Location: บ้านควนแร่ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง
Owner: วิวัฒน์ รอดสุดและครอบครัวรอดสุด
Architecture & Interior Designer: ตื่น ดีไซน์ สตูดิโอ และ อรวี เมธาวี
Area : 150 ตารางเมตร
Contractor: บุญฤทธิ์ สมุหเสนีโต
Photographer : อรรคพล ธนารักษ์
กลิ่นอายแห่งความสุขของการอยู่อาศัย มักมีองค์ประกอบส่วนหนึ่งจาก ‘ความสัมพันธ์ในครอบครัว’ เป็นตัวช่วยสร้างบรรยากาศ เติมเต็มความหมายของสถาปัตยกรรมให้ลึกซึ้งมากกว่าที่เคย เช่นเดียวกับ เรือนพินรัตน์ บ้านไม้หลังคาปั้นหยา จุดศูนย์รวมสมาชิกทุกคนในบ้าน โดยนำความกตัญญู ความทรงจำ และความผูกพันมาสร้างสถาปัตยกรรมที่เปรียบเสมือน ‘สัญลักษณ์สำหรับการระลึกถึง’ คุณตาและคุณยายผู้ล่วงลับ บุคคลอันเป็นที่รักของครอบครัว
จากความ กตัญญู สู่โจทย์ของสถาปัตยกรรม
การจะสร้างบ้านสักหนึ่งหลัง ล้วนมาจากเหตุผลหลายสิ่ง ไม่ว่าจะเป็น ความต้องการพื้นฐาน ความต้องการขยับขยายของครอบครัว แต่สำหรับ ‘เรือนพินรัตน์’ เหตุผลเหล่านี้กลับต่างไป เริ่มต้นด้วยคุณวิวัฒน์ ตั้งใจที่จะสร้างบ้านหลังใหม่ขึ้นบนที่ดินในจังหวัดพัทลุงให้กับคุณตาคุณยายผู้ล่วงลับ โดยต้องการใช้ไม้บางส่วนจากบ้านคุณตาคุณยายเดิมที่ถูกรื้อทิ้ง เพื่อเป็นการระลึกถึง และถ่ายทอดความทรงจำของครอบครัวผ่านการออกแบบสถาปัตยกรรม โดยได้ทีมสถาปนิกจาก ตื่น ดีไซน์ สตูดิโอ มาเป็นผู้ออกแบบ
บ้านหลังนี้ ตั้งอยู่ในบริเวณที่ดินซึ่งเชื่อมต่อกับบ้านหลังเดิมของคุณพ่อและคุณแม่ เมื่อเรือนพินรัตน์สร้างเสร็จ คุณวิวัฒน์ที่ทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็จะสามารถกลับไปอยู่ที่พัทลุงได้บ่อยมากขึ้น เพื่อดูแลคุณพ่อคุณแม่ของเขาได้อย่างใกล้ชิด รวมถึงให้ญาติและคนในครอบครัวได้ใช้บ้านหลังใหม่นี้ร่วมกัน จึงเป็นที่มาของชื่อ “เรือนพินรัตน์” ซึ่งมาจากชื่อ คุณตาวิรัตน์ และ คุณยายพิน ศิริธร บุคคลซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของครอบครัว
‘เรือนไม้เก่า’ ส่วนผสมของความทรงจำที่ชัดเจน
จากความผูกพัน ความทรงจำ การระลึกถึงคุณตาคุณยายล้วนเป็นโจทย์ที่แฝงไปด้วยความรู้สึกมากมาย การออกแบบบ้านหลังนี้จึงค่อนข้างละเอียดอ่อนมากเป็นพิเศษ แต่ถึงแม้จะมีจุดเริ่มต้นจากความทรงจำในอดีต แต่สำหรับการออกแบบ คุณวิวัฒน์เองก็ไม่ได้ต้องการยกบ้านหลังเดิมมาสร้างใหม่ให้เหมือนของเก่า แต่เป็นการนำองค์ประกอบที่มีคุณค่าทางความรู้สึกมาผสมผสานกับการออกแบบทางสถาปัตยกรรม
หลังจากที่ทีมสถาปนิกมีโอกาสได้เห็นภาพเรือนของคุณตาคุณยายเดิม ก่อนที่จะพังและถูกรื้อไป ซึ่งมีลักษณะเป็นเรือนไม้พื้นถิ่นของพัทลุง คุณวิวัฒน์และทีมสถาปนิกจึงตัดสินใจนำลักษณะของเรือนพื้นถิ่นของพัทลุงในยุคสมัยนั้นมาใช้ในการออกแบบ เพื่อถ่ายทอดภาพความทรงจำของคุณตาคุณยายให้กลับมาอีกครั้ง โดยผสมผสานรูปแบบใหม่ที่เข้ากับบริบท และวิถีปัจจุบันมากขึ้น
โดยในการวาง Planing ได้แรงบันดาลใจจากบ้านเก่าของคุณตาคุณยายในความทรงจำของคุณวิวัฒน์ ซึ่งทำการสเก็ตช์มาคร่าวๆ ก่อนจะถูกปรับเปลี่ยนบางส่วนขึ้นใหม่อย่างตำแหน่งบันได เพื่อให้เหมาะกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน รวมถึงองค์ประกอบต่างๆ ของบ้านอย่าง ลวดลายของช่องคอสอง ราวกันตก ประตูบานเฟี้ยม และลักษณะหลังคาปูกระเบื้องแบบพื้นถิ่น ล้วนเป็นสิ่งที่ประกอบขึ้นมาเพื่อหวังให้คนในครอบครัวรู้สึกถึงบุคคลอันเป็นที่รักได้อย่างแท้จริง
“เราเอาภาพสเก็ตช์ของคุณวิวัฒน์ องค์ประกอบต่างๆ ที่เขาเห็นแล้วนึกถึงบ้านของคุณตาคุณยาย มาเป็นพื้นฐานของการออกแบบ เพียงแต่นำความรู้ทางสถาปัตย์มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบท ลม แดด และฝน”
ส่วนหนึ่งของความทรงจำที่ถ่ายทอดผ่านภาพสเก็ตช์ของคุณวิวัฒน์ (เจ้าของบ้าน)
ภาพแปลนชั้น 1 เรือนพินรัตน์
ภาพแปลนชั้น 2 เรือนพินรัตน์
ในการออกแบบจึงมีการวางตำแหน่งช่องเปิดเพื่อทำให้พื้นที่ภายในบ้านและสวนด้านนอกสามารถเชื่อมถึงกันได้มากขึ้น รวมถึงมีการเจาะช่องเปิดที่สามารถเชื่อมถึงได้ระหว่างชั้นหนึ่งและชั้นสอง เพื่อทำให้รู้สึกถึงการอยู่อาศัยภายใต้หลังคาเดียวกัน ซึ่งในตำแหน่งของชั้นสองที่มีช่องเปิดนี้ยังเป็นจุดสำคัญที่สามารถติดตั้งรูปคุณตาคุณยายได้ เนื่องจากสามารถมองเห็นได้จากชั้นล่างและชั้นบน สร้างความรู้สึกระลึกถึงได้ตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาภายในบ้าน
ในการก่อสร้างเรือนพินรัตน์ ยังได้น้าเชน บุญฤทธิ์ สมุหเสนีโต ช่างมากฝีมือผู้เคยสร้างบ้านหลังเก่าของคุณพ่อคุณแม่ มาเป็นผู้รังสรรค์เรือนไม้เก่าหลังนี้ให้สำเร็จตามที่ทีมสถาปนิกและคุณวิวัฒน์ได้วางแผนเอาไว้
เมื่อบริบท ผสมกับความรู้สึก
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า ต้นแบบของการออกแบบมาจากเรือนไม้เก่าในจังหวัดพัทลุงในยุคประมาณร้อยปีที่ผ่านมา ทีมสถาปนิกจึงพยายามค้นหาวัสดุที่แสดงเอกลักษณ์เหล่านั้นมาใช้ นั่นก็คือ ‘หลังคาดินเผาเกาะยอ’ ซึ่งเป็นวัสดุพื้นถิ่นดั้งเดิม แต่ปัญหาที่พบคือ ปัจจุบันกระเบื้องเกาะยอนั้นมีแหล่งผลิตน้อยลงจนไม่น่าทันใช้เวลาก่อสร้าง คุณวิวัฒน์และทีมสถาปนิกจึงเลือกใช้กระเบื้องดินเผาจากอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันมาใช้ในการก่อสร้างแทน
รวมถึงวัสดุหลักอย่าง ‘ไม้’ ก็เป็นการนำไม้เก่าจากบ้านคุณตาคุณยายที่รื้อเก็บไว้ มาใช้ในการก่อสร้าง ทั้งโครงสร้างเสา คานและพื้น และใช้ไม้หลุมพอซึ่งเป็นไม้พื้นถิ่นของภาคใต้ ผสมผสานกับวัสดุใหม่ในยุคปัจจุบันอย่างกระจก เกิดเป็นเรือนไม้เก่าแฝงกลิ่นอายความโมเดิร์น ที่สร้างความแตกต่างเอาไว้ได้อย่างลงตัว
เพราะ ‘ความสัมพันธ์ในครอบครัว’ ล้วนเป็นสิ่งมีค่าที่ไม่อาจลืม บ้านพินรัตน์จึงทำหน้าที่เป็นส่วนผสมของหลายๆ สิ่ง ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตในอดีตและสมัยใหม่ กลิ่นอายความเป็นเรือนไม้เก่าที่แฝงความโมเดิร์นเอาไว้ บ้านหลังนี้จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวความรัก ความผูกพัน ที่เติมเต็มให้บ้านหลังนี้กลับมามีชีวิต เป็นจุดศูนย์รวมความรักของคนในครอบครัว