Location: ศาลาแดงซอย 1 กรุงเทพฯ
Architect: อมตะ หลูไพบูลย์ จาก Department of Architecture Co.
Photographer: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
ในงานสถาปัตยกรรม แทบจะไม่มีครั้งไหนที่เราไม่เห็น ‘บริบท’ เป็นส่วนผสมจนเกิดเป็นงานสถาปัตยกรรมนั้นๆ เพราะบริบทนี้ เอง เปรียบเสมือนพื้นฐานที่ต้องคิด วิเคราะห์ให้ลึกซึ้ง จึงจะเกิดเป็นงานออกแบบที่ดี สถาปนิกเกือบทุกคนจึงมักเริ่มขั้นตอนการทำงานด้วยการศึกษาบริบทของพื้นที่ให้ดีเสียก่อน เช่นเดียวกับ THE COMMONS SALADAENG อาคารหลังคาจั่วสีแดงที่ตั้งอยู่ริมถนนศาลาแดงซอย 1 ซึ่งคุณอมตะ หลูไพบูลย์ สถาปนิกจาก Department of Architecture Co. นำเรื่องของบริบทในแง่ต่างๆ มาออกแบบจนเกิดเป็นพื้นที่คอมมอนเอเรียสาขาใหม่ได้อย่างลงตัว
จากบริบททางเศรษฐกิจ สู่โปรแกรมที่เปลี่ยนแปลง
บริบททางเศรษฐกิจในที่นี้ คือการทำอย่างไรให้คุ้มค่ามากที่สุดด้วยทรัพยากรและที่ดินที่มีอย่างจำกัด ด้วยความที่ที่ดินของ The Commons Saladaeng นั้นขนาดเล็กกว่าที่ทองหล่อ ทำให้ไม่สามารถนำทุกโปรแกรมที่มีในทองหล่อมาใช้ที่ศาลาแดงได้หมด ประกอบกับความแตกต่างของผู้ใช้งานซึ่งเน้นกลุ่มคนทำงานมากกว่า คุณอมตะจึงเลือกนำบางโปรแกรมเดิมที่สามารถนำมาใช้ได้ผสมผสานกับโปรแกรมที่คิดขึ้นใหม่ โดยโปรแกรมเดิมนั้นคือ พื้นที่นั่งรับประทานอาหารร่วมกันบริเวณชั้น 2 ที่เรียกว่า ‘The Market’ จากร้านอาหารมากกว่า 20 ร้าน รวมถึงร้านอาหาร ROAST และร้านกาแฟ Roots ซึ่งเป็นร้านอาหารหลักในเครือของ The Commons และพื้นที่ Open Air รองรับกิจกรรมกึ่งเอ้าดอร์
ส่วนโปรแกรมใหม่ที่เกิดขึ้น คือ พื้นที่ขายอาหารประเภท Grab & Go บริเวณชั้น 1 ที่รองรับกลุ่มคนทำงานในวันรีบเร่งได้ง่าย และโซน ‘The Platform’ บริเวณชั้น 3 ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ในการผสมผสานโปรแกรมและตัวสถาปัตยกรรมเข้าไว้ด้วยกันสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจในปัจจุบันอย่าง ‘Sharing Economy’ โดยจะมีการจัดพื้นที่ห้องอเนกประสงค์ไว้สามพื้นที่ และผลัดเปลี่ยนกิจกรรมไปตามช่วงเวลา กิจกรรมจะมีหลากหลายทั้งเวิร์คชอปเด็ก ออกกำลังกาย Jazz club คลาสสอนทำอาหาร ผู้เช่าจากกิจการเหล่านี้จะเช่าเวลาในการใช้พื้นที่อเนกประสงค์ที่แตกต่างกันไปแทนการเช่าเป็นตารางเมตรเหมือน Shopping Mall ทั่วไป เนื่องจากกิจกรรมแต่ละรูปแบบจะมีช่วงเวลาที่เหมาะสมแตกต่างกัน
“สมัยนี้ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจบ้านเราไม่ได้ดีมากเหมือนสมัยก่อน การอยู่ในเศรษกิจที่จำกัดมากขึ้น ก็เป็นตัวที่ทำให้เราคิดมากขึ้น เราตั้งใจให้มันเป็นสถาปัตยกรรมที่เปลี่ยนแปลงได้ เพื่อตอบสนองต่อฟังก์ชันที่หลากหลาย สิ่งเหล่านี้ก็ตอบโจทย์ต่อบริบททางเศรษฐกิจ ซึ่งเรามีพื้นที่จำกัดแต่เราต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้”
นอกจากโปรแกรมที่ยืดหยุ่นใช้งานได้หลากหลาย โซนพื้นที่กึ่ง Outdoor คุณอมตะก็ออกแบบให้มีการปรับเปลี่ยนได้เช่นกันเพื่อรองรับกิจกรรมที่แตกต่าง โดยมีพาเลทไม้ที่ถูกออกแบบขนาดไว้อย่างพอดีเป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ จากขั้นบันไดให้กลายเป็นพื้นที่เรียบในขนาดที่เล็ก ใหญ่ได้ตามต้องการ หรืออาจจะนำมาซ้อนกันจนเกิดเป็นเวทีขนาดเล็กสำหรับกิจกรรม Music Performance ประจำปี ขั้นบันไดทั้งหมดยังสามารถทำหน้าที่เป็นอัฒจันทร์สำหรับนั่งชมและรองรับคนได้มากถึง 500-600 คนเลยทีเดียว
บริบททางกายภาพ ที่มองเห็นได้ด้วยตา
หากลองสังเกตบริเวณหน้าโครงการ เราจะเห็นต้นไทรขนาดยักษ์อายุเกือบ 100 ปีที่มีอยู่เดิม ซึ่งกลายเป็นจุดเด่นและเป็นที่มาของการวางแปลนเพื่อให้พื้นที่ทั้งหมดสามารถมองเห็นต้นไม้ได้ ด้วยการคว้านฟาซาดของอาคารเป็นเส้นโค้งโดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ต้นไม้ การคว้านเป็นเส้นโค้งนี้ยังมีข้อดีหลายอย่าง อย่างแรก คือ ไม่รบกวนกิ่งและรากของต้นไม้มากนัก อย่างที่สองคือ ต้นไทรต้นนี้จะบังความเป็นส่วนตัวจากอาคารฝั่งตรงข้าม หรือคนที่เดินผ่านไปมา อย่างที่สาม คือต้นไม้จะทำหน้าที่ให้ร่มเงากับพื้นที่กึ่งเอ้าดอร์ และเป็นวิวที่ร่มรื่น สวยงามให้กับคนที่เข้ามาใช้พื้นที่ทั้งกลางวันและกลางคืน
ถึงแม้ฟาซาดจะถูกคว้านเป็นเส้นโค้ง แต่การใช้กระจกโค้งนั้นอาจจะไม่เหมาะมากนัก คุณอมตะจึงเลือกใช้กระจกตรง ซึ่งแต่และเส้นตรงนั้นจะตั้งฉากกับจุดกึ่งกลางของต้นไม้ จึงเป็นที่มาของฟาซาดกระจกที่มีลักษณะหักไปหักมาเพื่อตั้งใจให้อาคารหันหน้าเข้าไปยังต้นไม้ใหญ่อย่างชัดเจน และแผ่นกระจกที่ตั้งฉากกับต้นไม้จะเป็นกระจกที่มีค่าความสะท้อนสูงกว่าปกติ เพื่อทำให้คนที่นั่งอยู่ภายในเห็นภาพสะท้อนของต้นไม้เข้ามาในอาคาร รวมถึงความสูงของสถาปัตยกรรมเองก็ถูกออกแบบให้มองเห็นกรอบของต้นไม้ได้อย่างสวยงามที่สุด เพื่อร้อยเรียงสถาปัตยกรรมและธรรมชาติให้เป็นเรื่องเดียวกัน
บริบททางประวัติศาสตร์ เพิ่มเอกลักษณ์ให้สถาปัตยกรรม
“ เมื่อเราจะออกแบบ The Commons แห่งที่สอง ผมก็คิดว่ามันควรจะมีภาษาของ The Commons ที่แรกอยู่ แต่ไม่ควรจะดูคล้ายหรือเหมือนกันจนเกินไป มันควรจะเหมือนพี่น้องที่บังเอิญเกิดมาจากพ่อแม่เดียวกัน ไม่ใช่ฝาแฝด ไม่จำเป็นที่ต้องหน้าตาเหมือนกันแต่อาจจะมีนิสัยบางอย่างที่คล้ายกัน”
เมื่อได้ทำการศึกษาข้อมูล ทำให้คุณอมตะรู้ว่า คำว่าศาลาแดงที่คุ้นเคยกันดีในปัจจุบันนั้น แท้จริงแล้วเป็นชื่อของสถานีรถไฟหนึ่งในทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย อาคารสถานีหลังนี้มีหลังคาสีแดงและเป็นอาคารจั่วเล็กๆ ซึ่งจะมองเห็นได้ชัดเจนจากพื้นที่โดยรอบซึ่งเป็นสวนและทุ่งนาสีเขียว ทั้งคำว่า ‘ศาลา’ และคำว่า ‘แดง’ จึงถอดแบบจนกลายเป็นคาแรคเตอร์ที่ชัดเจนของสถาปัตยกรรมที่เรามองเห็น
ผู้ออกแบบเลือกใช้ ‘จั่วขนาดเล็ก’ เป็นฟอร์มหลังคา โดยต้องการให้เป็นจั่วเล็กๆ ที่มีสแปนเสาเพียง 4 เมตร แต่การใช้สอยพื้นที่ในปัจจุบันถ้ามีเสาทุก 4 เมตรอาจจะดูเกะกะและใช้งานลำบากเกินไปสำหรับพื้นที่กว้าง ทำให้เกิดการออกแบบโครงสร้างหลังคาแทนที่จากเสาไปเสาจะเป็นรูปตัว v คว่ำ กลับกลายเป็นรูปตัว M เพื่อให้เสานั้นอยู่ห่างกันได้ถึง 8 เมตร แต่หลังคายังคงอยู่ในฟอร์มของจั่วย่อยๆ เช่นเดียวกันกับสถาปัตยกรรมสมัยก่อน
ส่วน สีแดง นั้นถูกนำเสนอผ่านเรื่องของวัสดุ ซึ่งคุณอมตะเองเลือกใช้แผ่นลอนที่ทำด้วยยางเรียกว่า ‘ออนดูลีน’ ซึ่งมีสีแดงเลือดหมูที่ส่งเสริมให้ตัวอาคารดูเท่มากขึ้น และมีลักษณะเป็นลอนละเอียดที่ชวนให้นึกถึงลอนของหลังคาบ้านในอดีต แต่เพื่อเพิ่มลูกเล่นให้กับอาคาร คุณอมตะยังเลือกใช้วัสดุที่เป็นลอนเดียวกัน แต่มีสีใสและสีใสแดง ทำให้สามารถมองเห็นได้จากข้างใน สร้างความต่อเนื่องระหว่างภายนอกและภายในให้มากขึ้น เมื่อมีบางองศาของวัสดุที่กระทบกับแสงแดด จะเกิดเงาสีแดงพาดเข้ามายังอาคาร เพื่อเตือนให้คนนึกถึงความเป็นศาลาแดงได้นั่นเอง
ถึงแม้วัสดุภายนอกจะโดดเด่นด้วยสีแดงเป็นหลัก แต่เมื่อเข้ามาโซนภายในอาคาร วัสดุลอนนี้ถูกออกแบบให้เน้นโทนสีอ่อน อย่างสีครีม เพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับร้านค้าที่ตกแต่งร้านต่างกันไปตามสไตล์และแบรนด์ของตนเอง รวมถึงมี Installation Art ที่ออกแบบไว้เพื่อปกปิดงานระบบ และงานโครงสร้างไม่ให้โดดเด่นมากเกินไป
สร้างบรรยากาศด้วยบริบททางสภาพอากาศ
“ผมเชื่อว่าคนไทยไม่ได้ขี้เกียจ อยากขึ้นลิฟท์หรืออยากอยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลา แต่เขาอาจจะอยากมีพื้นที่กึ่งเอ้าดอร์ที่เอื้อต่อการเดินและเอื้อให้ใช้เวลาอยู่มากกว่า” ด้วยความคิดนี้เองจึงทำให้ The Commons ยังนำแนวคิดพื้นที่ Open Air จากสาขาทองหล่อมาใช้ที่ศาลาแดงด้วย แต่ในขณะเดียวกันพื้นที่กึ่งเอ้าดอร์นี้ก็ต้องส่งเสริมความรู้สึกสบายในการเข้ามาใช้งาน
พื้นที่กึ่งเอ้าดอร์ที่ถูกเรียกว่า Common Ground นี้จะทำหน้าที่เชื้อเชิญคนให้เข้ามายังโครงการตั้งแต่ฟุตบาต ซึ่งคาแรคเตอร์ที่ดูเชื้อเชิญนี้ยังเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของ The Commons อีกด้วย โดยพื้นที่ชั้น 1 ชั้น 2 และชั้น 3 จะไหลเชื่อมต่อกันสามารถเดินเชื่อมถึงกันได้ทั้งหมด ผ่านขั้นบันไดที่ออกแบบให้มีต้นไม้ มีที่นั่งแทรกระหว่างชั้นไปมา เพื่อสร้างความรู้สึกให้คนอยากเดินมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีพัดลมระบายอากาศที่ถูกติดตั้งในจุดที่จะเพิ่มการไหลเวียนของลม ทำให้สามารถนั่งในพื้นที่กึ่งเอ้าดอร์นี้ได้โดยไม่ร้อน
อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจนอกจากตัวสถาปัตยกรรมของ The Commons Saladaeng แล้ว คงเป็นภาพโครงการที่เต็มไปด้วยคนที่เข้ามาใช้งาน ซึ่งเราจะเห็นคนมานั่งอ่านหนังสือ นั่งทำงาน หรือแม้แต่ประชุมเป็นกลุ่มในพื้นที่กึ่งเอ้าดอร์แห่งนี้ ซึ่งต้องยอมรับว่าออกจะเป็นภาพที่แปลกตาสักหน่อยสำหรับอากาศประเทศไทย แต่สิ่งเหล่านี้ก็ถือเป็นเครื่องยืนยันอย่างหนึ่งว่าสถาปัตยกรรมที่ใส่ใจต่อบริบทของพื้นที่และออกแบบผ่านกระบวนการคิดอย่างถี่ถ้วนย่อมตอบโจทย์ต่อการใช้งานได้อย่างแท้จริง