OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Haus 18 บ้านโมเดิร์นที่ซ้อนทับแต่ไม่ซับซ้อน ด้วยการออกแบบที่ผสานความเข้าใจของผู้อยู่อาศัยและบริบท

Location: เชียงราย
Architect: สำนักงานสถาปนิกแปลงกาย แปลงกาย : Studio
Principle Architect: กัญญ์ณณัฐ บำรุงธรรม
Design Team: นิยะดา สุภาวรรณ์/ ณิชาภา วะยาคำ/ อัญชลี ธนพัฒน์โกศล/ ภาคิณ สายสมบัติ
Photograph: DOF SkyGround
Video editor: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

 

ในการออกแบบบ้านสักหนึ่งหลัง เบื้องหลังของรูปลักษณ์ทั้งภายในและภายนอกของบ้าน มักมีเรื่องราวของผู้อยู่อาศัยซ่อนไว้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นความชื่นชอบ หลงใหล ไลฟ์สไตล์ หรือวิถีชีวิต จึงกล่าวได้ว่าการออกแบบบ้านคือการแปลงชีวิตของผู้อยู่อาศัยให้อยู่ในรูปบริบทของงานสถาปัตยกรรม เช่นเดียวกับบ้าน Haus 18 หลังนี้ที่ถูกออกแบบในสไตล์โมเดิร์นรูปทรงกล่องตามที่เจ้าของชื่นชอบ แต่สิ่งที่ทำให้บ้านหลังนี้พิเศษมากขึ้นกว่าเดิม คือการผสานธรรมชาติผ่านการออกแบบภูมิทัศน์ที่สะท้อนภูมิศาสตร์ของเชียงราย ซึ่งเป็นที่ตั้งและถิ่นฐานเดิมของเจ้าของออกมาได้อย่างน่าสนใจ โดยมี “คุณกัญญ์ณณัฐ บำรุงธรรม” และทีมสถาปนิกจากสำนักงานสถาปนิกแปลงกายร่วมกันออกแบบ

รูปทรงซ้อนทับบนความต้องการที่ไม่ซับซ้อน

บนเนื้อที่กว่า 100 ตารางวา ในจังหวัดเชียงราย ซึ่งเจ้าของบ้านต้องการสร้างบ้านหลังใหม่สำหรับสมาชิกในครอบครัวทั้งหมด 4 คน โดยมีโจทย์ว่าต้องการบ้านสองชั้นสไตล์โมเดิร์นรูปทรงกล่องสี่เหลี่ยม เรียบง่ายไม่ซับซ้อน แต่ในขณะเดียวกันก็อยากให้บ้านที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศร้อนชื้นของบ้านเราด้วย สถาปนิกเริ่มต้นออกแบบวางตำแหน่งบ้านค่อนไปทางด้านหลังของที่ดินเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวให้มากขึ้น รูปทรงอาคารเป็นกล่องรูปตัว T ที่ซ้อนทับกัน โดยมีการการยืดหดฟอร์มของกล่องลงในบางจุดและเพิ่มชายคาออกมาเล็กน้อย เพื่อลดภาพความเทอะทะของบ้าน พร้อมทั้งกันแดดและฝนตามสภาพแวดล้อมอย่างที่ควรจะเป็น

แปลนภายในของบ้านเป็นรูปตัว T เช่นเดียวกัน มีฟังก์ชันพื้นฐานของบ้านอย่างครบถ้วน โดยออกแบบให้ตำแหน่งของห้องรับแขกเป็นจุดศุนย์กลางเชื่อมต่อไปยังฟังก์ชันอื่นๆภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นห้องรับประทานอาหาร ห้องครัว ห้องทำงาน และพื้นที่ปาร์ตี้เล็กๆหลังบ้าน ส่วนฟังก์ชันที่มีความเป็นส่วนตัวอย่างห้องนอน ห้องนั่งเล่นถูกออกแบบให้อยู่ชั้นสองทั้งหมด

แปลนชั้น 1 ของบ้าน Credit: สำนักงานสถาปนิกแปลงกาย

แปลนชั้น 2 ของบ้าน Credit: สำนักงานสถาปนิกแปลงกาย

‘Post Tension’ โครงสร้างนี้อยู่สบาย

“เราจะให้ความสำคัญกับผู้อยู่อาศัยเป็นอันดับแรก เนื่องจากว่าเจ้าของเป็นนักธุรกิจที่เคยใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในโฮมออฟฟิศที่เป็นอาคารพาณิชย์ ซึ่งอึดอัดและขาดความเป็นส่วนตัว คำว่า ‘Cozy’ หรือว่าอยู่สบาย น่าจะเป็นคีย์เวิร์ดหลักที่เรานำมาใช้ออกแบบบ้านหลังนี้”

สำหรับการออกแบบบ้านหลังใหม่นี้ ความโปร่งโล่งและความสบายในการอยู่อาศัยเป็นสิ่งที่ผู้ออกแบบให้ความสำคัญมากที่สุด ซึ่งในด้านของการออกแบบโครงสร้าง สถาปนิกจึงเลือกใช้ระบบ “Post Tension” หรือระบบพื้นไร้คาน เพราะท้องพื้นเรียบไม่มีคานมากีดขวางงานระบบ ทำให้ระดับFloor to Floor มีความสูงมากกว่าระบบเสาและคานปกติ รวมถึงสามารถออกแบบระยะห่างระหว่างเสาได้มากขึ้น โดยบ้านหลังนี้พื้นที่ภายในถูกออกแบบให้ไม่มีเสาคานเลย ทำให้พื้นที่ดูกว้างมากขึ้น และสามารถวางเฟอร์นิเจอร์ได้ตามความต้องการอย่างเต็มที่

เส้นสายของผนัง ประตู และหน้าต่าง ที่เป็นหนึ่งเดียวกัน

เพื่อเพิ่มเติมความเรียบง่ายและรวมเส้นสายสถาปัตยกรรมให้เป็นหนึ่งเดียว ประตูและหน้าต่างถูกดีไซน์ให้มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ เพื่อให้ดูกลมกลืนขนานไปกับผนังและเปิดรับแสงจากภายนอกเข้ามาได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้แล้วประตูบางส่วนภายในบ้านอย่างประตูที่กั้นระหว่างห้องรับแขกและห้องรับประทานอาหาร หรือแม้แต่ประตูห้องทำงาน ยังถูกออกแบบให้ทำหน้าเป็นกำแพงไปในตัวด้วย

การตกแต่งภายในมีความโมเดิร์นเรียบง่ายเน้นสีขาวสบายตา เพิ่มเติมบรรยากาศสุดอบอุ่นด้วยไม้ในโทนสีอ่อน ซึ่งเป็นรูปแบบที่เจ้าของบ้านชื่นชอบ รวมถึงพื้นที่ภายนอกที่เราเห็นได้จากฝ้า และฟาสาดอันโดดเด่น โดยมีการเลือกใช้ทั้งไม้จริงและไม้เทียม ตามความเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เพื่อแสดงถึงความเป็น Tropical Architecture

ความสัมพันธ์ของสภาพภูมิอากาศ และการออกแบบ

สถาปนิกเลือกออกแบบDouble skin หรือผนังภายนอกอาคารสองชั้นที่เว้นระยะออกจากห่างจากกันเล็กน้อย โดยผนังภายในเป็นแผงกระจกใหญ่ ส่วนภายนอกเป็นระแนงไม้ที่สามารถเลื่อนเปิด-ปิดได้ตามต้องการ นอกจากจะออกแบบให้เหมาะสมกับทิศทางแดด ลม ฝน สภาพภูมิอากาศเขตร้อนอย่างประเทศไทยแล้ว ผนังชั้นนอกก็ช่วยกรองความร้อนจากแสงแดด อากาศยังถ่ายเทได้ปลอดโปร่ง และสร้างความเป็นส่วนตัว รวมถึงสร้างเอฟเฟคของแสงเงาที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลาของวันอีกด้วย

ผู้อยู่อาศัยสามารถเลื่อนเปิด-ปิดได้ตามความต้องการ เป็นการสร้างมูฟเมนท์และไดนามิกให้กับบ้าน
และทำให้อาคารมีชีวิตชีวาร่วมไปกับผู้อาศัย

ด้วยความที่หลังคาบ้านเป็น Flat Slab ทำให้ได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์โดยตรง สถาปนิกจึงออกแบบช่องระบายอากาศและความร้อนในส่วนของใต้หลังคา เมื่อลมพัดผ่านเข้ามาทางทิศตะวันตกของบ้านสามารถพัดพาความร้อนใต้หลังคาออกทางช่องระบายอากาศทิศเหนือได้

ส่วนวัสดุอื่นๆที่เข้ามาเป็นองค์ประกอบเพิ่มเติมของบ้านหลังนี้ นั่นคือ ‘เหล็ก’ ที่ช่วยตีกรอบรอบFaçade ในชั้นสองและชายคาด้านหน้าบ้าน เพื่อเน้นขอบเขตของตัวบ้านให้ชัดเจนและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

Landscape กับความหมายของพื้นที่

สำหรับการจัดสรรพื้นที่รอบๆบ้านให้กลายเป็นภูมิทัศน์อันแสนรื่นรมย์นั้น สถาปนิกได้หยิบนำแนวคิดจากคอนทัวร์ภูเขา ซึ่งเป็นภูมิศาสตร์ที่โดดเด่นของเชียงรายมาใช้ในการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นระดับของพื้นที่ภายนอก การใช้วัสดุที่แตกต่างกัน รวมถึงการจัดโซนของพรรณไม้ต่างๆ มาผสมผสานเข้ากับตัวบ้าน อันเป็นที่มาของการออกแบบภูมิทัศน์เพื่อสะท้อนภูมิศาสตร์ของเชียงราย ซึ่งเป็นที่ตั้งและถิ่นฐานเดิมของเจ้าของออกมาได้อย่างน่าสนใจ

Outdoor Materials Credit: สำนักงานสถาปนิกแปลงกาย

“สำหรับเราแล้ว บ้านที่ดีคือบ้านที่สามารถทำให้ผู้อยู่อาศัย เกิดความหลงใหลในการใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่นั้นๆอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่มาจากความเข้าใจในไลฟ์สไตล์ ความชื่นชอบ และสิ่งที่เป็นตัวเขาจริงๆ และที่สำคัญต้องสามารถผสานธรรมชาติ สภาพแวดล้อม สถาปัตยกรรมให้เป็นหนึ่งเดียวกัน” คุณกัญญ์ณณัฐกล่าวทิ้งท้ายถึงความหมายของการออกแบบที่อยู่อาศัย ที่นอกเสียจากให้ความสำคัญกับผู้อยู่อาศัยมาเป็นอันดับแรกแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการผสานบ้าน ธรรมชาติ สภาพแวดล้อมให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่าบ้านหลังนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ใส่ใจในการออกแบบ และให้ความสำคัญกับสิ่งพื้นฐานไม่ขาดตกบกพร่อง และทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ทำให้Haus 18 บ้านสไตล์โมเดิร์นที่เรียบง่ายหลังนี้ดูอบอุ่นและอยู่สบายไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว