OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Toyo Ito สถาปนิกผู้สร้างสถาปัตยกรรมไร้ขีดจำกัด ด้วยปรัชญาแห่งความเข้าใจธรรมชาติ

จุดเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในปรัชญาของผมคือการเข้าใจธรรมชาติ ” – Toyo Ito

อีกหนึ่งประเทศแถบเอเชียที่โดดเด่นในเรื่องของสถาปัตยกรรมคงหนีไม่พ้น ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถึงแม้สถาปัตยกรรมของญี่ปุ่นที่เราเห็นมักจะมีเอกลักษณ์ที่แสดงถึงความมินิมอล เรียบง่าย แต่ในความเรียบง่ายนั้นกลับแฝงไปด้วยกระบวนการคิด รายละเอียดที่ซ่อนอยู่อย่างแนบเนียน จนได้รับการยอมรับไปทั่วทุกมุมโลก วันนี้เราจึงอยากนำเสนอ ‘Toyo Ito’ สถาปนิกชั้นนำชาวญี่ปุ่น ผู้ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดสถาปนิกที่เปี่ยมด้วยพลังสร้างสรรค์และมีอิทธิพลในวงการสถาปัตยกรรมมากที่สุดคนหนึ่ง

ซึ่ง Toyo Ito ผู้นี้ก็การันตีฝีมือของการออกแบบด้วยรางวัล Pritzker Prize ในปี 2013 และถือเป็นสถาปนิกชาวญี่ปุ่นคนที่หกที่ได้รับรางวัลทรงเกียรตินี้อีกด้วย

เส้นทางการเป็นสถาปนิกของ Toyo Ito

Toyo Ito เกิดในวันที่ 1 มิถุนายน 1941 ที่ประเทศเกาหลีใต้ แต่ในปี 1943 เขากับแม่และพี่สาวสองคนก็ได้ย้ายกลับมายังประเทศญี่ปุ่น ในวัยเด็กของ Ito ค่อนข้างคลุกคลีอยู่กับงานศิลปะ เนื่องจากมีคุณปู่เป็นผู้ทำธุรกิจค้าไม้ และมีคุณพ่อผู้สนใจในศิลปะของเครื่องปั้นดินเผาเกาหลีแบบโบราณและภาพวาดสไตล์ญี่ปุ่น

Serpentine Gallery Pavilion ,  UNITED KINGDOM 2002

ในช่วงที่เขาศึกษาด้านการออกแบบในระดับอนุปริญญา ผลงานการออกแบบพัฒนาสวนสาธารณะ Ueno Park ได้รับรางวัลชนะเลิศจากมหาวิทยาลัยโตเกียว หลังจากนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาหันมาสนใจสถาปัตยกรรมอย่างจริงจัง โดยได้มีโอกาสเข้าเรียนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว และจบการศึกษาในปี 1965 หลังจากที่ได้เข้าทำงานที่บริษัท Kiyonori  Kikutake & Associates ได้ระยะหนึ่ง เขาก็ออกมาก่อตั้งบริษัทของตัวเองโดยใช้ชื่อว่า ‘Urban Robot’ (Urbot) ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาเป็นสำนักงานสถาปนิก Toyo Ito & Associates ในภายหลัง

Serpentine Gallery Pavilion ,  UNITED KINGDOM 2002

Toyo Ito สถาปนิกผู้มองหาสิ่งใหม่

ผลงานที่มีชื่อเสียงชิ้นแรกของ Toyo Ito  คือ The U House ซึ่งสร้างขึ้นใจกลางกรุงโตเกียวสำหรับพี่สาวที่เพิ่งสูญเสียสามีหลังจากนั้นเขาก็เริ่มออกแบบเพื่อทดลองและมองหาสิ่งใหม่ๆ จนกลายเป็นอีกหนึ่งผลงานหนึ่งที่สร้างชื่อ นั่นก็คือ Silver Hut ซึ่งเป็นบ้านของเขาเอง ในขณะเดียวกันก็เป็นช่วงที่เขาเริ่มพัฒนาแนวคิดเพื่อชุมชนเมืองขนาดใหญ่ ทำให้ผลงานของเขาเริ่มก้าวเข้าสู่ระดับนานาชาติ

The U House , Tokyo 1976

จุดเด่นในผลงานของ Ito คือ สถาปัตยกรรมที่ถูกออกแบบผสมผสานความเป็นธรรมชาติ ผ่านการเชื่อมโยงองค์ประกอบต่างๆทางสถาปัตยกรรมและบริบทโดยรอบเข้าไว้ด้วยกัน  ผลงานของ Ito จึงไม่ยึดติดกับสไตล์ใดสไตล์หนึ่ง แต่เน้นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจริงระหว่างสถาปัตยกรรม บริบท ธรรมชาติและผู้ที่เข้ามาใช้งานภายในอาคารของเขา

Silver Hut , Tokyo 1984

ด้วยความเข้าใจธรรมชาตินี้เอง ทำให้สถาปัตยกรรมที่เขาออกแบบ มักจะแสดงความเคารพและดูอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เสมอ โดยเราจะเห็นได้จากการเลือกใช้วัสดุ หรือโครงสร้างที่มักมีรูปทรงอิสระ ดูลื่นไหล ไม่แข็งกระด้าง แสดงถึงความต่อเนื่อง ภายใต้ความเรียบง่าย และยังคงเอกลักษณ์ที่เชื่อมโยงถึงภูมิทัศน์หรือบริบทที่อยู่โดยรอบ

Tama Art University Library , Tokyo

Taichung Metropolitan Opera House , Taiwan

“ผมมุ่งมั่นที่จะสร้างสถาปัตยกรรมโรงละครโอเปราแห่งนี้ในแบบที่ทั้งภายนอกและภายในมีความต่อเนื่องคล้ายลักษณะที่ร่างกายเชื่อมต่อกับธรรมชาติผ่านอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปาก จมูก และหู” Ito กล่าว
อาคารโอเปราหลังนี้ โดดเด่นด้วยการออกแบบและตกแต่งภายใน ด้วยลักษณะรูปทรงที่โค้งงอและพับ แต่บริเวณภายนอกกลับมีลักษณะเป็นเส้นตรง พื้นที่ที่มีลักษณะค่อนข้างไหลและต่อเนื่องกันของอาคารนี้ สะท้อนให้เห็นถึงศิลปะของการแสดงละคร ซึ่งผสมผสานกันทั้งร่างกาย ศิลปะ ดนตรีและการแสดง
รูปทรงโค้งงอที่เราเห็นภายในล้วนประกอบไปด้วยความซับซ้อนทางสถาปัตยกรรม ซึ่งสร้างขึ้นโดยไร้คานหรือเสาที่รับน้ำหนัก เพียงแต่อาศัยผนังโค้งในจุดต่างๆแทน ส่วนฟังก์ชันภายในของคอมเพล็กซ์ขนาด 58,000 ตารางเมตรนี้ จะเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์สามแห่ง ซึ่งรองรับจำนวนคนได้แตกต่างกัน โดยรองรับคนได้ 2,000 ที่นั่ง 800 ที่นั่งและขนาดเล็กที่สุดรองรับผู้ชมเพียง 200 ที่นั่ง

Museo Internacional del Barroco (MIB) , Maxico

อาคารหลังนี้ตั้งอยู่ในเขตอนุรักษ์นิเวศในเมืองปวยบลา ประเทศเม็กซิโก เพื่อนำเสนอศิลปะและวัฒนธรรมยุคบาโรก (ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ถึงปลายศตวรรษที่ 18)
ในการออกแบบ Ito ได้รับแรงบันดาลใจจากองค์ประกอบหลายส่วนที่เป็นแบบฉบับของศิลปะบาโรก ด้วยส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างสิ่งประดิษฐ์และธรรมชาติ เราจึงเห็นผนังคอนกรีตทรงโค้งที่ทำหน้าที่โอบกอดอาคาร รวมถึงมีสระน้ำภายนอกที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อสายตาไปยังสวนซึ่งเป็นบริบทโดยรอบ

ภายในอาคารยังมีการออกแบบโดยนำแสงธรรมชาติเข้ามา เพื่อทำให้ผู้เข้าชมสามารถสัมผัสกับแสงแดดที่ส่องลงมาจากท้องฟ้าคล้ายกับเป็นตัวสร้างสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

สถาปนิกผู้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

มากกว่าการเป็นสถาปนิกระดับโลก Ito ยังเป็นอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการก่อตั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มีชื่อว่า “HOME-FOR-ALL” จากความเชื่อส่วนตัวที่ว่าสถาปัตยกรรมสามารถช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้นได้

ในยุคที่ประเทศญี่ปุ่นเกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ  ภัยพิบัติจากธรรมชาติทำลายบ้านเรือนกว่า 250,000 หลังคาเรือน Toyo Ito ก็เป็นหนึ่งในสถาปนิกที่ได้เข้ามาร่วมทำงานสถาปัตยกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ไร้ซึ่งที่อยู่อาศัย ด้วยการออกแบบจากวัสดุรีไซเคิลในธรรมชาติ
ถึงแม้ผลงานของ Toyo Ito จะอยู่ภายใต้ความเรียบง่าย แต่กลับแฝงแนวคิดที่ใส่ใจธรรมชาติและบริบทรอบข้างเอาไว้อย่างแยบยล สร้างสรรค์เป็นสถาปัตยกรรมที่หวังดีต่อชุมชน ผู้ใช้งาน รวมถึงเมือง สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเอกลักษณ์ที่บ่งบอกตัวตนของ Ito ที่หลายคนให้ความยกย่อง จนนำมาสู่การเป็นสถาปนิกผู้มีอิทธิพลในวงการสถาปัตยกรรมมากที่สุดคนหนึ่ง

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก:
Archdaily , dezeen , archpaper.com , inexhibit.com , pritzkerprize