข้าสู่ตัวอาคารในวันนี้ก็เปลี่ยนแปลงโดยทันที มีขั้นตอนการตรวจวัดอุณหภูมิทั้งแบบระยะใกล้และระยะไกล การทำความสะอาดร่างกายระดับต่าง ๆ ไปจนถึงการเพิ่มเติมเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ในการดูแลความสะอาดอาคาร สิ่งเหล่านี้ถ้ากินเวลานานจนเป็นความเคยชินในระยะยาว จะส่งผลกับรูปแบบการจัดวางผังอาคาร ไปจนถึงรายละเอียดอาคารทุกส่วน การลดการสัมผัสต่าง ๆ การใช้ประตูอัตโนมัติ ระบบจดจำใบหน้าแทนการสแกนนิ้ว การใช้วัสดุอาคารที่มีอนามัยมากขึ้นไม่สะสมสิ่งสกปรกและเป็นมิตรกับอุปกรณ์ฆ่าเชื้อ เช่นการฉีดแอลกอฮอล์ การฉายแสง UV ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลกับการออกแบบสถาปัตยกรรมในหลายระดับ

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็อาจยังส่งผลกับระบบเศรษฐกิจภาพรวม
ไปอีกเป็นระยะเวลา 12-18 เดือน”

ในเชิงวิชาชีพสถาปนิก ตอนนี้ได้รับผลกระทบอย่างไร?

เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศตั้งแต่ต้นปี 2562 ถือว่าอ่อนตัวกว่าช่วงก่อนหน้านั้นอย่างเห็นได้ชัดและส่งผลโดยตรงกับวิชาชีพสถาปนิกมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง การแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงส่งผลรุนแรงอย่างมากกับระบบเศรษฐกิจถึงระดับหยุดชะงักทันทีในหลายส่วน หลายธุรกิจหลายบริษัททั้งวิชาชีพสถาปนิกและอื่น ๆ เห็นตรงกันโดยเริ่มมีการวางนโยบายและมาตรการเตรียมแผนรองรับผลกระทบด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ แม้ถ้าเราโชคดีวิทยาศาสตร์ประสบผลสำเร็จในการต่อสู้กับ COVID-19 ได้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็อาจยังส่งผลกับระบบเศรษฐกิจภาพรวมไปอีกเป็นระยะเวลา 12-18 เดือน การบริหารจัดการเงินสด การจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายจึงเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรก ๆ ของแต่ละองค์กร

“ปรับตัวให้อยู่รอดให้ได้ และหันกลับมามองชีวิต
ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย หางานอดิเรกที่ท้าทายใหม่ๆ
ให้เวลากับครอบครัวและผู้ใหญ่ที่บ้าน”

และหลังจากนี้ สถาปนิกหรือนักออกแบบ ควรปรับตัวอย่างไรไหม?

ในปัจจุบันที่หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สถาปนิกและทุกวิชาชีพต่างก็ต้องปรับตัวกันอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าหลายส่วนได้มีการปรับตัวกันมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่นเรื่อง Digital Transformation ก็เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและลบในทุกวิชาชีพ สถาปนิกก็มีการปรับตัวและพัฒนาตอบรับกระแสนี้มาโดยตลอดเช่นกัน ซึ่ง Digital Tools ก็เป็นทางออกในสถานการณ์ปัจจุบันในหลายระดับ

ผมเรียนจบและเริ่มชีวิตทำงานในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2541 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจตกต่ำที่สุดของประเทศไทยรอบที่แล้ว ยุคที่อาชีพสถาปนิกเป็นหนึ่งในอาชีพที่ตกงานมากที่สุด ในทุกรอบที่เศรษฐกิจตกต่ำ ความสามารถในการปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆที่ทำให้แต่ละคนแต่ละธุรกิจผ่านพ้นไปได้ สำหรับสถาปนิกซึ่งโดยพื้นฐานมีความสามารถในการจัดการทางความคิดอย่างมีระบบเป็นต้นทุนที่ดีที่สามารถนำไปปรับใช้ในเชิงธุรกิจได้มากมาย การเปิดมุมมอง มองหาและเปิดรับโอกาสทางเลือกอื่น ๆ นอกเหนือไปจากงานออกแบบก็อาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เช่นการเป็นที่ปรึกษาในลักษณะต่าง ๆทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับสายงานหลักหรือเป็นที่ปรึกษาด้านอื่นเลยที่อาจใช้ทักษะพื้นฐานที่เรามีเป็นตัวเสริมได้ หรือแม้กระทั่งธุรกิจด้านอื่น ๆ ตามโอกาสและมุมมองส่วนบุคคล ซึ่งก็มีให้เห็นที่ประสบความสำเร็จมากกว่าวิชาชีพสายหลักก็มี

หรือถ้ายังพอบริหารด้านการเงินจัดสรรค์ให้สามารถประคองผ่านช่วงนี้ไปได้ มีงานทำอยู่บ้างแล้วมีเวลาคืนให้กับชีวิตกันมากขึ้น ก็เป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ใหญ่หลายท่านเคยบอก ให้เราหันกลับมามองชีวิต ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย หางานอดิเรกที่ท้าทายใหม่ๆ ให้เวลากับครอบครัวและผู้ใหญ่ที่บ้าน

“COVID-19 เป็นตัวเร่งหรือยาแรงที่ทำให้คน
ต้องใส่ใจเรื่องสุขภาพอนามัยกันมากขึ้นโดยทันที”

คิดว่าเทรนด์การออกแบบของโลก จะเปลี่ยนไปในทางไหน อย่างไร?

คิดว่ากระแสหลักเรื่องความยั่งยืน รักษ์สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตและสุขภาพ ยังคงเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจ ทุกวิชาชีพรวมถึงงานออกแบบต้องร่วมกันพัฒนาทั้งในระยะที่ผ่านมาและต่อจากนี้ วิกฤติ COVID-19 เป็นตัวเร่งหรือยาแรงที่ทำให้คนต้องใส่ใจเรื่องสุขภาพอนามัยกันมากขึ้นโดยทันที และเชื่อว่าจะส่งผลเป็นหนึ่งความต้องการพื้นฐานสำคัญที่ทุกคนจะเคร่งครัดขึ้น ส่งผลให้เกิดมาตรการระดับต่าง ๆ และเป็นมาตรฐานในการออกแบบในทุกสายงานต่อไป