OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

“เรียนอะไรเยอะแยะ?” คุยกับผศ.ธีรชัย ลี้สุรพลานนท์ ทำไมสถาปัตย์เรียน 5 ปี

เคยสงสัยไหมว่า ในชีวิตการเรียนของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ทำไมถึงไม่เรียน 4 ปีเหมือนคนอื่นๆเขา ทำไมถึงต้องใช้เวลาตั้ง 5 ปี ซึ่งถึงแม้บางมหาวิทยาลัยจะมีหลักสูตร 4 ปีให้เลือก แต่ภาพรวมส่วนมากแล้วนักศึกษาคณะนี้ก็ยังต้องใช้เวลาถึง 5 ปีในการเรียนรู้ บางทีเรียนไปเรียนมาก็เป็นท้อไปหมดแล้ว

วันนี้ Dsign Something จึงเป็นตัวแทนมาไขข้อข้องใจ โดยได้มีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.ธีรชัย ลี้สุรพลานนท์ อาจารย์ภาควิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ แห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

หลักสูตรอยู่ภายใต้การควบคุมโดยสภาสถาปนิก

เนื่องจากสถาปนิกเป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบก่อสร้างอาคารและสถาปัตยกรรม ซึ่งส่งผลต่อวงกว้างทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม หรือความปลอดภัยของมนุษย์ ในการเรียนรู้จึงต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพื่อให้สถาปนิกเหล่านี้นำความรู้ที่ได้รับไปก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

วิชาชีพนี้จึงอยู่ภายใต้การควบคุมของสภาวิชาชีพหรือที่รู้จักกันในชื่อสภาสถาปนิก เพื่อสร้างขอบเขตของวิชาชีพ ดูแลให้เกิดความปลอดภัย โดยหลักสูตรการเรียนของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเป็นสถาปนิกนั้น จะอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของทางสภาเช่นเดียวกัน

โดยจะมีข้อกำหนดว่า ผู้ที่มีสิทธิสอบใบประกอบวิชาชีพสถาปนิกได้ จะต้องผ่านหลักสูตรการเรียน 5 ปี หรือหากเรียนหลักสูตร 4 ปี จะต้องผ่านประสบการณ์การทำงานอย่างน้อย 2 ปีจึงจะสอบใบประกอบวิชาชีพได้นั่นเอง

 เป็นวิชาชีพที่ต้องรู้กว้าง

“ผมว่า สถาปนิกเป็นเหมือนเป็ด อาจจะไม่ต้องเก่งไปหมดซะทุกอย่างแต่อย่างน้อยต้องเรียนหลายอย่าง เพื่อให้มีความรู้เอาไว้”

เนื่องจากสถาปนิกเป็นผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในบ้านเมือง ขอบเขตงานจึงค่อนข้างใหญ่ และสร้างผลกระทบมากมาย สถาปนิกจึงเป็นวิชาชีพที่จำเป็นต้องเรียนรู้หลายเรื่อง หลายๆ คนจึงเคยได้ยินประโยคที่ว่า สถาปนิกเป็นเหมือนส่วนผสมของวิทยาศาสตร์และด้านศิลปะ

โดยเชื่อมโยงความรู้หลายศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน  ทั้งเรื่องเงินๆ ทองๆ การประเมินราคา ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การก่อสร้าง ระบบโครงสร้าง ทฤษฎีการออกแบบ กฏหมาย หรือแม้แต่เทคนิคการขายหรือการนำเสนอ เพื่อนำความรู้ในทุกด้านที่ได้รับในการเรียนไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ส่วนมากเป็นวิชาปฏิบัติ

ถ้าลองสังเกต วิชาชีพที่เรียนมากกว่า 4 ปี มักจะเป็นวิชาชีพเฉพาะทาง อย่างเช่น สถาปนิก แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร ซึ่งวิชาที่ใช้ในการเรียนรู้มักจะเป็นการฝึกปฏิบัติจริงค่อนข้างเยอะ เพื่อให้ได้รับประสบการณ์มากพอที่จะทำงานได้ในอนาคต

แต่ถึงแม้จะเน้นวิชาปฏิบัติค่อนข้างมาก แต่วิชาเลคเชอร์หรือการเรียนทฤษฏีก็ยังจำเป็นควบคู่กันไป จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สถาปนิกต้องใช้เวลาเรียนมากถึง 5 ปี

เป็นวิชาชีพที่ต้องอาศัยสกิล สกิลต้องมีการฝึกฝน

เนื่องจากสถาปัตย์เป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ และในการออกแบบคงไม่สามารถบอกวิธีเป็นรูปแบบที่ตายตัวได้ ชัดเจน 100% นักออกแบบที่ดีจึงต้องอาศัยสกิลและประสบการณ์ รูปแบบของการเรียนของคณะนี้จึงเน้นให้เกิดการฝึกฝน เรียนรู้ด้วยตนเองภายใต้การควบคุมดูแลของอาจารย์ ควบคู่ไปกับการปฏิบัติจริงและทฤษฎี ซึ่งการฝึกฝนเหล่านี้ก็จำเป็นต้องใช้เวลา

จะสังเกตได้ว่านักศึกษาสถาปัตย์จะไม่ค่อยเน้นการอ่านหนังสือสอบเหมือนคณะอื่นๆ แต่เน้นการส่งโปรเจกต์ชิ้นนั้นๆ ไปตามการเรียนในแต่ละชั้นปี ซึ่งแต่ละชั้นปีก็เป็นการทำโปรเจกต์ที่ได้เรียนรู้แตกต่างกันไป ถือเป็นการฝึกฝนอย่างหนึ่ง เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษา ที่จะกลายเป็นนักออกแบบจริงๆ ในอนาคต

ฝึกการคิดวิเคราะห์ อย่างสร้างสรรค์และเป็นระบบ

สิ่งหนึ่งที่เรามักได้ยินจากคนที่เรียนสถาปัตย์แต่อาจจะไม่ได้ประกอบอาชีพเป็นสถาปนิก นั่นคือ การถูกสอนระบบการคิดวิเคราะห์ อย่างเป็นระบบและสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดความคิดได้อย่างหลากหลาย

ซึ่งแนวคิดนี้เองก็มาจากหลักสูตรการเรียนของคณะสถาปัตย์ซึ่งแต่ละชั้นปี จะถูกสอนเป็นขั้นเป็นตอน เช่น ปี1 จะเป็นวางพื้นฐาน สอนทฤษฎีความรู้ด้านศิลปะโดยยังไม่โฟกัสไปถึงสถาปัตยกรรม ปี2 จะเริ่มเรียนรู้การออกแบบสิ่งใกล้ตัว อย่างเช่นที่พักอาศัย ควบคู่ไปกับการเรียนทฤษฎี แนวคิดการออกแบบและประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ปี 3 จะเริ่มขยับไปสู่การออกแบบพื้นที่สาธารณะ โดยเริ่มมีสังคมวงกว้างเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือมีความซับซ้อนของระบบโครงสร้างมากขึ้น ส่วนปี 4-5 จะเป็นการปรับความรู้ของนักศึกษาจากโลกแห่งจินตนาการเข้าสู่โลกของความเป็นจริง เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นสถาปนิก

การเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ จึงเสมือนเป็นการวางรากฐานที่แข็งแรงให้กับความคิดที่เป็นระบบ ผสมผสานไปกับการสร้างสรรค์ในรูปแบบของนักออกแบบนั่นเอง

ต้องอาศัยประสบการณ์และความเข้มข้นของการเรียน

อย่างที่บอกไปว่าคณะสถาปัตย์ไม่สามารถเรียนในรูปแบบตายตัว บอกทฤษฎีเป็นขั้นตอน 1 2 3 4 แล้วจะทำได้ดีเลย หากจะทำได้ดี ส่วนหนึ่งอาจจะต้องอาศัยประสบการณ์และการเรียนรู้ที่หลากหลายด้วย ซึ่งเชื่อเลยว่า ไม่เพียงแต่นักศึกษาเท่านั้น สถาปนิกที่ทำงานมาแล้วมากมายก็ยังต้องอาศัยประสบการณ์จึงจะช่ำชอง และออกแบบได้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

ในการเรียนจึงเป็นการฝึกฝนทำผลงานในโปรเจกต์รูปแบบที่แตกต่างกัน เพื่อให้นักศึกษามีประสบการณ์หลายรูปแบบมากที่สุด ก่อนจะต้องมาออกแบบงานจริงๆ เช่น การออกแบบที่พักอาศัย การออกแบบห้างสรรพสินค้า การออกแบบอาคารสูง การออกแบบพื้นที่สำนักงาน ซึ่งการผ่านการเรียนรู้ที่หลากหลายย่อมเกิดประโยชน์ได้มากกว่า

นี่ก็คือเหตุผลทั้ง 6 ข้อที่เราทำการสรุปจากการได้พูดคุยกับผศ.ธีรชัย ลี้สุรพลานนท์ ซึ่งแท้จริงแล้วก็คงไม่ใช่เหตุผลที่ตายตัวมากนัก ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นหลักสูตรการเรียนที่ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ซึ่งหากใครมองเห็นประเด็นอื่นที่แตกต่าง สามารถเสนอแนะและพูดคุยกันได้นะคะ