OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

คุณสมบัติ 7 ประการ หัวใจสำคัญของแนวคิดแบบ Wabi-Sabi

‘ความงาม’ คำคุ้นเคยที่มักโผล่เข้ามาในชีวิตประจำวันของเราอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะไม่ว่าจะมองเห็นอะไร ก็มักมีความงามเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ  ซึ่งถ้าพูดถึงคำๆ นี้เมื่อไร สิ่งที่คนส่วนมากมักจะนึกถึงคงจะเป็น ความสมบูรณ์ สมมาตร เนี้ยบ เป๊ะ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ Wabi-Sabi ซึ่งมองความสวยงามของสิ่งที่ไม่สมบูรณ์แบบได้อย่างล้ำลึกและน่าสนใจมากทีเดียว

วันนี้ เราจะพามารู้จักกับ Wabi-Sabi ปรัชญาอันเป็นรากฐานของงานออกแบบที่แฝงด้วยเสน่ห์และจิตวิญญาณอันล้ำลึกของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสามารถเปลี่ยนแนวคิด ทำให้เรามองความสวยงามในรูปแบบที่แตกต่าง โดยเลือกบางมุมของ วะบิ-ซาบิ ที่สอดคล้องและสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานออกแบบได้อย่างน่าสนใจ

ความหมายอันลึกซึ้งของ Wabi-Sabi

หากเราลองถามคนญี่ปุ่นว่า วาบิ-ซาบิ คืออะไร แน่นอนว่าเราย่อมไม่ได้คำตอบ เพราะถ้าให้อธิบายถึงความหมายของ วาบิ-ซาบิ คงเหมือนกับการอธิบายคำว่า ความงาม ซึ่งไม่สามารถอธิบายเป็นคำจำกัดความได้ เพียงแต่เน้นไปที่แก่นแท้ของความรู้สึก


ซึ่งเดิม ‘วะบิ หมายถึง ความลำบาก ยากไร้ในการใช้ชีวิตตามลำพังในธรรมชาติ ส่วน ‘ซะบิ’  คือ ความหนาว เงียบสงัด สภาพจิตใจที่สงบนิ่ง เมื่อนำสองคำนี้มารวมกัน จึงเป็นแนวคิดที่ชวนให้นึกถึงความจริงอันถ่องแท้ของชีวิตที่มีหวานมีขมผสมปนเปกันไป เป็นปรัชญาของความงามที่เตือนให้เรามองเห็นรายละเอียดเล็กๆ ในชีวิต แล้วพอใจไปกับมัน ทุกสิ่งล้วนไม่สมบูรณ์แบบ มีความเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และนั่นคือเสน่ห์ของความสวยงามในแบบ วะบิ-ซาบิ

Tips : ถ้าจะมองวะบิ-ซาบิ ให้เข้าใจง่ายมากขึ้น ลองถึงนึกคำว่า ‘rustic’ ในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลว่า ความธรรมดา ไม่ซับซ้อน หรือความเป็นพื้นผิวหยาบและขรุขระ ซึ่งอาจหมายถึงความสวยงามที่ไม่ถูกปรุงแต่งนั่นเอง

Wabi-Sabi VS Modernism

ต้องขอออกตัวก่อนว่า Wabi-Sabi VS Modernism ในที่นี้ ไม่ได้ต้องการบอกว่าใครดีกว่าใคร เพียงแต่ต้องการเปรียบเทียบให้เข้าใจและเห็นภาพวาบิ-ซาบิ ได้ชัดเจนมากขึ้น

ถ้าลองนึกภาพตามง่ายๆ วาบิ-ซาบิ จะเป็นเสมือนขั้วตรงข้ามของความเป็นโมเดิร์นที่เราเห็นในยุคปัจจุบัน  ซึ่งมนุษย์มักจะสร้างผลงานขึ้นเพื่อโชว์ความสวยงามอันไร้ที่ติ อาคารเรียบง่ายที่ถูกลดทอน มีองค์ประกอบของรูปทรง รูปร่างที่ชัดเจน มองหาการใช้งานและประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก และมักจะผลิตเป็นจำนวนมากที่คล้ายคลึงหรือเหมือนๆ กัน แต่กลับกันวาบิ-ซาบิเปรียบได้กับ วัสดุธรรมชาติ ที่ดูอ่อนโยน ไม่จำเป็นต้องมีรูปร่าง รูปทรงที่เนี้ยบ ยอมรับการบุบสลายและเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา มีชิ้นเดียวเป็นเอกลักษณ์ที่ซ้ำแบบ รวมถึงไม่มุ้งเน้นประโยชน์ใช้สอย เพียงแต่มองหาความสวยงามทางสุนทรียะ


หัวใจสำคัญของความงามแบบ Wabi-Sabi

อ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนยังเกิดคำถามว่า แท้จริงแล้ว วาบิ-ซาบิ ต้องเป็นแบบใด? เพื่อให้มองเห็นภาพวาบิ-ซาบิ เป็นรูปธรรมมากขึ้น ลองสังเกตคุณสมบัติทางวัตถุทั้ง 7 ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของวาบิ-ซาบิ

เป็นธรรมชาติ
ความเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ไร้การปรุงแต่ง โชว์พื้นผิวที่แฝงด้วยความเปราะปรางต่อสภาพอากาศ เช่น การเปิดเผยเนื้อแท้ของลายไม้ วัตถุที่สนิมขึ้น ซีดจางจากแดด หรือมัวหมองจากการตากฝน มักแฝงไปด้วยรอยเหี่ยวย่น หรือการหลุดลอก

ไม่สม่ำเสมอ
ความแตกต่างจากมาตรฐานเดิมที่เคยเห็นหรือเคยเป็น อาจเกิดขึ้นจากความไม่ตั้งใจ แต่เกิดเป็นความสวยงาม เช่น การซ่อมแซมถ้วยชามที่แตกกลับมาใช้งานได้ใหม่อย่างสวยงาม (คินสึงิ : Kintsugi)


สันโดษ

วะบิ-ซะบิ ส่วนมากจะไม่โฉ่งฉ่าง รักความสงบ และมักจะอยู่ในที่ที่ค่อนข้างเป็นส่วนตัว มุมใดมุมหนึ่ง  เช่น ดอกไม้ป่าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติที่ซอกตึก จนกลายเป็นสวนที่มองแล้วสวยงาม สร้างความรื่นรมย์ 

ไม่เสแสร้ง
ความไม่เสแสร้ง ทำให้วะบิ-ซะบิ ดูถ่อมตัว สงบเสงี่ยม ไม่จำเป็นต้องถูกชื่นชมหรือให้ค่าโดยตรง ดังนั้นวะบิ-ซะบิ จึงไม่ใช่วัตถุประเภทที่จะเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ ต้องการการแปะป้าย หรือถูกมองว่าเป็นของมีคุณค่าตามรสนิยมในท้องตลาด

กำเนิดจากดิน
วะบิ-ซาบิ อาจจะดูหยาบ ไม่ประณีต และมักทำจากวัสดุซึ่งเรายังมองเห็นเนื้อแท้เดิมของมันได้

หม่นมัว
วะบิ-ซะบิ มักจะมีลักษณะอ่อนจาง ไม่ชัดเจน คล้ายกับว่ากำลังจะเลือนหายไป เช่น วัสดุที่เคยมีสีสดใสกลับกลายเป็นสีมอๆ เหมือนดิน วะบิ-ซะบิ จึงมักมาในเฉดสีเทา น้ำตาล สีดำหม่นๆ สีเขียวหม่น หรือน้ำเงินหม่น

เรียบง่าย
การลดทอนองค์ประกอบที่ฟุ่มเฟือยออกไป เปิดเผยถึงความเป็นจริงตามธรรมชาติ ซึ่งไร้การปรุงแต่ง แสดงสัจจะแท้จริงของธรรมชาติอย่างตรงไปตรงมา

ไม่สมบูรณ์แต่ทำไมยังสวยงาม

ถ้าให้มองความสวยงามในแบบ วาบิ-ซาบิ อาจจะยากสักหน่อยสำหรับคนในยุคปัจจุบัน เพราะไม่ใช่สิ่งที่เราคุ้นชิน แต่แท้จริงแล้ววาบิ-ซาบิ มีอยู่ในชีวิตประจำวัน เพียงแต่เราอาจไม่ทันได้สังเกต

เคยมองเห็นผนังบ้านที่มีตำหนิ ซึ่งเห็นมาตั้งแต่วัยเด็กจนเราเติบโตไหม? เคยมองเห็นร่องรอยของสิ่งของที่คุณพ่อซ่อมแซมให้จนนำมาใช้ซ้ำไม่รู้กี่ครั้งไหม? สิ่งเหล่านี้ คือ วะบิ-ซาบิ ซึ่งอาจพูดได้ว่า ในร่องรอยของความไม่สมบูรณ์นั้นต่างแฝงความทรงจำ สิ่งที่ทำให้เราหวนถึงอดีต หรือเหตุการณ์สำคัญบางอย่าง ทำให้สิ่งที่เห็นเหล่านี้เกิดเรื่องราวที่ช่วยส่งเสริมความสวยงาม และทำให้เราจดจำความสำคัญของสิ่งนั้นๆ ได้ชัดเจนมากขึ้นนั่นเอง

Wabi-Sabi กับงานออกแบบ

สำหรับการนำ วะบิ-ซาบิ มาประยุกต์ใช้กับการออกแบบ เราไม่อยากเรียกวะบิ-ซาบิว่าเป็นเทรนด์หนึ่งของการออกแบบ เพราะวะบิ-ซาบิเป็นจิตวิญญาณและแนวคิดที่ลึกซึ้งกว่านั้นมากนัก ไม่เพียงแต่เป็นการตกแต่งของใช้ หรือสร้างขึ้น แต่เป็นวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ปรุงแต่ง แต่หากเราจะนำมาประยุกต์กับงานออกแบบแล้ว ก็ย่อมต้องปรับ วะบิ-ซาบิ ให้ออกมาเป็นรูปธรรมมากที่สุด

สัจจวัสดุ
แก่นหนึ่งของวะบิ-ซาบิ คือ ธรรมชาติ วัสดุส่วนมากที่นำมาใช้ออกแบบจึงควรเป็นวัสดุที่มาจากธรรมชาติแท้ๆ วัสดุธรรมชาติในที่นี้จะต้องไม่ผ่านการปรุงแต่ง หรือก็คือการใช้สัจจวัสดุที่เราคุ้นเคยกันดีนั่นเอง และเน้นใช้สีธรรมชาติ หม่นๆ มอๆ เช่น สีดำ เทา น้ำเงินเข้ม เขียวเข้ม หรือน้ำตาลเข้ามาเป็นองค์ประกอบหลักๆ ในงาน


เรียบง่ายที่สุด
สิ่งสำคัญในการออกแบบจากแก่นของวะบิ-ซาบิ นั้นจะต้องเรียบง่าย ปล่อยให้วัสดุชิ้นนั้นเกิดความสวยงามด้วยตัวของมันเอง เช่น เหล็กที่เกิดสนิม หรือไม้ที่มีร่องรอยการผุพังตามเวลา เน้นใช้ของชิ้นหลักที่จำเป็น และหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุ หรือการออกแบบตามเทรนด์ในช่วงนั้นๆ    

ลดความเนี้ยบ ความเพอร์เฟคลงให้น้อยที่สุด
อีกแก่นหนึ่งของวะบิ-ซาบิ คือความสวยงามในความไม่สมบูรณ์ การออกแบบตามแนวคิดนี้ จึงเป็นการลดความเนี้ยบลง เช่น การฉาบปูนที่อาจจะไม่ต้องเรียบมาก แต่ยังคงไว้ให้เห็นเท็กเจอร์ของเนื้อแท้วัสดุนั้นๆ  หรือเป็นการเปิดโอกาสให้เรานำวัสดุ อุปกรณ์ สิ่งของที่แตก บิ่น และไม่สมบูรณ์มาใช้สร้างสรรค์งานออกแบบที่มีคุณค่าต่อไปนั่นเอง

รูปภาพทั้งหมดจาก:
dezeen , pinterest

ข้อมูลอ้างอิง :
หนังสือ Wabi-sabi for Artists, Designers, Poets & Philosophers เขียนโดย Leonard Koren (แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ วะบิ-ซะบิ โดย สายพิณ กุลกนกวรรณ สำนักพิมพ์ openbooks)