เมื่อศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC ได้ขยับขยายบ้านของชุมชนเหล่านักออกแบบมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ จ.ขอนแก่น แดนอีสาน ด้วยการมาเยือนอย่างกลมกลืน ผ่านสถาปัตยกรรมที่แฝงไปด้วยวิถีอีสาน เพื่อสอดแทรกกลิ่นอายของวัฒนธรรมที่คนอีสานคุ้นชิน และเป็นสถาปัตยกรรมอีสานที่สามารถสื่อสารกับคนอีสานได้อย่างเป็นกันเอง
อีสาน กันดาร สร้างสรรค์
สถาปัตยกรรมอีสานที่ถูกออกแบบโดยสถาปนิกแดนอีสานจาก บริษัท A49 ขอนแก่น ภายใต้แนวคิด “อีสาน กันดาร สร้างสรรค์” 3 คำหลักที่ถูกตีความโดยสถาปนิกตามบริบทของคนอีสานอย่างตรงไปตรงมา จากภาพจำของความเป็นอีสานและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ที่ล้วนนำไปสู่กระบวนการที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งแน่นอนว่าส่วนหนึ่งของจุดเริ่มต้นความคิดสร้างสรรค์นั้น เกิดจากการพบปะแลกเปลี่ยนความคิด จึงทำให้ TCDC ขอนแก่น ได้ถูกออกแบบพื้นที่ให้เป็น Open Space ที่เชื่อมโยงมาจากลักษณะของบ้านอีสานแบบดั้งเดิมที่มักมีใต้ถุนเรือนและบ้านที่ไร้รั้วรอบขอบชิด เพื่อเป็นจุดพบปะสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้าน และส่วนนี้จึงนำไปสู่แนวทางในการออกแบบ TCDC ขอนแก่น ให้เป็น Isan’s Public Space ที่ใครๆ ก็สามารถเข้ามาแวะเวียน แลกเปลี่ยนความคิดกันได้อย่างง่ายดาย
สถาปัตยกรรมที่ต้องการสื่อสารกับผู้คนที่พบผ่าน
นอกจากการพบปะพูดคุยของผู้ที่เข้ามาเยี่ยมเยือน TCDC ขอนแก่นแล้ว ตัวสถาปัตยกรรมเองก็ยังสามารถพูดคุยสื่อสารกับบุคคลภายนอกได้เช่นกัน ด้วยฟาซาดที่สามารถแปลอักษรได้ ภายใต้แนวคิด Communicating Façade ที่เกิดจากการตั้งคำถามว่า จะทำอย่างไรฟาซาดจึงจะเป็นได้มากกว่าวัสดุตกแต่งอาคารและสามารถสื่อสารกับคนภายนอกได้? ซึ่งหากย้อนกลับไปก่อนการพัฒนาแบบ ทางทีมสถาปนิกเองมีความตั้งใจให้ตัวฟาซาดสามารถสื่อสารกับบุคลภายนอกได้ด้วยเสียงจากสายลม ที่เข้ามากระทบพัดผ่านตัวฟาซาดและเปลี่ยนเป็นเสียงที่คล้ายกับเครื่องดนตรีอีสาน แต่ด้วยเรื่องของโครงสร้างและองค์ประกอบอื่นๆ จึงทำให้ฟาซาดมีการพัฒนาแบบให้เป็นการสื่อสารด้วยภาพแทน
ในส่วนของฟาซาดแปลอักษร ผู้ออกแบบได้มีการเลือกใช้วัสดุเป็นอลูมิเนียมคอมโพสิทที่ด้านหนึ่งเป็นสีเงินและอีกด้านหนึ่งเป็นสีอิฐดินแดง ซึ่งเป็นสีเอกลักษณ์ที่สื่อถึงมหาวิทยาลัยขอนแก่นหรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า มอดินแดง และยังเป็นสีของดินแดงที่สื่อถึงความแห้งแล้งกันดารของภาคอีสานตามแนวคิดหลักด้วย รวมถึงในส่วนของการติดตั้งให้ฟาซาดอยู่ในจุดหมุนและองศาตามที่ต้องการนั้น ก็ได้ Strudyna บริษัทออกแบบดีเทลการติดตั้งเข้ามาช่วยดูแลในส่วนนี้ ให้ฟาซาดสามารถแปลอักษรได้อย่างสวยงามโดยมีจุดล็อคขององศาที่ถูกต้อง โดยไม่หมุนพลิ้วไปตามลมที่เข้ามากระทบตัวฟาซาด อีกทั้ง Strudyna และบริษัทสถาปนิก A49 ก็ยังเคยได้ร่วมงานกันมาก่อนแล้วในโครงการ SINGHA D’LUCK Cinematic โรงละครลอยได้ที่ จ.พัทยา ด้วย
กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น
ด้วยการปรับฟาซาดให้สามารถมองเห็นทะลุไปถึงภายในอาคาร
ด้วยสถานที่ตั้งของ TCDC ขอนแก่น เป็นสถานที่ที่ค่อนข้างมีการสัญจรไปมาอยู่ตลอดเวลา ฟาซาดจึงไม่ได้ถูกออกแบบมาสื่อสารกับบุคคลภายนอกแค่การแปลอักษรเท่านั้น แต่ยังต้องการสะท้อนให้บุคคลภายนอกเห็นถึงภายในตัวอาคารและบอกกล่าวข่าวสารให้คนที่ผ่านไปมาเห็นว่าภายใน TCDC กำลังจัดนิทรรศการหรือกิจกรรมอะไรกันอยู่ ซึ่งส่วนนี้เป็นผลพลอยได้จากความสามารถในการปรับเปลี่ยนแผ่นอลูมิเนียมคอมโพสิทของฟาซาด ที่ไม่เพียงแต่เปลี่ยนเป็นคำต่างๆ แต่ยังสามารถหมุนตั้งฉากเพื่อให้มองทะลุเข้าไปภายในอาคารได้ด้วย
มุมมองผ่านฟาซาด
Lay Out Plan
Section 1
Section 2
Section 3
อีสานกับต้นไม้อิ่มท้อง
ด้วยภูมิภาคทางอีสานที่ค่อนข้างแห้งแล้งกันดาร ต้นไม้ที่มักนิยมปลูกตามบ้านเรือนจึงไม่ใช่เพียงแต่เป็นต้นไม้ที่ให้ความร่มเงาแต่ยังเป็นต้มไม้ที่ออกผลเพื่อนำมาทานหรือประกอบอาหารได้ ผู้ออกแบบจึงได้นำต้นไม้ที่เป็นวิถีอีสานนี้มาใช้ทั้งภายในและภายนอกโครงการ อย่างต้นมะม่วง ต้นขนุน ต้นมะขามเทศ ต้นขี้เหล็ก และยังมีไม้ดอกที่เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดขอนแก่นอย่างดอกคูณร่วมด้วย ซึ่งส่วนนี้ก็เป็นไปตามแนวคิดหลักของ อีสาน กันดาร สร้างสรรค์ อย่างลงตัว
Floor Plan 1
Floor Plan 2
สิ่งแปลกปลอม ระหว่างกระบวนการคิด
ในส่วนของอินทีเรีย ได้ออกแบบให้เป็น Open Plan ไม่มีการกั้นห้อง และเป็นกระจกโดยรอบจึงทำให้ผู้ที่ใช้งานอยู่ภายในอาคารสามารถมองออกไปข้างนอกเพื่อมองหาสิ่งอื่นๆ ที่มาเชื่อมโยงหรือแทรกแซงระหว่างกระบวนการคิด ที่จะนำไปสู่ความคิดที่สร้างสรรค์และไอเดียใหม่ๆ อีกทั้งการตกแต่งภายในยังมีส่วนที่นำวัสดุท้องถิ่นอย่างไม้ไผ่เข้ามาใช้ ร่วมกับเฟอร์นิเจอร์ของทาง TCDC ซึ่งเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่สะท้อนความเป็นดีไซน์เนอร์อยู่ทุกชิ้น
ส่งต่อความคิดสร้างสรรค์ ผ่านความลึกซึ้ง
เดิมทีชาวอีสานเคยมีการส่งต่อเรื่องราวและแนวคิดผ่านบทกลอนที่เรียกว่า “ผญา” ซึ่งรูปแบบของผญาหากนำมาเปรียบเทียบก็อาจไม่ต่างอะไรไปจากการจดบันทึกเป็นภาพหรือลายลักษณ์อักษร เพียงแต่การถ่ายทอดของผญาจะอยู่ในรูปแบบของกลอนที่ลึกซึ้งเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งการถ่ายทอดที่สร้างสรรค์และยังเป็นวิธีการสอนลูกหลานในแบบอีสานดั้งเดิม
ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป วัฒนธรรมดั้งเดิมก็เริ่มห่างหาย หนึ่งในสิ่งที่สามารถสอดแทรกวัฒนธรรมและถ่ายทอดส่งต่อไปยังรุ่นสู่รุ่นได้นั่นคือ “สถาปัตยกรรม” ที่สามารถเล่าถึงวิถีชีวิต เหตุการณ์ และเก็บอนุรักษ์ความเป็นเอกลักษณ์พื้นถิ่นไว้ได้อย่างดี
Owner : Creative Economy Agency (Public Organization)
Architect: Architects 49 Limited
Photographer: Chalermwat Wongchompoo